หมายเหตุ :New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ เขียนโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในบทความชุด TDRI Policy Series on Fighting Covid-19
เมื่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง หลายๆ ภาคส่วนเริ่มพูดถึง “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” ที่จะตามมา ภาคการศึกษาเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ทั่วโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ทำให้ทั้งภาคนโยบาย โรงเรียน ครู และนักเรียนนักศึกษา ต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลอย่างเร่งด่วน ชวนให้หลายคนคิดว่า เมื่อโควิด-19 ผ่านไป การเรียนรู้ทางไกลและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้จะกลายเป็นความปกติใหม่ของการศึกษาไทย ทว่า ความปกติใหม่นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะอะไร หากมิใช่แล้ว ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรแน่ และใครจะเป็นผู้กำหนดหน้าตาของความปกติใหม่นี้
ทำไมการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์จะยังไม่ใช่ “ความปกติใหม่” แต่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของครู
การจัดการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผลสูงสำหรับผู้เรียนทุกคน ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ และความพร้อมของครอบครัวและนักเรียนในการเรียนรู้จากที่บ้าน ปัจจัยเหล่านี้มีต้นทุนมหาศาล เช่น หากรัฐจะจัดสรรเงินช่วยเหลือค่าคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยากจนคนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณถึง 2,800 ล้านบาท (จาก บทความ โดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู) และหากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้เฉพาะนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษที่มีอยู่กว่า 700,000 คนตามเกณฑ์การคัดกรองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่ครอบครัวนักเรียนต้องจ่าย ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องใช้เวลาดูแลการเรียนของลูกแทนการทำงานหารายได้ และต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักเรียนจากการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่ำกว่าการเรียนตามปกติกับครูในห้องเรียน
เมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่สูงมากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยี และผลลัพธ์เชิงคุณภาพและความเสมอภาคที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยุติลง ระบบการศึกษาในภาครวมจะกลับไปสู่การจัดการเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนการเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยีจะเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ในบางสถานการณ์ กับนักเรียนแค่บางกลุ่ม และในบางพื้นที่ แต่จะยังไม่ใช่ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากได้ปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีในการทำงานทางไกล เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดการเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยตรง แต่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปแม้การระบาดสิ้นสุดลง
“ความปกติใหม่” ของภาคการศึกษาไทย ควรเป็นการให้น้ำหนักแบบใหม่เพื่อจัดการปัญหาเดิม
ปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ถึงสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นแท้จริงต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเช่น หลักสูตรแกนกลางที่มีอยู่เดิมเทอะทะเกินไปและไม่เหมาะกับบริบทของเด็กแต่ละคน และ กฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผมไม่มีความสำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เป็นต้น
เราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่า เงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย แนวคิดหรือผลประโยชน์บางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น
- ให้น้ำหนักกับ ปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์
- ให้น้ำหนักกับ การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่ มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ
- ให้น้ำหนักกับ การประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา
- ให้น้ำหนักกับ การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความท้าทายในการเรียน ควบคู่กับ การส่งเสริมนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ให้เต็มตามศักยภาพ เนื่องจากนักเรียนที่ขาดแรงจูงใจในการเรียนเป็นทุนเดิมหรือมาจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- ให้น้ำหนักกับ การเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับ การเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็กๆ ทุกวัย ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเด็กมีความเครียดหรืออยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย ครูจึงควรสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องสุขภาวะ การดูแลสุขภาพกายและใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ครอบครัวและสังคมที่ไม่แน่นอน
- ให้น้ำหนักกับ การจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก ในลักษณะเดียวกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านต่างๆ ไม่เพียงแค่การศึกษาเท่านั้น
การสร้างความปกติใหม่ตามข้อเสนอนี้สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เพียงอาศัยการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึง ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากแนวทางการจัดการศึกษาที่กล่าวมานี้ คือ “ความปกติเดิม” ที่เกิดขึ้นมาแล้วในระบบการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงบางโรงเรียนในประเทศไทยที่ปรับการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 มาก่อนหน้านี้ และน่าจะยังคงสอดคล้องกับโลกในอนาคต
บทสรุป: มีหรือไม่มีโควิด-19 ก็ต้องร่วมออกแบบความปกติใหม่ที่การศึกษาไทยต้องการ (desirable new normal)
แม้ไม่มีโควิด-19 ระบบการศึกษาไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากปัจจัยขับเคลื่อนจำนวนมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ด้านสังคม เช่น โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ด้านเทคโนโลยี เช่น disruptive technology ที่ทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการเปลี่ยนไป และด้านการเมืองการปกครอง เช่น การดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ผู้เขียนมองว่า โควิด-19 เป็นทั้ง “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่รอท่าอยู่เกิดขึ้นเร็วขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้มาใช้ในวงกว้าง และเป็น “ตัวหน่วงปฏิกิริยา” ให้แผนการบางอย่างชะลอออกไป เช่น การนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2563
การเร่งปฏิกิริยาและการหน่วงปฏิกิริยาของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนต้องปรับตัวด้วยความจำเป็น เช่นเดียวกับแรงดึงและแรงผลักของปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการศึกษาไทยมาโดยตลอด หากขาดการออกแบบเชิงรุกและการตั้งรับปรับตัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการศึกษา ก็เป็นไปได้สูงมากว่าอนาคตของการศึกษาไทยจะเคลื่อนคล้อยไปตามแรงเหล่านี้จนไม่สามารถควบคุมทิศทางไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า การจินตนาการถึง “ความปกติใหม่” ที่กำลังจะมาถึง ไม่ควรถูกตีกรอบไว้ด้วยสถานการณ์ความจำเป็นจากโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้น แต่ควรเป็นการจินตนาการถึง “ความปกติใหม่ที่เป็นที่ต้องการ” (desirable new normal) จากการหารือและวางแผนร่วมกันของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางศึกษา ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง และที่สำคัญที่สุด คือตัวนักเรียนเอง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage