"...ข้าราชการและนักการเมืองทุกคนรู้ดีว่า ‘การยื่นบัญชีทรัพย์สิน - หนี้สิน และ ข้อห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นฯ’ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่น่าประหลาดใจในกรณีนาฬิกายืมเพื่อน จึงทำให้เกิดความเห็นแย้งอย่างกว้างขวางว่า ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผิดไปจากที่ ป.ป.ช. เคยปฏิบัติมา และคำถามว่า จากนี้จะป้องกันการให้สินบนเป็นสิ่งของได้อย่างไร?..."
น่าเสียดายที่เรื่องนาฬิกายืมเพื่อนไปไม่ถึงมือศาล ไม่อย่างนั้นทุกอย่างคงจบอย่างมีศักดิ์ศรี สบายใจกันทุกฝ่ายเพราะได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผย เป็นการยืนยันว่า บรรทัดฐานของกฎหมายสำคัญต่อบ้านเมืองมากกว่าความอยู่รอดของปัจเจกบุคคล
ข้าราชการและนักการเมืองทุกคนรู้ดีว่า ‘การยื่นบัญชีทรัพย์สิน - หนี้สิน และ ข้อห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นฯ’ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่น่าประหลาดใจในกรณีนาฬิกายืมเพื่อน จึงทำให้เกิดความเห็นแย้งอย่างกว้างขวางว่า ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผิดไปจากที่ ป.ป.ช. เคยปฏิบัติมา และคำถามว่า จากนี้จะป้องกันการให้สินบนเป็นสิ่งของได้อย่างไร?
ทั้งสองมาตรการดังกล่าว เป็นมาตรฐานจริยธรรมของสหประชาชาติที่ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับ แม้จะมีแนวปฏิบัติเข้มข้นจริงจังต่างกันไป เช่น ในประเทศเอสโตเนียหากเอกชนรายใดที่เข้าทำสัญญาค้าขายกับรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้สาธารณชนตรวจสอบได้โดยละเอียด องค์กรระหว่างประเทศและสถานฑูตต่างๆ ล้วนห้ามเจ้าหน้าที่รับเลี้ยงอาหาร รับของขวัญหรือทรัพย์สินใดจากผู้อื่นอย่างเคร่งครัด ขณะที่องค์กรเอกชนชั้นนำของไทยหลายแห่ง ห้ามพนักงานรับทรัพย์สินและของขวัญจากบุคคลอื่นทุกกรณี
‘กฎหมาย ป.ป.ช. ถือว่าข้าราชการและนักการเมืองใช้อำนาจแทนประชาชน มีโอกาสที่จะให้คุณให้โทษแก่บุคคลอื่นจนอาจเกิดความไม่ยุติธรรมและคอร์รัปชันได้ จึงต้องมีมาตรการที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนสบายใจได้ว่า คนเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่โกงกิน ไม่รับสินบนจนร่ำรวยผิดปกติ ไม่ก่อปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่วิ่งเต้นเส้นสายหรือช่วยเหลือพวกพ้อง’ พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ อดีตวุฒิสมาชิกและกรรมการปฏิรูปประเทศฯ อธิบาย
การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มีผู้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้วนับพันคนจากการไม่ยื่นหรือยื่นเท็จหลายรูปแบบ เช่น แจ้งว่าทรัพย์สินมีอยู่และแจ้งว่าไม่มี ซุกบัญชีไว้กับสามี-ภรรยานอกสมรส ญาติหรือคนใกล้ชิด แจ้งราคาสูงหรือต่ำเกินจริงอย่างมากเพื่อให้ตนดูมีฐานะดีหรือยากจน เป็นต้น มีบ้างที่เกิดจากความไม่เข้าใจหรือผิดพลาด
ข้อห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลฯ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2542 เป็นเรื่องของการให้สินบนหรือเงินใต้โต๊ะที่มักทำกันในที่ลับ โดยคำว่า ‘ประโยชน์อื่นใด’ ยังเป็นปัญหาเพราะขาดคำจำกัดความที่ยอมรับกัน ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ทำให้เกิดข้ออ้างสารพัด เช่น ‘ยืมใช้คงรูป’
โดยปกติเมื่อเกิดปัญหา ป.ป.ช. จะวินิจฉัยพฤติกรรมเหล่านี้อย่างเข้มงวดเพื่อรักษาบรรทัดฐานในการปกป้องสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล ดังที่อาจารย์วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ‘ไม่ว่าใครจะแจ้งบัญชีหรือชี้แจงอย่างไรก็ตาม โดยหลักแล้ว ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจพิจารณาถึงพฤติกรรมและเจตนาที่ลึกกว่าทรัพย์สินและเอกสารที่ปรากฏ’
ส่วนที่ถามว่า ‘จากนี้จะป้องกันการให้สินบนเป็นทรัพย์สินกันอย่างไร’ เชื่อว่า ป.ป.ช. บอกได้ว่าจะทำอย่างไรกับปัญหากฎหมายที่ตนชี้ช่องไว้ แต่ที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นคือ ต้องมาพูดกันให้ชัดเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และออก ‘กฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์’ และ ‘กฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ’ ที่จะช่วยสร้างความชัดเจนและเป็นประโยชน์ในระยะยาว
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)