"...รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เรียนออนไลน์จากที่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดและต้องได้รับความช่วยเหลือโดยด่วน โดยให้เงินสนับสนุนซื้อคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษาที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะยากจนรายละ 10,000 บาท โดยเริ่มจากนักศึกษาที่ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่า น่าจะมีจำนวนประมาณ 5 แสนคน ดังนั้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท..."
ในสถานการณ์ที่โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยใช้มาตรการ “กึ่งปิดเมือง” (semi-lockdown) และมาตรการรักษาระยะห่าง (social distancing) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการปิดสถานที่สาธารณะ รวมทั้ง มหาวิทยาลัย เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก มหาวิทยาลัยต่างหันมาใช้การเรียนการสอนออนไลน์เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนได้แม้ต้องอยู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านให้นักศึกษามาเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะเรายังมีนักศึกษาจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์ ในที่นี้หมายรวมถึง คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและพกพา และแท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนการเรียนในห้องเรียนมาเป็นแบบออนไลน์ ในขณะที่จะเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาทุนมนุษย์
ช่องว่างทางดิจิทัลในประเทศไทย
จากข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 38 ขณะที่ ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านร้อยละ 68 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 55 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 44 ในปี 2561
การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าในภาคอื่นๆ มากกว่าเท่าตัว กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนร้อยละ 21 ในภาคกลาง ร้อยละ 19 ในภาคเหนือ ร้อยละ 17 ในภาคใต้ และร้อยละ 14 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ช่องว่างทางดิจิทัลจะยิ่งทำให้ช่องว่างทางการศึกษาผ่านการเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเรียนในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นออนไลน์ ช่องว่างทางดิจิทัลนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเข้าถึงการศึกษาของนักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน การเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนเป็นการเรียนออนไลน์จะทำให้นักศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาจากครอบครัวที่ยากจนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปี 2560 นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอนุปริญญาและปริญญาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีจำนวนทั้งหมดเกือบ 1.9 ล้านคน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า สัดส่วนของนักศึกษาอย่างน้อยร้อยละ 25 มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาท
ในสถานการณ์ปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนอาจไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน แต่ยังสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้จากมหาวิทยาลัยหรืออินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ดังนั้น การปิดมหาวิทยาลัยและเปลี่ยนการเรียนเป็นออนไลน์แทน กลับทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าร่วมการเรียนออนไลน์ได้ จากการสัมภาษณ์อาจารย์ในบางมหาวิทยาลัย พบว่า นักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ต้องไปรวมกันใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของเพื่อนที่หอพัก ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงติดโรค หากเกิดการระบาดขึ้นอีก
มาตรการความช่วยเหลือที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ช่วยให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ได้จริง
แม้ว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกประกาศเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดให้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาลดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ รวมทั้ง จัดหาโปรแกรมแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์มาให้มหาวิทยาลัยและนักศึกษาใช้ และหารือร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจัดแพ็คเกจราคาพิเศษสำหรับอาจารย์และนักศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีมาตรการความช่วยเหลือแก่นักศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แจกซิม อินเทอร์เน็ตให้นักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังคืนค่าหอพักให้นักศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้นักศึกษาผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหอพัก ในขณะที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมคืนค่าเทอมร้อยละ 15-25 ให้แก่นักศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2562 เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวข้างต้นน่าจะสามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ส่วนหนึ่ง โดยหากทุกมหาวิทยาลัยแจกซิมอินเทอร์เน็ตให้แก่นักศึกษาทุกคน ก็น่าจะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น แต่หากนักศึกษายังไม่มีคอมพิวเตอร์ก็จะยังไม่สามารถเรียนออนไลน์จากที่บ้านได้อยู่ดี แม้ว่านักศึกษาอาจมีสมาร์ทโฟน แต่การเรียนออนไลน์และการเขียนบนสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ยากลำบาก
ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เรียนออนไลน์จากที่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดและต้องได้รับความช่วยเหลือโดยด่วน โดยให้เงินสนับสนุนซื้อคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษาที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะยากจนรายละ 10,000 บาท โดยเริ่มจากนักศึกษาที่ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่า น่าจะมีจำนวนประมาณ 5 แสนคน ดังนั้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน แต่ละมหาวิทยาลัยควรจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบถามและพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์เพื่อให้มั่นใจว่า นักศึกษาทุกคนจะสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้จริง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยควรพิจารณาคืนค่าเทอมบางส่วนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโควิด-19 ด้วย
ช่องว่างทางดิจิทัลในประเทศไทยเป็นปัญหาและส่งผลกระทบทางลบต่อครัวเรือนที่ยากจนมานานแล้ว วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการลดช่องว่างทางดิจิทัลให้มากขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้เพื่อให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีการคาดการณ์กันว่า สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอย่างน้อย 12-18 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทิ้งนักศึกษาบางกลุ่มไว้ข้างหลังและสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปมากกว่านี้
สุดท้าย นอกเหนือจากโจทย์การเข้าถึงเทคโนโลยีของนักศึกษาในการเรียนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญกับความท้าทายขนานใหญ่ในการปรับตัวสู่การเรียนการสอนและการสอบออนไลน์ เพื่อให้การศึกษาของไทยมีผลสัมฤทธิ์ในการสร้างทักษะแก่นักศึกษาไม่ด้อยไปกว่าเดิม โดยเฉพาะในวิชาที่ต้องอาศัยการปฏิบัติมาก ภารกิจดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/