"...ผู้ป่วย COVID-19 ที่แพร่เชื้อแก่บุคคลอื่น นอกจากจะต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว ยังอาจต้องรับผิดทางแพ่งในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดและมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอีกด้วย ทั้งนี้ แม้การแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นนั้นจะไม่ได้เกิดจากความ “จงใจ” ของผู้ป่วยก็ตาม แต่หากขาดความระมัดระวังในการป้องกันการแพร่เชื้อตามสมควรก็อาจจะต้องรับผิดอันเนื่องมาจาก “ความประมาทเลินเล่อ” ได้ ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ เราจึงควรหมั่นสังเกตตนเองและคนรอบข้างและใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทางราชการกำหนด..."
ก่อนหน้านี้หลาย ๆ ท่านที่ได้ติดตามเพจของศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส (TU Pandemic Legal Aid Centre) คงได้ทราบกันมาแล้วว่าผู้ป่วย COVID-19 อาจมีความรับผิดทางอาญาได้ หากว่าผู้ป่วยแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นจนเป็นเหตุให้บุคคลนั้นเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต (โปรดดู บทความ “ผู้ป่วย Covid-19 ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงกับความรับผิดทางอาญา” โดย ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี) บทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเกี่ยวกับความรับผิดในทางแพ่งของผู้ป่วย COVID-19 ในกรณีที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย เช่น ติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วย ต้องถูกกักตัว ต้องเข้ารับการรักษาเสียค่ารักษาพยาบาล ต้องเสียโอกาสในการหารายได้ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่นนี้ มีข้อพิจารณาว่าผู้ป่วย COVID-19 ที่แพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นนั้นจะมีความรับผิดในทางแพ่งต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้วบุคคลใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นย่อมมีความรับผิดในทางแพ่งในฐานะเป็นผู้ทำละเมิด มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ซึ่งวางหลักว่า บุคคลใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย บุคคลนั้นทำละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อละเมิดของผู้ป่วยที่แพร่เชื้อ COVID-19 แก่บุคคลอื่น โดยพิจารณาตามองค์ประกอบของมาตรา 420 ดังต่อไปนี้
1. ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ผู้ป่วย COVID-19 จะมีความรับผิดต่อเมื่อแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นโดย “จงใจ” หรือ “ประมาทเลินเล่อ” เท่านั้น ถือเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยความรับผิดเพื่อละเมิด ดังนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อแล้ว แม้จะมีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยก็ย่อมไม่มีความรับผิดเพื่อละเมิด
1.1 การกระทำโดยจงใจ หมายถึง การกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง เช่นนี้ ผู้ป่วย COVID-19 ที่จะต้องรับผิดจึงต้องทราบว่าตนเองป่วยและกระทำการใด ๆ โดยทราบอยู่ว่าเป็นการแพร่เชื้อให้แก่บุคคลอื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นกรณีที่ผู้ป่วยตั้งใจจะทำให้บุคคลอื่นติดเชื้อนั่นเอง ตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นที่รังเกียจของชาวบ้านในหมู่บ้าน นาย ก. ต้องการให้ชาวบ้านติดเชื้อเช่นเดียวกับตน จึงนำสารคัดหลั่งของตนไปกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วหมู่บ้าน เช่นนี้ นาย ก. ย่อมมีการกระทำโดยจงใจ
อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าแม้ผู้ป่วยจะไม่ทราบแน่ชัดว่าตนป่วยเป็น COVID-19 หรือไม่ ก็อาจมีการกระทำโดยจงใจได้ หากผู้ป่วยทราบว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ ตัวอย่างเช่น นาย ก. ซึ่งกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและมีอาการไข้และไอแต่ยังไม่ได้ไปตรวจว่าป่วยเป็น COVID-19 หรือไม่ ตั้งใจจามใส่นาย ข. โดยคิดว่าถ้าหากตนติดเชื้อจริงก็ให้นาย ข. ติดเชื้อไปด้วยกันกับตน เช่นนี้ นาย ก. ย่อมมีการกระทำโดยจงใจ
1.2 การกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หมายถึง การกระทำโดยไม่จงใจ แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ดังนี้ แม้ผู้ป่วย COVID-19 จะไม่ได้ตั้งใจแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นตาม 1.1 ก็อาจต้องรับผิดได้ หากกระทำโดยขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เชื้อแพร่สู่บุคคลอื่น ทั้งนี้ การพิจารณาว่ากรณีใดจึงจะถือว่าผู้ป่วยประมาทเลินเล่อนั้นต้องพิจารณาโดยสมมติเปรียบเทียบว่าผู้ป่วยนั้นสามารถใช้ความระมัดระวังได้เพียงใดตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้ป่วยได้ใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งระดับของความระมัดระวังนั้นอาจแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงของผู้ป่วยแต่ละราย
โดยทั่วไปแล้วหากบุคคลใดทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือทราบว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง อยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 เช่น สนามมวย บุคคลดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นตามสมควร เช่น ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า ต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง หรือหากจำเป็นต้องใกล้ชิดกับบุคคลใดต้องแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น หากฝ่าฝืนหน้าที่ดังกล่าวย่อมต้องถือว่าผู้ป่วยนั้นขาดความระมัดระวังและเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
อนึ่ง ระดับของความระมัดระวังหรือหน้าที่ของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างไปจากที่กล่าวมาข้างต้น ขึ้นอยู่กับวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย “วิสัย” หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือเหตุภายในเกี่ยวข้องกับตัวผู้ป่วย เช่น อายุ อาชีพ หรือฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยอาจใช้ความระมัดระวังได้มากกว่าผู้ที่มีฐานะยากจนเนื่องจากมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่เชื้อมากกว่า เป็นต้น ส่วน “พฤติการณ์” หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือเหตุภายนอกที่มาเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด นาย ก. ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้เลย เช่นนี้ เหตุที่นาย ก. ไม่สวมหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่านาย ก. ประมาทเลินเล่อ แม้นาย ก. จะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แต่หากได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่จะสามารถทำได้ในขณะนั้นแล้ว เช่น กักตัวอยู่ในที่พักอาศัย รักษาระยะห่าง และหาหน้ากากผ้ามาใช้แทน เช่นนี้ แม้เชื้อ COVID-19 จะแพร่สู่บุคคลอื่น นาย ก. ก็ไม่มีความรับผิดเพื่อละเมิดเพราะนาย ก. ไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อนั่นเอง
2. ต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย
การกระทำโดยผิดกฎหมาย หมายถึง การกระทำที่ผู้กระทำไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจกระทำ และไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ตามกฎหมายให้กระทำได้ ซึ่งโดยทั่วไปการที่ผู้ป่วย COVID-19 แพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อนั้นย่อมเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายใด ๆ ให้สิทธิหรืออำนาจในการกระทำการดังกล่าวได้อยู่แล้ว
3. ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้อื่น
ลำพังแต่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ป่วย COVID-19 ยังไม่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่แพร่เชื้อนั้นมีความรับผิดและต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ต้องปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นด้วย ซึ่งโดยทั่วไปย่อมได้แก่ ความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและอนามัย กล่าวคือ ผู้เสียหายติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต หรือแม้จะรักษาจนหายดีแล้วแต่สุขภาพอนามัยไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้อีก ดังนี้ แม้ผู้ป่วย COVID-19 จะตั้งใจแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นก็ตาม แต่หากยังไม่มีความเสียหายเช่นว่าเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็ย่อมไม่มีความรับผิดเพื่อละเมิด
อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าแม้บุคคลอื่นจะไม่ได้ติดเชื้อหรือมีอาการเจ็บป่วย ก็อาจมีความเสียหายขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทราบว่าตนเองป่วยเป็น COVID-19 ตั้งใจจามใส่นาย ข. เพราะต้องการให้นาย ข. ติดเชื้อ นาย ข. ทราบว่านาย ก. เป็นผู้ป่วย จึงต้องกักตนเองอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน ไม่สามารถออกไปทำการงานได้ตามปกติ แต่เมื่อไปตรวจแล้วปรากฏว่านาย ข. ไม่ได้ติดเชื้อ เช่นนี้ แม้นาย ก. จะไม่ได้มีความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายแต่ย่อมได้รับความเสียหายแก่เสรีภาพและทรัพย์สิน ต้องถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากความเสียหายนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายแก่สิทธิประการอื่น ๆ ด้วย
4. ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายตาม 3. นั้นต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของผู้ป่วย COVID-19 ที่แพร่เชื้อตาม 1. หากความเสียหายที่เกิดกับผู้เสียหายไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่แพร่เชื้อนั้นก็ไม่มีความรับผิดเพื่อละเมิด ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทราบว่าตนเองป่วยเป็น COVID-19 ตั้งใจจะแพร่เชื้อให้นาย ข. ต่อมานาย ข. เสียชีวิต แต่จากการวินิจฉัยของแพทย์ปรากฏว่านาย ข. ไม่ได้ติดเชื้อ COVID-19 แต่เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ หรือ นาย ก. ตั้งใจจะแพร่เชื้อให้นาย ข. แต่ปรากฏว่านาย ข. ป่วยเป็น COVID-19 อยู่ก่อนแล้วและไม่ได้ปรากฏว่าการแพร่เชื้อของนาย ก. ทำให้นาย ข. ป่วยหนักขึ้น กรณีเช่นว่านี้ นาย ก. ย่อมไม่มีความรับผิด เพราะการเสียชีวิตและเจ็บป่วยของนาย ข. ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการกระทำของนาย ก.
5. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย
หากครบองค์ประกอบทั้ง 4 ประการดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ผู้ป่วย COVID-19 ที่แพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นย่อมมีความรับผิดเพื่อละเมิดและจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะเรียกให้ผู้ป่วยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีใดได้บ้างเพียงใดนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎหมายซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น ในกรณีผู้เสียหายติดเชื้อ COVID-19 มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษา ค่าสินไหมทดแทนย่อมได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้ในระหว่างรักษาตัว และในกรณีที่ผู้เสียหายเสียชีวิต กฎหมายยังให้สิทธิแก่ทายาทในการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งรวมไปถึง ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะ (ในกรณีที่ผู้เสียหายที่เสียชีวิตมีบุคคลที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู เช่น สามีภรรยาหรือบุตรผู้เยาว์) เป็นต้น
บทสรุป
ผู้ป่วย COVID-19 ที่แพร่เชื้อแก่บุคคลอื่น นอกจากจะต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว ยังอาจต้องรับผิดทางแพ่งในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดและมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอีกด้วย ทั้งนี้ แม้การแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นนั้นจะไม่ได้เกิดจากความ “จงใจ” ของผู้ป่วยก็ตาม แต่หากขาดความระมัดระวังในการป้องกันการแพร่เชื้อตามสมควรก็อาจจะต้องรับผิดอันเนื่องมาจาก “ความประมาทเลินเล่อ” ได้ ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ เราจึงควรหมั่นสังเกตตนเองและคนรอบข้างและใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทางราชการกำหนด นอกจากจะเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้ต้องรับผิดใด ๆ ทั้งในทางแพ่งและทางอาญาแล้ว ยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 ไปสู่บุคคลรอบข้างและสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ ทุกคนควรตระหนักว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบด้วยกันในทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อยแม้จะไม่ใช่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ก็ตาม การแพร่เชื้อแก่บุคคลอื่นย่อมเป็นการซ้ำเติมความเสียหายให้ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับบุคคลบางคนแล้วค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากมายสักเพียงใดก็ไม่อาจชดเชยความสูญเสียที่เขาได้รับให้กลับคืนมาดังเดิมได้
ที่มา: กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์