"... ครั้งหนึ่งเมื่อมีโรคระบาดบรรลือโลก ประเทศไทยรอดมาได้เพราะท่านนายกฯ สมัยนั้นใช้สไตล์ทหาร (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นทหาร) “เรื่องนี้เป็นเรื่องของหมอ ผมมอบปลัดกระทรวง กับหมอ… (หัวหน้าทีมโรคระบาดที่เพิ่งตั้งขึ้นมา) สั่งการได้ทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน ใครมีอะไรติดต่อกับหมอ 2 ท่านนี้” แพทย์สบายใจ ทำงานเต็มที่ในวิชาชีพ ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือจนงานผ่านพ้นด้วยดี ประเทศไทยรอดปลอดภัย แน่นอนเครดิตทั้งหมดเป็นของรัฐบาล ขอเพียงใช้คนให้ถูกกับงานและมอบอำนาจให้ทำงานได้เต็มกำลัง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง..."
ในการประชุมครั้งหนึ่ง ทุกคนออกความเห็นกันแล้ว ดิฉันในฐานะคนนั่งหัวโต๊ะ ก็เคาะเลือก
ตอนนั้นมีคนต่อว่า “ตอบแล้วไม่เห็นเชื่อ ทีนี้เลิกพูดละ”
ดิฉันอ้างประธานาธิบดีคนหนึ่ง ว่า “การตัดสินใจเป็นของดิฉันเอง เพราะดิฉันเป็นผู้บริหารสูงสุด การรับฟังแปลว่ารับฟังแล้วใคร่ครวญ ดิฉันไม่ใช่เสมียนนับเลขจะได้คอยแต่นับว่าเสียงข้างมากตกลงว่ายังไง แบบนั้นไม่ต้องใช้ผู้บริหารเงินเดือนสูง ให้เสมียนทำก็ได้”
ท่านนายกคะ ท่านเลิกนับเลขได้แล้วค่ะ
ดิฉันโพสต์ภาพนี้ขึ้น facebook เพจ Knowledge Plus by นวพร ไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 นี่เอง
เพราะรู้มาว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีโรคระบาดบรรลือโลก
ประเทศไทยรอดมาได้เพราะท่านนายกฯ สมัยนั้นใช้สไตล์ทหาร (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นทหาร)
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของหมอ ผมมอบปลัดกระทรวง กับหมอ… (หัวหน้าทีมโรคระบาดที่เพิ่งตั้งขึ้นมา) สั่งการได้ทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน ใครมีอะไรติดต่อกับหมอ 2 ท่านนี้”
แพทย์สบายใจ ทำงานเต็มที่ในวิชาชีพ ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือจนงานผ่านพ้นด้วยดี ประเทศไทยรอดปลอดภัย
แน่นอนเครดิตทั้งหมดเป็นของรัฐบาล ขอเพียงใช้คนให้ถูกกับงานและมอบอำนาจให้ทำงานได้เต็มกำลัง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ครั้งนี้เป็นไงก็รู้กันอยู่ เช่น (1) กรมการค้าภายในกับหน้ากากวิเศษ (คือหายได้) (2) การกักตัวไม่ได้ผล คนออกไปเพ่นพ่านเย้ยว่าไม่กักตัวเองไม่เห็นมีใครว่า ติดใครอีกบ้างก็ช่าง (3) นักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเดินกันว่อนเมืองไทย ท่าอากาศยานที่ปกติก็ใช้เจ้าหน้าที่มากกว่าที่ไหนๆ อยู่แล้ว (เช่น 1 สายพานตรวจของ มีพนักงานอยู่ 5 – 6 คน) ตอนนี้ยิ่งมากขึ้นไปอีก (4) อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่หน้างาน มีไม่พอ (5) นโยบายด้านการเดินทาง และการชุมนุมจัดงานคนมากๆ ออกมานานแล้ว แต่คนก็ยังจัดงานกันอยู่ ทั้งงานแต่ง งานประชุม งานอีเว้นต์ต่างๆ (6) เทศกาลสงกรานต์ยังไม่ฟันธงสักทีว่าจะไม่มี ได้ยินว่ายังฟังรอบด้านอยู่
และทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ยินว่า การตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามาดูในส่วนที่ผิดปกติหรือไม่
ท่านนายกฯ คะ ท่านเป็นทหาร ท่านย่อมรู้ว่าการต่อสู้กับศัตรูที่ล่วงล้ำดินแดน ท่านสั่งการแม่ทัพนายกองของท่านอย่างไร ดิฉันเชื่อว่าจะออกรบทั้งที ท่านไม่ถามนักธุรกิจและผู้ประกอบการหรอกค่ะว่าแผนการรบของท่านแบบนี้ ดีไหม ใครเห็นด้วย ใครจะเสียหายบ้าง จะเยียวยายังไง รบให้ชนะก่อนเถอะค่ะ ที่เหลือคิดทีหลังหรือปล่อยให้ฝ่ายพลเรือนเขาคิดไปพลางๆ
ตอนนี้ท่านเป็นยิ่งกว่าแม่ทัพ เพราะท่านคือผู้บริหารสูงสุด แต่ว่า “ตอนนี้เชื่อไหมแม้ใจที่แกร่งเกิน ยังถูกน้ำเงินกระหน่ำเสียยับเยิน” ท่านไม่มอบอำนาจให้กองกำลังรบชุดขาวให้ได้รบเต็มที่ เพราะท่านมัวแต่ไปถามพวก ป. เอก บริหารธุรกิจ ป. โท การเงินและบริหารธุรกิจ ฯลฯ (ถ้าจะถามเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่านควรจะถามนักเศรษฐศาสตร์ค่ะ) เขาเหล่านั้นพูดได้แต่เรื่องธุรกิจไหน ใครได้ ใครเสีย เสียเท่าไหร่ และเสนอจะช่วยใครยังไง เขาคิดไม่ครบค่ะ อย่างน้อยที่สุดที่เห็นชัดที่สุดคือ เขาลืมคิดต้นทุนต่อสังคมและงบประมาณของการมีคนป่วย การกักกัน และการรักษา และผลผลิตของประเทศที่หายไปจากการที่มีคนป่วย และคนระวังไม่ให้ตัวเองป่วย ฯลฯ ปกติคนที่มองทีละธุรกิจคิดไม่ออกค่ะ
ในขณะที่กำลังอยู่หน้าสิ่วหน้าขวาน ท่านพะวงทำไมกับกำไรขาดทุนของกิจการบางกิจการ ท่านลืมความเป็น ทหารของท่านไปเสียแล้วหรือคะ ในยามศึกสงคราม ใครได้ใครเสียไม่สำคัญเท่ากับกำลังรบของท่านสมบูรณ์ พร้อมยันข้าศึก การส่งกำลังบำรุงเต็มที่ ถามจริงๆ เศรษฐกิจหรือธุรกิจจะเหลืออะไร ประเทศจะเหลืออะไร ถ้าศัตรูเงียบที่ชื่อ โควิด ทำนักรบบาดเจ็บล้มตาย และราษฎรของท่านง่อยเปลี้ยเพลียแรงกันหมด
อ้อ ท่านอาจจะถูกกล่อมด้วยคำว่า “จีดีพี จะลด” ในฐานะที่เรียนเศรษฐศาสตร์มา ขอเรียนว่าท่านไม่ต้องสนใจเลยค่ะ ราษฎรคือทรัพยากรสำคัญของการผลิต แรงงานไม่แข็งแรง เศรษฐกิจก็ไม่รอด และขอเรียนเพิ่มเติมด้วยว่า การวัดด้วยจีดีพี เองก็ไม่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงด้วยค่ะ นักเศรษฐศาสตร์รู้ดีว่า ยังไม่มีวิธีวัดที่ยอมรับกันได้แต่เรื่องนี้ แต่พูดไปก็รกสมองท่านเปล่าๆ เอาเป็นว่าเวลานี้ท่านนายกฯ ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น ท่านเผชิญศึกหลายด้าน ท่านจำเป็นต้องจัดแม่ทัพให้เหมาะกับแต่ละด้าน ไม่เช่นนั้นก็แพ้ทุกด้าน
อ้อ แม่ทัพนายกองที่ออกรบทีไร ก็แพ้ทีนั้น ท่านปลดประจำการไปเลยค่ะ
ถ้าทำได้ เสนอให้ท่านหยุดนิ่งๆ สัก 1 – 2 ชั่วโมง เปิดโทรทัศน์ดูซีรีส์ หลางหยาป่าง ภาคแรก ตอนสุดท้ายตอนเดียว เพราะท่านไม่มีเวลาดูทั้งเรื่องแน่ๆ ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ผู้บริหารสูงสุด (ในกรณีโบราณคือฮ่องเต้) เจอศึกสามด้านพร้อมกัน เขาจัดคนรับศึกอย่างไร สรุปได้ว่า การวางตัวแม่ทัพรับศึกที่สำคัญที่สุดคือ จัดแม่ทัพให้ตรงกับความสามารถและความถนัดของแม่ทัพคนนั้นๆ ผิดจากนี้แล้ว ท่านเองต้องนำทัพเอง ถ้าท่านไปออกศึกเสียแล้ว ใครจะดูแลประเทศล่ะคะ ท่านจัดอื่นๆ ให้เรียบร้อยแล้วรอฟังผลจากแม่ทัพของท่านดีไหมคะ
(อ้างถึงภาพเปิดของเรื่องนี้ กษัตริย์และข้าราชบริพารระดับสูงในปอร์ตุเกส ที่สปอนเซอร์ให้คริสโตเฟอร์โคลัมบัสเดินทางไกล ไปในดินแดนที่ไม่เคยรู้จัก กำลังต้องร้บโคลัมบัสกลับมา พร้อมข้าวของทองคำมากมาย)
ข้อเสนอนโยบาย
ในวิกฤติ คนเราเลือกได้ว่า จะทำให้ยิ่งวิกฤติ หรือมองวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศ
1. ไม่พึงทำนโยบายหล่มทรายดูด
ในยามปัจจุบัน เหมือนทหารมีกำลังพลน้อยนิด ศัตรูมีกำลังมหาศาล แต่อยู่ไหนก็ไม่ชัด เสธ.ต้องคิดว่าจะสู้ จะถอย หรือจะกบดาน รอเวลา ถ้าขาดสติผลีผลามออกไปสู้ อาจตายได้หมดหน่วย เหมือนเรามีเงินจำกัด แต่รีบร้อนจะทำนโยบายแจกเงิน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนที่กำลังลูกผีลูกคนว่าโควิดจะระบาดถึงไหน หมอและโรงพยาบาลรับมือไหวไหม สิ่งที่ทำอาจเป็นนโยบายลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้เงินยิ่งหมด ยิ่งแก้โรคยิ่งระบาด เขาว่ากันว่า ถ้าตกลงไปในหล่มทรายดูดยิ่งดิ้นยิ่งถูกดูด ทางที่ดีคืออยู่นิ่งๆ แล้วหาทางคืบคลานออกจากหล่ม
การแจกเงิน การชวนคนเที่ยว การจัดอีเว้นท์ สารพัดสิ่งที่คิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดตอนนี้ก็ได้ แต่อย่าเพิ่งทำเลยค่ะ คิดให้รอบคอบ คิดให้ได้ผลดีให้มากๆ แล้วลงมือเมื่อคลื่นลมสงบ ทำตอนนี้เสียแรงเปล่า ถนอมกำลังไว้ดีกว่า
2. ใช้นโยบายหมีจำศีล กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ
มีคนช่วยคิดได้มาให้บางส่วน ดังนี้
จำศีลกันไม่นานค่ะ สั้นๆ แค่ 4 เดือน เหมือนหมีที่นิ่งมากถึงมากที่สุดในช่วงฤดูหนาวอันเย็นเฉียบ เพื่อถนอมกำลัง หรือเหมือนเครื่องแอร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ในโหมด Sleep
3. คืนเงินให้ประชาชน
ในเวลานี้ โชคช่วยให้รัฐบาลสามารถทำนโยบายช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนได้มากขึ้นโดยไม่ต้องควักงบประมาณ ท่านสามารถลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันลงได้ทันที เพราะราคาน้ำมันกำลังทรุดฮวบ เมื่อราคา ไฟฟ้าและน้ำมันถูกลง ต้นทุนการผลิตและการบริโภคจะลดลงทันที
4. มองหาโอกาสในวิกฤต ซึ่งภาคเอกชนเองก็มองอยู่ ยิ่งถ้ารัฐบาลหนุนช่วย เราอาจจะรุ่งเรืองในวิกฤตก็ได้นะคะ เรามักจะโชคดีบนความโชคร้ายของผู้อื่น เพราะประเทศเราผลิตสินค้าหลายอย่างหลากๆ กว่าหลายๆ ประเทศ
ก. โอกาสของนักวางแผนในการนั่งคิด วิเคราะห์ และเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อพุ่งทะยานไปข้างหน้าเมื่อโอกาสเปิดให้ โควิดระบาดในครั้งนี้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปสู่ออนไลน์มากขึ้น และอาจเปลี่ยนอีกหลายพฤติกรรม รวมทั้งอาจมีคนเห็นคุณค่าของการอยู่บ้าน อยู่ใกล้ชิดกันเป็นครอบครัว เป็นเพื่อนบ้าน มากกว่าแต่ก่อน และเรียนรู้ว่าสังคมเมืองแบบที่เราเป็น เปราะบางเพียงใดต่อโรคระบาด แต่ละธุรกิจต้องมองตรงนี้ให้ออกแล้วหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อก้าวต่อไปในอนาคต ตัวอย่างก็มีให้เห็นว่า ในวิกฤตของประเทศจีน มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
ข. โอกาสในการเซ็งลี้อย่างสุจริต เพราะตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีช่องว่างเปิดอย่างมหาศาล เช่น มีการคาดคะเนว่า ประเทศจีนหยุดการผลิตไปหลายเดือนในบางภาคของประเทศ สินค้าเกษตรเป็นอย่างหนึ่งที่ถ้าพลาดฤดูกาลแล้ว คงต้องรอ นี่เป็นโอกาสของเรา ยังมีสินค้าอะไรอีก ที่ประเทศที่ประสบปัญหามากกว่าเราเขาจำเป็นต้องใช้ และเขาผลิตไม่ได้หรือผลิตไม่ทัน
นวพร เรืองสกุล 16 มีนาคม 2563
หมายเหตุ : บทความ /ภาพประกอบ จาก https://thaidialogue.wordpress.com/2020/03/16/leader-must-lead/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage