"...เนื่องจากนี่เป็นงบพิเศษหนเดียวจบ ไม่ใช่งบประจำ เป้าหมายการจ้างจึงควรเน้นให้ผู้รับจ้างทำในสิ่งที่จะเกิดผลประโยชน์ที่ใช้สอยได้นานๆ เช่น จ้างมาปรับปรุงทางเท้า ราวกันตก ให้ปลอดภัยขึ้น ทั้งในพื้นที่สาธารณะและในเคหะสถานของกลุ่มเปราะบางเช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หรือสถานที่ๆมีเด็กๆ..."
ในจำนวนงบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติครั้งประวัติศาสตร์อนุมัติไปทำพรก.เงินกู้ฯ วานนี้ (7 เม.ย.2563)
เป็นการกู้มาตั้งเป็นงบประมาณพิเศษให้ใช้จ่ายเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาโควิด-19 ในกระบวนงานสาธารณสุขถึง 6 แสนล้านบาท นับว่าสร้างความอุ่นใจให้คนสายบริการสุขภาพ ได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท ครม.กำหนดให้ใช้เพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ โดยระบุไว้เป็นสองประเภท ประเภทแรก ใช้สร้างความเข้มแข็งของ 'เศรษฐกิจชุมชน' ประเภทที่สอง ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับ 'พื้นที่'
ครม.วางจุดเน้นให้มาแล้ว เงิน 4 แสนล้านนี้ ต้องใช้เพื่อชุมชน ในพื้นที่ นี่จึงไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ทำอะไรก็ได้ และนี่ไม่ใช่งบให้ไปแข่งปั้นหาผู้ชนะจำนวนน้อยๆที่เป็นเลิศ แต่ให้ใช้ 'ฟื้นฟู ทั้งสังคมและเศรษฐกิจระดับพื้นที่'
เงินนี้จึงควรส่งตรงไปที่กองทุนที่ประชาชนในชุมชนได้ดูแลออกแบบมีส่วนร่วมมากๆ และให้ติดตามผลกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ด้วยส่วนราชการแค่กำกับอยู่ไม่ไกล คอยสนับสนุนประคับประคองก็พอ
ข้อเสนอของผมมีกว้างๆดังต่อไปนี้
1.เน้นการซื้อการจ้างในระดับท้องถิ่นให้มาก จะซื้อปัจจัยใดก็ตาม ควรเฟ้นหาจากสิ่งที่มีการผลิตได้โดยชาวบ้านก่อน ให้เงินมุ่งไปสนับสนุนที่กระบวนการผลิตของพวกเขา
2.ถ้าจะจ้างแรงงาน ก็ควรจ้างคนในท้องถิ่นที่ยังว่างงานก่อน เพื่อให้เขาอยู่ในท้องถิ่นนั้นทำสาธารณะประโยชน์ให้ท้องถิ่นนั้น จะทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม จะจ้างเขาเหล่านั้นไปดูแลช่วยเหลือผู้เปราะบางในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น
และเนื่องจากนี่เป็นงบพิเศษหนเดียวจบ ไม่ใช่งบประจำ เป้าหมายการจ้างจึงควรเน้นให้ผู้รับจ้างทำในสิ่งที่จะเกิดผลประโยชน์ที่ใช้สอยได้นานๆ เช่น จ้างมาปรับปรุงทางเท้า ราวกันตก ให้ปลอดภัยขึ้น ทั้งในพื้นที่สาธารณะและในเคหะสถานของกลุ่มเปราะบางเช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หรือสถานที่ๆมีเด็กๆ
การจ้างไปปรับปรุงห้องน้ำ ทางลาด ราวจับ เปลี่ยนสายไฟฟ้า เพิ่มจุดส่องสว่าง หรือทำเรื่องลานกิจกรรมขนาดเล็กๆดูแลง่าย ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่น เทพื้นทำลานตากผลผลิตการเกษตรระดับหมู่บ้าน ทำโรงเรือนกลางของชุมชนในการเก็บรักษาหรือพัฒนาแปรรูปผลผลิต
3.ถ้าให้ทันสมัยก็ใช้งบมาทำต่อยอดระบบออนไลน์ให้ชุมชนใช้ติดตามและนำเสนอผลผลิตของตนสู่ตลาดได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง เศรษฐกิจชุมชนจะเข้มแข็งถ้าลดการนำเข้าปัจจัยการผลิต ลดการพึ่งพาคนกลางในการเข้าถึงตลาด เข้าถึงบทวิเคราะห์และข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยง ใช้ฝึกทักษะดิจิทัลให้ตัวแทนชุมชนก็ไม่เลว
4.ใช้งบนี้ให้ชุมชนนำไปร่วมกันพัฒนาแหล่งเก็บและวิธีปันน้ำ เพื่อให้เป็นการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำขาดและน้ำแล้งที่ชุมชนดูแลเองได้ น้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่เลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจชุมชนจะฟื้นฟูได้จึงต้องมีแหล่งน้ำที่บริหารกันเองได้ในระดับชุมชน
5.คนหนุ่มสาวที่เผ่นกลับมาจากเมืองก็เป็นทรัพยากรที่ชุมชนพึงรักษาไว้ โอกาสกระจุกตัวในเมืองใหญ่คงไม่กลับมาง่ายๆอย่างเคยแล้ว ระบบอัตโนมัติ..ระบบหุ่นยนต์..และระบบกระจายความเสี่ยงต่างๆ จะทำให้แหล่งงานเชิงอุตสาหกรรมค่อยๆหดหายไปอย่างมองไม่ทันเห็น
การให้คนหนุ่มสาวเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการผลิต การค้า การแปรรูปและการดูแลบุคลากรเปราะบางทางสังคมอย่างมีคุณค่า จึงต้องรวมเข้าไปในแผนฟื้นฟูชุมชนทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย
นี่ดูจะเป็นปฐมบทที่ สมาชิกของชุมชนทุกวัยจะได้ทยอยกลับมาอยู่ใช้ชีวิตร่วมกันจริงจังเป็นครั้งแรกหลังยุคอุตสาหกรรมนิยม ที่แม้แต่ผีน้อยและช่างไทยที่ไปต่างแดนก็ทยอยกลับอ้อมอกแม่..และญาติมิตร
เขาเหล่านี้หลายคนเคยผ่านประสบการณ์สหภาพแรงงานฝ่ายลูกจ้างที่อาจนำความคิดความรู้มาร่วมงานกับระบบสหกรณ์ของพื้นที่ในการจัดสมดุลใหม่ที่ดีกว่า ระหว่างชุมชนกับสหกรณ์ได้ด้วย
6.หนุ่มสาวคืนถิ่นเหล่านี้อีกเช่นกันที่สามารถช่วยคิดช่วยทำเรื่องบริหารท่องเที่ยวโดยชุมชน เริ่มสำรวจพืชผักพรรณไม้ นกแมลงป่าเขา แม่น้ำลำธารและวิถีชีวิตที่เป็นจุดแข็งอันหลากหลายให้กลายเป็นกิจกรรมเรียนรู้ที่ควรค่าแก่การได้เห็นได้ชมได้ศึกษา...
แต่ไม่จำเป็นต้องได้ใส่ท้ายตู้สินค้าไปจนเกลี้ยง..จะใช้งบฝึกทักษะฝึกภาษาฝึกการตลาดฝึกทำมาตรฐานความปลอดภัย เป็นฐานการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
7.โควิด19ทยอยคืนสมดุลทางธรรมชาติกลับเข้าทุกพื้นที่ทั่วโลก สิ่งเดียวที่โควิดบังคับทุกพื้นที่ให้ใช้กันอย่างสิ้นเปลืองมากช่วงนี้คือพลาสติค ที่เป็นสิ่งป้องกันการติดเชื้อที่ราคาถูกกว่าวัสดุอื่นแต่กำจัดได้ยาก ถ้าการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนมีที่มาจากการฟื้นฟูรากฐาน
การดูแลสิ่งแวดล้อม การฝึกหัดจัดการขยะ การขจัดวัชพืช การขจัดสารพิษ การขจัดฝุ่นควันและไฟเผาวัสดุการเกษตร ตลอดถึงการปล่อยไฟเผาป่าด้วยเหตุใดๆก็ควรหยุดลงให้ได้ งบประมาณเพื่อการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทนี้จึงจะส่งผล ทั้งได้จ้างงานเป็นเวลาสั้นๆ ได้ประโยชน์สาธารณะระยะกลาง และได้ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลขึ้น สะอาดขึ้นในระยะยาว
8.และแน่นอนว่าหากกระบวนงานในทั้งหมดนี้ ทำไปอย่างมีสำนึกและสติในการป้องกันการระบาดซ้ำของโควิดด้วย ชุมชนก็จะได้สุขภาวะและอนามัยชุมชนอันพึงปราถนาตลอดเส้นทาง
ขอให้งบนี้ ช่วยตรึงให้คนอยู่บ้าน ฟื้นฟูถิ่น ห่างกันด้านกายแต่หวนใกล้ชิดสนิทกันทางสังคมขึ้นมาใหม่ กายไร้โรค ไม่รอเพียงโชคในการผลิต คิดอย่างพอเพียง แล้วชีวิตจะเพียงพอเอง
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการ แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา