"...ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามจะใช้กลไกปกติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ก็เพื่อจะลดความตื่นตระหนก และไม่ต้องการรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชน แต่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าตัวเลขจะมากกว่านี้ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินขึ้นมา แต่แม้จะมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องการที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน การออกมาตรการต่างๆ จึงจะเป็นไปจากเบาไปหาหนัก..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางการทำงาน ของ ศบค. เป็นทางการครั้งแรก
โดยในระหว่างการแถลงข่าว สื่อมวลชนได้สักถาม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ถึงปัญหากรณีการจัดชกมวยที่สนามมวยลุมพินี ที่อยู่ในความดูแลของกองทัพบก ในวันที่ 6 มี.ค.2563 ทั้งที่ สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ถึง นายสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อให้ดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 ให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมเช่นการจัดการแข่งขันกีฬาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 แล้ว ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทหาร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเอง
พล.อ.พรพิพัฒน์ ตอบคำถามนี้ว่า "มันมีเรื่องอดีตและมีเรื่องของวันข้างหน้า"
"สิ่งที่อยากจะเรียนก็คือในเรื่องของวันข้างหน้านั้นเราต้องมาตกลงและร่วมมือกันเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกันในการทำตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขจะดีกว่า เรื่องในอดีตนั้นมันอาจจะเกิดข้อผิดพลาดมาจากความไม่รัดกุม ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเขาก็มีการตรวจสอบ ตรวจทานและมีมาตรการในการดำเนินการ"
"แต่ส่วนตัวจะไม่ขอลงรายละเอียดในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการแพร่ระบาดนั้นก็อาจจะมาจากกิจกรรมนี้ส่วนหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีสาเหตุที่ทำให้โรคแพร่กระจายตามมาด้วย"
พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดในขณะนี้ เพราะตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แม้เราจะทำเหมือนกับว่าควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ปรากฏว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อนั้นกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก
"ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามจะใช้กลไกปกติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ก็เพื่อจะลดความตื่นตระหนก และไม่ต้องการรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชน แต่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าตัวเลขจะมากกว่านี้ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินขึ้นมา แต่แม้จะมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องการที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน การออกมาตรการต่างๆ จึงจะเป็นไปจากเบาไปหาหนัก
พล.อ.พรพิพัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ศบก. นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาทหารมาคุมหรือมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์นี้ แต่ต้องการให้นำเอาองคาพยพต่างๆมาบูรณาการณ์ภายใต้ศูนย์นี้ ซึ่ง ณ ขณะนี้มีจุดตรวจจำนวน 359 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมี 7 แห่งอยู่ที่กรุงเทพ ซึ่งจุดตรวจเหล่านี้นั้นก็จะมีเจ้าหน้าประจำการเป็นตำรวจไม่ใช่ทหาร และจะทำหน้าที่ตรวจสอบดูว่าผู้ที่ขับรถสัญจรไปมามีความเสี่ยงหรือไม่ และมีการขนส่งสินค้าควบคุมไปอย่างผิดปกติหรือไม่ แต่ถ้าหากมีการกำหนดมาตรการต่อไปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นจากกระทรวงพาณิชย์ จุดตรวจเหล่านี้ก็จะต้องทำหน้าที่คัดกรองด้วย
"มาตรการต่างๆได้มีการนำเสนอเป็นระยะเวลานานเพื่อที่จะให้ระงับการระบาดโรคโควิด 19 ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่เครื่องป้องกัน การกักบริเวณตัวเอง ที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ จนเป็นเหตุทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร้ว ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่านี้ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายที่รออยู่ข้างหน้านี้ ซึ่งหลายประเทศในโลกตอนนี้นั้นมีมาตรการปิดประเทศ การออกเคอร์ฟิว แต่สิ่งสำคัญก็คือเชื้อโรคนั้นไม่ได้ปิดกิจการไปด้วย ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน"
“มีหลายท่านถามมาว่าจะเคอร์ฟิวไหม ต้องขอเรียนว่าถ้าเคอร์ฟิวสามทุ่มถึงตีห้า แล้วกลางวันท่านยังสัญจรไปมา ค่าก็เท่ากัน"
"สิ่งที่จะเป็นไปได้ก่อนจะถึงมาตรการสุงสุดก็คือการปิดประเทศ มันก็ยังมีหลายอย่างที่จะทำได้สิ่งที่ผมอยากจะทำความเข้าใจก็คือขณะนี้เรายังไม่ปิดประเทศ ยังไม่ปิดเมือง เรายังสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ถ้าหากเรายังไม่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง เราก็คงจะไปสุ่มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ ซึ่งตรงนี้จะนำไปสุ่ความยุ่งยากของทุกๆคน"
"ดังนั้นสิ่งที่ผมขอร้องก็คือเราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่หมอและกระทรวงสาธารณสุขได้เตือนมาตลอดเวลาทั้งการงดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมเสี่ยงดีกว่า เลือกที่จะควบคุมตัวเองแทนที่จะต้องให้ภาครัฐมาบังคับ”
เมื่อถามถึงการโยกงบบางหน่วยงานเพื่อจะมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคระบาด ตรงนี้จะรวมถึงงบของกองทัพด้วยหรือไม่
พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า "ไม่ใช่เฉพาะงบกองทัพแต่งบกลางทั้งหมดถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด 19 ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น"
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage