“...ผมคิดว่าเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องคิดว่าภายในปีกว่าข้างหน้านี่จะทำอย่างไร โดยเฉพาะการช่วยคน 40% ล่างนี่จะทำอย่างไร นี่ก็มหาศาลแล้ว แล้วเฉพาะหน้าคือ ต้องคลายล็อกเร็วกว่านี้ ฉลาดกว่านี้ ที่ว่าฉลาดกว่านี้ ผมไม่ได้ว่ารัฐบาลโง่นะครับ แต่ควรมีมารตรการเฉพาะที่ เฉพาะจุด เฉพาะเซคเตอร์ มากกว่านี้ ไม่ใช่ทำอะไรทุกอย่างเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ ทุกช่วงเวลา...”
วิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คน หากแต่ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก รวมถึงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือคนจนทั้งในภาคเมืองและชนบท รายได้ที่เคยมีต้องลดลงหรือหมดสิ้น ตัวเลขคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น การท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคส่งออก รวมทั้งภาคการเกษตรทรุดลงอย่างหนัก เหล่านี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและไม่อาจปฏิเสธ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงทัศนะ มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไป
โดยนักเศรษฐศาสตร์รายนี้ เทียบเคียงและวิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ร้ายแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อไปอีกยาวนานคาด เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำต่อไปอีกปีครึ่ง
มุมมอง และเหตุผลประกอบ เป็นเช่นใด ปรากฎรายละเอียดนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
@ ยังมองไม่เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น
ผศ.ดร.อภิชาต ระบุชัดเจนว่า ประเด็นปัญหาในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ หากมองในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน เศรษฐกิจแย่มากๆ และนับจากนี้ต่อไป ยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะดีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ไป
“ตอนนี้ เราเริ่มคลายล็อก แต่มีผลกระทบที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังต้องเผชิญ ภาคการท่องเที่ยวภาคเดียว ก็ 10-12 % ของจีดีพีแล้ว การท่องเที่ยวนี่อย่างเร็วที่สุด หากคาดการณ์ว่าจะเริ่มคลายล็อกเพื่อให้มีการท่องเที่ยวในไทย ถามว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ คงไม่ใช่ภายในเดือนหรือสองเดือนนี้แน่ๆ”
ผศ.ดร.อภิชาต ยังตั้งคำถามว่าจะเริ่มมีการคลายล็อกเพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดได้เมื่อไหร่ เมื่อไหร่โรงแรมจะเปิด เมื่อไหร่คนถึงจะกล้าเที่ยว หากเดาว่าเดือนตุลาคม 2563 เริ่มเปิดให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ แล้วจากนั้นจะเปิดประเทศ ให้ต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ ซึ่งในกรณีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในไทยนั้น คาดว่าเดือนตุลาคมก็ยังเข้ามาไม่ได้
“ยุโรปจะปล่อยนักท่องเที่ยวออกมาเมื่อไหร่ จีนจะปล่อยออกมาเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าปีหน้า หลังมกราคม 2564 กว่าทั้งโลกจะกลับสู่ภาวะปกติ ประเทศทุกประเทศกลับมาเดินทางได้ แล้วเมื่อกลับมาเดินทางได้ แต่จะเหมือนเดิมไหม และถ้าคาดการณ์ว่าวัคซีนผลิตใช้ได้ปลายปีหน้า ช่วงปลายปี 2564 ถึงจะเริ่มมีวัคซีน กว่าทุกประเทศในโลกนี้จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพราะทุกคนได้รับวัคซีน ก็คงปลายปี 2564 อีกปีครึ่ง กว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะปกติ”
@ ไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า ประเทศไทยนอกจากพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วเรายังพึ่งการส่งออก
“การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการ รวมแล้วประมาณ 60 กว่า % ของจีดีพี ประเทศเราเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจ ขนาดเล็ก หรือกลางค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่เราเปิดประเทศค่อนข้างสูงมาก เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกับเศรษฐกิจไทยสูงมาก เราเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูงมาก รวมทั้งการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวคือการส่งออกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น กว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เนื่องจากคราวนี้ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกพร้อมๆ กัน มันไม่เหมือนต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นและติดโรคกันอยู่เฉพาะในภูมิภาคนี้ เพราะตอนนั้น ค่าเงินบาทเราลด พอเราส่งออก เราก็ฟื้นตัวเร็ว เพียงปี-สองปี เราก็ฟื้นตัวได้ ตลาดโลกยังรองรับเราได้ แต่ปีนี้ ตอนนี้ เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำมาก รวมทั้ง เศรษฐกิจไทยด้วย ตกต่ำทั่วโลกพร้อมกันอีกปีครึ่ง” นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ระบุ
@ แย่กว่าต้มยำกุ้ง
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเปิดล็อกดาวน์แล้วจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจจะยิ่งตกต่ำต่อไปอย่างนี้ อยู่ในภาวะที่คนไม่มีงานทำต่อไปแบบนี้อีกเป็นเวลานาน
“ต่อให้เริ่มมีการผ่อนคลาย ร้านอาหารเปิดแต่โรงแรมยังไม่มีคนเข้าพัก ร้านนวดกลับมาเปิด แล้วมีคนไปนวดไหม อย่างนี้เป็นต้น และจะยังมีคนตกงานต่อไปอีกเป็นระยะปีกว่า นี่คือการเดาทั้งหมดนะ และภายในระยะเวลาปีกว่านี้ ภาวะ เศรษฐกิจจะยังมืดมน มืดมนมากๆ ด้วย มืดมนระดับน้องๆ ต้มยำกุ้ง หรือไม่ก็แย่กว่าต้มยำกุ้งอีก ภาวะความแย่ของระบบเศรษฐกิจไทยไปจนกระทั่งปีหน้า นี่คือภาพรวมที่ผมคาดการณ์ ในระยะเวลาปีกว่าๆ”
“ดังนั้น ในภาวะนี้ มันจะส่งผลอะไรกับชีวิตผู้คน แปลว่า ชนชั้นล่างจำนวนมากที่โดนผลกระทบอยู่ในปัจจุบัน จะยังไม่ดีในเร็ววัน จะแย่อยู่อย่างนี้ ต่อไปอีกเป็นปี” นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ระบุถึงความกังวลต่อผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางในสังคม
@ ผู้มีรายได้น้อย คนจน คนตกงาน อยู่ในสภาวะลำบาก
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่าตัวเลขในปัจจุบัน ตกงานกัน 7 ล้านคนแล้ว
“ภาวะคนชั้นล่าง ผมประเมินว่า อาจจะเกินกว่า 50% ของประเทศไทยแล้ว คือก่อนที่วิกฤตินี้จะเกิดขึ้น อัตราส่วนคนจนของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมา3 ปี แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคน มาเป็น 10 ล้านคนเศษๆ คือตั้งแต่ปี 2016-2017 เพิ่มมาเป็นสิบล้านคนในปัจจุบัน”
“คนจนที่ว่านี้คือคนจนที่อยู่ต่ำกว่ากราฟเส้นความยากจน คือคนจนที่เดือดร้อนจริงๆ ระดับที่ไม่พอกิน คนจนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมาเป็น 10-11% มาก่อนหน้าที่โควิดจะเกิดแล้ว กระทั่งมีคนที่อยู่ใกล้เส้นความยากจน คือไม่มีเงินเก็บเงินออม แม้มีงานทำทุกวันก่อนเกิดวิกฤติ คาดว่ากลุ่มนี้มีอีก 30% รวมกับ 10% ที่ว่ามาแล้วเป็น 40% เพราะฉะนั้น 40% ของคนที่มีรายได้ต่ำในเมืองไทย เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากโควิด-19 ตอนนี้พวกเขาแย่แล้ว”
“ดูจาก 40% ถือเป็นเท่าไหร่ของประชากรไทย ก็ประมาณ 30 กว่าล้านคน ประมาณ 30 ล้านคน ตอนนี้ น่าจะเดือดร้อนมากๆ แล้ว เพราะไม่ได้ทำงานมา 2-3 เดือนแล้ว แล้วก็น่าจะตกงานต่อไป นี่คือสภาพในอีกปีกว่า จนกว่าเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว คนพวกนี้ จะลำบากมากเลย เพราะเงินสำรองก็ไม่มี ดูตัวอย่างจากคนที่ฆ่าตัวตายที่ไม่ได้ 5,000 บาท ตอนนี้ ต่อให้คุณได้ 5,000 บาทก็ได้ 3 เดือน แล้วหลังจาก 3 เดือน จะทำอย่างไร ก็ยังเป็นปัญหา รัฐก็ใช้เงินเยอะแล้ว ไม่ใช่ว่าใช้เงินเยอะกว่านี้ไม่ได้นะ แต่นี่คือ Immediate default คนกว่าครึ่งหนึ่งของสังคมไทย เดือดร้อนแบบเยอะๆ ดีกรีหนักหน่วง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าคนที่รายได้สูง จะมีเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด” ผศ.ดร.อภิชาต ระบุ
@ ภาคเกษตรทรุด คนไร้หลังพิง หมดที่พึ่ง
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่าคนที่รายได้เฉลี่ย เดิมได้หมื่นกว่าบาทก็จะเดือดร้อนมากขึ้น คนจน 40% แรก เดือดร้อนมาก แต่คนในเปอร์เซ็นต์ที่เหลือในกลุ่มที่ 50-60 % นั้นเป็นคนกลุ่มไหน ชนชั้นกลางก็เริ่มตกงานใช่หรือไม่ งานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ถูกปลดใช่หรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่น่ากังวล
“คนจน 40% แรกนี่น่าจะแย่กว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ เพราะตอนต้มยำกุ้งภาคเกษตรได้รับผลกระทบไม่เยอะ เพราะว่าหลังต้มยำกุ้ง ภาคส่งออก ราคาพืชผลกลับมาทำรายได้ได้เยอะ ราคาพืชผลไม่แย่ แต่ปัจจุบัน ราคาพืชผลเราแย่มาหลายปีแล้ว 4-5 ปีที่ผ่านมา รายได้ในภาคชนบทไม่ขึ้นเลย น่าจะติดลบด้วย คนจนที่เพิ่มขึ้นมา 10% มาจากภาคชนบทด้วย”
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่าเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนจนในภาคเมืองส่วนหนึ่งสามารถจะกลับไปมีหลังพิงที่บ้านที่ชนบทได้บ้าง มีพอแบ่งปันได้ “แต่ปัจจุบัน เนื่องจากภาคชนบท ภาคเกษตร มันกรอบมาก กรอบมา 5-6 ปี เป็นอย่างน้อยแล้ว ดังนั้น คนจนในเมืองจะแย่ที่สุดเลย คราวนี้กลับบ้านไปภาคชนบทก็ไม่ได้แล้ว ที่นาไม่เหลือแล้ว ต่างจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว บางคนที่เคยมีที่นา ก็อาจไม่มีที่นาที่ไร่เหลืออีกแล้ว และถึงแม้มีที่นาที่ไร่ แต่ญาติพี่น้องที่จะดูแลเค้าก็อาจจะยากจน ยากลำบากยิ่งกว่าที่จะดูแลหรือรองรับได้”
“เพราะฉะนั้น ระดับความยากลำบากโดยรวมของคน 40% ล่าง ผมเดาว่ามันน่าจะสูงกว่าต้มยำกุ้ง นี่คือภาวะที่เราจะเจอในช่วงปีครึ่ง และอย่างแน่ๆ ก่อนปีใหม่ ก็น่าจะแย่มากๆ” ผศ.ดร.อภิชาต ระบุ
@ ชี้ รัฐบาลคลายล็อกช้าเกินไป ขาดสมดุล
เมื่อถามว่าในฐานะประชาชน จะตั้งรับต่อภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจนี้อย่างไร
ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า “ยาก ยาก อันนี้ไม่มีทางออกเลย คือมันก็มองไม่เห็นทาง ถ้าถามว่าจะตั้งรับอย่างไร ผมคิดว่ารัฐคลายล็อกช้าไป คือการล็อกดาวน์มันดีในแง่ที่มันช่วยกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลง อย่างบางวันก็ตัวเลขเป็นศูนย์ แต่มันเป็นศูนย์ไปตลอดไม่ได้ มันเป็นมาตรการที่หนักหน่วงเกินไป การล็อกทั้งประเทศ ต้นทุนเศรษฐกิจมันมหาศาล จริงอยู่ ไม่ได้แปลว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป แต่มันต้องคลายล็อก และคลายล็อกที่ฉลาดกว่านี้ ต้องคลายล็อกในแต่ละ Sector ด้วยสปีดที่เร็วกว่านี้ มันต้องบาลานซ์ให้ดี คือถ้าปิดเร็วไป แรงไป คนก็จะกลับมาติดเชื้ออีก จำนวนมากเกินกว่าที่เราจะรับไหว แต่ปิดมากไปคนก็จะอดตาย คุณก็ต้องหาจุดสมดุลให้ได้”
“ในทัศนะผมที่เห็นปัจจุบัน มันไปข้างที่ล็อกมากเกินไปแล้ว ต้องคลายล็อกในมาตรการที่มากกว่านี้ ใช้วิธีการด้านสาธารณสุขที่มีต้นทุนน้อยกว่านี้ เช่น เลือกบางจังหวัด หรือหลายๆ จังหวัดควรจะเปิดได้แล้ว เพราะอัตราการติดเชื้อไม่มีแล้วในช่วง 28 วันที่ผ่านมา กลุ่มตรงกลางมี 30 กว่าจังหวัด อาจต้องเริ่มคลายล็อกมากกว่านี้ การเดินทางในกลุ่มก็อาจต้องทำได้มากกว่านี้ เร็วกว่านี้ ต้องคุยกัน ต้องให้ฝ่ายหมอและฝ่ายควบคุมโรค ระดมสมองร่วมกับภาคธุรกิจว่าอะไรเปิดได้ อะไรเปิดไม่ได้ ด้วยมาตรการอะไรที่ชัดเจนและคำนึงถึงต้นทุนด้วย”
ผศ.ดร.อภิชาต ยกตัวอย่างการเปิดร้านอาหาร อาจไม่จำเป็นต้องให้หนึ่งโต๊ะนั่งหนึ่งคน แต่ควรให้มีฉากกั้นแล้วนั่งโต๊ะหนึ่ง 2-3 คนก็ได้ ต้องดูที่รายละเอียดด้วย เพราะถ้าให้นั่งหนึ่งโต๊ะหนึ่งคน เขาอาจไม่เปิดร้าน เพราะไม่คุ้มทุน นั่งได้น้อยเกินไป เป็นต้น “ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้พวกเรามองไม่เห็นหรอก ต้องให้คนทำงานหน้างานเขาเห็น แต่ในความเห็นผมเปิดล็อกให้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น เลือกจุดปิด-เปิดล็อกเฉพาะจุดให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ นี่คือหลักการ นี่คือการบรรเทาความช่วยเหลือขั้นต้นที่สุดโดยเร็ว นี่คือภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่”
@ ความลำบากยังไม่จบลงในเร็ววัน
เมื่อถามว่าการคาดการณ์ไกลในกรอบระยะเวลาปีครึ่ง อย่างน้อยช่วยให้ผู้ที่กำลังประสบความยากลำบากอยู่เตรียมตั้งรับอะไรได้บ้าง
ผศ.ดร.อภิชาต ยอมรับว่า “คือผมไม่รู้หรอก ผมพูดได้แต่ว่าความลำบากของเขาจะไม่จบลงในเร็ววัน เขาต้องรับมือ เขาจะเตรียมตัวอย่างไรนี่เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด คือเขาไม่มีเวลาที่จะมองโลกในแง่ดีได้เร็วกว่านั้น”
“ผมคิดว่าเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องคิดว่าภายในปีกว่าข้างหน้านี่จะทำอย่างไร โดยเฉพาะการช่วยคน 40% ล่างนี่จะทำอย่างไร นี่ก็มหาศาลแล้ว แล้วเฉพาะหน้าคือ ต้องคลายล็อกเร็วกว่านี้ ฉลาดกว่านี้ ที่ว่าฉลาดกว่านี้ ผมไม่ได้ว่ารัฐบาลโง่นะครับ แต่ควรมีมารตรการเฉพาะที่ เฉพาะจุด เฉพาะเซคเตอร์ มากกว่านี้ ไม่ใช่ทำอะไรทุกอย่างเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ ทุกช่วงเวลา”
ทั้งหมดนี่ คือ ทัศนะเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ หลังโควิด -19 จาก ผศ.ดร.อภิชาต พร้อมข้อเสนอแนะที่ทิ้งท้ายไว้อย่างตรงไปตรงมา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://prachatai.com
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage