"...ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพลเมืองของตนควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะขาดทั้งสองอย่าง ชะตากรรมของประเทศกำลังพัฒนาจากโรคระบาดครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้ จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกเช่นจากประเทศที่จะฟื้นตัวได้ก่อน เช่นประเทศจีน หรือ จากองค์การระหว่างประเทศเช่น IMF นับว่าโชคดีที่ IMFคราวนี้มีนโยบายที่จะช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาแบบทุ่มสุดตัวอย่างไม่อั้น โดยไม่จู้จี้เรื่องเงื่อนไขผูกพัน (conditionalities) เหมือนกับเงินกู้ตามปกติโดยทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปัญหาจากโรคระบาดครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้โดยรวดเร็ว..."
เรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในเดือนเมษายน 2563 คงไม่มีเรื่องไหนเด่นดังไปกว่าเรื่องการต่อสู้กับการแพร่ขยายของ โควิด19 ของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก แต่ตอนนี้คงไม่มีประโยชน์มากนักที่เราจะมาพูดถึงจำนวนคนป่วยคนตายในแต่ละประเทศ และการรับมือทางการแพทย์ที่แต่ละแห่งกำลังดำเนินการอยู่อย่างเต็มที่ เนื่องจากว่าภัยพิบัติจากการระบาดครั้งนี้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกระทบกระเทือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างมหาศาล เรื่องที่เราน่าจะให้ความสนใจน่าจะเป็นภาพทางเศรษฐกิจการเมืองของโลก (และของไทย) หลังเหตุการณ์ โควิด19 มากกว่า
แล้วเราจะพูดเรื่องอะไร? อย่างไร? ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ โควิด19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีมากมายเหลือคณานับ แต่ในบทความสั้นๆ นี้ ผู้เขียนจะขอหยิบยกภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกและของไทยที่เป็นไปได้ในเรื่องต่างๆ 10 เรื่อง ดังต่อไปนี้
ภาพที่ 1 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะตกต่ำโดยทั่วหน้ากัน แต่จะมากบ้าง น้อยบ้าง ตามสภาพความแข็งแกร่งและความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก่อนภาวะโรคระบาด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ในปี 2020 นี้ GDP ของโลกจะลดลงประมาณร้อยละ 3 หรือคิดเป็นเงินประมาณ 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงกว่าประเทศกำลังพัฒนา แม้แต่ประเทศจีนซึ่งไม่เคยเผชิญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบเลยก็จะต้องเจอกับเศรษฐกิจติดลบในไตรมาสแรกของปี 2020 แต่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นบวกเล็กน้อยได้ในตอนปลายปี สำหรับประเทศไทย IMF ไม่ได้พยากรณ์ไว้ แต่คาดว่าคงจะแย่กว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพราะความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอกว่าประเทศอื่นๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ภาพที่ 2 โครงสร้างของระเบียบการเมืองโลก (World Political Order) จะเปลี่ยนไป โดยสถานภาพ (status) ของสหรัฐอเมริกาในสายตาประชาคมโลกจะตกต่ำลงจากความเสียหายจากภาวะโรคระบาดและความผิดพลาดล้มเหลวจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ในขณะที่สถานภาพและภาพลักษณ์ของจีน ซึ่งแสดงความสรมารถในการรับมือกับภาวะโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ทางการแพทย์และทางการเงิน แต่สภาพเช่นนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ขี้นอยู่กับว่าจีนจะทำตัวอย่างไรในบทบาทใหม่นี้ และมีผู้นำและนักเคลื่อนไหวในหลายแประเทศที่ไม่ชอบใจรัฐบาลจีนโดยกล่าวหาว่าปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดนี้ในจีน ถึงขนาดจะฟ้องรัฐบาลจีนในคดีผู้เสียหายหมู่ (class action suit) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้คนทั้งโลก
ภาพที่ 3 ในลักษณะทางจุลภาค โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ประชากรโสกสำนึกถึงความเปราะบาง (vulnerabilities) ของสวัสดิการและสวัสดิภาพของตนในสภาวะวิกฤตซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมการปกป้องตนเองเพิ่มสูงขึ้น การประกันภัยต่อความเสี่ยงในชีวิต ทรัพย์สิน และการงาน จะมีมากขึ้น การใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยจะลดลง การออมและการพึ่งตนเองจะสูงขึ้น
ภาพที่ 4 ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการผลิตของผู้ผลิตก็จะเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน โดยจะระมัดระว้งความเสี่ยงจากผลกระทบจากแหล่งผลิตในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น (ในทำนองไม่เอาไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียว) ขนาดของการประกอบการอาจจะเล็กลง และต้นทุนการผลิตอาจจะสูงขึ้น ลักษณะของการประกอบการหรือประกอบอาชีพก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่นอาชีพการให้บริการที่ขัดกับการรักษาระยะห่างของบุคคล (individual distancing) เช่นบริการนวดหรือสปา หรือการกีฬาหรือการแสดงที่มีผู้คนแออัดกันเป็นจำนวนมากเช่น มวย ฟุตบอล หรือการแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตจะลดน้อยลง แม้แต่การให้การรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลก็อาจจะลดลงด้วยเพราะคนกลัวความเสี่ยงจาการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากขึ้น การประกอบการที่อาศัยการติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการจัดส่งทางบ้านจะมีมากขึ้นตามเงื่อนไขการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ซึ่งจะมีต่อไปอีกนาน
ภาพที่ 5 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กล่าวถึงข้างต้นจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศลดลง อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 นี้อย่างทั่วถึง อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากภาวะโรคระบาดครั้งนี้ และที่หนักที่สุดคืออุตสาหกรรมเรือสำราญ (cruise industry) ซึ่งมีความเฟื่องฟูและมีขนาดใหญ่มากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าความสัมพันธ์เชิงพหุภาคี (multi-lateralism) ที่ลดลงนี้จะกระทบกระเทือนต่อปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ (globalization) ในภาพรวมในระยะยาวหรือไม่นั้น คงต้องรอความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 ปีหน้านี้ก่อน
ภาพที 6 จริงอยู่ ถึงแม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะมีผู้เสียหาย (losers) เป็นจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้ได้ประโยชน์ (gainers) จากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน (อย่างน้อยก็ในเชิงสัมพัทธ์หรือโดยเปรียบเทียบ) โดยเป็นการได้ประโยชน์จากผลแห่งการทดแทนการบริโภค (substitution effect) ภายใต้ผลแห่งรายได้ (income effect) ที่ลดลง ยกตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการด้านการผลิตอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตประจำวัน หรือผู้ประกอบการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมหรือการส่งสินค้าและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่คนต้องอยู่ในบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบต่อชั้นของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ ชนชั้นที่มีฐานะดีหรือที่มีรายได้สูง จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าชนชั้นล่างผู้มีรายได้น้อย จะทำให้การกระจายรายได้ของครัวเรือนในประเทศที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
ภาพที่ 7 ประโยชน์อื่นที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดหรือหดต้วลงคือสภาวะแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มลพิษที่ลดลง นอกจากจะทำให้สุขภาพของผู้คนดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยภาวะโลกร้อนไม่ให้ขยายตัวเร็วเกินไปด้วย นอกจากนี้แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงจะเป็นโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับได้มีการปรับโตรงสร้าง (restructuring) หรือปรับขนาด (streamlining) กิจกรรมหรือกิจการต่างๆ ของแต่ละคนให้เหมาะสมขึ้นได้ แม้แต่ผู้ที่ตกงานก็อาจใช้โอกาสนี้ศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนทักษะ หรือทดลองกิจกรรมบางอย่างที่ในยามปกติทำไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลเองก็สามารถใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างหรือเปลี่ยนนโยบายบางอย่างที่ในยามปกติทำไม่ได้
ภาพที่ 8 โรคระบาดครั้งนี้ทำให้เราเห็นบทบาทการทำงานของรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับโรคระบาดดังกล่าว จะสังเกตเห็นว่าประเทศที่ใช้อำนาจรัฐอย่างแข็งขันในการควบคุมพฤติกรรมของคนนอกเหนือไปจากการรักษาพยาบาล เช่นการบังคับให้คนอยู่บ้าน (lockdown) การห้ามการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ระหว่างรัฐหรือระหว่างเมืองเพื่อลดการะบาดของเชื้อโรค อย่างที่เราเห็นในจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ได้ผลในการควบคุมโรคดีกว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาที่รัฐบาลไม่กล้าเข้าแทรกแซงกลไกตลาดของภาคเอกชนมากนักในตอนแรก หรือเข้ามาแสดงบทบาทช้าเกินไป บทเรียนจากการต่อสู้กับโควิด 19 ครั้งนี้ น่าจะมีส่วนทำให้รัฐบาลกลางของประเทศต่างๆ มีแผนการหรือแนวโน้มที่จะเพิ่มบทบาทหรืออำนาจของรัฐมากขึ้นจนถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแนวปรัชญาทางเศรษฐกิจจากทุนนิยมที่เฟื่องฟูในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาให้โน้มเอียงไปทางสังคมนิยมมากขึ้น
ภาพที่ 9 ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพลเมืองของตนควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะขาดทั้งสองอย่าง ชะตากรรมของประเทศกำลังพัฒนาจากโรคระบาดครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้ จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกเช่นจากประเทศที่จะฟื้นตัวได้ก่อน เช่นประเทศจีน หรือ จากองค์การระหว่างประเทศเช่น IMF นับว่าโชคดีที่ IMFคราวนี้มีนโยบายที่จะช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาแบบทุ่มสุดตัวอย่างไม่อั้น โดยไม่จู้จี้เรื่องเงื่อนไขผูกพัน (conditionalities) เหมือนกับเงินกู้ตามปกติโดยทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปัญหาจากโรคระบาดครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้โดยรวดเร็ว
ภาพที่ 10 โรคระบาดครั้งนี้ อาจจะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ของไทยได้รับการนำไปปฏิบัติใช้ในประเทศต่างๆอย่างกว้างขวาง เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ เป็นปรัชญาการพัฒนาที่เน้นความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ความมีเหตุมีผลในการตัดสินใจแต่ละครั้ง และการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมสนแต่ละเรื่อง
เมธี ครองแก้ว
23 เม ย 2563
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ศ.เมธี จาก https://live.staticflickr.com/ และ สยามรัฐ