หมายเหตุ :จดหมายเปิดผนึกของนพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขเเห่งชาติ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ หยุด CPTPP พร้อมเสนอ 6 เหตุผลที่ไทยไม่ควรเข้าร่วม
ดร.นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหาใน จดหมายระบุถึงประเด็นที่ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมความตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ว่าการที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยตรง เนื่องจากมีความกังวลต่อท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่แสดงเจตจำนงจะนำประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง CPTPP มาโดยตลอดจนกระทั่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ทันเวลาร่วมประชุมภาคี ความตกลงดังกล่าวที่ประเทศเม็กซิโกในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งที่คณะทำงานด้านผลกระทบการค้ากับสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมข้อกังวลและผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ ให้กับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เพื่อให้ไปแจ้งต่อนายสมคิด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด
ดร.นพ.หทัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคีความตกลงฯ เหลือเพียง 11 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยทำการค้าเสรี (FTA) กับสมาชิก CPTPP จำนวน 9 ประเทศ เหลือเพียงประเทศแคนาดาและประเทศเม็กซิโกที่ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ อีกทั้งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้นั้นค่อนข้างต่ำ และคาดว่าจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.12 หรือ 13,323 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงการคาดการณ์ว่า การลงทุนจะขยายตัวถึงร้อยละ 5.14 หรือ 148,420 ล้านบาท ก็เป็นเพียงการประเมินก่อนหน้าวิกฤติโควิด - 19 ซึ่งมองว่าจะมีผลทำให้การค้าการลงทุนต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปได้อีกในอนาคต
“การบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพียงนำผลประโยชน์เฉพาะหน้าแค่การส่งออกสินค้า ระยะสั้น ๆ มาพิจารณาเป็นหลักเท่านั้น ในระยะยาวประเทศไทยอาจเสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์ และที่สำคัญ จะส่งผลกระทบยาวนานต่อไปหลายชั่วอายุคน เพราะผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานราชการด้านเศรษฐกิจไม่ใส่ ใจอย่างรอบคอบเท่าที่ควร อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาถึงผลดีผลเสียอย่างละเอียด จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะทบทวนท่าทีของรัฐบาลใหม่ อย่าไปเข้าร่วม CPTPP เพื่อมิให้ความตั้งใจที่จะบริหารประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องล้มเหลว เพราะการตัดสินใจทางนโยบายที่ผิดพลาดครั้งนี้” ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าว
ทั้งนี้ ได้เสนอข้อเสนอข้อห่วงกังวลและผลกระทบต่อนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมความตกลง CPTPP ประกอบไปด้วย 6 ประเด็น ดังนี้
1. ศักดิ์ของ CPTPP กับความตกลงที่ไทยได้ (หรือจะ) เป็นภาคีด้านสาธารณสุข เช่น FCTC (กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่มีวัตถุประสงค์ป้องกันประชาชนจากพิษภัยร้ายแรงของยาสูบ), IHR (กฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็น สมาชิกขององค์การอนามัยโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันควบคุมโรคที่อาจมีผลกระทบต่อการเดินทางและการ ค้าขายระหว่างประเทศ), ASEAN Medical Device (กฎระเบียบด้านเครื่องมือแพทย์ของอาเซียน ที่ให้ความสำคัญ กับข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์) ซึ่ง CPTPP กำหนดว่า ต้องหาวิธีเป็นรายกรณี หากมีความขัดแย้งกันจะเกิดปัญหาในการปฎิบัติของกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้
2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพร ยา วัคซีน ชีววัตถุ ซึ่งล้วนเป็นความมั่นคงทางยาของประเทศไทย มีประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) แหล่งวัตถุดิบ : CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งจะให้ความ คุ้มครองในสิทธิ์ของและประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้นๆ
2) การวิจัยและพัฒนา : ไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้ ซึ่งจะกระทบต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0
3) CPTPP บังคับให้ อย. ต้องเชื่อมกระบวนการระหว่างการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา (patent linkage) ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาสามัญในประเทศ เพราะจะถูกห้ามหากยามีสิทธิบัตร โดยเฉพาะเมื่อยาได้รับสิทธิบัตรที่เป็น Evergeening (คือ ไม่มีความใหม่หรือนวัตกรรมที่สูงขึ้น หรือที่ เรียกว่า สิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุ) การขึ้นทะเบียนยาสามัญจะถูกระงับให้ล่าช้าออกไป
4) ความตกลง CPTPP บังคับให้ประเทศภาคีจำกัดมาตราควบคุมยาต่าง ๆ ก่อนอนุญาตให้วางจำหน่าย (Premarketing control) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของยาได้
5) ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต/นำเข้า/ส่งออก :
- ภาษีศุลกากร : ไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากภาษีนำเข้าเนื่องจากภาษีต่ำอยู่แล้ว และไม่ได้ ประโยชน์จาก CPTPP ในด้านการส่งออกเพราะวัตถุดิบอยู่นอก CPTPP ไม่เข้าเกณฑ์เรื่องกฎว่าด้วยการสะสม ถิ่น กำเนิด
- เปิดการแข่งขันบริการผลิต และบริการข้ามประเทศโดยไม่ต้องตั้งบริษัทประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ หากเกิดเหตุที่ผิดกฎหมายไทย จะไม่สามารถเอาผิดข้ามประเทศได้
6) ประเด็นการกระจาย/การใช้ และการเข้าถึง :
- บังคับให้เปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ: ลดสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรม และอุตสาหกรรม ไทย และใช้กลไกการจัดซื้อฯนี้ในนโยบายบัญชีนวัตกรรมไทยภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ได้จำกัดมาก โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งผลกระทบต่อการจัดหายาจำเป็น (ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ) ยาขาดแคลน และยากำพร้า
- เปิดแข่งขันบริการคลินิก/ ร้านยา บริการจัดจำหน่าย และระบบโลจิสติกส์
- มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกรัฐภาคีนำขึ้นสู่กรณีพิพาท หากไทยใช้การบังคับใช้สิทธิ์เพื่อผลิตหรือ นำเข้ายา หรือที่เรียกว่ามาตรการ CL ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- การบังคับใช้สิทธิ์ หรือ CL ของรัฐสามารถถูกฟ้องร้องจากนักลงทุนภายใต้นิยามเรื่องการเวนคืน ทางอ้อม และ/หรือเกิดการชะลอของกระบวนการใช้ CL ได้
3. เครื่องมือแพทย์
1) การลดภาษีนำเข้า : อาจจะไม่กระทบให้ราคาสินค้าลดลงเนื่องจากอัตราปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ (0 - ร้อยละ 35)
2) การต้องเปิดรับเครื่องมือแพทย์ปรับแต่งใหม่ (Remanufactured Medical Devices) แม้จะมีเจตนาที่ ดีเรื่องการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนที่ยังคงสภาพดี (ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม) แต่ไทยยังไม่มีความสามารถทาง ห้องปฏิบัติการที่เพียงพอสำหรับการตรวจประเมินคุณภาพ
3) จำกัดและกำกับกระบวนการทำงานในช่วงพิจารณาอนุญาตก่อนขาย (Pre - Marketing Control) ตาม ความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค
4) การจัดหา/การใช้ ไทยต้องเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ : ลดสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรม และ เอกชนไทย และจะใช้กลไกการจัดซื้อฯ นี้ในนโยบายบัญชีนวัตกรรมไทยภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ได้จำกัดมาก สำหรับ เครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย เปิดแข่งขันบริการจัดจำหน่าย อีกทั้งระบบโลจิสติกส์บริการข้าม ประเทศโดยไม่ต้องตั้งบริษัทประเทศไทย : กรณีเกิดเหตุที่ผิดกฎหมายไทยจะไม่สามารถเอาผิดข้ามประเทศได้
5) การกำจัด : ต้องการเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ไทยเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไทยกลับไม่ สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านี้ถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการลงทุนจากต่างประเทศได้
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
1) เครื่องดื่มนำเข้า : ต้องลดภาษีให้เหลือศูนย์ จะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาลดลง ประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่เข้าถึงได้มากขึ้น กระตุ้นการดื่มเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคและอุบัติเหตุที่ นำมาซึ่งความพิการและถึงชีวิต
2) การควบคุมการขาย/บริโภค :
- มาตรการต่างๆ ที่คุ้มครองผู้บริโภคสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากนักลงทุน ด้วยกลไกระงับข้อ พิพาทระหว่างรัฐและเอกชนหรือที่เรียกว่า ISDS (Investor - State Dispute Settlement) เพราะเป็นมาตรการ ที่ต้องการลดการบริโภค แต่มีผลต่อรายได้ของนักลงทุน และกลไกระงับข้อพิพาทโดย ISDS รัฐสุ่มเสี่ยงที่จะแพ้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า
- ฉลาก : จำกัดการควบคุมการโฆษณาบนฉลาก และจำกัดพื้นที่เรื่องคำเตือนสุขภาพ เพราะ CPTPP กำหนดเนื้อหาที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่แสดงบนฉลากไปแล้ว
- จำนวน/สัดส่วน บริการที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่ม การห้ามขายบางเวลา : ให้เปิดแข่งขันบริการ จัดจำหน่ายและโลจิสติกส์ ; การโฆษณาข้ามแดน; การขาย ข้ามประเทศโดยไม่ต้องตั้งบริษัทในไทย
- ให้ความสำคัญกับการทำ CRSR (Corporate Social Responsibility) ของธุรกิจซึ่งอาจขัดแย้ง กับ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงนโยบายด้านสุขภาพ
5. บริการ (บริการสุขภาพโดยบุลากรการแพทย์และบริการโรงพยาบาล/คลินิก) กำหนดให้เปิดเสรี ยกเว้นกรณีไม่ต้องการเปิด ให้กำหนดยกเว้นในภาคผนวก (Negative List Approach)
6. ประเด็นอื่นๆ
6.1 อาหาร : ต้องเปิดรับอาหาร GMO ให้มากขึ้น; ลดการควบคุมกำกับก่อนออกตลาด (Pre - Marketing Control)
6.2 เครื่องสำอาง : ลดการควบคุมก่อนออกตลาด (Pre - Marketing Control) และไม่ให้ใช้เลข จดแจ้ง (Notification Number)
6.3 ยาสูบ : มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคได้รับการยกเว้นจาก CPTPP แต่ไม่ รวมบริการจัดจำหน่าย
6.4 ความไม่แน่นอนของการนำข้อบทที่ถูกระงับชั่วคราว (Suspended) กลับมาบังคับใช้ : เนื่องจากข้อบทที่อยู่ใน TPP ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยามีอยู่จำนวนมากทั้งในด้านการขยายระยะเวลา
สิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลยาและตลาดยา การเปิดกว้างของสิ่งที่จดสิทธิบัตรได้ซึ่งรวมถึงการใช้ จึงมีความกังวลว่า หากข้อบทเหล่านั้นถูกพิจารณานำกลับมาใช้อีกในอนาคต (เมื่อสหรัฐฯ กลับเข้ามาร่วม CPTPP อีกครั้ง) จะส่งผล กระทบด้านลบอย่างมากต่อการเข้าถึงยาและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และระบบยา (ความมั่นคงทางยาของประเทศ) และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพของไทย (UHC)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/