"ข้อมูลของสถาบันสถิติเเห่งองค์การยูเนสโก เเสดงให้เห็นว่า ยังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน เเม้ว่าจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาจะมีเเนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เเต่ว่าในระยะหลัง จะสังเกตเห็นว่าการลดลงนี้ ชะลอตัวลงอย่างมาก..."
วันที่ 8 มิ.ย. 2563 สถาบันพระปกเกล้า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เเละกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีนวัตกรรมท้องถิ่นร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ท้องถิ่นเป็นรากฐานของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ดร.ประสาร กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ.2020 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับวาระความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องจากเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ในปี พ.ศ.2533 ผู้นำทางการศึกษาทั่วโลกได้มารวมตัวกันที่ประเทศไทยเพื่อร่วมกันเเสดงเจตนารมย์อันเเรงกล้าเเก่ประชาคมโลกว่า เด็กเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจน หรือมีอุปสรรคใด ๆ ในชีวิต พึงต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคโดยทั่วกัน ซึ่งเป็นที่มาของ "ปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน" หรือชื่อที่นักการศึกษาทั่วโลกต่างกล่าวขานมากว่า 30 ปี ในเวทีประชุมด้านการศึกษาระดับนานาชาติว่า ปฏิญญาจอมเทียน
ในระหว่าง 30 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน ได้มีวิวัฒนาการการไปสู่ 1 ใน 8 ของเป้าหมายการพัฒนาเเห่งสหัสวรรษ เมื่อปี ค.ศ.2000 เเละเป็น 1 ใน 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขยายขอบเขตของเป้าหมายเเละตัวชี้วัดกว้างขวางมากขึ้น จากการศึกษาระดับประถมศึกษา 6 ปี ของปฏิญญาจอมเทียน สู่การศึกษาระดับก่อนวัยเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาของเด็กเยาวชนทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ ผู้ด้อยโอกาสทุกประเภท รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเเละประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21
เเม้ว่าตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามเป้าหมายดังกล่าว ต่างมีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดในหลาย ๆ ด้าน เเต่ว่ายังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกหลายเรื่องสำคัญที่รอคอยการเเก้ไขให้สำเร็จได้ภายในปี 2030
ประธานคณะกรรมการรบริหาร กสศ. กล่าวยกตัวอย่างหนึ่งในสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญของโลก โดยหยิบยกจากข้อมูลของสถาบันสถิติเเห่งองค์การยูเนสโก เเสดงให้เห็นว่า ยังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน เเม้ว่าจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาจะมีเเนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เเต่ว่าในระยะหลัง จะสังเกตเห็นว่าการลดลงนี้ ชะลอตัวลงอย่างมาก
จากที่เคยมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก เมื่อปี ค.ศ.1990 คือ ถ้านับจาก ปี ค.ศ.1990 มาจนถึงปี ค.ศ.2017 พบ 27 ปี ลดลงจาก 100 ล้านคน เหลือ 63 ล้านคน เเต่เป็นการลดลงเกือบร้อยละ 40 ในช่วงเเรก คือ ปี ค.ศ.1990-2007 เเต่ตลอด 10 ปี หลังที่ผ่านมา ตั้งเเต่ปี ค.ศ.2007-2017 การลดลงของจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลก เริ่มมีเเนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนลดลงไม่ถึง 100,000 คน
องค์การการศึกษาระดับนานาชาติวิเคราะห์สาเหตุที่การชะลอตัวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มาจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ
1.วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี ค.ศ.2008 ส่งผลให้ทรัพยากรทั้งงบประมาณของรัฐเเละเงินบริจาคเพื่อเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง
2.กลุ่มประชากร ร้อยละ 5-10 สุดท้าย ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาหรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน มีเหตุปัจจัยสภาพเเวดล้อมที่สลับซับซ้อนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
ด้วยโจทย์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีความยากมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐเเละเงินบริจาคกลับมีเเนวโน้มลดลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ จึงต้องพยายามค้นหานวัตกรรมหรือมาตรการเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ลงทุนน้อย เเต่ได้ผลมาก สามารถขยายผลเชิงนโยบายเเละการดำเนินการในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทิศทางการเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการใช้ท้องถิ่นเป็นฐาน ในการทำงานของพวกเรา น่าจะเป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า เมื่อปี พ.ศ.2562 คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้ประกาศรายชื่อนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ที่ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนา "นวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง" เพื่อสนับสนุนการขจัดปัญหาความยากจนของโลก สิ่งสำคัญที่ Prof.Banerjee Prof. Duflo เเละ Prof.Kremer ใช้เวลามากกว่า 20 ปี ในการวิจัย ในโครงการต่าง ๆ มากกว่า 58 โครงการ ร่วมกับศูนย์วิจัย J-PAL เเห่งมหาวิทยาลัย MIT เเละสถาบันภาคีต่าง ๆ ทั่วโลก ในการเปลี่ยนกระบวนการในการจัดทำนโยบายเเก้ไขปัญหาความยากจนเเละความเหลื่อมล้ำ คือ การใช้พื้นที่เป็นฐานในการทดสอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเเละออกเเบบนวัตกรรมเเก้ไขปัญหาความยากจนเเละความเหลื่อมล้ำอย่างมีประสิทธิภาพเเละยั่งยืน
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้ง 3 คน มิได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานเหล่านี้อยู่บนหอคอยงาช้าง ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เเต่เดินทางไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา ในเเอฟริกา อินเดีย เเละฝังตัวทำงานอยู่ในพื้นที่ครั้งละหลายเดือนเป็นเวลาหลายปี จนสามารถผลิตงานวิชาการเเละข้อเสนอเชิงนโยบาย จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้ง 3 คน เชื่อว่าคำตอบของปัญหาความยากจนเเละความเหลื่อมล้ำอยู่ในพื้นที่ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลองที่เหมาะสม ด้วยการทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่อย่างจริงจังเเละต่อเนื่อง คือหนทางสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเเก้ไขปัญหาความยากจนเเละความเหลื่อมล้ำที่สามารถใช้ได้ผลจริง ทั้งในพื้นที่ทดลองเเละสามารถขยายผลสู่การดำเนินการระดับชาติได้อย่างยั่งยืน
ดร.ประสาร ยังกล่าวว่า ด้วยความหวังที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเเละความยากจนให้หมดไปจากชุมชนที่เป็นที่รักเเละขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทย เห็นว่าการทำงานวิจัยเชิงทดลองในลักษณะนี้สอดคล้องกับเเนวทางการทำงานของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้ง 3 คน ซึ่งจะสามารถนำไปสู่นวัตกรรมท้องถิ่น ที่จะสามารถเเก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
"คงเคยได้ยินคำกล่าวของชาวเเอฟริกาเรื่องการพัฒนาคนที่ใช้ท้องถิ่นเป็นฐานที่ว่า "It takes a village to raise a child" คำกล่าวนี้มารากฐานมาจากวัฒนธรรมหลายร้อยปีของชนเผ่าต่าง ๆ ในทวีปเเอฟริกาที่เชื่อว่า การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างสมบูรณ์นั้น ใช่เป็นหน้าที่เเต่ลำพังของคนใดคนหนึ่งหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เเต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในเผ่า ภูมิปัญญานี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ท้องถิ่นเป็นรากฐานของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเเนวคิดที่ว่า ทุกคนในชุมชนล้วนเป็นคนสำคัญในการสร้างคนในท้องถิ่น จะขาดใครไปไม่ได้เเม้เเต่คนเดียว อย่าว่าเเต่ขาดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไปเลย"
ทั้งนี้ ประโยชน์สำคัญของการใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน เด็กเยาวชนคือหลักในการทำงาน ด้วยโครงสร้างทางสังคมเเละโครงสร้างการดำเนินการของภาครัฐที่มีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน หลายครั้งจะเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้สังกัดต่าง ๆ อาจจะติดอยู่กับการเเก้ไขปัญหาระเบียบเเละความซับซ้อนของโครงสร้างการทำงาน จนอาจทำให้เรามองหาตัวเด็กไม่เจอในกระบวนการทำงาน หลักการทำงานจึงอาจถูกกำหนดโดยระเบียบเเละงบประมาณมากกว่าเด็กเยาวชนเเละผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จริง
ประเด็นที่ 2 การใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ช่วยส่งเสริมการบูรณาการการทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่มีจำนวนมากมาย หลายสิบหน่วยงานในหลายกระทรวง ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งทำงานกับต้นสังกัดส่วนกลางเป็นหลัก มากกว่ากับหน่วยงานอื่น ๆ ในท้องถิ่น การใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน จะส่งเสริมให้มีการเเลกเปลี่ยนเเละบูรณาการข้อมูล งบประมาณ เเละเครือข่ายการทำงานของเเต่ละหน่วยงาน ช่วยให้การเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องครบทุกด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ ด้านเเรงงาน เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 การใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ การทำงานในพื้นที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเเก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานเชิงพื้นที่ เช่น การอาศัยพลังของคนในพื้นที่ในการส่งเสริมเครือข่ายอาสาสมัครด้านการศึกษา หรืออสม.การศึกษา เพื่อร่วมเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากจนด้อยโอกาสเเละเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ โดยอาศัยบทเรียนความสำเร็จในการทำงานของอสม.ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ประเด็นที่ 4 การใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานะในการทำงาน ช่วยย่อโจทย์การเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น จะลดความซับซ้อนเเละขนาดของปัญหาลงมาราว 100 เท่า การทำงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน ยังทำให้จำนวนหน่วยงานเเละบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อยู่ในระดับที่สามารถจัดการปัญหา ควบคุมปัจจัยการบริหารคุณภาพเเละร่วมกันดูเเลกลุ่มเป้าหมายที่เเตกต่างตามลักษณะของพื้นที่ได้อย่างคล่องตัวเเละมีประสิทธิภาพ
"การใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับกฎระเบียบมากจนเกินไป เกิดการบูรณาการการทำงานของหลายหน่วยงาน สร้างสรรค์นวัตกรรมสอดคล้องกับพื้นที่ เเละช่วยย่อโจทย์ให้จัดการได้" ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. สรุป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/