"...แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่าการเอาเงินของคนทั้งชาติมาแก้ปัญหาวิกฤตหุ้นกู้นี้ เอาละเพื่อป้องกันวิกฤตลามเป็นวิกฤตตลาดทุนและวิกฤตสถาบันการเงินซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบคนทั้งชาติอยู่ดี แต่ได้มีหลักเกณฑ์ให้กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์ไปมากแล้วก่อนหน้าได้ช่วยตัวเองและร่วมแบกรับความเสี่ยงตามสมควรด้วยแล้วหรือไม่..."
ติดตามจากข่าวแถลงหลาย ๆ ครั้ง รวมทั้งสนทนากับผู้รู้ ดูเหมือนจะลงตัวพอสมควรว่ารัฐบาลจะออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ 3 ลักษณะ คือ
1. พระราชกำหนดอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงิน
2. พระราชกำหนดอนุญาตให้แบงก์ชาติปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
และ...
3. พระราชกำหนดอนุญาตให้แบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้เอกชน
ส่วนเรื่องการโอนงบประมาณส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 จากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ มาเป็นงบกลางนั้นฟังดูยังไม่ลงตัว ทั้งตัวเลขที่จะตัดออกมาได้ และโดยเฉพาะมุมมองทางกฎหมายที่ว่าจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นหรือไม่
ทุกแนวทางล้วนมีประเด็นให้พูดถึงในรายละเอียดทั้งนั้น
แต่ ณ วันนี้จะขอพูดถึงพระราชกำหนดฉบับที่ 3 ที่ออกจะมีประเด็นเป็นข้อสังเกต และน่าห่วงใยมากเป็นพิเศษ ในระดับที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้คร่ำหวอดในวงการเงินการคลังออกมาตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลและแบงก์ชาติระมัดระวังให้จงหนัก อย่าให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปี 2540
การออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ ออกมาขายประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เกิดขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่น้อยอยากได้เงินมาขยายกิจการ และการกู้เงินจากธนาคารไม่ง่ายนัก หรือว่ากู้ไว้เต็มวงเงินที่ควรได้แล้ว นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยอยากได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าฝากแบงก์ และคิดว่าการซื้อหุ้นกู้จากบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องเสี่ยงน้อย แม้กระทั่งนักลงทุนต่างชาติก็เข้ามาร่วมวงเล่นในตลาดนี้ด้วย หลายคนหลายบริษัทร่ำรวยทันตา เศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเร็ว แต่บางคนบางบริษัทก็ไปไม่ได้ มีเศรษฐีใหม่ตกสวรรค์ จนเริ่มวิตกกันว่าหุ้นกู้ที่ออกกันมากและใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ปีหน้าเป็นจำนวนหลักแสนล้านบาทจะก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตขึ้นในตลาดทุนสักวัน เพราะเกณฑ์การออกหุ้นกู้นั้นแม้จะมีอยู่ แต่ก็มีคำถามว่ารัดกุมเพียงพอแล้วหรือ ถึงกับมีข้อเสนอในทำนองให้ปฏิรูป หุ้นกู้บางประเภทก็ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือที่มีก็ใช่ว่าจะคุ้มเงินที่ได้ไป
และก็อย่างที่กูรูเปรียบไว้ว่าโควิด-19 เหมือนการกดปุ่ม ff - fast forward อัตราคูณ 2 คูณ 3
คืออะไรจะต้องเกิด ก็จะเกิดเร็วขึ้นในอัตราเร่ง อะไรที่กำลังเสื่อมสลายก็จะเสื่อมสลายลงในอัตราเร่งเช่นกัน
นักลงทุนเริ่มทยอยขายหุ้นกู้ โดยเฉพาะที่น่าห่วงคือนักลงทุนต่างชาติ
หุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน ไม่มีเงินมาไถ่ถอนได้พอ จะออกหุ้นกู้ใหม่มาขยายเวลาก็หาคนซื้อยาก
แน่นอนว่าหากไม่แก้ปัญหานี้โดยด่วน อาจจะลามเป็นวิกฤตตลาดทุน วิกฤตสถาบันการเงิน
แต่การให้แบงก์ชาติมารับภาระรับซื้อจะมีคำถามที่ต้องเตรียมคำตอบให้ดี
คำถามพื้นฐานเลยคือนี่ใช่ภารกิจของแบงก์ชาติหรือไม่ ?
แม้ว่าคำถามนี้จะตอบได้ไม่ยากนักจากสถานการณ์โควิด-19 ว่านี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามเงื่อนไขการออกพระราชกำหนดที่รัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติไว้
แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่าการเอาเงินของคนทั้งชาติมาแก้ปัญหาวิกฤตหุ้นกู้นี้ เอาละเพื่อป้องกันวิกฤตลามเป็นวิกฤตตลาดทุนและวิกฤตสถาบันการเงินซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบคนทั้งชาติอยู่ดี แต่ได้มีหลักเกณฑ์ให้กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์ไปมากแล้วก่อนหน้าได้ช่วยตัวเองและร่วมแบกรับความเสี่ยงตามสมควรด้วยแล้วหรือไม่
ไม่น่าจะเป็นการสมควรที่จะให้เงินแนะอนาคตของคนทั้งชาติต้องไปแบกรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว
นี่คือคำถามใหญ่มาก ๆ
การตั้งข้อสังเกตครั้งนี้ผมค่อนข้างลำบากใจ เพราะไม่เห็นตัวร่างพระราชกำหนด และไม่มีทางจะเห็นได้ เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้วอีกไม่นานก็จะเข้าสู่กระบวนการยกร่างฯ ตรวจร่างฯ และประกาศใช้เลยไม่ต้องผ่านสภา มีผลบังคับใช้ทันที แม้จะต้องให้สภารับรองในภายหลัง แต่การเมืองระบบเสียงข้างมากก็ทำให้ยากจะเป็นอื่น ส่วนการตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ต้องบอกว่าในกรณีของพระราชกำหนดนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบค่อข้างจำกัดมาก และในประวัติศาสตร์เท่าที่จำได้ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่เคยวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดใดขัดรัฐธรรมนูญเลย
จึงจำเป็นจะต้องขอกราบเรียนเสนอแนะเป็นบางประเด็น
ควรมิควรประการใดโปรดพิจารณา
1. ก่อนที่รัฐจะเข้าไปช่วย ต้องให้กลุ่มทุนที่ออกหุ้นกู้ช่วยตัวเองก่อน และร่วมแบกรับความเสี่ยงด้วย อาทิ ก่อนจะให้แบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้ใด ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้นั้นต้องเข้ามาซื้อก่อนเป็นการส่วนตัวตามจำนวนที่กำหนดไว้ก่อน สมมติว่า 50 %
2. หากกำหนดให้แบงก์ชาติรับซื้อแต่หุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับเรตติ้งสูง ๆ จะถูกตั้งคำถามทันทีว่าเป็นการเลือกปฏิบัติช่วยแต่กลุ่มทุนใหญ่ ลดเพดานเรตติ้งให้ต่ำลงมาได้หรือไม่ เพื่อให้ฝนตกกระจายไปยังกลุ่มทุนที่ไม่ใหญ่มากนักด้วย
3. แบงก์ชาติจะเข้าไปซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ในราคาที่เป็นธรรม มีฐานอ้างอิง ได้อย่างไรบ้าง นี่เป็นรายละเอียดที่ต้องกำหนดเกณฑ์ให้ตอบคำถามได้
ขอเสนอมาด้วยความเคารพ
อย่าลืมนะครับว่าหนี้ที่แบงก์ชาติก่อไว้จากวิกฤตเมื่อปี 2540 แล้วโอนมาเป็นหนี้ของชาติของแผ่นดินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาทนั้น บัดนี้ก็ยังใช้ไม่หมด ยังเหลืออยู่อีกหลายแสนล้านบาท
วิกฤต 2540 คือกลุ่มทุนกู้เงินตราต่างประเทศดอกเบี้ยถูกมาใช้ในประเทศที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก อย่าให้วิกฤต 2563 เป็นเพราะกลุ่มทุนหวังใช้เงินจากหุ้นกู้ที่ได้ง่ายกว่าเงินกู้จากสถาบันการเงินและนักลงทุนในประเทศต้องการได้ดอกเบี้ยแพงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเลยครับ
ผมเชื่อมือคนแบงก์ชาติครับ โดยเฉพาะท่านผู้ว่าการฯ แต่มิอาจวางเฉยเพียงเพราะเหตุฉันทาคตินั้นจนละเลยไม่ตั้งข้อสังเกตและฝากข้อเสนอแนะบางประการไว้ ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้น
รวมทั้งคำถามใหญ่ในระยะต่อไปว่าเราจะปฏิรูประบบตลาดตราสารหนี้หรือไม่อย่างไร และเราจะกำหนดบทบาทของแบงก์ชาติไว้แค่ไหนอย่างไร ยังจะคิดแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติ 2550 หรือไม่อย่างไร
อะไรก็ตามที่อนุญาตให้ธนาคารกลางลงมาใช้เงินเพื่อการแก้ปัญหาเองนี่ต้องคิดกันหลายชั้นและระมัดระวังให้ถึงที่สุด
เพราะธนาคารมีหน้าที่พิมพ์เงินใช้ได้
แต่การพิมพ์เงินนั้นไม่ใช่พิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีฐานรองรับ เพราะต้องอยู่บนฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของทุนสำรองเงินตรา
และทุนสำรองเงินตราคือทุนรอนก้อนสุดท้ายของเราที่บรรพบุรุษสะสมต่อเนื่องกันมาหลายรุ่นด้วยเลือดด้วยเนื้อครับ
ย้ำอีกครั้งว่ากราบเรียนเสนอมาด้วยความเคารพ ผิดพลาดประการกราบขออภัยทุกท่านที่เสียสละทำงานเต็มกำลังในระยะนี้
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
7 เมษายน 2563
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874311
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2877204298990172&id=100001018909881
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaitribune และ ข่าวหุ้น