“...จะสังเกตว่าการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 11 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 2.32% ต่อจีดีพี รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีหนี้เพิ่ม 4.42% ส่วนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีหนี้เพิ่ม 0.81%...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์จากเชื้อโควิด โดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.ไทยศรีวิไลย์ และ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นายมงคลกิตติ สุขสินธารานนท์ ส.ส.ไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก แต่ต้องแลกมาด้วยเสรีภาพ และธุรกิจที่ต้องหยุดทำงาน ทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวมหาศาล รายได้ลดลงไป 1.1 ล้านล้านบาท จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเสนอ พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
ขณะที่เสถียรภาพทางการเงิน ณ วันที่ 30 เม.ย. มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 7.628 ล้านล้านบาท และเมื่อวันที่ 31 มี.ค.เรามีหนี้สาธารณะ 7.019 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.69% ของจีดีพีปี 2562
เมื่อเปรียบเทียบการบริหารราชการแผ่นดินของ 3 รัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บริหารงาน 2 ปี 8 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 8.09 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 3.03 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารงาน 2 ปี 10 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.25 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 4.42 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงาน 6 ปี มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.48 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 2.47 แสนล้านบาท
“จะสังเกตว่าการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 11 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 2.32% ต่อจีดีพี รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีหนี้เพิ่ม 4.42% ส่วนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีหนี้เพิ่ม 0.81%” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย กล่าว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีเงินกู้ไปช่วยเยียวยาประชาชน ส่วนเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่จะนำไปใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแม่บ้านในการกลั่นกรองและวางหลักเกณฑ์ แต่เงินก้อนนี้ดูจะเร่งรีบเกินไป เพราะเพิ่งมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. แต่มีกำหนดให้ส่งโครงการภายในวันที่ 5 มิ.ย. เรื่องนี้ถือว่าขาดความละเอียดรอบคอบและขาดความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน
ขณะที่ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 นายยุทธพงศ์ มองว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะหลักเกณฑ์ไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะกำหนดให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยต่ำ และต้องชำระคืนธนาคารแห่งประเทศไทยใน 2 ปี ซึ่งจะกลายเป็นภาระของความเสี่ยงสถาบันการเงิน ส่วน พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 คิดอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าการปล่อยหุ้นกู้ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็จะไม่เข้ามาใช้ เพราะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
“ผมเองมีความปรารถนาดีในฐานะที่เป็นคนไทย และในฐานะ ส.ส.อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้สำเร็จ และต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายงบประมาณเพราะ 1.9 ล้านล้านบาท เพราะเป็นเงินกู้รอบสุดท้าย โดยเฉพาะเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องทำให้เกิดประโยชน์” นายยุทธพงศ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/