"...ความไม่พร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการบริหารจัดการที่ขลุกขลักเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงสถานการณ์วิกฤติ แต่การแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์และคุกคามสิทธิของบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคงเป็นเรื่องที่ไม่มีชาติใดยอมรับได้และคนไทยเองคงไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน แม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่ยังไม่อยู่ในอันดับที่เรียกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม..."
ในช่วงเวลาวิกฤติเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรและบุคลากรกลุ่มสนับสนุนต่างๆ ถือเป็นบุคลากรแถวหน้าที่ต้องเสียสละทั้งเวลาและต้องละทิ้งชีวิตส่วนตัว ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อหาวิธีรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตรอด ในขณะเดียวกันบุคลากรกลุ่มนี้ต้องห่างเหินจากครอบครัว จนทำให้วิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไป แม้แต่เหยียบย่างเข้าประตูบ้านของตัวเองยังต้องระวังตัวทุกฝีก้าวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้กับคนในครอบครัวอันเป็นที่รัก
ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ ไวรัสโควิด -19 บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ควรได้รับการปกป้อง สนับสนุนและได้รับกำลังใจจากสังคมในฐานะผู้เสียสละ แต่เหตุการณ์กลับตรงกันข้ามเพราะในบางประเทศนักรบเสื้อกาวน์เหล่านี้กลับตกเป็นจำเลยในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เสียเอง ไวรัสโควิด- 19 จึงไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพ แต่กลับกลายเป็นปัญหาสังคมที่ขยายวงไปยังผู้คนที่ ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ ขาดสติและไร้ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทำหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในการต่อสู้กับไวรัสร้ายแรงอย่างไม่มีทางเลือกอื่น
แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีและบุคลากรทางการแพทย์ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยคนป่วยให้พ้นวิกฤติได้ หมอและพยาบาลจึงต้องทำงานหนักไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศอื่นๆที่มีเทคโนโลยีและบุคลากรทางการแพทย์ที่ด้อยกว่า ขณะเดียวกันแทบไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วแถวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกากลับมีคนจำนวนหนึ่งเกิดอาการรังเกียจเดียดฉันท์อาชีพพยาบาลอย่างออกนอกหน้าและตราหน้าพยาบาลที่กำลังต่อสู้กับไวรัสร้ายว่าเป็น จานเชื้อโรคเคลื่อนที่ ทั้งๆที่พยาบาลคือกลุ่มคนที่รู้จักวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโรคมากกว่าคนทั่วๆไป
แอนนา โจนส์ (ชื่อสมมุติ) พยาบาลห้องฉุกเฉิน จากโรงพยาบาล เซนต์โรส เมือง ลาส เวกัส คือหนึ่งในพยาบาลที่กลายเป็นจำเลยของสังคม เธอแทบใจสลายเมื่อได้รับอีเมล์จากหญิงสูงอายุเจ้าของบ้านเช่าแจ้งให้เธอรีบขนย้ายสัมภาระออกไปจากที่พักภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลสั้นๆคำเดียวคือ “ โควิด-19” แม้ว่าเจ้าของบ้านจะออกตัวขอโทษต่อโจนส์ว่าเป็นการแจ้งที่ค่อนข้างกะทันหัน แต่เธออ้างเหตุผลว่าต้องป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิด-19 เช่นกัน
ไม่เฉพาะโจนส์เท่านั้นที่ถูกขับไล่จากเจ้าของบ้านเช่าเพราะเธอมีอาชีพเป็นพยาบาลที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 คาเดย์ คาร์เตอร์ พยาบาลไม่ประจำ จากรัฐมิสซูรี ถูกยกเลิกการจองที่พักจากเจ้าของห้องพักหลายแห่งบนแพลตฟอร์ม Airbnb เมื่อเจ้าของที่พักพบในภายหลังว่าเธอมีอาชีพพยาบาล แม้ว่าเจ้าของสถานที่จะแสดงการขอโทษและแสดงเหตุผลถึงการป้องกันตัวเองก็ตาม ก็มิได้เป็นเหตุผลใดเลยที่ต้องทำให้เธอต้องถูกยกเลิกการจองที่พักเพราะมีอาชีพพยาบาล
พฤติกรรมการรังเกียจอาชีพพยาบาลเกิดขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐฮาวายซึ่งอยู่ไกลจากแผ่นดินใหญ่นับพันไมล์ ความตื่นกลัวไวรัสโควิด-19 ของบรรดาเจ้าของบ้านเช่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ปฏิเสธการเข้าพักอาศัยของพยาบาล ทำให้พยาบาลบางคนไร้ที่อยู่อาศัยและต้องเข้าพักตามโรงแรมซึ่งไม่สะดวกสบายและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ
สื่อโซเชียลของกลุ่มพยาบาลในอังกฤษคืออีกช่องทางหนึ่งที่พวกพยาบาลถูกคุกคามอย่างหนักจากผู้ที่หวาดกลัวไวรัส โควิด -19 แม้แต่ตามถนนหนทางที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ใช้ร่วมกันอย่างเสมอภาค กลับมีคนคุกคามผู้มีอาชีพพยาบาลด้วยคำพูดที่ทำร้ายจิตใจพวกเธออย่างยิ่งว่า พยาบาลคือ ตัวแพร่เชื้อโรค
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าอาชีพพยาบาลในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เริ่มไม่เป็นที่ต้อนรับและกลายเป็นคนแปลกหน้าของคนบางกลุ่มไปเสียแล้ว ทั้งๆที่บุคลากรเหล่านี้ ต้องเสียสละเพื่อผู้อื่นและมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ทุกนาทีซึ่งพวกเขาควรได้รับการคุ้มครองจากสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
การขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับหมอ พยาบาลและหน่วยสนับสนุนคือหนึ่งในปัญหาที่พูดกันหนาหูในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ทั้งในเมืองไทยและประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่ดูเหมือนว่าเป็นประเทศที่น่าจะมีความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มากที่สุด แต่กลับมีเสียงตำหนิจากพยาบาลจำนวนหนึ่งว่าอุปกรณ์เพื่อการรักษาผู้ป่วยขาดแคลนซึ่งไม่แพ้เสียงบ่นจากหลายคนในบ้านเรา
พยาบาลของสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยขาดแคลนหน้ากากและจำเป็นต้องใช้หน้ากากเพียงอันเดียวในทุกสถานการณ์หรือใช้แล้วซักเพื่อนำมาใช้ใหม่ บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องหาอุปกรณ์เท่าที่จะหาได้เพื่อทำหน้ากากหรืออุปกรณ์อื่นๆใช้งานเฉพาะหน้าเหมือนกับประเทศไทยและอีกหลายประเทศ พยาบาลบางคนจึงรู้สึกว่าพวกเธอกำลังรักษาผู้ป่วยอยู่ในประเทศโลกที่สามซึ่งไม่ใช่อเมริกาที่พวกเธอเคยรู้จัก เท่ากับว่าในขณะนี้แทบจะไม่มีประเทศใดในโลกที่มีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ในการสู้รบกับไวรัสโควิด-19
ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ บุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นซึ่งถือว่ามีคุณภาพระดับแถวหน้าของโลกต่างต้องทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยและหามาตรการลดอัตราการติดเชื้อแก่ผู้คนให้ได้เร็วที่สุด แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีขนบธรรมเนียมอันดีงามต่อการให้ความเคารพต่อผู้อื่นและมีความสุภาพต่อคนทั่วไปตามสมควร แต่เมื่อโควิด – 19 เข้ามาถึงตัว ความตื่นกลัวโควิด-19 ของผู้คนทำให้สังคมญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป บุคลากรทางการแพทย์แถวหน้าที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเริ่มถูกมองด้วยสายตาแปลกๆจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของตัวเองและกลายเป็นเป้าหมายของการคุกคามซึ่งกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆซึ่งเป็นลูกของบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆหรือขอให้อยู่ห่างจากโรงเรียนด้วยเหตุว่า พ่อ-แม่ ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ความผิดปกติในสังคมญี่ปุ่นที่บุคลากรทางการแพทย์และเด็กๆถูกคุกคามจากบุคคลรอบข้างทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานจึงทำให้สมาคมเวชศาสตร์ด้านภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น(The Japanese Association for Disaster Medicine : JDAM) ต้องออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ นายจ้าง กลุ่มบุคคลด้านการดูแลสุขภาพ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ หยุดการคุกคามบุคลากรทางการแพทย์และเด็ก เพราะถือว่าการกระทำลักษณะนี้คือการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์
ปรากฏการณ์การรังเกียจบุคลากรทางการแพทย์ในสังคมที่ต่างวัฒนธรรม ต่างสิ่งแวดล้อม ต่างขนบธรรมเนียมประเพณี และอุปนิสัยของผู้คนที่ต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษและญี่ปุ่นด้วยเหตุผลจากความกลัวเชื้อโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่เกินขอบเขต การเกิดอคติจากความไม่รู้ รวมทั้งความตื่นตระหนกจากข่าวแหล่งต่างๆที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละนาทีจนทำให้ผู้คนลืมคำว่ามนุษยธรรมและเกินเลยไปถึงการคุกคามการใช้ชีวิตของบุคคลที่กำลังทำหน้าที่ทางการแพทย์ นับเป็นเรื่องคาดไม่ถึงว่าสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆในประเทศที่ถือว่าเจริญก้าวหน้ากว่าใครๆในโลก
ความไม่พร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการบริหารจัดการที่ขลุกขลักเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงสถานการณ์วิกฤติ แต่การแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์และคุกคามสิทธิของบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคงเป็นเรื่องที่ไม่มีชาติใดยอมรับได้และคนไทยเองคงไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน แม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่ยังไม่อยู่ในอันดับที่เรียกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม
อ้างอิงจาก
1. https://www.thedailybeast.com/coronavirus-nurses-face-eviction-housing-discrimination-from-scared-landlords
2. https://www.nursingtimes.net/news/coronavirus/nurses-fighting-coronavirus-facing-abhorrent-abuse-from-public-20-03-2020/
3. https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3052274/medical-staff-japan-harassed-carrying-germs-after
ภาพประกอบ