"...กิจกรรมที่คนไทยมากน้ำใจทำมานี้ ทำมาไม่หยุดยั้งเลย แม้ว่าโควิดจะระบาดน้อยลงไปเรื่อยๆ สองวันมานี้ ยังเห็น “ตู้แบ่งปันนำ้ใจ” ผุดขึ้นมาในหลายจังหวัด ใครมีอะไร ของกินของใช้ ก็ใส่ไว้ในตู้ ให้ใครที่ลำบากหยิบเอาไปได้ แต่พอประมาณ ให้นึกถึงคนอื่นที่ยังไม่ได้มาหยิบ และหากคนที่เคยหยิบ จะมีอะไรบริจาคคืนได้ก็ยิ่งดี ช่วยกันและกัน หลวงพ่อชยสาโรท่านเคยเล่าว่า เมื่อบวชใหม่ๆ ออกไปรับบิณฑบาตร ท่านเห็นชาวบ้านที่มากด้วยศรัทธาและน้ำใจ คดข้าวเหนียวจากห่อ ถวายพระทุกเช้า คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ยากจน แต่ กลับเป็น “นักให้” ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะในวันนั้น เขาอาจมีข้าวเหนียวแค่สามก้อน แบ่งให้พระฉันหนึ่งก้อน ที่เหลือนั้น เป็นของตัวเองและครอบครัว..."
คนไทยเป็นคนมี “น้ำใจ” โอบอ้อมอารี และสงสารเห็นใจ พร้อมจะช่วยเพื่อนมนุษย์ในยามลำบาก ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือไม่ ในยามที่โควิด-19 ระบาด ผมเห็นร้านอาหารราคาแพงแถวทองหล่อซึ่งจำต้องปิดกิจการ แต่แทนที่จะโอดครวญ กลับเปลี่ยนมาทำข้าวห่อ เพื่อแจกฟรีให้คนรับจ้างขับมอเตอร์ไซค์ (วิน) และ แท็กซี่ ด้วยสงสารและเป็นห่วงว่าคนเหล่านั้น ซึ่งแทบไม่มีลูกค้าแน่ อย่างน้อย ได้ข้าวห่อไปกิน ก็ยังดี
ที่ มหาวิทยาลัยรังสิตที่ผมประจำอยู่ เราทำ “โรงทาน” แจกอาหารห่อฟรีทุกเที่ยง มีคนที่อยู่ในเมืองเอก รอบเมืองเอก มาเข้าแถวรับอาหารไปรับประทานทุกวัน วันละร่วมพันห่อ คนที่มารับนั้น แน่นอน ย่อมมีทั้งคนจนและคนไม่จน มีที่เป็นอาจารย์และนักศึกษาก็มี
ผมตระเวนไปเห็นพระสงฆ์องค์เจ้าที่เคยรับถวายบิณฑบาตรจากประชาชน คราวนี้ ท่านกลับนำข้าวปลา เงินเล็กๆ น้อยๆ และของใช้ ที่จำเป็นไปมอบให้ผู้ที่เคยตักบาตรถวายท่าน ดูแล้วซึ้งใจ อดคิดไม่ได้ครับ ว่า มนุษย์ที่อยู่รอดมา ไม่สูญพันธ์ เป็นแสนเป็นล้านปีมาแล้ว ก็เพราะมีน้ำใจช่วยกันและกัน คิดถึงเป็นห่วงกันและกัน และ คนไทยเรา ดีๆ ชั่วๆ นี่แหละ ที่เป็นแบบฉบับของความมีน้ำใจ ขนานนามพวกเราเป็นคำฝรั่งปนไทย ว่า “ compassionate animal ตัวแม่ “ เห็นจะได้
กิจกรรมที่คนไทยมากน้ำใจทำมานี้ ทำมาไม่หยุดยั้งเลย แม้ว่าโควิดจะระบาดน้อยลงไปเรื่อยๆ สองวันมานี้ ยังเห็น “ตู้แบ่งปันนำ้ใจ” ผุดขึ้นมาในหลายจังหวัด ใครมีอะไร ของกินของใช้ ก็ใส่ไว้ในตู้ ให้ใครที่ลำบากหยิบเอาไปได้ แต่พอประมาณ ให้นึกถึงคนอื่นที่ยังไม่ได้มาหยิบ และหากคนที่เคยหยิบ จะมีอะไรบริจาคคืนได้ก็ยิ่งดี ช่วยกันและกัน หลวงพ่อชยสาโรท่านเคยเล่าว่า เมื่อบวชใหม่ๆ ออกไปรับบิณฑบาตร ท่านเห็นชาวบ้านที่มากด้วยศรัทธาและน้ำใจ คดข้าวเหนียวจากห่อ ถวายพระทุกเช้า คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ยากจน แต่ กลับเป็น “นักให้” ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะในวันนั้น เขาอาจมีข้าวเหนียวแค่สามก้อน แบ่งให้พระฉันหนึ่งก้อน ที่เหลือนั้น เป็นของตัวเองและครอบครัว
อยากจะบอกว่า ระบาดไวรัสทั่วโลกนั้น มา “แพ้ทาง” ที่ไทย การที่เราไม่ปั่นป่วนวุ่นวาย สังคมยืนยงอยู่ได้ไม่ล้มลงไป ก็เพราะขณะที่เชื้อโรคร้ายระบาดอยู่นั้น ก็มี “น้ำใจ”ระบาด ควบคู่ไปด้วย คิดแล้ว เรามี “ภูมิต้านทาน”ทางสังคม ออกมาช่วยสู้ไวรัสเอาไว้
แม้แต่ราชการซึ่งเต็มไปด้วยระเบียบและกฏเกณฑ์ ก็ “รู้ร้อนรู้หนาว” ไปด้วย พยายามโอบอุ้มช่วยเหลือคนที่ถูกผลกระทบให้มากที่สุด กระทรวงแรงงาน ที่ผมพอจะรู้เรื่องอะไรอยู่บ้าง ทั้งฝ่ายการเมืองและประจำ ก็อยู่ในอาการนั้น ออกแรงออกความคิดจนนโยบายของรัฐบาลบรรลุผล ทำให้โควิดเป็น”เหตุสุดวิสัย”ตาม กฏหมาย และจ่ายชดเชยว่างงานได้ คาดว่าผู้ที่จะรับเงินชดเชยนี้จะมีไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านคน ยิ่งกว่านั้น เรายังแก้กฏระเบียบเก่าให้จ่ายชดเชยได้มากขึ้น จาก 50 เปอร์เซนต์ ของรายได้ ให้เป็น 62 เปอร์เซนต์ ทำให้ผู้ว่างงานได้รับเงิน “กองทุนประกันสังคม” เดือนละ 5-9 พันบาท โดยประมาณ
ยิ่งกว่านั้น บัดนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มีความเห็นเพิ่มเติมมาอีกว่ากองทุนประกันสังคมนั้น ควรขยับค่าชดเชยว่างงานจาก เหตุสุดวิสัย โควิด-19 นี้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้คนว่างงาน ได้เงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีก ที่ให้มานั้น ก็ดี แต่ยังไม่พอ จะเพิ่มให้เป็น 75 เปอร์เซนต์ หรือ ประมาณ 8 พัน ถึง 12,000 บาท ต่อเดือน ต่อคน ถือว่าเงินชดเชยนี้ “มากด้วยนำ้ใจ” แม้จะยังมีความล่าช้าในการจ่ายอยู่บ้าง แต่รัฐบาลและกระทรวงก็ได้ส่งสัญญาณแล้วว่า จะดูแลผู้ประกันตนให้เต็มที่
ธรรมดาโลก ไม่ว่าจะทำอะไรกันรวมทั้งเรื่องดี-เรื่องกุศล ก็ย่อมต้องมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอยู่ การบ่นด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ ทั้งหลาย ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ตราบใดที่เราท่านมี “น้ำใจ” กัน ทั้งในภาคส่วนสังคม ทั้งในภาครัฐ ตั้งแต่ระดับสูงสุดของแผ่นดิน ลงมาถึงระดับต่ำสุด ทั้งฝ่ายปฏิบัติ และ ฝ่ายตรวจสอบ ทั้งในวงฆราวาส ทั้งในวงพระสงฆ์ ทั้งหมู่ชาวพุทธ ทั้ง ศาสนิกอื่นๆ ทั้งปวง ก็ พอจะเชื่อได้ว่า เราจะฝ่าพ้นภัยวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกันได้ อย่างแน่นอน
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา รองอธิการบดี ม.รังสิต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก kapook