"...เพราะต้นทุนต่อวันในการประคองชีวิตช้างของปางต่างๆ เป็นต้นทุนที่ลดเลี่ยงได้ยาก ทั้งค่าอาหารที่ต้องให้ต่อเนื่อง ค่าจ้างควาญที่ไม่สามารถให้พักงานได้ ต่างจากรถเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างที่จอดหรือปิดล็อกได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน..."
13 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันช้างไทย....
ทั้งช้างป่าและช้างเลี้ยง..ก็เป็นช้างไทย..
ปางช้าง เป็นกิจการที่จำได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆมักไม่ได้ออกประกาศให้หยุดกิจการ
จะเพราะเห็นว่ามิใช่สถานที่ๆเสี่ยงที่จะมีคนจำนวนมากไปมุงอยู่รวมกันจนขาด social distancing..หรือไม่ก็ตาม
แต่เมื่อ covid-19 กระแทกระบบการเดินทางท่องเที่ยว
แล้วขยายฤทธิ์ไปกระแทกวิถีชีวิตปกติของคนในทุกสังคมให้ลด งดออกจากบ้าน
ลูกค้าอันเป็นปกติที่มาปางช้างก็หด และจบลง
ข้อนี้นับว่าดีสำหรับช้างตามปางทีเดียว
เพราะไม่ต้องทำงาน..ไม่ต้องให้ใครขี่หลัง..สักคน
แต่การจะดูแลให้ช้างเลี้ยงมีหญ้า มีต้นข้าวโพดกินในฤดูแล้งนั้น
ปกติมักจะมาจากการซื้อครับ
ช้างแต่ละเชือกกินอาหารราว10%ของน้ำหนักตัวมัน
เลี้ยงหนึ่งเชือก อาจไม่หนักหนาอะไร
เจ้าของหรือผู้เลี้ยงขยันเดินหน่อย..คงพอหาหญ้าวันละ300กิโลกรัม มาพอได้(ช้างโตทั่วไปจะน้ำหนักราวสองสามพันกิโลกรัม....เท่าน้ำหนักรถหกล้อคันนึงได้เลยแหละ)
แต่ช้างกินต้นข้าวโพดกับหญ้าอย่างเดียว
เค้าจะขาดวิตามิน แล้วในที่สุดก็จะอ่อนแอ ท้องอืด คนเลี้ยงจึงต้องหา อาหารเสริมเช่น อ้อย ผลไม้ มะขาม กล้วยมาเติม ด้วย
อาหารเสริมนี้คงปลูกกันไม่ทันช้างกินแน่
เลยต้องสั่งซื้อเอา..ถ้าต้องดูแลช้างตั้งแต่สองเชือกขึ้นไป
เงินที่เคยได้จากนักท่องเที่ยวมาเลี้ยงทั้งช้างทั้งคนเลี้ยงช้างหายไป
ใหม่ๆก็อาจจะพาช้างไปอยู่ชายป่า หากินเอาเองแบบเลี้ยงสัตว์พาหนะอื่น เช่น ม้า โค กระบือ ลา ฬ่อ ได้ แต่เท่าที่ทราบมา ไฟป่าก็เผาพืชอาหารตามธรรมชาติของช้างไปมากแล้ว และบางพื้นที่ๆช้างกลับบ้านจำนวนนับสิบเชือก ชายป่า ป่าชุมชนต่างๆก็เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เจ้าหน้าที่ต้องเป็นห่วงถึงสภาพป่าหลังจากช้างเข้าพื้นที่
แต่การกินวันละราวสามร้อยกิโลนั้น แปลบเดียว พืชแถบนั้นก็ราบเป็นหน้ากลองตะโพน..
ช่วงนี้เราจึงจะเห็นช้างพร้อมคนเลี้ยงขึ้นรถบรรทุกเดินทางไปถิ่นเดิมของตัวเพราะตกงาน...จากย่านท่องเที่ยว
ฟังดูก็ดีนะครับ
แต่ย่านเก่าที่เคยอยู่ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากพงหญ้าป่าเขาไปกลายเป็นแปลงเกษตรพืชเศรษฐกิจที่กำลังต่อสู้กับภัยแล้งขนาด แล้งที่สุดในรอบ 40 ปี แถมฝนก็คงอีกสามเดือนจึงจะมาตามนัด..(ถ้าไม่ผิดนัดอีกแล้ว)
พืชพรรณอาหารช้างในสามเดือนข้างหน้าจึงยังไม่มีให้แบ่งให้ช้างกินได้ฟรีๆง่ายๆ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติก็ได้แห้งขอดลง
และเมื่อคนเลี้ยงดูช้างก็พลอยตกงานไปด้วย..บ้างก็ต้องออกไปรับจ้างแรงงาน ซึ่งในช่วงนี้ก็จะเจอกับคนที่อพยพย้ายที่อยู่กลับภูมิลำเนาเพราะตกงานจากในเมืองกันเยอะแยะ
และพร้อมจะถูกจ้างให้ทำงานใดๆที่พอหาได้ในท้องถิ่น
แล้วใครจะดูแลหาอาหารให้ช้างได้วันละ200-300กิโลกรัมล่ะ..
ใครกี่คนจะเฝ้าช้างไหว..ถ้าท้องตัวเองก็หิว
นี่แหละที่ควรเขียนส่งออกมาเพื่อขอส่งเสียงแทน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอีกกลุ่มที่ อ่านหนังสือไม่ออก และอาจเขียนไม่ได้...และก็หวังว่าพวกคนเลี้ยงช้างจะไปลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือแก่ตัวเองเดือนละห้าพันบาท นานสามเดือนกันได้
อย่างช้างและคนดูแลนี่แหละครับ
ช้างจำนวนมากขึ้นที่ถูกจับล่ามไว้ ในที่ต่างๆเท่าที่หาได้ โดยไม่มีอาหาร..ไม่มีใครไปเยี่ยมดู เพราะคนส่วนมาก self quarantine อยู่กับบ้าน
ช้างและคนเลี้ยงจึงเครียด..และเสี่ยง
ปางหลายแห่งอาจหันมาขอเปิดรับบริจาคออนไลน์ ซึ่งเผลอแป้ปเดียว จะเห็นผุดขึ้นเป็นรายปาง รายภาค เยอะไปหมด
คนบริจาคจึงไม่อาจเห็นภาพรวมละครับ
และแน่นอนว่าช้างที่เดินออกจากปางไปกับคนเลี้ยงเพื่อกลับย่านที่เคยเกิดเคยอยู่ ยิ่งไม่มีทางได้ส่งเสียงให้โลกของการบริจาคช่วยเหลือได้รับรู้
บัดนี้กลุ่มคนเลี้ยงช้างจำนวนหนึ่งซึ่งประกอบด้วยคนเลี้ยง สัตวแพทย์ และคนบริหารปางช้างกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันมุ่งเป้าไปที่การช่วยกันและกัน โดยเอา "มาตรฐานสุขภาพช้าง" เป็นที่หมาย
"สมาคมสหพันธ์ช้างไทย" คือชื่อของเครือข่ายกลางนี้
กดติดตามพวกเค้าทางออนไลน์ได้ไม่ยาก
ผมนั้นบริจาคสมทบไปแล้ว..และคงพอมีคนบริจาคบ้าง..แต่ส่วนมากยังไม่ค่อยทราบว่าจะบริจาคที่ไหน..หรือมีอะไรให้ช่วยได้และที่บริจาคไปจะช่วยให้ช้างผ่านช่วงแล้งทั้งดินฟ้าอากาศและแล้งทั้งนักท่องเที่ยวได้กี่เชือกกี่วัน
เพราะต้นทุนต่อวันในการประคองชีวิตช้างของปางต่างๆ เป็นต้นทุนที่ลดเลี่ยงได้ยาก ทั้งค่าอาหารที่ต้องให้ต่อเนื่อง ค่าจ้างควาญที่ไม่สามารถให้พักงานได้ ต่างจากรถเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างที่จอดหรือปิดล็อกได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน
และพยายามเกลี่ยกระจายพลังความช่วยเหลือในยามยากลำบากนี้ให้ไปถึงปางที่มีช้างมากกว่าจะหาหญ้าหาต้นข้าวโพดมากินกันเอง รวมถึงช่วยบรรดาช้างที่จำต้องเดินทางกลับถิ่นออกจากปางซึ่งก็ยากลำบากไปอีกแบบ
เรากำลังพูดถึงช้างราว สามพันกว่าเชือกครับ
เฉลี่ยช้างใหญ่จนถึงช้างน้อย
เรากำลังต้องการอาหารช้างวันละประมาณ เก้าร้อย ตัน!!
หญ้าและต้นข้าวโพด อ้อย ผัก ผลไม้ ในสัดส่วนที่สัตวแพทย์ด้านช้างคงจะพอชี้ได้ว่า ผสมแค่ไหน ที่ช้างจะไม่สุขภาพทรุดลง
ช้างควรได้เดินมากพอสมควรในแต่ละวัน เพื่อมิให้ท้องอืด ควรได้อาบน้ำตามควรต่อสัปดาห์ถ้าทำได้
แต่ถ้าไม่มีคนเลี้ยงพาไปทำ
แล้วเค้าจะได้ไปหรือ นอกจากถูกล่ามติด วนส่ายหัวไปมาเพราะเครียดอยู่กับที่
นานเป็นอาทิตย์เป็นเดือน...
สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ..ในเดือนที่เพิ่งผ่านวันช้างไทย
จึงกำลังเป็นเรื่องท้าทายยิ่งในการนับถอยหลังเข้าสู่เดือนสงกรานต์ที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกและทั่วไทยกำลังเหินขึ้นสูง...
ขอฝากช้างไทย..ในมือคนไทย..ในวันที่พวกเรา ต้องอยู่ห่างกัน..ไว้เพื่อจะได้กลับมาพบกันใหม่..
แล้วจะได้กลับมาใช้วิถีชีวิตร่วมที่พอเพียง..พอประมาณ..สมเหตุสมผล..และมีภูมิคุ้มกัน..ที่ดีกว่าเดิม
ช่วงนี้..เราช่วยกันสนับสนุนแพทย์พยาบาลให้มีสุขภาพที่ดี มีระบบสนับสนุนและป้องกันการติดเชื้อที่ดี..ปรบมือส่งกำลังใจและอยู่บ้านตามคำขอของแพทย์และรัฐบาล
เป็นครั้งแรกที่การอยู่กับที่..ดูแลแค่ปัจจัยสี่ของตัว. เป็นเรื่องที่ "ช่วยชาติ" ได้
เหลือเวลาว่างให้ตัวเองเมื่อไหร่..ก็ขอชวนให้นึกถึงการ "ช่วยช้าง" ด้วยกันอีกแรงนะครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตประธานคณะอนุกรรมการด้านกฏหมายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย