"...ข้อเสนอเพิ่มเติม รัฐควรจะมีนโยบายให้ผู้เช่าลดค่าเช่าให้คนตกงานหรือรายได้ลดในช่วงนี้ โดยรัฐจ่ายชดเชยให้บางส่วน เช่น ผู้เช่าจ่าย 50% รัฐจ่ายสมทบ 20% = ผู้ให้เช่าได้ 70 % เป็นต้น คือทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน (บางประเทศไม่ให้ไล่ผู้เช่าที่ตกงานออกจากที่พักในช่วง 2 – 3 เดือนข้างหน้า โดยรัฐจะชดเชยให้) จ่ายเงินแบบนี้คือจ่ายเป็นเรื่องเป็นราวผ่านผู้ประกอบการ มีหลักฐานตรวจสอบง่าย และเป็นการช่วยคนที่พยายาม และร่วมมือ..."
คราวนี้ขอสะกิดนักการเมืองที่คุมงานคลังที่ขยันทำเรื่องแจกเงินและส่งเสริมการสร้างหนี้ครัวเรือน
คืนวันที่ 25 มีนาคม 2563 เข้านอนอย่างสุขใจ อะไรๆ ที่อึมครีมก่อเกิดวิตกจริต ทะยอยเปิดออกมา และยังหัวโล่งคิดข้อเสนอแนะได้อีกด้วยcredit policy จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ครอบคลุมไปถึงสถาบันให้สินเชื่ออื่นๆ ด้วย ช่วยลูกหนี้รายเล็กถึงรายกลางๆ ที่เผชิญหลายปัญหามาตั้งแต่สงครามการค้า พอให้หายใจคล่องขึ้น
ประกาศภาวะฉุกเฉินก็รับได้ เพราะขอร้องกันดีๆ ไม่เชื่อฟัง เสียดายที่ตอนคนออกไปแพร่กระจายเชื้อไม่ได้ใช้กฎหมายที่ปรับคนก่อเหตุ ถ้าใช้กฎหมายนั้นสักครั้งสองครั้ง คนจะเริ่มรับรู้ว่าเรามีกฎหมายอยู่ ไม่ใช่มีแต่กระดาษกับอักษรบนกระดาษ ก็หวังว่าประกาศแล้วจะยึดปฏิบัติจริงจัง
ปิดท้ายด้วยการระลึกถึงการที่สมเด็จพระสังฆราช นำสวดมนต์ทั่วประเทศ ขอบคุณโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดมาให้ชม งามตาและใจสงบลง พอมีพลังสู้ต่อไป อยากให้โทรทัศน์ขยันถ่ายทอดแบบนี้ ถ่ายทำวัตรเช้า–เย็น หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัดต่างๆ ก็น่าจะดี เท่ากับเราอยู่บ้านได้ทัวร์วัด และสวดมนต์ตามไปด้วย
นโยบายหลายระลอก + ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
1. นโยบายด้านการเงินที่รัฐบาลออกมา 1 มีนาคม หลายข้อไม่ตรงจุด ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเท่ากับให้คนสร้างหนี้เพิ่ม เหมือนเพิ่มเลือดให้คนบาดเจ็บโดยไม่ห้ามเลือดหรือไม่รักษาให้หาย กะว่าเพิ่มเลือดแล้วหายเอง
ที่ช่วยคนเล็กคนน้อยได้จริงคือนโยบายยืดหนี้ที่โรงจำนำของรัฐ และธนาคารของรัฐลดค่าเช่าที่ดินของรัฐแต่ยังไม่ได้เลยไปถึงภาคเอกชน
ข้อเสนอเพิ่มเติม รัฐควรจะมีนโยบายให้ผู้เช่าลดค่าเช่าให้คนตกงานหรือรายได้ลดในช่วงนี้ โดยรัฐจ่ายชดเชยให้บางส่วน เช่น ผู้เช่าจ่าย 50% รัฐจ่ายสมทบ 20% = ผู้ให้เช่าได้ 70 % เป็นต้น คือทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน (บางประเทศไม่ให้ไล่ผู้เช่าที่ตกงานออกจากที่พักในช่วง 2 – 3 เดือนข้างหน้า โดยรัฐจะชดเชยให้) จ่ายเงินแบบนี้คือจ่ายเป็นเรื่องเป็นราวผ่านผู้ประกอบการ มีหลักฐานตรวจสอบง่าย และเป็นการช่วยคนที่พยายาม และร่วมมือ
2. แม่ทัพการเงินทั้งหมดยกมาออกทีวี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ใจความสำคัญ คือกำลัง “ดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทหุ้นกู้ ที่ถือโดยกองทุนรวม เรื่องแค่นี้ไม่ควรออกทีวีเป็นการใหญ่โต คนที่ไม่รู้ว่าตราสารหนี้มีปัญหาขายไม่ได้ราคา และราคาซื้อขายถ่างกว้างกว่าปกติ ก็เลยพลอยรู้กันทั่ว และรู้สึกว่า ไม่ช่วยคนทำงาน ไม่ช่วยลูกหนี้ตัวจริง แต่กลับไปช่วยผู้กู้และผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่เป็นตลาดรองของกระดาษที่ซื้อๆ ขายๆ กันแบบรู้ๆ กันอยู่แล้วว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนเลือกลงทุนเอง และรับความเสี่ยงได้” เพื่อแลกกับการได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงขึ้น
3. นโยบายเรื่องเงิน ที่รัฐบาลแถลงเมื่อ ๒๔ มีนาคม นั้น ชัดเจนมาก คือชวนสร้างหนี้ (อีกแล้ว) และแจกเงิน (อีกแล้ว) โดยไม่สนใจจะมีเงื่อนไข (ขอไม่พูดเรื่องภาษีเพราะไม่ถนัดเรื่องการคลังด้านภาษีค่ะ)
ข้อเสนอเพิ่มเติม (ที่คนแจกและคนรับแจกคงไม่ชอบ แต่มันดีกว่าสำหรับคุณค่าในสังคมเป็นส่วนรวม)
–แจกเงินแลกกับการกระทำบางอย่างไม่ว่าจะเป็นงานอาสา บำเพ็ญประโยชน์ หรือว่าเรียนเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงาน
– มีบทลงโทษ เช่นริบสิทธิคืนเมื่อความประพฤติไม่ดี เช่นให้อยู่บ้านกลับไม่อยู่ ได้เงินแล้วออกเที่ยวทั่วไป เป็นต้น
4. นโยบายเครดิตวันที่ 24 มีนาคม ตรงจุดและโดนใจมาก ไม่จ่ายต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย ประวัติก็ไม่เสีย ลูกหนี้ที่เงินรายได้สะดุด ธุรกิจสะดุด คงหายใจคล่องขึ้น ธนาคารเองก็ไม่มี NPL เพราะลูกหนี้ยังจ่ายดอกเบี้ยได้อยู่ ส่วนคนที่เฟื่องฟูกับวิกฤตครั้งนี้ ก็น่าจะเลือกจ่ายหนี้ต่อไปตามปกติ
ข้อคิดในภาพรวม
1. คนออกมาตรการไม่ควรละเลยประเด็นที่จะสร้างสังคมให้เข้มแข็งเลยแม้แต่มาตรการเดียว ไม่ละเลยคนตกงานที่ช่วยตนเองไม่ได้ก็จริง แต่ควรพยายามช่วยคนที่กำลังพยายามช่วยตนเองก่อน เพื่อให้เขารอดและช่วยคนอื่นได้ต่อๆ ไป (นึกถึงสายการบินที่บอกว่าให้ใส่หน้ากากช่วยหายใจให้ตนเองก่อน แล้วจึงช่วยคนที่ต้องดูแล) และช่วยแบบให้เขายืนอยู่ได้ในอนาคต (ให้เบ็ดตกปลา ไม่ใช่ให้ปลา) ข้อเสนอแนะทั้งหมดในครั้งนี้ยึดหลักการนี้ และเชื่อว่าคนที่ตกงานทุกคนก็คงคิดเหมือนกันว่าได้เงินฟรีก็ช่วยได้ แต่จะมีศักดิ์ศรีและน่าภูมิใจกว่า ถ้าได้เงินจากการทำงาน พร้อมได้เพิ่มทักษะในการทำงานที่หลากหลายเป็นทุนชีวิตต่อไปอีกด้วย
2. การเงินในระบบเศรษฐกิจไทย ตลาดหนี้เงินกู้ยืม (credit market) สำคัญที่สุด
เราอาจแยกได้เป็น 3 ตลาด 3 ระดับผู้ออม และ 3 กลุ่มลูกหนี้ (อย่าเพิ่งงง) ง่ายๆ ย่อๆ ได้ดังนี้ ดูภาพประกอบ
ตลาด มี 3 แบบ
ก. ตลาดหนี้ คือสินเชื่อต่างๆ พูดง่ายๆ คือเงินกู้ทั่วไป เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เจ้าหนี้คือธนาคารพาณิชย์ และอาจจะมีบริษัทการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งก็ใช้เงินกู้ธนาคารเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่ง ตลาดนี้มีตัวกลางทางการเงิน (เช่นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน) รับเงินฝากมาแล้วนำไปปล่อยกู้
ข. ตลาดทุน เรียกว่า “ตลาดรอง” ซื้อๆ ขายๆ สินค้าระหว่างกัน แต่ถ้าใครจะนำ “สินค้า” เขามาขาย ต้องขายในตลาดแรกก่อน แล้วค่อยมา ซื้อๆ ขายๆ กันต่อในตลาดนี้ แยกเป็น
ข.1 ตลาดหุ้น ซึ่งซื้อๆ ขายๆ หุ้น ซึ่งแสดงความเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ๆ
ข.2 ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นตราสารแสดงการกู้เงินของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ชื่อเสียงน่าเชื่อถืออยากกู้ก็มีคนยินดีให้กู้โดยตรง โดยซื้อตราสารหนี้ของบริษัทนั้นๆ ไปถือไว้ ผู้ถือส่วนหนึ่งคือกองทุนรวม อีกส่วนคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวม กบข. และสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ประกันชีวิต สหกรณ์ เป็นต้น พันธบัตรรัฐบาลก็อยู่ในตราสารหนี้ด้วย
วันนี้ไม่พูดถึงตลาดเงิน เพื่อไม่ให้ภาพยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น
ผู้ออมเงิน หรือผู้มีเงิน แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ประชาชนรายใหญ่ รายธรรมดาทั่วไป และรายเล็กรายน้อย
รายเล็กรายน้อยฝากธนาคาร
รายธรรมดาทั่วไปก็ฝากธนาคารบ้าง ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลบ้าง หุ้นกู้บ้าง แต่ส่วนมากเชื่อว่าถือหุ้นกู้เพราะลงทุนผ่านกองทุนรวมแล้วกองทุนรวมไปซื้อมา (ดูคำอธิบายในรายใหญ่)
รายใหญ่ เหมือนรายธรรมดา แต่น่าจะถือกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้มาก โดยถือว่ารู้ดีกว่า และยังมีพวกที่ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศด้วย
ลูกหนี้มี 3 กลุ่ม กลุ่มรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก
รายใหญ่กู้ทุกรูปแบบรวมทั้งออกตราสารหนี้ด้วย
รายกลาง กู้แบบอื่นๆ ทั้งหมดเว้นตราสารหนี้ที่ออกมาขายในตลาด แต่หนักที่เงินกู้
รายเล็ก เดาเอาเองว่าเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ เงินกู้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต และอาจจะมีหนี้โรงจำนำด้วย
การเลือกช่วยเหลือในรอบแถลงข่าว ๒๒ มีนาคม เลือกจะช่วยตลาดตราสารหนี้ ตามที่แรเงาเป็นสีเทา คือเลือกช่วยภาคการเงิน (financial sector)
นโยบายที่แถลงวันที่ 25 มีนาคม ตามที่แรเงาสสีเชียวอ่อนเอาไว้ เป็นการช่วยที่ถึงภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) บางส่วน ช่วยสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคอีกบางส่วน
real sector คือ ภาคที่จ้างงาน สร้างสินค้าและบริการ ผลิตจริง กำไร ขาดทุนจากการดำเนินงานจริง เป็นอันที่ควรให้ความเอาใจใส่ให้มาก
3. ธนาคารพาณิชย์เป็นเจ้าตลาดสินเชื่อ และความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์สำคัญมากในระบบการเงิน
เงินฝากของคนส่วนมากอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ หนี้หรือสินเชื่อของผู้ประกอบการส่วนมากผ่านธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนี้อื่นๆ เช่น ผ่อนส่งรถยนต์ ก็อยู่กับธนาคารพาณิชย์ทางอ้อม ผ่านเงินกู้บางส่วนที่บริษัทเช่าซื้อจากธนาคารพาณิชย์ไปใช้ โรงจำนำก็อาจจะทำเช่นเดียวกัน ซึ่งตัวเลขพวกนี้ทางการมีอยู่ ถึงแม้ว่าในยามเฟื่องฟูจะมีเสียงเปรยว่า ธนาคารพาณิชย์ล้าสมัย หรือหมดยุคแล้ว แต่เมื่อถึงคราวต้องเหลียวหาเงินยามฉุกเฉินในระบบ ก็คงต้องพึ่งธนาคารพาณิชย์นั่นเอง
ภาระการช่วย “สภาพคล่อง” ตลาดทุน (ไม่ใช่สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์) ไม่ควรเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ในยามเศรษฐกิจต้องการสถาบันการเงินที่แข็งแรงคอยเป็นตัวขับเคลื่อนให้เงินไหลไปมาอย่างไม่ติดขัด ทั้งในยามยากลำบากและในยามที่จะฟื้นตัว ในยามนี้ต้องพยายามไม่ทำอะไรให้สถาบันการเงินหลักของเราอ่อนแอ การจะช่วยตลาดตราสารหนี้ ง่ายที่สุดคือทำผ่านธนาคารออมสินซึ่งทำได้โดยไม่ต้องห่วงผลประกอบการมากนัก เนื่องจากออมสินมีกระทรวงการคลังค้ำประกันตามกฎหมาย
4. ไม่ควรมีทัศนคติว่า หว่านเงินไปแล้ว จะแก้ปัญหาทุกสิ่งได้ เงินทุกบาทมีค่าถ้าใช้อย่างฉลาด ถ้าใช้ไปกระตุ้นให้ถูกจุดสำคัญ การเยียวยาจะได้ผลเร็วกว่าและดีกว่า และยังไม่รั่วไหลเข้ากระเป๋าส่วนตัวของใครต่อใคร จึงเห็นว่าน่าจะแบ่งเงินบางส่วนที่จะจ่ายคนตกงาน หรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไปช่วยดังต่อไปนี้
ก. ช่วยเรื่องการจ้างงานโดยตรง ซึ่งจะลดจำนวนคนตกงานอีกจำนวนหนึ่งลงไปได้ เช่น สมทบจ่ายให้นายจ้างยังคงจ้างคนงาน ต่อไป แม้จะลดค่าจ้างลงไปบ้าง คือนายจ้างจ่ายบางส่วน รัฐจ่ายสมทบอีกบางส่วน คนงานลดเงินค่าจ้างลงบางส่วน (เช่นเดียวกับที่เสนอเรื่องค่าเช่า ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)
ข. อุดหนุนให้กับกิจการหรือองค์กร ที่เพิ่มการจ้างงานชั่วคราว ทั้งด้วยความจำเป็นและเพื่อช่วยสังคม เช่น
โรงพยาบาลต้องเพิ่มบริการหลายอย่างที่คนทั่วไปช่วยได้ เพราะไม่ใช้งานโดยตรงด้านการแพทย์
การติดตามดูแลผู้ต้องอยู่บ้าน
การตรวจตราการปฎิบัติตาม พรก. ฉุกเฉิน เช่น ตามจุดตรวจทั่วไป แทนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำงานล่วงเวลา เอาเงินนั้นมาจ้างคนตกงานไปสมทบแทนรอรับเงิน 5000 บาท แล้วไม่ทำอะไรเลย
ทำแบบนี้ เท่ากับรัฐจ่ายเงินให้คนที่พยายามทำงาน และยังลดการรั่วไหลจ่ายผิดจ่ายถูกด้วย เพราะจ่ายตามบัญชีเงินเดือนของกิจการ มีหลักฐานตรวจสอบได้
ค. ลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตในอนาคต รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการอบรมทักษะแรงงานแล้ว ควรคิดเลยไปถึงการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเพื่อให้ปรับปรุงตัวเองรอกับเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ในโลกที่เทคโนโลยีการผลิตกำลังก้าวไปเร็วและแรงมาก
ง. ย้ายเงินช่วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่จะให้กู้เพิ่มหรือให้รายใหม่ มาอุดหนุนให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง สำหรับลูกหนี้กิจการที่ประสบผลกระทบรุนแรงแต่พยายามรักษาตัวอยู่ ช่วยกลุ่มนี้เท่ากับช่วยคนที่จะฟื้นตัวทันทีที่วิกฤตผ่านพ้นไป การช่วยให้ลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ดีอยู่รอด เท่ากับคงความแข็งแรงของธนาคารพาณิชย์ด้วย (ด้วยเหตุผลใด ให้กลับไปอ่านข้อ 1 ในหัวข้อนี้อีกครั้งค่ะ)
นวพร เรืองสกุล 26 มีนาคม 2563
หมายเหตุ ขออภัยที่ภาพประกอบสมัครเล่นมากๆ นะคะ มือช่วยหาภาพเหมาะๆ และเป็น sounding board สะท้อนกลับให้ เธอตั้งตารอแถลงนโยบายการเงินของขุนพลการเงินเต็มชุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม ฟังเสร็จ ก็ทอดถอนใจ วันจันทร์มาขอนั่งดูหนังจีน คิดว่าวันอังคารคงหายเซ็ง มาช่วยคิด ที่ไหนได้เจอแถลงมติ ครม. แบบแจกเงิน เพิ่มหนี้ เธอกินยานอนหลับแล้วเข้านอนไปเลยตั้งแต่ 1 ทุ่ม ดังนั้น คราวนี้ต้องทนดูกราฟฟิกแบบไม่สวยแล้วละค่ะ เรื่องนี้เขียนก่อนแถลงข่าว แต่ต้องเขียนใหม่เกือบหมดหลังจากฟังแถลงข่าว แต่ก็ยินดี