"...คำตอบคือ ถ้ายื้อไว้ไม่ให้เกินระดับนี้ได้ ระบบสาธารณสุขของไทยน่าจะยังพอดูแลผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ไว้ได้ และสามารถมีเวลาปรับตัว ระดมทรัพยากรต่างๆ และจัดระบบ กระบวนการ และอื่นๆ ได้..."
รัฐบาลประกาศออกมาว่า วันนี้มีเคสติดเชื้อรายใหม่ 103 คน
ลดลงมาจากเมื่อวาน 1 คน
รวมแล้วเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 1,978 คน
ภูเก็ตมีอัตราผู้ติดเชื้อต่อประชากรในพื้นที่สูงกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดทางจังหวัดภูเก็ตจึงต้องออกมาตรการเร่งด่วนในการปิดจังหวัด
มาตรการที่เราทำมาตั้งแต่ 19 มีนาคมนั้น ดูแล้วได้ผลระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราหายใจหายคอได้สะดวก
ที่วิเคราะห์เช่นนี้ เพราะว่าข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤติในปัจจุบันนั้นมีจำกัด และมีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงได้รับการรับเข้ารักษาอยู่จำนวนพอสมควร หากปล่อยให้คนติดเชื้อรายใหม่เป็นหลักร้อยเช่นนี้ต่อไป คาดกันว่าอีกไม่ถึงเดือน เตียงผู้ป่วยหนักในไอซียูของเราอาจไม่เพียงพอได้
ดังนั้น บทสรุปที่เราได้เรียนรู้จากช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ทำมานั้นได้ผลจริงๆ
แต่ปัญหาที่เราพบคือ
หนึ่ง มีคนจำนวนพอสมควรที่ยังเพิกเฉย ละเลย ไม่ช่วย ไม่ร่วมมือในการปฏิบัติเรื่อง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" จะด้วยเหตุผลเรื่องที่ต้องทำงานเพราะที่ทำงานไม่ยอมให้หยุด ต้องทำงานเพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน หรือด้วยอุปนิสัยรักสนุกรักสบาย เรื่องของเธอไม่ใช่เรื่องของฉันก็แล้วแต่
สอง มีคนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและยังเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ปฏิบัติตามเรื่องการกักตัว 14 วัน
สาม มีสถานประกอบกิจการบางประเภทที่ยังดำเนินการ ทั้งๆ ที่มีประกาศจากทางรัฐให้หยุดแล้วก็ตาม เช่น ผับ บาร์ สปา
สี่ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ จากการปรับวิถีชีวิตของคนในสังคม หรือเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้มีมาตรการจำเพาะเจาะจงไปช่วยเรื่องการป้องกันการแพร่เชื้อโรค COVID-19 เช่น แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานขับรับส่งอาหารดีลิเวอรี่ ตลอดจนกิจการผิดกฎหมายแบบปาร์ตี้ยาเสพติดแอทโฮม เป็นต้น
ห้า สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวัน ยังไม่เคร่งครัด และไม่เอื้ออำนวยให้คนปฏิบัติตามหลัก Social distancing เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่คนไปซื้อยังเข้าคิวกันอย่างใกล้ชิด ไม่มีการประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้เห็นหรือได้ยินอย่างเป็นกิจวัตร หรือไม่มีสัญลักษณ์บนพื้นที่ระบุตำแหน่งให้ยืนรอคิว หรือเจ้าหน้าที่บริการยังเกรงใจลูกค้า เลยไม่เอ่ยปากเตือน
อย่างไรก็ตาม กำลังใจของเราทุกคนยังน่าจะมีอยู่เต็มเปี่ยม เมื่อเราเห็นว่า สองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราฉุดประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่มีอัตราการติดเชื้ออย่างรวดเร็วตามเส้น 33% ให้ลงมาแตะเส้น 15% ในวันนี้จนได้
เราใช้เวลา 15 วัน ในการพิสูจน์ และรับรู้แล้วว่าได้ผล เพียงแต่ยังไม่พ้นวิกฤติ
เราจึงต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 สัปดาห์ เพื่อช่วยกันฉุดให้ประเทศไทยลลงมาอีก จาก 15% มาแตะ 10% ให้ได้ โดยหากทำให้จำนวนการติดเชื้อไม่เกิน 91 คนต่อวัน เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ถามว่าทำไมจึงตั้งเป้าหมายระยะสั้นนี้ไว้ที่เส้น 10%?
คำตอบคือ ถ้ายื้อไว้ไม่ให้เกินระดับนี้ได้ ระบบสาธารณสุขของไทยน่าจะยังพอดูแลผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ไว้ได้ และสามารถมีเวลาปรับตัว ระดมทรัพยากรต่างๆ และจัดระบบ กระบวนการ และอื่นๆ ได้
มาช่วยกันทำปาฏิหาริย์ให้เป็นจริงเถิดครับ...เราสำเร็จมาแล้วขั้นหนึ่ง ครั้งนี้หากพร้อมเพรียงกันจริงๆ น่าจะเป็นจริงได้
ถามว่าทำอย่างไร?
ยังยืนยันว่า หลักสำคัญคือ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#ไม่ออกจากบ้านยกเว้นจำเป็นจริงๆหรือฉุกเฉิน
#ที่ทำงานทั้งรัฐและเอกชนตัดสินใจให้workfromhomeเต็มที่
#ไม่ทิ้งคนทุกข์ยากไว้ข้างหลัง
#จัดเตรียมอาหารน้ำดื่มและอุปกรณ์ป้องกันให้คนยากจนและชุมชนแออัด
#ปิดกั้นการเข้าออกประเทศและระหว่างจังหวัด
#บังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัด
#เสริมมาตรการป้องกันในกลุ่มเสี่ยงใหม่ๆดังที่กล่าวมา
...ไทยต้องทำได้...
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล