ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้คนมีพฤติกรรมทำงานหนักวันละหลายชั่วโมงและต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม จากการสำรวจพบว่า มีคนญี่ปุ่นเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงานระหว่างโควิดระบาด ทั้งๆที่ผลสำรวจเรื่องความกลัวต่อโรคโควิดของคนญี่ปุ่นสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์
ทวิตเตอร์(Twitter) ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมเพิ่งประกาศว่า จะนำร่องให้พนักงานในบริษัทตัวเองสามารถทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) ได้ตลอดไป ตราบเท่าที่พนักงานของทวิตเตอร์ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงมาตรการล็อกดาวน์คุมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 แล้วก็ตาม ยกเว้นบางสายงานที่ต้องเข้ามาทำงานที่บริษัท
ทั้งนี้ทวิตเตอร์ได้สนับสนุนให้พนักงานในบริษัทประมาณ 5,000 คน เริ่มทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ขณะที่เชื้อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากทวิตเตอร์แล้ว หลายต่อหลายบริษัททั้งในต่างประเทศและในเมืองไทยต่างมีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้านด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการติดเชื้อโควิดและให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่หลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปแล้วชีวิตการทำงานของพนักงานออฟฟิศจะยังคงเหมือนเดิมหรืออาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป เป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทต้องมีการประเมินถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีทำงานแต่ละประเภทต่อไป
การทำงานจากบ้านหรือการทำงานนอกสถานที่ทำงานหรือเรียกกันว่า Telecommuting ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1973 โดยใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน
อย่างไรก็ตามการทำงานจากบ้านเท่าที่ผ่านมาสำหรับพนักงานประจำยังไม่ได้รับความนิยมมากนักแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นก็ตาม แต่เหตุการณ์ช่วงโควิดระบาดทำให้กระแสการทำงานจากบ้านกลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง เพราะหน่วยงานและบริษัทจำนวนมากสนับสนุนให้มีการทำงานจากบ้านมากขึ้นควบคู่ไปกับการทำงานในออฟฟิศ
เมื่อปี 1983 บริษัท IBM มีพนักงานทำงานนอกสถานที่ (Work From Anywhere :WFA) ราว 2,000 คน และจำนวนของพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ของบริษัท IBM มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การทำงานนอกสถานที่ทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ทำงานลงได้มาก เพราะไม่ต้องจัดพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพนักงาน การทำงานนอกสถานที่จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
จากรายงานพบว่าในปี 2009 พนักงานบริษัท IBM ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานใน 173 ประเทศไม่มีสถานที่ทำงานเป็นของตัวเอง เพราะสามารถทำงานจากบ้านหรือจากสถานที่อื่นๆได้ด้วยการสนับสนุนของเทคโนโลยี
การที่เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้งานหลายประเภทสามารถ ทำที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือแม้แต่การทำงานหรือการประชุมข้ามประเทศเป็นไปด้วยความสะดวกยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากทำให้ประหยัดงบประมาณของบริษัทแล้วยังช่วยให้ผู้คนไม่ต้องเดินทางและสามารถใช้ชีวิตใกล้ชิดกับครอบครัว มีความผ่อนคลาย และเชื่อว่าอาจทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น
จากข้อมูลการรายงานของสำนักสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ( US Census Bureau ) ในปี 2017 พบว่า พนักงานออฟฟิศ 5.1 เปอร์เซ็นต์หรือราว 8 ล้านคนทำงานนอกสถานที่ เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ซึ่งอยู่ที่ตัวเลข 5 เปอร์เซ็นต์และเพิ่มจากปี 2000 ซึ่งมีตัวเลขอยู่เพียง 3.3 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการทำงานนอกสถานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีตัวเลขที่ไม่มากนักก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มการทำงานนอกออฟฟิศเพิ่มขึ้นมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและความต้องการสภาพแวดล้อมที่คล่องตัวในการทำงานของพนักงานเอง
ตัวเลขจากการศึกษาของบริษัท Gallop พบว่า การทำงานจากบ้านช่วยให้พนักงานยังคงมีความภักดีต่อองค์กรโดยที่ไม่คิดจากไปไหน รวมทั้งมีหลักฐานชี้ชัดว่าการทำงานจากบ้านสามารถเพิ่มผลผลิตในงานของพนักงานอีกด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยการมีสมาธิในการทำงานมากกว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่อาจถูกรบกวนจากบุคคลอื่นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้อานิสงส์จากการทำงานจากบ้านทำให้ผู้คนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่อาศัยจากเมืองใหญ่ไปสู่เมืองที่มีประชากรหนาแน่นน้อยกว่า การทำงานจากบ้านจึงเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตจริงกับการทำงานซึ่งเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิต
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบทำงานจากบ้านด้วยเหตุผลต่างๆนานา เป็นต้นว่า บ้านคือสถานที่พักผ่อนไม่ควรใช้เป็นที่ทำงาน การทำงานที่บ้านเหมือนกับอยู่กับความซ้ำซากจำเจ การใช้เทคโนโลยีกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไปจนไม่สามารถจะหยุดทำงานได้ และคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการทำงานที่บ้านทำให้เกิดความรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ขาดโอกาสในการทำงานบางอย่างที่ส่งเสริมความก้าวหน้า ฯลฯ
ในขณะที่มุมมองของผู้บริหารบริษัทเห็นว่า การทำงานที่บ้านยากที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรหากพนักงานไม่ได้อยู่ร่วมกัน รวมทั้งในบางสถานการณ์ที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความสำคัญอาจต้องการการพบกันซึ่งหน้าเพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเห็นว่ าการทำงานที่บ้านทำให้ขาดความร่วมมือในการทำงานซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อกิจกรรมหลายอย่างขององค์กรเพราะงานบางประเภทต้องการการสื่อสารที่ใกล้ชิดและต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกัน
ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้คนมีพฤติกรรมทำงานหนักวันละหลายชั่วโมงและต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม จากการสำรวจพบว่า มีคนญี่ปุ่นเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงานระหว่างโควิดระบาด ทั้งๆที่ผลสำรวจเรื่องความกลัวต่อโรคโควิดของคนญี่ปุ่นสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ และระดับความกลัวเพิ่มขึ้นเป็น 87 เปอร์เซ็นต์หลังจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะอยู่ในภาวะหวาดกลัวต่อการติดเชื้อโควิดเพียงใดก็ตาม แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังมีพฤติกรรมต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ
แม้ว่าเครื่องมือสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันที่มีอยู่มากมายตามท้องตลาดดูเหมือนว่าจะช่วยให้การทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพ แต่เครื่องมือและแอปพลิเคชันเหล่านี้ต่างมีจุดอ่อนที่เราคาดไม่ถึง เป็นต้นว่า การสื่อสารด้วย e-mail ช้าและไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับการสื่อสารด้วยโทรศัพท์หรือการประชุมทางโทรศัพท์(Video conference) หรือแม้แต่แอปพลิเคชั่นยอดนิยมเช่น SLACK ZOOM ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ก็มีจุดอ่อนเช่นกันเมื่อเทียบกับการทำงานร่วมกันตัวต่อตัวในสถานที่ทำงานเดียวกันซึ่งต้องการการสื่อสารที่มากกว่า การฟังเสียง อ่านข้อความ หรือดูภาพ จากแอปพลิเคชันเหล่านี้และอาจมีปัญหามากยิ่งขึ้นเมื่อทำงานกับทีมงานกลุ่มใหญ่
เมื่อปี 1977 ศาสตราจารย์ Thomas J. Allen แห่งสถาบันเทคโนโลยี MIT สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองวิเคราะห์รูปแบบของการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสถานที่ทำงาน โดยพบว่าเมื่อมีการแยกโต๊ะทำงานของคนเหล่านี้ออกจากกันจะทำการสื่อสารระหว่างบุคคลลดลงและเมื่อแยกโต๊ะทำงานออกจากกัน 30 เมตรพบว่าบุคคลเหล่านี้แทบจะไม่ได้พูดคุยกันเลย
การทดลองของศาสตราจารย์ Allen จึงกลายเป็นทฤษฎีที่เรียกว่า “Allen Curve” ซึ่งอธิบายถึง “ ความถี่ของการสื่อสารระหว่างบุคคล(นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร)จะลดลงเมื่อระยะห่างของบุคคลเหล่านี้เพิ่มขึ้น” หากทฤษฎีของศาสตราจารย์ Allen ยังคงเป็นความจริง ไม่ว่าเราจะใช้เครื่องมือใดก็ตามหรือแอปพลิเคชันใดก็ตามก็ไม่สามารถนำมาทดแทนการทำงานร่วมกันของมนุษย์ได้ในทุกกรณี
คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันจะช่วยลดระยะทาง ระหว่างกัน ทำให้ผู้คนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นและอาจลบล้างทฤษฎี Allen curve ลงได้ แต่ผลกลับผิดคาดเมื่อการทดลองของศาสตราจารย์ Thomas J. Allen เจ้าของทฤษฎี Allen curve เมื่อหลายสิบปีก่อน สอดคล้องกับผลการทดลองของ Ben Waber CEO ของบริษัท Humanyze ซึ่งมีการทดลองเมื่อไม่นานมานี้ โดยเขาพบว่าเครื่องมือสื่อสารต่างๆนั้นส่วนใหญ่แล้วมักถูกใช้ระหว่างคนที่เคยพบหน้าค่าตากัน(Face-to-face) เป็นประจำ นอกจากนี้จากการศึกษาในกลุ่มผู้พัฒนาซอฟแวร์ร่วมกับนักวิจัยจากบริษัท IBM เขาพบว่าพนักงานที่อยู่ในสถานที่ทำงานเดียวกันมีการสื่อสารเฉลี่ย 38 ครั้งเมื่อเผชิญกับปัญหาสำคัญ เทียบกับการสื่อสารระหว่างพนักงานที่อยู่คนละสถานที่ซึ่งมีการสื่อสารกันประมาณ 8 ครั้งเท่านั้นเมื่อเผชิญปัญหาลักษณะเดียวกัน
ศาสตราจารย์ Alex Pentland แห่ง สถาบันเทคโนโลยี MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของพนักงานออฟฟิศโดยพบว่า ความใกล้ชิดของเพื่อนร่วมงาน (Proximity) คือปัจจัยหลักของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความพึงพอใจในงาน จึงเชื่อว่า ถ้าสามารถทำให้เพื่อนร่วมงานมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันสิ่งที่แต่ละคนมีอยู่ซึ่งกันและกัน เช่น ความรู้ ทัศนคติ นิสัยการทำงาน รวมไปถึงการสนับสนุนต่อสังคม เป็นต้น ดังนั้นงานบางประเภทที่มีการทำงานใกล้ชิดกันของเพื่อนร่วมงานจึงให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจกว่าการนั่งทำงานอย่างเงียบๆเพียงคนเดียว
ในระยะหลังแนวความคิดการทำงานแบบเปิดที่ทำให้พนักงานมีความใกล้ชิดกันจึงถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทใหญ่ๆใน Silicon Valley มักสนับสนุนให้พนักงานทำงานในสถานที่แบบเปิดและอยู่ในสถานที่เดียวกันเพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีขึ้น
ดังนั้นเมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องเลือกระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานที่ออฟฟิศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วน เพราะผลกระทบในทางลบของการใช้เทคโนโลยีในการทำงานจากบ้านหรือนอกสถานที่มักไม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่แรก จนเมื่อเวลาผ่านไปความจริงบางอย่างจึงถูกเปิดเผย การทำงานนอกสถานที่จึงอาจเหมาะกับสถานการบางสถานการณ์และอาจไม่เหมาะสมกับงานบางประเภทและอาจส่งผลในทางลบโดยไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆบางแห่งเริ่มมีนโยบายหันกลับมาให้พนักงานเข้ามาทำงานร่วมกันในที่ทำงานอีกครั้งหลังจากพบว่านโยบายการทำงานนอกสถานที่ อาจส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ แม้ว่าจะประหยัดงบประมาณด้านสถานที่ลงได้จำนวนมากก็ตาม
จึงไม่แปลกที่บริษัท IBM ซึ่งเคยเป็นบริษัทแถวหน้าในการสนับสนุนให้พนักงานทำงานนอกสถานที่มาอย่างยาวนานได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อปี 2017 ว่า ต้องการให้พนักงานของตัวเองนับพันคนที่เคยทำงานนอกสถานที่กลับมาทำงานที่บริษัท รวมทั้งก่อนหน้านี้บริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัท เช่น Yahoo ธนาคารแห่งอเมริกา ฯลฯ ต่างมีนโยบายเรียกพนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ เช่นกัน
แม้ว่าสถานการณ์จากการระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้เพื่อการทำงานจากบ้านมากขึ้น แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นการเสริมศักยภาพเฉพาะตัวของบุคคลสำหรับการทำงานบางประเภทซึ่งอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดของการทำงานในยามปกติ เพราะสิ่งที่ขาดหายไปของการทำงานคือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานและความร่วมมือระหว่างกันเพื่อการสร้างสรรค์งานบางประเภทที่ต้องการการปรากฏตัวของบุคคลเพื่อร่วมตัดสินใจ
นอกจากนี้การทำงานในบางสถานการณ์อาจต้องการรับรู้ถึงการแสดงออกทางภาษากายของบุคคลซึ่งเรียกกันว่าสัญญาณทางสังคม(Social signal) เช่น การสบตา การพยักหน้า การสัมผัส การแสดงออกถึงความจริงใจ อารมณ์และสีหน้าท่าทางที่แสดงออกถึงการยอมรับและความเชื่อถือ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่สามารถแสดงออกด้วยคำพูดหรือตัวอักษรและยังไม่อาจใช้เทคโนโลยีใดๆมาทดแทนได้
อ้างอิง
1. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1843104
2. https://qz.com/work/1392302/more-than-5-of-americans-now-work-from-home-new-statistics-show/
4. https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/11/when-working-from-home-doesnt-work/540660/
5. Social Physics โดย Alex Pentland
ภาพประกอบ
https://interiasystems.com.au/ideas-tips-blog/working-from-home-vs-working-from-the-office/