"...ภายใต้สถานการณ์ .. มีการผ่อนปรนจำหน่าย ให้มีการดื่มฉลองสังสรรค์การกันได้อย่างเต็มที่ .. แต่กลับไม่มีด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ เท่ากับรัฐบาลกำลังปล่อยให้มี “คนเมาออกขับขี่” อยู่บนถนนโดยขาดการควบคุมกำกับ และยิ่งไปเพิ่มปริมาณการเดินทาง การพบปะสังสรรค์จากการเพิ่มวันหยุดยาว ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางถนนให้กับประชาชน ทั้งที่เกิดเป็นอุบัติเหตุกับตนเองหรือที่สำคัญคืออุบัติเหตุกับผู้อื่น ทำให้เกิดมี “เหยื่อเมาขับ” ขึ้นมา..."
แม้ ครม.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะชดเชยหยุดสงกรานต์ในเดือนกรกฎาคม หรือวันหยุดยาวในช่วงอื่น ๆ โดยเบื้องต้นสื่อมวลชนคาดการณ์ไว้ในวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2563 (6-7 กค.หยุดชดเชยอาสาฬบูชาและเข้าพรรษา , 8-10 ชดเชยสงกรานต์) แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่รัฐบาลได้มีการผ่อนปรน ระยะ 1,2,3 และกำลังจะเข้าสู่ระยะ 4 ในกลางเดือน มิย. นี้ ก็พบสัญญาณเตือนว่า “ภัยจากอุบัติเหตุทางถนน” ได้กลับมาแล้ว
ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในช่วง มค.-พค.2563 จะพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวิกฤตโควิด (มีค-เมย.) ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะในเดือน เมย.63 เมื่อเทียบกับ เมย.62 (30 วัน) พบว่ายอดเสียชีวิตลดลงถึง 588 รายหรือลดลงร้อยละ 50 (เฉลี่ยเสียชีวิต 19.6 ราย/วัน) เฉพาะช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2563 พบว่าลดลงถึง 56.7% (ข้อมูล ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน)
แต่เมื่อมีการผ่อนปรนระยะ 2 (3 พค.2563) เริ่มให้มีการจำหน่ายเหล้ากลับไปดื่มที่บ้านได้ ควบคู่กับการปลดล็อกให้เดินทางเพิ่มขึ้น แม้ยังมีมาตรการเคอร์ฟิวและปิดผับบาร์-สถานบันเทิงอยู่ ตัวเลขการเสียชีวิตของ บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในเดือน พค.63 เทียบกับปี 62 ก็กลับมาเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตช่วง 1-25 พค. 805 ราย (เฉลี่ยตาย 32.2 ราย/วัน) เทียบกับปี 62 ลดลงเพียง 7.58% เช่นเดียวกับสถานการณ์ในระดับพื้นที่ที่พบว่าเกือบทุกจังหวัดมีกราฟการเจ็บตายพุ่งกลับมา หลังวันที่ 3 พค.ที่มีการผ่อนปรนจำหน่ายสุรา อย่างกรณีอุดรธานี พบว่ายอดเจ็บตายพุ่งแซงปี 62 ในช่วงต้นเดือน พค.63
สะท้อนว่า ทั้งการผ่อนปรนจำหน่ายแอลกอฮอล์และการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุ จำนวนบาดเจ็บเสียชีวิตบนถนนเพิ่มสูงขึ้น แม้จะเป็นเพียงแค่ผ่อนปรนระยะ 1-3 ยังไม่ถึงระยะ 4 ซึ่งคาดว่าน่าจะปลดล๊อกให้สถานบันเทิง ผับ-บาร์กลับมาเปิดได้เป็นปกติ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ตัวเลขความสูญเสียก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอีกและถ้ามีมาตรการหยุดยาวพ่วงมาอีก “ภัยทางถนน” ก็จะกลับมาสร้างความสูญเสียและซ้ำเติมวิกฤตโควิดให้กระทบกับครัวเรือนและสังคม โดยเฉพาะภาระทางการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้นไปอีก
มีค-เมย.63 กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน .. ลดเจ็บตายจากดื่มขับเกือบครึ่งหมื่น
ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากดื่ม/เมาขับ ของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง มีค-เมย.63 พบว่า ภาพรวมลดลง 8,953 ราย (57%) เมื่อเทียบกับปี 62 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกลุ่มอายุที่ลดลงมากที่สุดคือวัยรุ่น 15-19 ปี และกลุ่มวัยทำงาน 20-29 ปีรวมกันถึง 4,322 ราย (กลุ่ม 15-19 ปีลดลง 1,313รายหรือ 67%, 20-24 ปีลดลง 1,823 รายหรือ 66% และกลุ่ม 25-29 ปีลดลง 1,186 รายหรือ 58%) แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะสูงอายุพบว่ามีการลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับปี 62
สะท้อนว่ามาตรการต่าง ๆ ทั้ง lock down ปิดสถานบันเทิง-ผับบาร์ ห้ามดื่มที่ร้านและมีเคอร์ฟิว ทำให้กลุ่มที่ออกมาดื่มนอกบ้านอย่างวัยรุ่น วัยทำงานตอนต้น ลดเจ็บลดตายจากดื่ม/เมาขับลงกว่าครึ่ง ในขณะที่กลุ่มสูงอายุจะเป็นการดื่มที่บ้านที่แบบดื่มคนเดียวหรือมีเพื่อนฝูง ก็ยังมีพฤติกรรมดื่ม (บางส่วนต้องขับขี่กลับบ้าน) เหมือนเดิมไม่กระทบจากมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้การเจ็บตายไม่ลดลง
แม้มาตรการ “ห้ามจำหน่ายเหล้า” จะมีจุดอ่อนว่า ประชาชนบางส่วนสามารถเข้าถึงหรือซื้อกักตุนไว้ แต่จากข้อมูลก็สะท้อนว่ากลุ่มใหญ่ (ประมาณ 2/3 หรือร้อยละ 60-70) ที่เกิดอุบัติเหตุจากดื่ม/เมาขับ เป็นการออกมาดื่มนอกบ้านตามสถานบันเทิง งานรื่นเริง แหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ดังนั้นการ “ห้ามจำหน่าย” ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากดื่ม/เมาขับ ในกลุ่มนี้และกลุ่มที่จะมาเป็นเหยื่อของเมาขับ ซึ่งถ้าใช้ตัวเลขเดือน มีค-เมย. มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 8,953 ราย (เฉลี่ยวันละ 146.8 ราย) เท่ากับการมาตรการห้ามจำหน่ายร่วมกับมาตรการอื่น ๆ มาเสริม จะช่วยลดความเสี่ยงของคนกลุ่มที่จะขับขี่ออกมาดื่มนอกบ้านได้เฉลี่ยวันละ 88 ราย (คำนวณจากร้อยละ 60 จะเป็นการดื่มนอกบ้าน ซึ่งต้องมีการขับขี่)
วันหยุดยาว + ผ่อนปรนระยะ 4 แถมด่านตรวจเมายังไม่กลับมา .. อุบัติเหตุและเมาขับจะกลับมาซ้ำเติม
ที่ผ่านมาการหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็นการหยุดวันนักขัตฤกษ์หรือเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ สงกรานต์ .. สิ่งที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุสำคัญคือ “เพิ่มจำนวนการเดินทาง” ทั้งการเดินทางจากกรุงเทพฯกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางข้ามจังหวัด ยิ่งถ้าเริ่มมีการผ่อนปรนระยะที่ 4 ที่เปิดสถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว ผับบาร์ ก็ยิ่งเสริมให้มีปัจจัยเสี่ยง ทั้งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิดและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน เพราะกิจกรรมการพบปะ รื่นเริง ก็จะตามมาด้วยการดื่มฉลองดื่มสังสรรค์ และลงเอยด้วย “เมาขับเกิดอุบัติเหตุ” จนเกิดความสูญเสีย
อีกประการที่สำคัญคือ “ด่านตรวจเมา” (ด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์) ได้ลดจำนวนลง ในหลายพื้นที่แทบไม่มีด่านตรวจเมาบนถนน ข้อมูลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอในศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ระบุว่าช่วง 7 วันสงกรานต์มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์เพียง 408 ราย ซึ่งลดลงจากช่วงสงกรานต์ 62 ที่มีการตรวจเมาได้ถึง 29,794 ราย (ลดลง 29,386 รายหรือลดลงร้อยละ 98.6% ) โดยพบอุปสรรคสำคัญคือการที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแบ่งไปปฏิบัติภารกิจด่านเคอร์ฟิวและด่านโควิด ร่วมกับการกลัวการเป่าวัดแอลกอฮอล์จะติดโควิดทั้งจากประชาชนที่รับการตรวจและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน (แม้จะมีหนังสือยืนยันจากกรมควบคุมโรค ว่าการเป่าตรวจแอลกอฮอล์ตามขั้นตอน มีการทำความสะอาด การเว้นระยะห่าง เปลี่ยนหลอดเป่าทุกครั้ง ไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น)
ภายใต้สถานการณ์ .. มีการผ่อนปรนจำหน่าย ให้มีการดื่มฉลองสังสรรค์การกันได้อย่างเต็มที่ .. แต่กลับไม่มีด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ เท่ากับรัฐบาลกำลังปล่อยให้มี “คนเมาออกขับขี่” อยู่บนถนนโดยขาดการควบคุมกำกับ และยิ่งไปเพิ่มปริมาณการเดินทาง การพบปะสังสรรค์จากการเพิ่มวันหยุดยาว ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางถนนให้กับประชาชน ทั้งที่เกิดเป็นอุบัติเหตุกับตนเองหรือที่สำคัญคืออุบัติเหตุกับผู้อื่น ทำให้เกิดมี “เหยื่อเมาขับ” ขึ้นมา
ซึ่งความสูญเสียไม่ว่าจะกับตัวเองหรือผู้อื่น ล้วนแล้วแต่ส่งผลในวงกว้าง เพราะกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 35-40) ของอุบัติเหตุพบว่าผู้สบเหตุเป็นผู้นำหรือเสาหลักที่หารายได้ให้ครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวเหล่านี้ประสบปัญหาและล่มสลายตามมาหรือถ้าเกิดมีผู้พิการก็ยิ่งกลายเป็นภาระหนักให้กับครอบครัวที่ต้องมาดูแลไปตลอดชีวิต ไม่นับรวมมูลค่าความสูญเสียที่คิดเป็นเม็ดเงิน (ผลการศึกษาของ TDRI ) ที่พบว่าทุก ๆ การสูญเสียชีวิตคิดมูลค่าถึง 10 ล้านบาท หรือเท่ากับว่าช่วงเดือน มีค-เมย.ที่มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐใช้ในการควบคุมโควิด แต่อีกทางหนึ่งก็ส่งผลต่อการลดอุบัติเหตุลดเจ็บตายที่มีมูลค่ากว่า 8,953 ล้านบาท นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าทุก ๆ อุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้สร้างภาระที่เพิ่มขึ้นกับโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข ที่ไม่เพียงรับผู้ป่วยจากโควิดฯ แต่ยังต้องมารับทั้งผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและปัญหาเมาขับเพิ่มเข้าไปอีก กลายเป็นการซ้ำเติมวิกฤตโควิดที่ประชาชนประสบอยู่ให้หนักขึ้นไปอีก
ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับรัฐบาลภายใต้วิกฤตโควิด-19 จึงต้องเร่งทบทวนมาตรการและเพิ่มการเตรียมความพร้อมกับปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่ม/เมาขับ โดยเฉพาะในกรณีที่จะมีการประกาศ “หยุดยาว” รวมทั้งการ “ผ่อนปรนระยะที่ 4” ที่จะเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์และการนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน .. จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
1) ประกาศ “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในวันที่ 5-10 กค. ควบคู่ไปด้วย (วันอาสาฬบูชา งดขายเหล้าอยู่แล้ว) หรือกรณีหยุดยาวช่วงอื่น ๆ ก็พิจารณาให้มีการ “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พร้อมกันไปด้วย
2) รัฐบาลต้องมีมาตรการที่สร้างหลักประกันให้กับประชาชนว่าจะไม่มีคนเมาขับ/ขี่ ออกมาอยู่บนท้องถนน โดยมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากเมาขับให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
2.1 กำหนดให้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ต้องดำเนินการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุม ทั้งในรูปแบบด่านตรวจ (อาจจะเสริมไปกับด่านเคอร์ฟิว/ด่านโควิด) และในรูปแบบสุ่ม (Random Breath Testing: RBT ซึ่งเป็นมาตรการในทางสากลฯ สำหรับการจัดการปัญหาเมาขับบนถนน) พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจและการดำเนินงานทั้งคดีจำกุมเพื่อให้สาธารณะรับรู้
2.2 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต “ทุกราย” โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดหางบประมาณค่าตรวจให้ต่อเนื่องและเป็นระบบ
3) กำหนดให้ช่วงประกาศหยุดยาว ต้องมีมาตรการจัดการความปลอดภัยทางถนนเช่นเดียวกับช่วงปีใหม่-สงกรานต์ (7 วันอันตราย) โดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ต้องเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานหลักต่าง ๆ ทั้งการกำหนดเป้าหมายลดตายเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเดินทางปกติ และมีมาตรการจัดการความเสี่ยงโดยกลไกจัดการ ศปถ.ในทุกระดับทั้งส่วนกลาง จังหวัด อำเภอและท้องถิ่น