"...แม้ว่าการทักทายโดยการสัมผัส เช่น การจับมือ จะเป็นการแสดงออกถึง คำมั่นสัญญา การตกลงและการแสดงออกถึงความจริงใจมากเพียงใดก็ตาม แต่บทเรียนจากการแพร่เชื้อของโควิด-19 ทำให้มนุษย์ทั้งโลกตระหนักถึงพิษภัยที่อาจมาจากการสัมผัสผ่านการทักทายในรูปแบบต่างๆจนทำให้พฤติกรรมการทักทายของผู้คนต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ที่นักพัฒนาประดิษฐ์ใช้ทั้งความสามารถและเวลานานหลายปีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ให้สามารถจับมือทักทายกับผู้คนได้และหากการทักทายของมนุษย์ด้วยการจับมือสิ้นสุดลงจริง นักพัฒนาประดิษฐ์อาจต้องรอโจทย์ใหม่ในการพัฒนาหุ่นยนต์ไปจนกว่ามนุษย์จะหาข้อยุติได้ว่า การทักทายรูปแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด..."
โควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เพราะนอกจากทำให้ผู้คนต้องเจ็บป่วย ล้มตาย รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกทรุดลงอย่างหนักแล้ว พิษของโตวิด-19 ยังได้ทำให้ประเพณีต่างๆหลายต่อหลายอย่างที่มนุษย์ถือปฏิบัติมาอย่างช้านานต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
การทักทายคือวิธีแสดงออกที่มนุษย์พึงปฏิบัติอยู่เสมอไม่ว่าจะแสดงออกต่อ คนรู้จัก คนไม่รู้จัก ทั้งเพื่อการทักทายทั่วๆไปหรือในโอกาสสำคัญต่างๆก็ตาม การทักทายของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคต่างมีวิธีทักทายที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- การทักทายกันด้วยการสัมผัสมือซึ่งแต่ละคนต้องยื่นมือขวาให้กับฝ่ายตรงข้ามเพื่อบีบกระชับมือเข้าด้วยกันถือเป็นวิธีทักทายที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวตะวันตกและกลายเป็นการทักทายแบบสากลที่ใช้กันทั่วโลก
- คนฝรั่งเศสและคนในยุโรปหลายประเทศทักทายกันด้วยการจูบแก้มโดยการยื่นแก้มข้างขวาออกไปเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งจูบ
- พวกเมารีในนิวซีแลนด์ทักทายกันด้วยวิธีที่เรียกว่า ฮองงิ (Hongi) โดยใช้จมูกชนกันและหน้าผากแตะกัน
- คนญี่ปุ่นทักทายกันด้วยการโค้งหรือแม้แต่จะจากลากันก็ยังโค้งคำนับกันอีกหลายครั้ง
- คนไทยใช้วิธีทักทายโดยการไหว้เป็นส่วนใหญ่คล้ายกับการทักทายของคนอินเดียที่เรียกว่า นมัสเต แต่ในภายหลังมีการจับมือกันบ้างตามธรรมเนียมฝรั่ง
การทักทายของคนส่วนใหญ่ในโลกไม่ว่าจะเป็นการจับมือ การจูบหรือการแตะจมูก ล้วนเป็นการทักทายที่ต้องมีการสัมผัส ถูกเนื้อต้องตัวกันซึ่งในระหว่างการระบาดของเชื้อโควิด -19 มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนหลายต่อหลายประเทศจึงหลีกเลี่ยงที่จะทักทายกันโดยการสัมผัส แต่จะใช้การแสดงออกด้วยวิธีอื่นเมื่อมีการทักทายกันและบางประเทศมีข้อแนะนำและข้อห้ามสำหรับการทักทายในช่วงโรคระบาด เป็นต้นว่า
- รัฐบาลฝรั่งเศสตักเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการจูบแก้มเพื่อลดการสัมผัสระหว่างกัน
- การทักทายแบบ ฮองงิ ของพวกเมารีได้ถูกห้ามเพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดการแพร่เชื่อโควิด
- การทักทายด้วยการจับมือที่เชื่อกันว่าเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจและในสมัยโบราณแสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีอาวุธนั้นกลายเป็นสิ่งต้องห้ามทั่วโลกในช่วงวิกฤติโควิด เช่นกัน
นอกจากการทักทายที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมจากพิษของโควิด-19 ทำให้คนในโลกนี้จำนวนไม่น้อยกลายเป็น คนกลัวการติดเชื้อโรค (Germaphobe) มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตามการทักทายของแต่ละชาติมีธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างยาวนานและยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้วิธีอื่นที่ตัวเองไม่ถนัดหรือไม่ใช่ประเพณีของตัวเองได้ แต่อย่างน้อยที่สุดในช่วงการระบาดของโควิดทำให้ผู้คนจำเป็นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทักทายของตัวเองไปจากเดิม แต่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ คนในสังคมนั้นๆจะต้องเป็นผู้ตัดสินเอง
ธรรมเนียมการทักทายด้วยการจับมือได้ถูกซึมซับเข้าไปในสังคมของประเทศต่างๆจนดูเหมือนว่ากลายเป็นวิถีปฏิบัติที่คนทั้งโลกยอมรับ ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของปัญญาประดิษฐ์ ที่ผู้พัฒนาต้องทำให้หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์(Android)สามารถทักทายกับผู้คนได้เหมือนกับคนคนหนึ่ง
เอเลนอยด์ (Elenoide) เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างในญี่ปุ่นแต่มีรูปร่างผิวสีและสีผมเหมือนหญิงสาวชาวยุโรป นอกจากเธอจะสามารถพูดโต้ตอบกับคนและยกมือประกอบท่าทางการพูดได้แล้ว มหาวิทยาลัยเทคนิค Darmstadt (Technical University of Darmstadt) แห่งประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้พัฒนา เอเลนอยด์ ยังออกแบบให้ เอเลนอยด์สามารถจับมือกับผู้คนซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์อีกด้วย
เอเลนอยด์ มีความสูง 170 ซ.ม. และหนัก 45 ก.ก. ซึ่งมีรูปร่างไล่เลี่ยกับหญิงยุโรปทั่วไป มีผมบลอนด์และตาสีฟ้า เหมือนชาวตะวันตก ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ได้ทำการทดสอบความสามารถในการจับมือโดยให้ เอเลนอยด์ ยืนคู่กับคนจริงๆและให้หุ่นยนต์และผู้ทดลองสวมถุงมือผ้า หากผู้ทดลองไม่สามารถแยกออกได้ว่ามือไหนเป็นมือหุ่นยนต์และมือไหนคือมือที่เป็นเนื้อมนุษย์ แสดงว่าการทดสอบนั้นผ่าน ซึ่งในภาษาปัญญาประดิษฐ์เรียกการทดสอบนี้ว่า การทดสอบของ ทัวริ่ง (Turing test)
เมื่อให้ผู้ทดลองจำนวน 15 คน ผูกผ้าปิดตา จับมือกับเอเลนอยด์และคนจริงๆที่ยืนอยู่ข้างๆ ผลทดสอบปรากฏว่า มีคนเพียง 4 คนที่แยกไม่ออกเลยว่ามือไหนคือมือของหุ่นยนต์และมือไหนคือมือของผู้ทดลอง ขณะที่ผู้ทดลองอีก 11 คนที่เหลือสามารถรับรู้ได้ว่ามือของเอเลนอยด์กระด้างและมีความอุ่นของมือไม่สม่ำเสมอ อันเกิดจากการทำงานของระบบทำความอุ่นใต้ฝ่ามือ ซึ่งหมายความว่า เอเลนอยด์ยังไม่ผ่านการทดสอบทางกายภาพด้านการทักทายด้วยการจับมือแม้ว่าจะผ่านการทดสอบด้านอื่นๆมาแล้ว ก็ตาม
อย่างไรก็ตามเกิดข้อสงสัยในหมู่นักพัฒนาประดิษฐ์ว่าหากมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบการทักทายด้วยการจับมือไปเป็นรูปแบบอื่น หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์อย่างเอเลนอยด์ ที่ได้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการทักทายโดยการจับมือ จะถูกพัฒนาไปเป็นรูปแบบใดเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการทักทายของมนุษย์รูปแบบใหม่อันเป็นผลจากพิษของโควิด-19 ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
มนุษย์ทุกคนทราบดีว่ามือของตัวเองนั้นเป็นอวัยวะพิเศษที่ทำให้มนุษย์คงความเป็นมนุษย์อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะเดียวกันมือคืออวัยวะที่อาจแพร่เชื้อโรคได้ตลอดเวลาเพราะในแต่ละวันมือของเราได้สัมผัสสิ่งรอบตัวมากมายนับไม่ถ้วน ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติ ( National Institute of Allergy and Infectious Diseases ) ของสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่า การทักทายด้วยการจับมือนั้นไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปและ ยิ่งมีการสัมผัสมือกับคนน้อยที่สุดยิ่งเป็นผลดีกับสุขภาพและยังช่วยลดการติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัด อีกด้วย
ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อฯ มิใช่เป็นคนแรกที่ให้ความเห็นว่ามนุษย์ควรเลิกทักทายด้วยการจับมือ บุคลากรทางการแพทย์และพวกกลัวการติดเชื้อโรคจำนวนหนึ่งได้ต่อต้านการทักทายด้วยการจับมือมานานแล้ว แพทย์บางคนรณรงค์ให้เลิกการทักทายด้วยการจับมือมาตั้งแต่ช่วงปี 2000 เพราะนอกจากเหตุผลเรื่องการแพร่เชื้อโรคแล้วยังมีเหตุผลด้านวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากผู้คนบางศาสนา มักจะหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสมือเพศตรงข้ามในขณะมีการทักทาย ซึ่งสร้างความขัดเขินต่อทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้นักระบาดวิทยาจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ Mayo Clinic ของสหรัฐอเมริกาเห็นว่าในขณะที่ยื่นมือให้ผู้อื่นจับก็เหมือนกับเรากำลังยื่นอาวุธชีวภาพให้กับผู้อื่นนั่นเองและเห็นว่าการจับมือเพื่อการทักทายคือธรรมเนียมที่ตกยุคไปแล้ว
นักวิจัยด้านประสาทวิทยาของญี่ปุ่นพบว่าคุณค่าของการจับมือนั้นมีไม่เท่ากันในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม โดยพบว่าสมองของผู้ชายบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวขาวมีความตื่นตัวมากกว่าผู้ชายกลุ่มอื่นเมื่อรับรู้ในสิ่งดีที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการจับมือที่กระชับแน่นและยังพบว่าการจับมือเป็นกิจกรรมระหว่างผู้ชายกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงกับผู้หญิงหรือผู้ชายกับผู้หญิง
แม้ว่าการทักทายโดยการสัมผัส เช่น การจับมือ จะเป็นการแสดงออกถึง คำมั่นสัญญา การตกลงและการแสดงออกถึงความจริงใจมากเพียงใดก็ตาม แต่บทเรียนจากการแพร่เชื้อของโควิด-19 ทำให้มนุษย์ทั้งโลกตระหนักถึงพิษภัยที่อาจมาจากการสัมผัสผ่านการทักทายในรูปแบบต่างๆจนทำให้พฤติกรรมการทักทายของผู้คนต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ที่นักพัฒนาประดิษฐ์ใช้ทั้งความสามารถและเวลานานหลายปีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ให้สามารถจับมือทักทายกับผู้คนได้และหากการทักทายของมนุษย์ด้วยการจับมือสิ้นสุดลงจริง นักพัฒนาประดิษฐ์อาจต้องรอโจทย์ใหม่ในการพัฒนาหุ่นยนต์ไปจนกว่ามนุษย์จะหาข้อยุติได้ว่า การทักทายรูปแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด
อ้างอิง:
1. https://www.wired.com/story/end-handshakes-robots-humans/
2. https://www.faz.net/aktuell/rhein-main/darmstadt-praesentiert-menschliche-roboterfrau-elenoide-15607380.html
3. https://www.bbc.com/worklife/article/20200413-coronavirus-will-covid-19-end-the-handshake
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.ea-coder.com/human-trader-vs-forex-robot/