"...ลองคิดดูว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดที่คนจะกล้ากลับไปขึ้นเรือสำราญเพื่อท่องเที่ยวอีกครั้ง หรือการที่จะเปิดบ้านให้ลูกค้าที่เป็นคนแปลกหน้าเข้ามาเช่าห้อง หรือเช่าบ้าน หรือบางประเทศที่ได้ผลกระทบมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จะกล้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีก การฟื้นฟูความเชื่อมั่นนี้ต้องใช้เวลา มีการคาดการณ์กันว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังวิกฤตินี้..."
-โลกหลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐาน (Fundamental Changes) ในชีวิตและสังคมของมนุษย์
-สรุปประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลง 8 ประการ ของคุณ Suzy Taherian จากบทความในนิตยสาร Forbes, “The New World : How The World Will Be Different After COVID-19”
ในระหว่างการเกิดวิกฤติ Covid-19 ขึ้นนี้ ทุกคนก็คงพอจะเห็นแล้วว่าโรคระบาดนี้ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงไปทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่เรื่องการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่การป้องกันโดยใช้มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่
สิ่งที่ตามมาที่เราเห็นก็คือ การว่างงานจำนวนมหาศาลเพราะหลายธุรกิจต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินงาน มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบอย่างมาก และคงเป็นไปอย่างนี้จนกว่าจะได้มีการผลิตวัคซีนหรือยาออกมาปราบไวรัสตัวนี้ ซึ่งทางวงการแพทย์เองต่างก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ทุกประเทศก็คงบอบช้ำกันไปตามๆ กัน
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า โลกหลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะถ้าสังเกตดู ระหว่างวิกฤติ Covid-19 นี้ มีหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป และอาจไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐาน (Fundamental Changes) ในชีวิตและสังคมของมนุษย์ จนหลายๆ คนเชื่อว่า เรากำลังก้าวไปสู่โลกใหม่ (A New World)
ในตอนที่ 1 นี้ ผมขอนำข้อคิดวิเคราะห์และข้อสรุปจากบทความในนิตยสาร Forbes , 7 April 2020 ชื่อ “The New World : How The World Will Be Different After COVID-19” เขียนโดย Suzy Taherian ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไว้ 8 ประการ ดังนี้
1) ธุรกิจจะหันมาใช้คู่ค้าในประเทศมากขึ้น (Supply chains will be local rather than global)
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโลกพยายามเปิดเสรีทางการค้า และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันในระดับ Global ตัวอย่างเช่น การสร้างการค้าขายแบบ Online Shopping ซึ่งทำให้เกิดคู่ค้าที่เกี่ยวข้องไปทั่วโลก ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค แบบไร้พรมแดน แต่การมาของไวรัส Covid-19 ถือว่าได้เข้ามาทำลายห่วงโช่อุทานระหว่างประเทศ บริษัทในประเทศที่เคยพึ่งพิง Foreign Suppliers เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถค้าขายกันได้ระหว่างเกิดโรคระบาด ต้องหันมาทบทวนการลดความเสื่ยงลงโดยหันมาใช้ Local Suppliers มากขึ้น แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม
2) ร้านค้าปลีกจะหันมาค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้น (Shop, work and play online)
ระหว่างที่เกิดโรคระบาดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร้านค้าปลีกในลักษณะ Physical Stores เริ่มสูญเสียอำนาจการแข่งขันไปให้กับ Online Shopping เพราะผู้คนเกิดความไม่สะดวกในการออกไปจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งโดนมาตรการปิดเมืองทำให้ต้องปิดหน้าร้านระหว่างเหตุการณ์ระบาดของโรค กลุ่มร้านค้าปลีกเหล่านี้จำนวนมากในตอนแรกถือว่าปรับตัวกับการค้าขาย Online ได้ช้าที่สุด
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กลุ่มร้านค้าเหล่านี้ปรับตัวมาทำ Online Commerce ได้เร็วขึ้น บรรดาร้านค้าเหล่านี้ในอนาคตจะทำธุรกิจทั้งในแบบหน้าร้านและ Online จะไม่มีทางหวนกลับไปทำการค้าในลักษณะ In-store อย่างเดียว ผลกระทบที่ว่านี้นอกเหนือจากมีต่อ Physical Stores แล้ว ยังส่งผลทางลบต่อบรรดาศูนย์การค้าทั้งหลายที่เรียกว่า Commercial Real Estate ที่มีบรรดาร้านค้าต่างๆ ไปตั้งอยู่ในนั้นก็จะต้องปรับตัวตามไปด้วย
3) การฟื้นฟูความเชื่อมั่นต้องใช้เวลา (Loss of trust will take time to recover)
เหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ได้ลดทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไปทุกหย่อมหญ้า ลองคิดดูว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดที่คนจะกล้ากลับไปขึ้นเรือสำราญเพื่อท่องเที่ยวอีกครั้ง หรือการที่จะเปิดบ้านให้ลูกค้าที่เป็นคนแปลกหน้าเข้ามาเช่าห้อง หรือเช่าบ้าน หรือบางประเทศที่ได้ผลกระทบมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จะกล้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีก การฟื้นฟูความเชื่อมั่นนี้ต้องใช้เวลา มีการคาดการณ์กันว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังวิกฤตินี้
4) ความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสให้แรงงานที่ปรับตัวได้ (Digital divide will become a chasm)
ความรู้และทักษะด้าน IT จะสำคัญมากในยุคต่อไป จะทำให้เกิดช่องว่างแบ่งคนออกเป็นคนที่ใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วและคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งคนที่ปรับตัวและใช้ได้จะมีโอกาสได้งานมากกว่า ต่อจากนี้ไปคนจะเริ่มทำงานและเรียนรู้ทาง Online กันมากขึ้น เพราะในช่วงโรคระบาดมันได้พิสูจน์แล้วว่าคนทำงานอยู่ที่ใดก็ได้
5) การลงทุนจะหันมามุ่งเน้นกับตลาดในประเทศมากขึ้น (Home-bias will increase dramatically)
เหตุการณ์โรคระบาดนี้จะกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะทำให้บรรดานักลงทุนหันมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงว่า การลงทุนแบบใกล้บ้าน (Closer to home) น่าจะเข้าใจง่ายกว่าการออกไปลงทุนไกลๆ ในประเทศอื่น นักลงทุนจึงถูกคาดการณ์ว่าจะหันมาลงทุนในตลาดในประเทศมากขึ้น
6) ระบบสวัสดิการทางสาธารณสุขจะถูกยกระดับมาตรฐานให้ประชาชน (Healthcare for all becomes a more standard view)
ก่อนการเกิดโรคระบาด การออกสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนทุกคนที่เรียกว่า Universal Healthcare ถูกมองว่าเป็นความสิ้นเปลือง แต่เมื่อเกิดเรื่อง Covid19 และมีการพูดเรื่อง Free Testing ให้แก่ประชาชนทุกคน ก็อาจมีปัญหาว่าไม่ได้เตรียมการไว้และไม่มีงบประมาณเพียงพอ ในอนาคตรัฐบาลประเทศต่างๆ จะหันมาทำนโยบายสาธารณสุขให้มีลักษณะ A Good Healthcare System ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้น
7) การพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงานจะเข้มแข็งขึ้น เพราะจะมีคนตกงานมหาศาลเป็นเวลานาน (Unemployment benefit is not just for the lazy)
ในภาวะปกติของระบบเศรษฐกิจเราอาจมีคนว่างงานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีคนที่อาจจะไม่ค่อยขยันปนอยู่ และต้องการรับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ แต่เหตุการณ์ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจ แรงงานมีการตกงานจำนวนมากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนและเข้ามาขอรับความช่วยเหลือหรือเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก และจะกลายเป็นภาระหนี้สาธารณะของประเทศต่อไป ในระยะต่อไปประเทศต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาฐานข้อมูลและระบบการจ่ายสวัสดิการแรงงานให้มีมาตรฐานดีกว่าเดิม เพื่อให้การจ่ายเงินหรือทรัพยากรต่างๆ เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
8) ธุรกิจประกันภัยจะได้รับความสำคัญมากขึ้น (Insurance takes center stage)
ในอดีตที่ผ่านมาบุคคลและธุรกิจมักจะมองเรื่องความเสี่ยงและการทำประกันภัยเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และเห็นว่าการใช้บริการด้านการประกันภัยเป็นเรื่องการมองโลกในแง่ลบเกินไป แต่การเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างเกินกว่าจะประเมินมูลค่าได้ไปทุกที่ทั่วโลก ใครที่บริหารความเสี่ยงได้ดี มีการทำประกันภัยไว้เหมาะสมก็อาจสามารถบรรเทาผลกระทบตอนนี้ได้ดีกว่า การบริหารความเสี่ยงถูกคาดหมายว่าจะเป็น A Core Activity ในโลกใหม่ต่อไป แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัย แต่บริษัทประกันภัยเองก็จะเข้มงวดมากขึ้นในการรับประกันภัยและการบริหาร Exposure ที่จะเกิดขึ้น
โดยธรรมชาติในระหว่างสงครามซึ่งมีความยากลำบาก บรรดาผู้คนก็มักจะปรารถนาจะให้มีสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า ที่เรียกว่า Rebirth หรือ Renewal ให้เกิดขึ้น และเมื่อสงครามยุติก็มักจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า A Post-war Boom เกิดตามมาเพราะได้ผ่านพ้นความเจ็บปวดที่ผู้คนล้มตาย และเมื่อความสงบสันติได้เข้ามา ผู้คนจะรู้สึกอยากระเบิดพลังฝ่ายดี (Creative Energy) ออกมา และกระตือรือล้นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ มีสินค้าและบริการใหม่ๆ คนจะอยากกลับไปทำงาน บริโภค พักผ่อน ท่องเที่ยว และการลงทุนก็จะกลับมา
Credit : Forbes, Suzy Taherian
สรุปโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage