"...ข้อเท็จจริงอันน่าเจ็บปวดที่ไม่ค่อยมีคนให้ข้อมูลมากนักคือ แม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถค้นคิดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ประชาชนคนไทยจำนวนมากอาจจะยังไม่มีโอกาสใช้วัคซีนนั้น เพราะในขณะนี้เรายังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ผลิตได้จะใช้เทคโนโลยีอะไร (มีแตกต่างกัน 6 - 7 วิธีทั้งใหม่และเก่า) และใครจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรของวัคซีนนั้น จะเป็นของบริษัทหรือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากประเทศใด (ถ้าเป็นประเทศจีนอาจจะใจชื้นเพราะผู้นำประเทศจีนประกาศว่าจะให้คนทั้งโลกเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาที่เป็นธรรม) เราจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตด้วยงบประมาณที่เรามีได้ไหม..."
การระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2563 นำมาซึ่งความเสียหาย ไม่ใช่แค่ชีวิตและสุขภาพของประชากรโลกเท่านั้น แต่ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบศตวรรษ หลังไข้หวัดสเปนระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1918
ประเทศไทยควบคุมป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดีมากจนเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก มีหลักฐานยืนยันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่แทบหมดไปในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 รวมทั้งระบบการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โควิด-19 จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอคอยเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ จนอัตราตายของเราต่ำมากไม่ถึงหลักร้อยในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้จะควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่คนไทยก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ และฝึกอยู่ห่างๆกัน รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินระงับกิจกรรมต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชนเกือบทั้งหมด ใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ ธุรกิจต่าง ๆต้องปิดกิจการชั่วคราวหลายเดือน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง
ประชาชนจำนวนนับสิบล้านคนที่ต้องมาขอรับสวัสดิการของรัฐ (มีผู้ลงชื่อขอเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง 5,000 บาทต่อเดือนมากกว่า 20 ล้านคน)
มีการอ้างถึงกันบ่อยครั้งว่าเมื่อค้นพบและวิจัยวัคซีนสำเร็จ เราจะกลับไปมีชีวิตปรกติได้ เพราะวัคซีนจะป้องกันตัวเราเองและคนที่เรารักจากความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ได้แน่นอน
คำถามที่สำคัญในวันนี้คือ “วัคซีนโควิด-19 ใช่ทางรอดของสังคมไทยจริงหรือ”
ข้อเท็จจริงอันน่าเจ็บปวดที่ไม่ค่อยมีคนให้ข้อมูลมากนักคือ แม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถค้นคิดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ประชาชนคนไทยจำนวนมากอาจจะยังไม่มีโอกาสใช้วัคซีนนั้น เพราะในขณะนี้เรายังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ผลิตได้จะใช้เทคโนโลยีอะไร (มีแตกต่างกัน 6 - 7 วิธีทั้งใหม่และเก่า) และใครจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรของวัคซีนนั้น จะเป็นของบริษัทหรือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากประเทศใด (ถ้าเป็นประเทศจีนอาจจะใจชื้นเพราะผู้นำประเทศจีนประกาศว่าจะให้คนทั้งโลกเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาที่เป็นธรรม) เราจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตด้วยงบประมาณที่เรามีได้ไหม
ข้อที่เราควรจะดีใจคือประเทศไทยเราเดินยุทธศาสตร์หลายขาไม่ว่าจะเป็นเตรียมเงินซื้อวัคซีนเอง การสนับสนุนนักวิจัยของเราค้นคิดวัคซีนใหม่เอง (ปัจจุบันมีอยู่หลายทีม) และไปร่วมลงทุนกับผู้คิดค้นวัคซีนหลายทีมในต่างประเทศหลากหลายสัญชาติ (ตอนนี้ทีมค้นคิดวัคซีนกว่าร้อยทีมทั่วโลก) เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อผลการคิดค้นสำเร็จเราจะได้สิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตในราคาไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญคือ วัคซีนที่ผลิตได้ในช่วงต้นๆ อาจจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคน ความเร่งรีบในการผลิตอาจส่งผลต่อคุณภาพของวัคซีน และยังต้องรอดูผลข้างเคียงในระยะยาวเมื่อวัคซีนถูกนำไปใช้จริงกับประชากรนับล้านคน ดังนั้นเมื่อวัคซีนไม่พอ
คำถามก็คือ “ใครควรจะได้รับวัคซีนก่อน”
กลุ่มประชากรที่ควรจะได้รับวัคซีนในระยะเริ่มต้นที่มีวัคซีนอยู่จำกัด (ไทยเราอาจจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้ 15 ล้านโดสแรกในอีกหนึ่งปีข้างหน้า) ควรจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรครุนแรง ซึ่งจะได้รับประโยชน์สูง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน มะเร็ง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่อาจจะได้รับประโยชน์ในการป้องกันโรคต่ำ (เพราะอาการไม่รุนแรง) เช่นกลุ่มเด็ก ควรจะรอดูอีกระยะหนึ่งก่อนว่ามีผลข้างเคียงของวัคซีนมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะได้ข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนที่น่าเชื่อถือหลังจากที่เริ่มใช้ไปกับประชาชนจำนวนนับล้านๆคน (การทดลองในระยะที่สามหรือระยะก่อนการผลิตใช้จริง ทดลองกับประชากรเพียงหลักพันถึงหมื่นคน) แม้จะมีวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยใช้แต่การจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคอย่างจริงจังสำหรับประชาชนไทยก็ยังจำเป็นที่ต้องมีวัคซีนจำนวนกว่า 40 ล้านโดสมาใช้
คำถามก็คือ “เรามีความสามารถในการผลิตวัคซีนจำนวนนี้ได้ภายใน 3 ปีต่อจากนี้หรือไม่”
ผู้เชี่ยวชาญในวงวิชาการเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้เอง ทั้งจากการซื้อวัคซีนจำนวนมากมาแบ่งบรรจุเองหรือถ้าสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ก็น่าจะสร้างโรงงานมาตรฐานสำหรับผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ แม้ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมระดับหลายพันล้านบาทและต้องปลดล็อคระบบราชการออกจากวงจรการผลิต โดยรัฐอาจต้องเป็นผู้ลงทุนแต่จำเป็นต้องจัดให้มีการบริหารที่คล่องตัวแบบเอกชน
ไม่เช่นนั้นประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัด 2009 ที่ลงทุนกว่าพันล้านบาทแต่ไม่เคยได้ผลิตวัคซีนได้ในระดับอุตสาหกรรมเลย
แม้จะมีความสามารถจะผลิตวัคซีนได้ คำถามต่อมาก็คือ “ศักยภาพของประเทศไทยควรถูกส่งเสริมให้ไปได้มากกว่าการแบ่งบรรจุวัคซีนหรือรอรับเทคโนโลยีมาผลิตหรือไม่”
คำตอบสำหรับระยะสั้นไม่เกินสองปีคือ ‘ไม่ใช่’ ถ้ามองว่าจะพัฒนาศักยภาพในระยะสั้นสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเดียว เพราะแม้ประเทศไทยจะมีการส่งเสริมเรื่องการวิจัยให้กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายกลุ่มจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและภาคเอกชน
แต่โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ยังไม่สูงมาก เนื่องจากการระบาดในประเทศไทยลดลงมากเกินกว่าจะหาผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อมาร่วมทดลองในระยะที่สาม ประเทศไทยเราจึงมีโอกาสสูงที่ต้องพึ่งพิงการซื้อวัคซีนหรือการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
คำตอบ คือ ‘ใช่’ เมื่อมองในระยะยาว ด้วยโอกาสในการเกิดโรคระบาดใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพประชากรโลกจะเกิดขึ้นบ่อยทุก 5 ปี การมีขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรม (หลายสิบถึงร้อยล้านโดส) ควรเป็นกระบวนการมาตรฐานที่ประเทศไทยต้องทำได้ ไทยเราจึงจะยืนด้วยขาของตัวเองได้
เพราะจากการระบาดของโควิด-19 พบว่าประเทศต่างๆเกิดการแย่งชิงทรัพยากรเพื่อทั้งรักษาและป้องกันการติดโรคโควิด-19 ให้กับประเทศตนเองก่อน ทำให้เห็นว่าในอนาคตถ้าเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นอีก การพึ่งตนเองได้ของแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติด้วย
ข้อเท็จจริงของประเทศไทยคือ เรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนจากการวิจัยและพัฒนาไปสู่การขยายผลไปผลิตภาคอุตสาหกรรมระดับหลายสิบล้านโดสได้
นอกจากนี้สำหรับการผลิตยาเรายังไม่มีศักยภาพวิจัยและพัฒนายา รวมถึงยังไม่สามารถผลิตวัตถุดิบเองได้ ปัจจุบันทำได้แค่เพียงสั่งวัตถุดิบมาจากต่างประเทศเพื่อตอกเม็ดยา (จนมีคนบอกว่าถ้าเกิดการปิดประเทศต่างๆจากการระบาดของโรคในอนาคตเราอาจจะไม่สามารถผลิตยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้ด้วยซ้ำ)
การพัฒนาขีดความสามารถของการผลิตทั้งวัคซีนและยาของประเทศไทยจึงควรเร่งให้เกิดอย่างเร่งด่วน (ภายใน 5 ปี) เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
ดังนั้นอีกคำตอบหนึ่งของสังคมไทยต่อภัยการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อรุนแรงในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับ การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะมุ่งเป้าส่งเสริม และลงทุนด้านการวิจัย พัฒนาและการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ทั้งวัคซีนและยาแบบครบวงจรอย่างจริงจัง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทั้งด้านสุขภาพ และ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนในอนาคต หาใช่เพียงแต่การค้นพบหรือผลิตวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น
ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์
รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/