"...ถ้าเราได้ถึงจุด Inflection Point จริง ก็จะถือเป็นสัญญานว่า Social Distancing ที่ประชาชนสมัครใจทำกันเองกำลังจะได้ผล ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ความตื่นตระหนกและความกลัวของคนไทยมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ ส่วน พรก.ฉุกเฉิน กว่าจะส่งผลคงหลังประกาศหลายวัน แต่ดีตรงจะมาช่วยเสริมไม่ให้เกิดการพลิกกลับครับ..."
วันนี้ได้ติดตามการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ผมเชื่อว่า ที่จำเป็นต้องประกาศ เพราะมาตรการเดิมที่ออกโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีช่องโหว่ คือ ท่านไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปห้ามใครๆเข้าหรือออกจากกรุงเทพได้ การใช้ พรก.ฉุกเฉิน จึงน่าจะมาช่วยอุดช่องโหว่นี้ เพื่อให้ Cluster กทม. เป็นระบบปิด ทำให้มาตรการอยู่ห่างสังคม (Social Distancing) มีประสิทธิผลจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ผมก็มาแปลกใจว่า ทำไมต้องไปเสียเวลาไปอีก 1 วัน การเสียเวลา 1 วันในช่วงวิกฤตินี้ อย่านึกว่าไม่สำคัญ มีการศึกษาไว้ว่า การเสียเวลา 1 วันในช่วงวิกฤตินี้ อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 40%
ที่น่ายินดี คือ ตกลงจะจัดให้มีการแถลงข่าวความคืบหน้าทางทีวีพูลทุกวัน ซึ่งตรงกับที่ขอไว้ในโพสต์เมื่อวานนี้ แต่ว่าเดี๋ยวก่อน – คนที่จะมาพูดคุยกับประชาชน ผมว่าไม่ควรเป็นนักการเมือง ผมอยากได้นายแพทย์ที่มีความรู้สายตรงและเป็นคนที่พูดจากับชาวบ้านรู้เรื่อง ถ้าเทียบกับการแถลงข่าวรายวันของอเมริกาแล้ว อยากได้คนแบบ Dr. Anthony Fauci ผู้ซึ่งเป็น Immunologist ที่อดทนอธิบายประเด็นต่างๆ และที่สำคัญคอยเติมสาระให้แก่ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมพ์ ในเมืองไทย คนที่ผมนึกถึง คือ คุณหมอยง ภู่วรวรรณ หากท่านพอสละเวลามาทำหน้าที่นี้ ก็จะสมบูรณ์แบบมาก
ในภาพต่างๆที่ผมเตรียมมา เป็นการอัพเดทข้อมูลต่อจากเมื่อวาน รวมทั้งเกร็ดอื่นๆที่น่าจะเป็นที่สนใจครับ
(1) เมื่อวานนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในเมืองไทยเพิ่มเป็น 827 คน ซึ่งน้อยกว่าที่คำนวณจาก Exponential Trend (950 คน) ซึ่งน่าจะพอให้ความหวังเล็กๆน้อยๆในการเข้าใกล้จุด Inflection Point เราคงต้องตามติดข้อมูลอีก 3-4 วัน จึงจะยืนยันได้
ถ้าเราได้ถึงจุด Inflection Point จริง ก็จะถือเป็นสัญญานว่า Social Distancing ที่ประชาชนสมัครใจทำกันเองกำลังจะได้ผล ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ความตื่นตระหนกและความกลัวของคนไทยมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ ส่วน พรก.ฉุกเฉิน กว่าจะส่งผลคงหลังประกาศหลายวัน แต่ดีตรงจะมาช่วยเสริมไม่ให้เกิดการพลิกกลับครับ
(2) ผมอยากให้ดูกราฟของประเทศอิตาลี ซึ่งถือว่ามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของยุโรป แต่ข้อมูลในสองวันนี้ ดูเหมือนจะได้เจอ Inflection Point แล้ว เหตผลหนึ่งคือ ประชากรที่ยังไม่ติดเชื้อ ที่เราเรียกว่า”เหยื่อ” น้อยลงไป ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อที่เราเรียกว่า “ผู้ล่า” แสดงอาการมากขึ้นจึงถูกแยกออกไป และที่สำคัญ มาตรการ Social Distancing ก็คงใช้ได้ผล ประชาชนเริ่มมีวินัยเพราะเข้าใจในจุดประสงค์ของมาตรการนี้มากขึ้น
(3) ในการอัพเดทข้อมูลของอีกสี่ประเทศ ผมได้นำกราฟผู้ติดเชื้อของอเมริกามาให้ดูแทนอิตาลี เพราะปัจจุบัน อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีคนติดเชื้อมากเป็นอันดับสาม รองจากจีนและอิตาลี และน่าเป็นห่วง เพราะกร้าฟกำลังเป็นขาขึ้นของ Exponential Curve ผมคิดว่า ด้วยความมีเสรีภาพและความหลากหลายของคนอเมริกัน น่าจะทำให้สหรัฐฯได้ครองความเป็นมหาอำนาจของโลกในการติดเชื้อโควิด19 ในที่สุด
(4) ส่วนประเด็นสุดท้าย เกี่ยวเนื่องจากข่าวการเปิดเมืองอู่ฮั่นใหม่เมื่อวานนี้ หลังจากจีนประกาศชัยชนะต่อเชื้อไวรัสโควิดแล้ว แต่ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของชาวอู่ฮั่น ส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจนักว่า เชื้อโควิดจะไม่กลับมา หลายคนเชื่อว่า ยังมีคนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการซ่อนตัวอยู่ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกคัดกรอง ถ้าดูตามสถิติ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีน้อย จะมีถึงประมาณ 80% หรือ 4 เท่าของผู้ล่าที่ถูกแยกกักกัน เมื่อผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม ผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อและไม่มีภูมิ ก็ติดเชื้อใหม่ได้
แต่ประเด็นนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจีนอธิบายว่า คนที่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ถ้าผ่านไปเกิน 14 วัน น่าจะหมายความว่า มีการสร้าง ภูมิคุ้มกันที่จะเอาชนะเชื้อโควิดแล้ว จึงไม่น่าจะมีเชื้อโควิดเหลือ
ก่อนจบ ผมอยากฝากข้อคิดไปยังประชากรไทยที่ยังไม่สูงอายุ ที่ร่างกายยังแข็งแรง ท่านอาจมั่นใจว่า ถึงติดเชื้อโควิด ท่านก็จะหายเองได้ เพราะฉะนั้น ท่านอาจคิดว่า มาตรการ Social Distancing ไม่เกี่ยวกับท่าน แท้จริงตอนเริ่มต้น ชาวอิตาเลียนก็คิดอย่างเดียวกัน วัยที่กำลังแอคตีฟของอิตาลีมักไม่ค่อยใส่ใจ ยังใช้ชีวิตเข้าสังคมตามปกติ ผลก็คือ ตัวเขาเองกลายเป็นพาหะ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า เป็น”สะพาน” พาเชื้อโควิดไปติดพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งสุดท้ายผู้สูงอายุก็เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น การมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัดของคนทุกวัยนั้น ท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อบุคคลใกล้ชิดที่ท่านเคารพรักนับถือครับ
หมายเหตุ : ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : https://web.facebook.com/100005249319513/posts/1362041327314165/?d=n&_rdc=1&_rdr