"...ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะลุกลามไปทั้งระบบได้ แบงก์ชาติ ก.ล.ต. คลัง อุตสาหกรรมกองทุน และธนาคารพาณิชย์ จึงได้หารือกันที่จะหยุดความตื่นตระหนกที่ไร้เหตุผลอันควรนี้ ด้วยการตั้งกลไกเสริมสภาพคล่องให้..."
ที่ท่านผู้ว่า ธปท. แถลงร่วมกับท่านปลัดคลัง / ท่านเลขา ก.ล.ต. / ท่านนายกสมาคม บลจ / ท่านประธานสมาคมธนาคารไทย / และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ในบ่ายวันที่ 22 มี.ค.โดยจะยกเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกองทุนตราสารหนี้ที่คนสนใจมาขยายความ
ช่วงนี้กองทุนตราสารหนี้ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุน กำลังกลับมาเป็นประเด็นในตลาด แต่มีความต่างจากในอดีตทุกครั้ง เพราะในอดีตเกิดจากการ Default คือการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย/คืนเงินต้น ได้ตามที่สัญญาไว้
แต่รอบนี้ไม่เกี่ยวกับ Default เลย (ไม่ใช่กรณีแบบตั๋วบีอีเน่า ฯลฯ) ... แต่เป็นเรื่องของความตื่นตระหนกของผู้ลงทุนจากความกังวลเรื่อง COVID-19 ล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของตราสารที่กองทุนลงทุนแต่อย่างใด
ปกติแล้วกองทุนตราสารหนี้ที่เปิดให้ลูกค้าซื้อขายได้ทุกวันทำการมักจะสำรองเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องไว้เผื่อการถอนจำนวนหนึ่ง (เช่นกันเงินไว้ 5%-15% ของขนาดกองทุน เป็นต้น) เมื่อมีคนถอน ผู้จัดการกองทุนก็เอาเงินส่วนนี้ไปคืนลูกค้าได้ทัน
แต่คราวนี้มันไม่ปกติ เพราะกองทุนตราสารหนี้ไม่กี่กองทุน ของ บลจ.แห่งหนึ่ง โดนถอนออกจำนวนมากเกินระดับปกติ และถอนออกอย่างต่อเนื่อง อาจจะเพราะลูกค้าเกิดกลัว COVID-19 ทำให้ผู้จัดการกองทุนนั้นต้องขายของคุณภาพดี มีสภาพคล่องในพอร์ตออกไป เช่น ขายพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ ออกไปในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ คือโดนกดราคานั่นเอง แถมน่าจะถอนเงินฝากประจำในพอร์ตกองทุนที่ยังไม่ครบกำหนดอีกด้วยโดยยอมผิดเงื่อนไข เพียงเพราะต้องการได้เงินสดไปให้ลูกค้าที่ถอนไม่หยุด
เมื่อเป็นอย่างนี้ ในแต่ละวัน NAV(Net Asset Value :มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ)ต่อหน่วยของกองทุนก็ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะต้อง Fire Sell ของที่มีในพอร์ต ซึ่งราคาที่ขายได้ก็ไม่ใช่ราคาที่ควรจะเป็น โดนกดราคาไปเรื่อยๆ ... ผู้รับซื้อของจากกองทุน ก็ได้โอกาสจ่ายเงินน้อย แล้วได้ของราคาถูก
วันต่อมาพอลูกค้าเห็น NAV ต่อหน่วยของกองทุนหดลงเพราะราคาซื้อขายตราสารหนี้แบบ Fire Sell ก็เลยยิ่งตกใจ เลยถอนอีก แม้ถอนแล้วจะขาดทุนก็ถอนเพราะตื่นตระหนก แล้วก็เริ่มลามไปยังกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.อื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม มากบ้าง น้อยบ้าง
ลูกค้าตื่นตระหนก เลยขายกองทุน > กองทุนขายของในราคาต่ำเพื่อนำเงินมาคืนลูกค้าให้ทันเวลา > ราคาตราสาร ณ สิ้นวันลดต่ำ เพราะถูกขายในราคาต่ำ > มูลค่ากองทุนโดยรวมต่ำลง > ลูกค้าตกใจ ยิ่งขาย .... วนลูป
จากวงจรนี้ แม้แต่ตราสารที่มีคุณภาพดีอย่างพันธบัตรรัฐบาลที่แทบไม่มีความเสี่ยงว่ารัฐบาลจะไม่ชำระหนี้คืน ก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรอายุเท่าไหร่ก็ตามก็จะถูกขายออกมาในราคาถูก แม้แต่พันธบัตรที่อายุต่ำกว่า 3 เดือนซึ่งหากถือจนครบกำหนดก็จะได้เงินคืนครบจำนวน แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ กองทุนที่ประสบปัญหาก็จำเป็นต้องยอมขาย
ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะลุกลามไปทั้งระบบได้ แบงก์ชาติ ก.ล.ต. คลัง อุตสาหกรรมกองทุน และธนาคารพาณิชย์ จึงได้หารือกันที่จะหยุดความตื่นตระหนกที่ไร้เหตุผลอันควรนี้ ด้วยการตั้งกลไกเสริมสภาพคล่องให้
กลไกดังกล่าวคือเมื่อมีลูกค้ามาถอนกองทุนตราสารหนี้ในแต่ละวัน เช่น 100 ล้านบาท บลจ. สามารถขอให้แบงค์แม่เข้ามาซื้อกองทุนนั้นๆ 100 ล้านบาทเช่นกัน โดยที่ บลจ. ไม่ต้องเอาของในพอร์ตไปขายออกในตลาดแบบ Fire Sell เพื่อหาเงินสดมาคืนลูกค้า ... ทำให้ NAV ต่อหน่วยของกองทุนไม่กระทบมากอย่างที่ผ่านมา และถ้าแบงค์แม่ (ซึ่งมีเงินเยอะอยู่แล้ว) ยังสามารถเอาหน่วยลงทุนนี้ไปตึ๊งกับ ธปท ต่อเพื่อรับเงินสดมาคืนได้อีกด้วย ถ้าต้องการ
เรียกง่ายๆ ก็คือ ธปท. เสริมสภาพคล่องให้กองทุนตราสารหนี้ โดยให้แบงก์แม่เป็นตัวกลางนั่นเอง
แต่การที่ ธปท. จะรับตึ๊งหน่วยลงทุน เขาก็ต้องกำหนด 'คุณภาพของสิ่งที่กองทุนนั้นๆ ลงทุน' ให้อยู่ในระดับที่เขาสบายใจ ซึ่งเรื่องนี้สบายใจได้กับกองทุนของ บลจ.บัวหลวง กับกองทุนของเจ้าอื่นๆ ที่ลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม ... ซึ่งในกรณีของ บลจ.บัวหลวงนั้น เราระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงของตราสารหนี้มาโดยตลอด แม้จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้จะต่ำกว่าของที่อื่นไปบ้าง
เมื่อมีแบงก์แม่ที่เข้มแข็งคอยหนุน และมีแบงก์ชาติที่เข้าใจกลไกของตลาดเงินมาช่วยเสริม เราจึงไม่เห็นว่าใครควรจะขายกองทุนตราสารหนี้ออกไปด้วยความตื่นตกใจเลย
จะขายขาดทุนไปทำไม ?
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage