การขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ของประเทศฝั่งตะวันตกแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ได้สูญเสียความสามารถทางเทคโนโลยีและแนวคิดในการสร้างเครื่องมือที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ให้กับประเทศในอีกซีกโลกหนึ่งไปแล้ว เพราะประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ล้วนแต่เน้นการผลิตแต่เทคโนโลยีประเภทใช้ความคิดและเทคโนโลยีสะอาด เพื่อผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตมนุษย์มากกว่าการผลิตอุปกรณ์พื้นฐานที่มนุษย์ต้องใช้คราวจำเป็น
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1957 สหภาพโซเวียตได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญแก่คนทั้งโลก เมื่อสามารถส่งดาวเทียมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 58 ซ.ม. ชื่อ สปุตนิก 1(Sputnik 1) ขึ้นจากพื้นโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ความสำเร็จของ สปุตนิก 1 นอกจากจะแสดงถึงความสำเร็จของรัสเซียต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังสร้างได้จุดเปลี่ยนให้กับคนอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญด้วยเหตุผลจากความกลัวว่ารัสเซียจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะหลังจากรัสเซียส่งดาวเทียม สปุตนิก 1 ไม่ถึงปี สภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกาได้ผ่าน กฎหมายที่เรียกว่า National Defense Education Act ทำให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่ โดยการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนอเมริกัน สร้างองค์กรด้านอวกาศ และหน่วยงานวิจัยทางเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญที่จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาครั้งสำคัญ ซึ่งเรียกกันว่า “ ช่วงเวลา สปุตนิก” หรือ “ สปุตนิก โมเมนต์” (Sputnik moment) อันเป็นผลมาจากช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของดาวเทียม สปุตนิก1 ของรัสเซียและช่วงเวลานี้ถูกใช้เป็นช่วงเวลาอ้างอิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆของโลกอยู่เสมอ
โควิด -19 ทำให้เกิด “ สปุตนิก โมเมนต์” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะวิกฤติครั้งนี้ทำให้มนุษย์ทั้งโลกพบความจริงว่า มนุษย์ได้ละเลยต่อการสร้างสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการมีชีวิตอยู่บนโลกในยามวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตะวันตกที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต่างไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานได้อย่างทันท่วงทีเมื่อถึงคราวจำเป็น จนทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายราวใบไม้ร่วง เป็นต้นว่า
- ไม่สามารถจัดหาหน้ากากป้องกันการติดเชื้อและชุดป้องกันการติดเชื้อ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างพอเพียงในการปฏิบัติงาน
- ไม่สามารถจัดหาเครื่องช่วยหายใจที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยจนทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต
- ไม่มีมีวัคซีนและขาดแคลนยารักษาการติดเชื้อโควิด
- ขาดแคลนชุดทดสอบการติดเชื้อ
- ขาดแคลนห้องผู้ป่วย ICU สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก
- ขาดแคลนห้องความดันลบเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อโรคจากผู้ป่วย
- ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ
การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐานสำหรับผู้ป่วยโควิดในช่วงเวลากะทันหันเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่เมื่อเวลาทอดเลยมานานนับเดือนความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังคงไม่หมดไป จึงพอจะพูดได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ขาดศักยภาพในการปรับเปลี่ยนสายงานการผลิตจากอุตสาหกรรมหนึ่งมาเป็นการผลิตอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานได้อย่างทันท่วงทีและแสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีความพร้อมต่อการรับมือเหตุการณ์ร้ายแรงของโลกที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของตัวเองได้เลย
ทั้งๆที่ประเทศเหล่านี้ มีเทคโนโลยีที่ สามารถสร้างรถยนต์หรือเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง สามารถสร้างเทคโนโลยีอวกาศเพื่อให้มนุษย์ไปโคจรนอกโลก สามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนมนุษย์และสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีมากมายจนกลายเป็นขยะล้นโลก แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศเหล่านี้ กลับไม่สามารถสร้างเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิตประชาชนให้เพียงพอต่อความต้องการได้ในยามคับขัน จนเกิดเป็นคำถามในกลุ่มคนสายเทคโนโลยีจำนวนมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง
ประเทศโลกตะวันตกที่เคยได้ชื่อว่า มีระบบสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีเยี่ยมทุกประเทศต่างตกอยู่ในภาวะแทบจะหมดหวังเหมือนๆกันเมื่อต้องผจญกับพิษของโควิด หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นเพราะว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ได้ยกระดับตัวเองเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง อุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้จึงถูกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงงานถูกและใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่คือประเทศในแถบเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่มีความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่าประเทศอื่นๆและยังสามารถส่งไปช่วยเหลือประเทศหลายประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเมืองไทยอีกด้วย
การขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ของประเทศฝั่งตะวันตกแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ได้สูญเสียความสามารถทางเทคโนโลยีและแนวคิดในการสร้างเครื่องมือที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ให้กับประเทศในอีกซีกโลกหนึ่งไปแล้ว เพราะประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ล้วนแต่เน้นการผลิตแต่เทคโนโลยีประเภทใช้ความคิดและเทคโนโลยีสะอาด เพื่อผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตมนุษย์มากกว่าการผลิตอุปกรณ์พื้นฐานที่มนุษย์ต้องใช้คราวจำเป็น
ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ บริษัทไฮเทคใน Silicon Valley และบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบริษัทนวัตกรรม ชั้นเยี่ยมที่สุดในโลก ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความมั่งคั่งที่สุดในโลก กลายเป็นบริษัทที่นิ่งสนิทแทบจะง่อยเปลี้ยยามที่ชาติต้องการความช่วยเหลือ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ใดๆที่สามารถรักษาชีวิตเพื่อนร่วมชาติได้ในช่วงเวลาวิกฤติ
สิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้พอจะทำได้คือสร้าง เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพิ่มเติมศักยภาพให้กับเครื่องมือเพื่อความบันเทิง เช่น สร้าง แอปพลิเคชัน เพื่อติดตามการแพร่เชื้อของบุคคล สร้าง แอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานจากบ้าน เพิ่มแบนด์วิธของบริการเพื่อให้ได้อรรถรสในการดูหนัง ฟังเพลง ระหว่างอยู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือหรือบริการที่ฉาบฉวยมากกว่าเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์จริงๆ
การระบาดของโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นว่า ระบอบและความเชื่อที่มนุษย์พึ่งพามาอย่างยาวนานนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเก่าและยับยั้งปัญหาใหม่ให้กับมนุษย์ได้ รวมทั้งยังแสดงให้เห็นว่า สรรพตำราต่างๆ ทั้งทฤษฎีและกรณีศึกษาด้านบริหารจัดการของประเทศตะวันตก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมการบริหารจัดการชั้นเยี่ยมและมีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดด้านบริหารจัดการ ยังไม่ได้ยังไม่ถูกหยิบมาใช้หรืออาจเป็นตำราที่ใช้ไม่ได้เลยเมื่อเผชิญกับวิกฤติที่คาดไม่ถึง
นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์ต้องให้ความสำคัญต่ออนาคตของตัวเองโดยให้น้ำหนักในเรื่อง การลงทุนทางสังคม ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างสุขอนามัยของมนุษย์ การกำหนดนโยบายการศึกษาที่ถูกทิศทาง การสร้างความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การให้ความเคารพต่อธรรมชาติและเมตตาต่อสัตว์ซึ่งเป็นปัจจัยที่มนุษย์ได้ละเลยตลอดมา มากกว่าความหลงใหลในความสะดวกสบายจากนวัตกรรมและความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีจนเกินความพอดี รวมทั้งต้องใช้สติและบทเรียนในคราวนี้ต่อสู้กับอคติในการกำหนดนโยบายของตัวเองที่เคยปฏิบัติจนเคยชินจนกลายเป็นนโยบายที่บิดเบี้ยวโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
มนุษย์ควรต้องฉวยโอกาสทองที่โควิด-19 เข้ามาชะล้างสิ่งโสโครกที่มนุษย์สร้างไว้บนโลก เพื่อจัดระเบียบตัวเอง หยุดยั้งการผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ชะลอความเร่งรีบและสกัดความโลภ ก่อนที่จะเดินลงเหวในวันข้างหน้าโดยไม่รู้ตัว
“ สปุตนิก โมเมนต์” ครั้งนี้จึงเป็นช่วงนาทีสำคัญที่รอการตัดสินใจของมนุษย์ว่า นับจากนี้ต่อไปมนุษย์จะกลับไปเดินบนเส้นทางเดิมที่คุ้นเคยหรือจะเลือกเดินเส้นทางสายใหม่ที่ไม่รู้จักเพื่อค้นหาอนาคตที่ดีกว่า
ภาพประกอบ
https://besacenter.org/perspectives-papers/coronavirus-a-sputnik-moment-for-science-education/