"...สามารถเสนอโครงการจ้างหนุ่มสาวคืนถิ่นเพื่อตรึงให้อยู่ในที่ตั้งต่อไปเพื่อทำสิ่งที่เป็นคุณแก่การพัฒนาระยะถัดไปได้แค่ไหน...นักศึกษาจบใหม่ปีนี้ห้าแสนคน มีแนวโน้มคือจะว่างงานพร้อมกัน กรรมการจะตั้งเป้าให้เกิดการจ้างให้ไปทำหรือสำรวจหาอะไรให้ได้ประโยชน์แก่ท้องที่ตามท้องถิ่นของตนบ้าง จะให้ทำโครงการปลูกเองกินเอง และสามารถมีแหล่งน้ำใช้เองได้มากๆหรือเปล่า..."
ข้อสังเกตที่ 1
อีกเพียงสามสัปดาห์ก็จะเปิดสมัยประชุมรัฐสภา
ถึงเวลานั้น พระราชกำหนด 4 ฉบับ ที่จะมาเข้าห้องประชุมของสภา เพื่อขอความเห็นชอบให้กลายเป็นพระราชบัญญัติ ก็คงถูกใช้งานไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้เพราะ พระราชกำหนดทั้งสี่ฉบับได้ลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา แปลว่าได้ใช้ไปราวหนึ่งเดือนก่อนจะถึงวันเปิดสมัยประชุม
ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว
มีบาซูก้าการเงินการคลังมาเพื่อใช้ไปยิง ไม่ใช่ให้ไว้รอถามความเห็นชอบจากสภา
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตที่หากจะรอไปอภิปรายในสภาก็จะไม่ทันการณ์ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภาจึงมีการประชุมอภิปรายเรื่องนี้ และทำให้มีข้อสังเกตบางประการที่ควรนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบ ก่อนเปิดสมัยประชุม ดังนี้
1.พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1 ล้านล้านบาทนั้น เมื่อได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการฯ ที่จะใช้เงินกู้ก้อนนี้ออกมาแล้ว
ความหวังว่าเงินกู้ก้อนใหญ่นี้จะถูกนำไปใช้กับโครงการดีๆได้แค่ไหน ถูกระบุในมาตรา 7 ของพ.ร.ก.นี้ มอบหน้าที่ไว้กับ คณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 5 คนมาร่วมกับคณะกรรมการนี้ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำตามตำแหน่ง
ข้อสังเกตแรกก็คือ การจะใช้ระเบียบนี้มาทำงานกับเงินกู้ถึงหนึ่งล้านล้านบาท จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับกติกาเพียงพอ หรือไม่
หากเทียบกับระบบคณะกรรมการของกิจการขนาดใหญ่ๆ สิ่งที่ใช้กำกับการทำงานของคณะกรรมการระดับนี้ คือ 'กฏบัตร' กฎบัตรนั้นจะเรียกใหม่ว่าอะไรก็คงได้ ขอเพียงให้เป็นกติกาที่คณะกรรมการต้องเคารพกันเองให้ดี เป็นอันใช้ได้
เพราะมีบางประเด็นที่พ.ร.ก.กู้เงินไม่ได้ระบุเอาไว้ เช่น ไม่ระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการภายนอก5ท่านนี้
อนึ่ง กฏบัตรอาจระบุไปต่อได้ ถึงจุดเน้นว่า เงินกู้นี้จะมุ่งใช้เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ความพอเพียง อย่างไร จะตั้งเงื่อนไขให้หน่วยราชการที่จะเสนอขอรับเงินกู้นี้ ไปทำโครงการว่าต้องได้รับการรับรองโดยชุมชน โดยประชาชนในสัดส่วนแค่ไหน
โครงการที่จะใช้ระดับพื้นที่ใด ก็ควรให้ประชาคมบริเวณนั้นเห็นพ้องมาก่อนหรือไม่
กฎบัตรอาจสามารถระบุ วิธีรายงานผลการพิจารณาประจำสัปดาห์ แสดงรายงานประจำของรายภาค หรือประจำหมวดการใช้จ่ายได้สม่ำเสมอแค่ไหน เพื่อชาวบ้านจะได้ติดตามข่าวสารทัน ว่าอะไรผ่านกรรมการนี้ก่อนจะไปสู่คณะรัฐมนตรีอนุมัติและดำเนินการต่อได้
จะมีการตั้งโฆษกคณะกรรมการฯแถลงข้อมูลเป็นประจำได้หรือไม่
จะกำหนดวิธีการใช้เงินแบบจ้างแรงงานท้องถิ่น..จ้างคนว่างงานมาทำงานเพราะโควิดมาทำประโยชน์สาธารณะได้แค่ไหน
กรรมการจะให้ทำโครงการเสนอเพื่อพัฒนาอารยะสถาปัตย์ในสัดส่วนสักเท่าไหร่
สามารถเสนอโครงการจ้างหนุ่มสาวคืนถิ่นเพื่อตรึงให้อยู่ในที่ตั้งต่อไปเพื่อทำสิ่งที่เป็นคุณแก่การพัฒนาระยะถัดไปได้แค่ไหน เช่น ทำสินค้าท้องถิ่นให้ขึ้นออนไลน์ไปสู่ระดับสากล
นักศึกษาจบใหม่ปีนี้ห้าแสนคน มีแนวโน้มคือจะว่างงานพร้อมกัน กรรมการจะตั้งเป้าให้เกิดการจ้างให้ไปทำหรือสำรวจหาอะไรให้ได้ประโยชน์แก่ท้องที่ตามท้องถิ่นของตนบ้าง จะให้ทำโครงการปลูกเองกินเองและสามารถมีแหล่งน้ำใช้เองได้มากๆหรือเปล่า
ทำ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ด้วยการจัดการน้ำได้เต็มทุกพื้นที่ เลยได้ไหม ทั้งบ่อบาดาลน้ำตื้น สระน้ำ หอถังพักน้ำ ระบบกระจายน้ำ ฝายเล็ก และบ่อเติมน้ำลงชั้นใต้ดินอย่างถูกหลักวิชาการ
จะให้มีโครงการเกษตรแลก 'ของดี' ระหว่างภาคระหว่างกลุ่มอาชีพได้หรือเปล่า
เช่น เมืองสนามบินจับคู่แลกสินค้ากัน โดยใช้ประโยชน์จากใต้ท้องเครื่องบินที่บินเข้าออก
เมืองที่ใช้ทะเลเดียวกันจะส่งของข้ามฟากมาแลกกันใช้จะทำได้ไหม
เมืองที่ยังต้องล็อกดาวน์ผู้คน แต่ก็ยังสามารถส่งสินค้าเข้าออกได้เพื่อพยุงเศรษฐกิจในท้องที่ ควรทำกันยังไง เพราะเรื่องอย่างนี้จะก่อให้เกิดโลจิสติคใหม่ หรือเสริมสภาพคล่องให้โลจิสติคเดิมให้คงอยู่ได้เข้มแข็งต่อไป
เราต้องไม่ลืมว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หนนี้ไม่ใช่เงินกู้เพื่อ 'ลงทุนพัฒนาอย่างงบปกติ' แต่กู้มาเพื่อแก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูไทยจากผลกระทบโควิด19
ดังนั้น โครงการขนาดใหญ่ หรือมองการณ์ไกลเกินเหตุ ก็น่าจะไม่ใช่เป้าประสงค์การมีพระราชกำหนดชุดนี้
ยิ่งถ้าปล่อยให้ส่วนราชการต่างคนต่างยื่น ไม่เพียงแต่ประชาชนจะง่ายต่อการถูกมองผ่าน ขาดการมีส่วนร่วม
เพราะกู้มาเพื่อพวกเขา 'ประชาชนผู้รับผลกระทบ' นี่เอง มิใช่หรือ
แต่ในเมื่อระเบียบการยื่นโครงการขอใช้เงินกู้ระบุไปแล้วว่า ต้องเป็นหน่วยราชการยื่นเท่านั้น จึงต้องส่งความคิดดีๆมาร่วมตั้งฐานคิด มิเช่นนั้น จะทำให้คณะกรรมการชุดนี้มีภาระราวกับเป็นงานแบบสำนักงบประมาณตามภาระปกติไปเปล่าๆ
และที่สำคัญ ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นการกู้มาแล้วเผลอให้คืนแก่หน่วยที่ตัดคืนงบประมาณแผ่นดินปกติมาเข้างบกลางเพื่อสู้โควิดราว 20% ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
ข้อสังเกตที่ 2
เมื่อพิจารณาข้อความในพระราชกำหนด การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะกู้มา 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนเข้าไปเลือกใส่สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
อันนี้ให้ ก.คลังกับแบงค์ชาติร่วมกันดำเนินงาน
ข้อสังเกตเบื้องต้นก็คือ ทำไมถึงต้องพยุงตราสารหนี้ มิกลัวว่าจะถูกมองว่า อุ้มคนรวยหรือ เพราะมีแต่คนรวยเท่านั้นที่ออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารได้พยุงด้วยเงินกู้ของชาติไปช่วย มิเป็นการพาคนไทยทุกคนร่วมภาระไปหน่อยหรือเปล่า
แต่เมื่อคำนึงว่า คนจน คนเก็บหอมรอมริบ จะด้วยมีกฏหมายบังคับให้ออม เป็นคนไม่รวยเยอะมากกว่า
มนุษย์เงินเดือนเอกชนแทบทุกคนส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม
ข้าราชการทุกระดับส่งเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข.
ชาวบ้านฝากเงินสหกรณ์ออมทรัพย์
ผู้บริหารกองทุนที่สะสมจากคนอยากออมเพื่ออนาคตเหล่านี้ ล้วนแต่เอากองทุนไปซื้อตราสารหนี้ เพราะผลตอบแทนสูงกว่า ฝากไว้ในสถาบันการเงินแน่
จุดนี้เองที่ถ้าเสาไฟใหญ่ของระบบตราสารหนี้เซไป สายไฟที่เชื่อมผูกไว้ย่อมลากเอาเสาเล็กเสารองของชุมชนและคนออมเซไปด้วย
ดังนั้น การกู้มาเพื่อเลือกหาจุดที่จะฉีดเงินเข้าเสริมเพื่อสกัดไม่ให้เกิดเหตุแบบที่อธิบายข้างต้นไม่เกิด หรือเซน้อยหน่อย
การเลือกฉีดเงินใส่จุดไหนจึงสำคัญ อ่อนไหว และเสี่ยงเหมือนกัน เพราะถ้า 'ช่างสายไฟ' ในการนี้ทำพลาด ไม่เพียงแต่จะทำสายไฟหรือเสาไฟร่วง แต่ยังจะถูกไฟดูดด้วยคดีความเกินกว่าคำว่า 'สาหัส'
มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.นี้ กำหนดให้มี 2 คณะกรรมการรับผิดชอบ เป็น 'ช่างไฟฟ้าแรงสูง' ตามพ.ร.ก.นี้
คณะแรกไว้กำกับกองทุน4แสนล้านบาทและให้กรรมการนี้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ไปจัดการกองทุนขนาดใหญ่นี้
แค่เลือกบริษัทไหนมาทำก็คงถูกถามกันว่าเลือกมาโดยยึดหลักอะไร มีค่าตอบแทนอะไรหรือไม่อย่างไร
กรรมการชุดนี้มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีผู้ว่าธนาคารชาติเป็นรองประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก3คนมาร่วมนั่งกับฝ่ายกรรมการจากระบบการเงินการคลังของราชการและธนาคารชาติ
เปรียบเป็นทีมวิศวกรรมระบบไฟฟ้าคงพอได้
แต่กฏหมายไม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการไว้ โดยเฉพาะของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสามท่านนี้ เพราะท่านอาจมีญาติมิตรและหรือลงทุนไว้ในวงการการเงินและตลาดตราสารหนี้
จึงควรจะขอส่งข้อคิดมาทัก ให้ระมัดระวังอย่าให้ถูกวิจารณ์ได้ในภายหลังว่ากรรมการมีสายสัมพันธ์ที่อาจมีประโยชน์ทับซ้อนได้
เพราะแม้พ.ร.ก.นี้ให้รมต.คลังออกระเบียบกำหนดเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง และการพ้น และการประชุมของคณะกรรมการ
แต่ไม่ได้ระบุให้มีหน้าที่กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้
ในเมื่อกฏหมายนี้ ไม่ได้ระบุเรื่องการป้องกันประโยชน์ทับซ้อนไว้ชัดนัก แต่คณะกรรมการ ตามมาตรา9 ซึ่งมีหน้าที่ประกาศนโยบาย และแนวทางดำเนินงาน จะหยิบยืมหลักการทำนองนี้มาจากกฏหมายอื่นๆมาควบคุมกำกับตนเองในรูปแบบ 'กฏบัตรหรือชื่อเรียกอื่นที่เห็นควร' เพื่อให้สาธารณะสบายใจก็จะดียิ่ง
อีกคณะกรรมการตามพรก.ที่จะกู้มาช่วยพยุงตลาดตราสารหนี้ ปรากฎอยู่ในมาตรา 12 ซึ่งเปรียบเป็นทีมช่างไฟฟ้าที่ขึ้นรถกระเช้ายกตัวขึ้นไปที่เสาไฟฟ้าแรงสูง คงได้
พ.ร.ก.นี้ ให้รองผู้ว่าธนาคารชาติ เป็นประธานกรรมการลงทุน มีผู้แทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังมานั่งร่วม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าการธนาคารชาติตั้งมาอีก2คนมานั่งประกอบ
ซึ่งก็ไม่ปรากฏในกฏหมายว่าจะต้องเคร่งครัดเรื่อง ลักษณะต้องห้ามและการระมัดระวังเรื่องประโยชน์ทับซ้อนกี่ทอดแค่ไหน
ดังนั้น 'กฏบัตร' ที่ควรประกาศโดยคณะกรรมการชุดนี้หรือจากคณะกรรมการกำกับกองทุน 4 แสนล้านฯ ตามมาตรา 9 ก็อาจพอทดแทนได้
การทำเรื่องไฟฟ้าแรงสูงต้องมีวินัยมาก การจัดการกองทุน 4 แสนล้านบาท ก็น่าจะต้องมีวินัยการทำงานที่เคร่งครัดไม่น้อยไปกว่ากัน
ข้อสังเกตที่ 3
พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ มาตรา 4 วรรคสาม ระบุว่า พ.ร.ก.นี้ไม่กระทบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และคณะกรรมการตลาดทุนตามที่มีกฏหมายกำหนด
เว้นแต่ที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะในพระราชกำหนดนี้
ข้อสังเกตจึงมีว่า อะไร คือ สิ่งที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ที่เป็นการเฉพาะในพ.ร.ก.นี้ ?
เพราะกว่าที่จะพัฒนาหลักการกำกับและวิธีจัดการของ กฏหมายและระเบียบการควบคุมกำกับของก.ล.ต.และกฏหมายตลาดทุนนั้น ได้อาศัยการตีความ การพัฒนาระบบ มานานหลายๆสิบปี
อยู่ๆมีช่องแยกออกจากวิธีปกติที่พัฒนามาเป็นลำดับได้โดยความวรรคนี้ในพ.ร.ก.นี้ ซึ่งยังอาจดูไม่รู้ชัดว่าประตูฉุกเฉินนี้ติดตั้งที่ชั้นไหน ของตึกและพาออกไปสู่อะไรบ้าง
จึงย่อมใส่ใจห่วงใย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่มาตรา 20 ของหมวด 3 ของพ.ร.ก.นี้กำหนดว่า ถ้าการไปช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชนขึ้นมาตามพ.ร0ก.นี้แล้วต่อมามีกำไรก็ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าขาดทุนเสียหายไป ให้กระทรวงการคลังชดเชยให้ธนาคารชาติไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าถ้าความเสียหายเกิน 4 หมื่นล้าน จะให้ธนาคารชาติทำอะไรต่อ ไม่ได้บอกไว้
ถ้ามีการแสดงทางเลือก วิธีที่จะแก้ไขหรือแสดงทางออกไว้ล่วงหน้า ก็จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้น
ยิ่งเมื่อพ.ร.ก.มาตรา 5 ระบุว่า ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.นี้ ให้ รมว.คลังวินิจฉัย และระบุว่าคำวินิจฉัยของ รมว.คลังให้ถือเป็นที่สุด และให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น
ข้อนี้ จึงเป็นห่วง รมว.คลังที่ต้องแบกรับภาระหนักหนาอยู่พอสมควร
บทเรียนคราวต้มยำกุ้งที่ไทยเข้าต่อสู้ค่าเงินบาทยังเป็นบทเรียนที่ต้องระวังไว้เสมอ
บันทึกนี้เขียนขึ้นจากการประมวลความคิดข้อทักข้อสังเกตจากการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา
ที่เรียกประชุมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเท่านั้น
บางประเด็นอาจมีผู้รู้ในระบบบริหารราชการแผ่นดินมีคำตอบได้อยู่แล้ว
คืออาจตั้งใจจะรอไปตอบในช่วงพ.ร.ก.เข้าถึงรัฐสภา แต่ถ้าหากสามารถมีการสื่อสารสาธารณะระหว่างระดับนโยบายไปพลางระหว่างสภาใกล้จะเปิดสมัยประชุม ก็คงจะเป็นการใช้เวลาของประเทศที่คุ้มค่ามากจริงๆ
สำหรับพระราชกำหนดอีก 2 ฉบับ
ฉบับหนึ่งเป็นพรก.ว่าด้วยเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19
คณะกรรมาธิการเห็นว่าสามารถรอไปอภิปรายแนะนำในช่วงที่กฏหมายมาถึงสภาได้ เพราะการให้กู้ยืมจากธนาคารชาติไปถึงผู้ประกอบการจริงนั้น มักใช้เวลาประเมินความสามารถชำระคืนเงินกู้กันนานพอควรอยู่
ส่วนอีกฉบับเป็นพรก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้อาจมีผู้อภิปรายจากบางมุมที่น่าสนใจได้ แต่ก็รอไปอภิปรายเมื่อกฏหมายมาถึงสภาได้เช่นกัน
ที่มา : คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา 28 เม.ย.2563
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage