"...สถานการณ์จะยิ่งแย่ลงไปอีกหากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยด้วยวิธีการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปในโครงการและอุตสาหกรรมเดิม และเพิ่มการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการบิน รถยนต์ และการผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งถูกกระทบอย่างสาหัสจากสถานการณ์โควิด-19 และอีกหลาย ๆ บริษัทที่หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันซึ่งกำลังมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการมากมาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการที่รัฐบาลต่าง ๆ จะละเลยและมองข้ามภาพใหญ่ และหันกลับไปลงเงินในภาคส่วนที่เป็นต้นเหตุของมลภาวะจนไม่มีที่ว่างสำหรับสังคมที่มลพิษและคาร์บอนเป็นศูนย์..."
ตามที่สื่อหลายสำนักได้รายงานข่าวว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้นลดลงอย่างมาก โดยมีการตีพิมพ์บทความในวารสาร Nature Climate Change เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงเดือนเมษายน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึงร้อยละ 17 ด้วยเหตุจากมาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลก
เมื่อได้ยินเช่นนี้แล้วอาจเข้าใจได้ว่าจะต้องส่งผลไปในทางที่ดีขึ้นกับอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเดอะการ์เดียน สัญชาติอังกฤษ รายงานว่าเหตุการณ์นี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าเฉลิมฉลองเท่าไหร่นัก เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้ว ยังอาจกระทบต่อแผนการประเทศต่าง ๆ ในการเข้าทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ มีหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัส ก็ย่อมแน่นอนว่าหลังจากนี้จะต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนในหลายด้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายฟาที ไบโรล (Fatih Birol) กรรมการบริหารของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) กล่าวว่า "การลดลงของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นผลของความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ" ซึ่งตรงกับบทวิเคราะห์ของวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเฉลิมฉลองเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการลดลงครั้งนี้ก็จะหายไปอย่างรวดเร็วหากท้ายที่สุดไม่ได้มีการบังคับใช้นโยบายที่ถูกต้อง
นายเดฟ เรอีย์ (Dave Reay) อาจารย์ภาควิชาการบริหารจัดการคาร์บอน มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าวถึงวารสารดังกล่าวว่า "ช่วยให้สร่าง" เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นต่อการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเขากล่าวว่า "การล็อคดาวน์คนจำนวนเป็นพันล้านนั้น ส่งผลเพียงเล็กน้อยและเกิดขึ้นชั่วคราวอย่างกลวงๆ เท่านั้นในแง่ของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ช่วยเรื่องการลดโลกร้อน แต่กลับเป็นหายนะอย่างมาก"
ขณะเดียวกัน นายโจรี โรเจลจ์ (Joeri Rogelj) ผู้สอนวิชาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสถาบันแกรนแธม อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ก็ได้กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับใครทั้งสิ้น แต่เป็นเพียงหนึ่งในผลของการหยุดชะงักของเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและนโยบายเพื่อการกำจัดไวรัสเท่านั้น แต่สถิติการลดลงของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นแทบจะไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย"
นายโจรียังได้กล่าวเตือนว่า สถานการณ์จะยิ่งแย่ลงไปอีกหากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยด้วยวิธีการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปในโครงการและอุตสาหกรรมเดิม และเพิ่มการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการบิน รถยนต์ และการผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งถูกกระทบอย่างสาหัสจากสถานการณ์โควิด-19 และอีกหลาย ๆ บริษัทที่หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันซึ่งกำลังมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการมากมาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการที่รัฐบาลต่าง ๆ จะละเลยและมองข้ามภาพใหญ่ และหันกลับไปลงเงินในภาคส่วนที่เป็นต้นเหตุของมลภาวะจนไม่มีที่ว่างสำหรับสังคมที่มลพิษและคาร์บอนเป็นศูนย์
บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เรียกร้องต่างก็รวมตัวเรียกร้อง "Green Recovery" ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะรูปแบบอื่น ในขณะเดียวก็ยังมุ่งเน้นการสร้างงานและความยั่งยืนด้วย
นักเรียกร้องรายหนึ่งของแคมเปญ Friends of the Earth กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์อันเลวร้ายนี่ผ่านพ้นไปแล้ว เราจะต้องมุ่งไปในแนวทางที่จะนำไปสู่อากาศที่ดีขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง และเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลควรเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างถนน แบ่งสันปันส่วนการสร้างทางเดินเท้าและทางจักรยาน พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประโยชน์กับทุกคน ทบทวนแผนการขยายสนามบินและริเริ่มการเก็บภาษีสำหรับผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินบ่อย
นักเรียกร้องอีกรายของแคมเปญ Greenpeace UK กล่าวว่า รัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเป็นมิตรต่อธรรมชาติอย่างยั่งยืน เราต้องพัฒนาเมืองให้สะดวกต่อการเดิน ปั่นจักรยานและขนส่งมวลชน เริ่มสร้างงานที่จะส่งเสริมวงการพลังงานทดแทน รวมทั้งวิธีอื่น ๆ เช่น ติดฉนวนกันความร้อนในบ้านของผู้คน
ท้ายที่สุด ผู้คนจะต้องเรียนรู้จากสถานการณ์นี้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นและไม่ทำผิดพลาดด้วยการละเลยวิกฤตการณ์ธรรมชาติไม่ว่าครั้งใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น