"...วงเงินที่จะใช้บริหารจัดการและเยียวยาทั้งหลายนี้ คงใกล้ๆ 9-10% ของจีดีพีของไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ทั้งหมด เราจะต้องไปประสานกับสำนักงบประมาณว่า งบจัดหางบมาได้เท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีเพิ่มเติม เราก็ออกพ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน คงไม่ใช่ว่าไปกู้เงิน 10% ของจีดีพี อันนั้นไม่ใช่..."
หมายเหตุ : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว. และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งประกอบด้วย การเยียวยาประชาชน การดูแลภาคธุรกิจยืนอยู่ได้ และดูแลเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า รวมถึงดูแลภาคการเงินเพื่อสนับสนุนกลไกทางเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยกรอบวงเงินที่จะมาใช้จ่ายภายใต้มาตรการดังกล่าวจะคิดเป็น 10% ของจีดีพี
“เงินที่ใช้ทั้งหมดนี้จะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆที่เขาทำกัน คือ คิดเป็น 10% ของจีดีพี ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น แต่นี่เป็นวงเงินที่ต้องใช้ ส่วนในทางปฏิบัติ เงินส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณ ซึ่งจะหักมา 10% จากงบที่ใช้ได้ โดยงบเงินเดือนหรืองบที่จำเป็นเราจะไม่แตะต้อง ส่วนที่เหลือจะกู้ยืม โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้กู้ยืม เพื่อนำเงินมาใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลประชาชน อีกทั้งจะมีการออกซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด ระบุว่า มาตรการที่ออกมาเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจว่า เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ได้ พร้อมย้ำว่าในส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลังนั้น กระทรวงการคลังจะไปหารือกับสำนักงบประมาณก่อนว่า งบที่จะนำมาจากแต่ละหน่วยงานในอัตราเฉลี่ย 10% ของงบประมาณที่ใช้ได้นั้น จะเป็นเท่าใด และต้องกู้เงินเป็นเท่าใด โดยรายละเอียดอยู่ระหว่างดำเนินการ หากเสร็จทันจะเสนอครม.ในวันที่ 7 เม.ย.นี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.การดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ผู้มีอาชีพอิสระ และลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มเติม 2.การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม เช่น การจัดสรรงบสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 การดูแลเศรษฐกิจระดับพื้นที่ โดยเฉพาะแรงงานที่กลับสู่พื้นที่ การลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และ3.ดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องให้เพียงพอ
“วงเงินที่จะใช้บริหารจัดการและเยียวยาทั้งหลายนี้ คงใกล้ๆ 9-10% ของจีดีพีของไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ทั้งหมด เราจะต้องไปประสานกับสำนักงบประมาณว่า งบจัดหางบมาได้เท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีเพิ่มเติม เราก็ออกพ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน คงไม่ใช่ว่าไปกู้เงิน 10% ของจีดีพี อันนั้นไม่ใช่” นายอุตตมย้ำ
อุตตม สาวนายน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ครม.นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบในหลักการให้ ธปท.ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ โดยธปท.จะเสนอรายละเอียดต่างๆและร่างพ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย.นี้
มาตรการที่ 1 การออกพ.ร.ก.ให้ธปท.ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการได้โดยตรง โดยใช้เงินของธปท.เอง เช่นเดียวกับที่ธปท.เคยดำเนินการเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2555 โดยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว จะใหญ่กว่าวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำที่ครม.อนุมัติให้ธนาคารออมสินนำไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อนหน้านี้ ซึ่งมีวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
“เงินกู้ซอฟต์โลนครั้งนี้จะนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีวงเงินที่มากกว่าเดิม ต่างจากวงเงินกู้ของธนาคารออมสินที่ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีเล็กๆ รวมทั้งจะจัดสรรซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วย เพื่อให้เข้ามาช่วยดูแลประชาชนที่เป็นลูกหนี้ โดยธปท.จะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ซอฟต์โลนที่ออกมาใหม่ใช้ได้จริง และส่งไปถึงประชาชนเจ้าของธุรกิจ” นายวิรไทกล่าว
มาตรการที่ 2 การออกพ.ร.ก.ให้ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด Roll over หรือต้องมีการออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อนำไปชำระตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่มีเงื่อนไขว่าตราสารหนี้เอกชนที่ธปท.จะเข้าไปซื้อนั้น จะต้องออกโดยผู้ออกที่มีคุณภาพดี และต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่า 50% ขณะที่ธปท.จะเข้าไปเติมเต็มเพื่อทำให้ตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ ส่วนวงเงินจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องรอให้ครม.เห็นชอบก่อน
“มาตรการนี้จะเป็นหลังพิงให้ตลาดตราหนี้เอกชนให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะแม้ว่าวันนี้ระบบการเงินของเราจะเข้มแข็ง แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าตลาดการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เอกชนมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้ถือตราสารหนี้เอกชนครอบคลุมทั้งประชาชน และองค์กรต่างๆ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กบข. ประกันสังคม และสหกรณ์ต่างๆ” นายวิรไทกล่าว
วิรไท สันติประภพ
มาตรการที่ 3 การขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากออกไป 1 ปี จากเดิมที่จะมีการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.2563 ให้ขยายออกไปเป็นเดือน ส.ค.2564 เพื่อลดความกังวลของประชาชนผู้ฝากเงิน
มาตรการที่ 4 ลดการนำส่งเงินสมบทของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้ธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารพาณิชย์นำต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวไปลดดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจและประชาชน
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พบว่าในปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย (จีดีพี) มีมูลค่า 16.87 ล้านล้านบาท ดังนั้น มาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รอบนี้ จะมีเม็ดเงินกว่า 1.68 ล้านล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ที่ประชุมครม.นัดพิเศษยังรับทราบรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
โดยพบว่าหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรงบปี 2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ 644,181 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 362,076 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 282,104 ล้านบาท
ในขณะที่หน่วยรับงบประมาณกำหนดแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการดังกล่าว 158 หน่วยงาน 8,455 ล้านบาท คิดเป็น 1.31% ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้
ที่มา : การประชุม ครม.นัดพิเศษ วันที่ 3 เม.ย.2563
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/