"...เขามักกล่าวกับแหล่งข่าวว่า งานของเขาคือ การสร้างเรื่องปลอมโดยใช้อารมณ์ขันและใช้คำพูดที่เกินกว่าความจริงเพื่อเหน็บแนมและเสียดสีผู้คน แต่สิ่งที่เขากระทำดูเหมือนจะไม่ต่างจากการปั่นหัวพวกอนุรักษ์นิยมให้เชื่อและแชร์ข่าวปลอมเหล่านี้ออกไปและแอบสะใจอย่างเงียบๆที่หลอกให้ผู้อื่นแสดงความโง่ออกมาได้ แม้กระนั้นผู้อ่านเหล่านี้ก็มักจะกลับมาให้เขาปั่นหัวเล่นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเขาก็ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนเหล่านั้นอย่างฉับไวเช่นกัน..."
หากจะมีใครพูดถึงนักสร้างข่าวปลอมที่มีทักษะที่สุดในโลกสักคน ชื่อของ คริสโตเฟอร์ แบลร์ (Christopher Blair) หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี ชาวอเมริกันมักจะอยู่ในแถวหน้าเสมอเพราะเขาได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าพ่อเฟกนิวส์” ที่มีชื่อเสียงในการสร้างข่าวปลอม ที่แนบเนียนถูกอกถูกใจผู้คนบนโลกออนไลน์มากที่สุดคนหนึ่ง
แบลร์และครอบครัว อาศัยอยู่ที่บ้านใกล้ทะเลสาบในป่าแห่งหนึ่งของรัฐเมน(Maine) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา หลังจากเลิกอาชีพการเป็นคนงานก่อสร้าง เขาผันตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่าเรื่องโกหกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ และชื่นชมกับยอดไลค์และยอดแชร์ที่มาจากทั่วสารทิศอย่างภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองที่สามารถหลอกคนทั้งโลกได้แถมยังได้รับการชื่นชมและมีการนำข่าวของเขาไปเผยแพร่ต่ออีก
ก่อนยึดอาชีพนักสร้างข่าวปลอมเขาใช้ชีวิตตลอด 20 ปี เป็นคนงานก่อสร้างที่แลกหยาดเหงื่อและแรงกายเพื่อหาเลี้ยงชีพ ในช่วงเกิดปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เขาจึงต้องหางานอื่นเพื่อยังชีพ เขาเลือกที่จะเป็นนักเขียนบนโลกออนไลน์โดยการเป็นบล็อกเกอร์อิสระด้านการเมือง เมื่อเริ่มงานบล็อกเกอร์เขาได้ค้นพบว่าตัวเองชอบการเขียนและมีทักษะที่สามารถทำให้ตัวหนังสือมีชีวิตชีวาได้ แต่การเป็นบล็อกเกอร์อิสระเป็นงานที่ไม่สร้างรายได้ เขาจึงเบนเข็มมาเขียนข่าวปลอมโดยพาดหัวข่าวให้ตื่นเต้นและดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าภรรยาของเขาจะไม่เห็นด้วยเพราะสิ่งที่เขาทำเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกความพยายามในการสร้างข่าวปลอมเพื่อให้โดนใจคนอ่านและเขาก็ทำสำเร็จ ด้วยแนวคิด ยิ่งสุดขั้วมากยิ่งมีคนเชื่อมาก
ผลการตอบรับจากสังคมออนไลน์จากการกดไลค์และแชร์เรื่องของเขานับร้อยนับพันครั้งทำให้เขารู้สึกหัวใจพองโตที่งานของเขาได้รับการยอมรับจากผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ มากกว่าเรื่องจริงหรือความเห็นที่เขาเคยเขียนเสียอีก เขาจึงรู้สึกมีความสุขเสมอเมื่อได้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และใช้คีย์บอร์ดทำงานในบ้าน แทนการใช้ร่างกายที่ต้องตรากตรำกับงานก่อสร้างเหมือนในอดีต งานสร้างข่าวปลอมจึงกลายเป็นงานประจำของเขาตั้งแต่นั้นมา
สถานที่ทำงานของเขาคือบ้านเช่าขนาด 3 ห้องนอน โดยมีอุปกรณ์ในการสร้างข่าวปลอมประกอบด้วย คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ 3 เครื่อง โน้ตบุ๊ก เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์จำนวน 8 แห่ง และบัญชี Facebook อีก 5 บัญชีซึ่งใช้ทั้งชื่อปลอมและนามแฝง
กลยุทธ์ในการสร้างข่าวปลอมของเขามีขั้นตอนง่ายๆอยู่แค่สามขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ เลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาอ่านข่าว ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมคือเป้าหมายหลักของเขา ขั้นตอนต่อไปคือเลือกหัวข้อที่ต้องโดนใจกลุ่มเป้าหมาย โดยเขาอาจเลือกตัวบุคคลระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเป้าหมาย เช่น บิล คลินตัน ฮิลลารี คลินตัน หรือ คนในครอบครัว บารัค โอบามา เป็นต้น หากไม่ใช่ตัวบุคคล เขาอาจใช้หัวข้อเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจอื่นๆ เช่น การควบคุมอาวุธปืน การปฏิบัติเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความเท่าเทียมของเพศหญิง เหตุการณ์ความขัดแย้ง อาชญากรรม กฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ รวมทั้งเรื่องอื่นใดก็ตามที่สามารถจะปั่นยอดไลค์ให้กับเขาได้
เมื่อได้หัวข้อที่คิดว่าโดนใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว เขาก็จะเริ่มเขียนรายละเอียดของข่าว สิ่งที่พรั่งพรูจากสมองของแบลร์สู่คีย์บอร์ดจนกลายเป็นตัวอักษรนั้นเป็นเรื่องโกหกที่เขาคิดขึ้นมาเองล้วนๆโดยไม่ต้องพึ่งที่มา แหล่งอ้างอิง การค้นคว้า หรือหมายเหตุใดๆทั้งสิ้น เขาเคยให้สัมภาษณ์กับแหล่งข่าวว่า ข่าวปลอมที่สนุกสนานคือเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของแบลร์ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 30 มาตรา ขณะที่รัฐธรรมนูญจริงของสหรัฐอเมริกามีการแก้ไขเพียง 27 มาตราเท่านั้น
แบลร์มักจะแสดงตัวตนบนเว็บไซต์ของตัวเองที่ชื่อว่า TheLastLineOfDefense.org ซึ่งเป็นแหล่งรวมข่าวปลอมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยการใช้ชื่อปลอมและนามแฝงอื่นทั้งหญิงและชาย เช่น Ezekiel Wilekenmeyer Christopher Lyman Stryker Busta Troll และ Flag Eagleton เป็นต้น เขาสร้างบัญชีบน Facebook ในชื่อ America’s Last Line of Defense ซึ่งเป็นเพจที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างเรื่องปลอมที่มีเป้าหมายในการสร้างความพึงพอใจหรือกระตุกอารมณ์แก่ผู้ที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันและผู้สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ซึ่งแน่นอนว่าพาดหัวข่าวของเขาจะต้องได้รับการสนองตอบจากกลุ่มเป้าหมายและแชร์เรื่องปลอมเหล่านี้ออกไปอย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตามข้อความหนึ่งที่เขาประกาศไว้บนเว็บไซต์และเพจ Facebook ของเขาเสมอคือ “ ไม่มีสิ่งใดบนหน้านี้เป็นเรื่องจริง”
เขามักกล่าวกับแหล่งข่าวว่า งานของเขาคือ การสร้างเรื่องปลอมโดยใช้อารมณ์ขันและใช้คำพูดที่เกินกว่าความจริงเพื่อเหน็บแนมและเสียดสีผู้คน แต่สิ่งที่เขากระทำดูเหมือนจะไม่ต่างจากการปั่นหัวพวกอนุรักษ์นิยมให้เชื่อและแชร์ข่าวปลอมเหล่านี้ออกไปและแอบสะใจอย่างเงียบๆที่หลอกให้ผู้อื่นแสดงความโง่ออกมาได้ แม้กระนั้นผู้อ่านเหล่านี้ก็มักจะกลับมาให้เขาปั่นหัวเล่นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเขาก็ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนเหล่านั้นอย่างฉับไวเช่นกัน
นอกจากการหลอกล่อผู้คนด้วยข่าวปลอมแล้วพันธกิจหนึ่งที่เขากับพลพรรคต้องทำอยู่เสมอในฐานะพวกเสรีนิยมคือการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายตรงข้ามผ่านโลกออนไลน์ โดยการแทรกซึมเข้าไปยังเพจของพวกอนุรักษ์นิยมบน Facebook และค่อยๆยึดครองเพจเหล่านั้นจากเจ้าของเดิม ซึ่งเขาและพรรคพวกได้ควบคุมเพจของพวกอนุรักษ์นิยมไปแล้วทั้งสิ้น 26 เพจด้วยกัน
การใช้โลกออนไลน์ในการสร้างเรื่องเท็จทำให้เขามีรายได้เข้ากระเป๋าพอสมควร ในบางเดือนเขามีรายได้จากการโฆษณามากถึง 15,000 เหรียญเลยทีเดียว เขาจึงกลายเป็นคนสำคัญบนโลกออนไลน์ที่คนจำนวนไม่น้อยจงรักภักดีและติดตามผลงานเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
การที่ข่าวปลอมของแบลร์เน้นเรื่องการเมืองโดยพุ่งเป้าไปที่กองเชียร์ฝั่งรีพับลิกัน ทำให้กองเชียร์เหล่านี้พร้อมที่จะกระจายข่าวออกไปในทันทีที่ได้รับข่าวฉาวจากฝ่ายตรงข้าม เช่น เมื่อแบลร์เสนอข่าวด่วนว่า “เรือของมูลนิธิคลินตัน ถูกจับที่ท่าเรือบัลติมอร์ เพราะมีการขนยาเสพติด ปืน และโสเภณีทาส” หรือ “ห้องลับใต้ดินของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน คือห้องสังหาร” หรือ “ บารัค โอบามา ถูกจับเพราะดักฟังโทรศัพท์ของ โดนัล ทรัมป์” ฯลฯ ข่าวปลอมเหล่านี้ก็จะถูกเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลอย่างรวดเร็วด้วยความสะใจที่เห็นฝ่ายตรงข้ามกำลังเพลี่ยงพล้ำ
บรรยากาศทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนถือหางสองพรรคใหญ่อย่างเข้มแข็ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้นักเขียนข่าวปลอมประสบความสำเร็จและอาจเป็นปัจจัยชี้นำทางการเมืองได้ไม่มากก็น้อย พาดหัวข่าวปลอมของแบลร์จึงเป็นลักษณะการสร้างอารมณ์และมีลักษณะเชิงแข็งกร้าวเพื่อดึงดูดใจผู้คนจากพรรคการเมืองให้สนใจในข่าวของเขาและวิธีของเขาก็ได้ผล เพราะคนอ่านจำนวนไม่น้อยคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่สนใจว่าข่าวนั้นจะเป็นจริงหรือเท็จ เพราะทันทีที่เห็นข่าวในเชิงกระตุ้นอารมณ์พวกเขาก็จะระบายความอัดอั้นด้วยการเผยแพร่ข่าวออกไปในทันที เพราะคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่บน ความเกลียดชัง ความกลัวและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมนั่นเอง
จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์ มิเชล อมาซีน(Michelle Amazeen) อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน พบว่า ผู้อ่านข่าวปลอมถูกกระตุ้นด้วยปฏิกิริยาทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ผลจากความจริงเทียม (Illusory truth effect) จากการได้รับข่าวปลอมที่ซ้ำๆกัน จนทำให้คิดว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งปฏิกิริยานี้เหมือนกับผลลัพธ์ที่เกิดจากวิธีสร้างข่าวปลอมของแบลร์นั่นเอง
แม้ว่าการสร้างข่าวปลอมจะเป็นงานประจำที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับแบลร์ แต่งานของเขาเริ่มพบกับอุปสรรคเมื่อ Facebook เผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการเป็นแหล่งรวมของข่าวปลอมจำนวนมาก
ในเดือน เมษายน 2018 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook ถูกเชิญตัวไปเพื่อให้ปากคำต่อสภา คองเกรสต่อปัญหา เรื่อง ข้อความแสดงความเกลียดชัง การละเมิด และข่าวปลอม บน Facebook ซึ่งเขาเป็นผู้กุมบังเหียนอยู่ ในที่สุด Facebook ต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงอัลกอริทึมเพื่อป้องกันผู้ใช้จาก สแปม การพาดหัวลวง ข่าวปลอม และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งได้มีการลบเพจบางแห่งออกไป ทำให้กิจกรรมต่างๆบน Facebook เริ่มไม่เหมือนเดิมและแน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการสร้างข่าวปลอมและรายได้ของแบลร์ด้วยเช่นกัน แต่การสูญเสียรายได้จาก Facebook ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นในการสร้างข่าวปลอมของแบลร์ลดลง เขายังคงทำงานที่เขาชอบอย่างสม่ำเสมอแม้ว่ารายได้จะหดหายไปก็ตาม
ความแนบเนียนของรูปแบบและเนื้อหาในข่าวปลอมของแบลร์มักเป็นที่ต้องใจของนักสร้างข่าวปลอมในต่างแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ แถบ อัลบาเนียและมาซิโดเนียซึ่งเป็นแหล่งปล่อยข่าวปลอมแหล่งใหญ่ ดังนั้นงานของเขาจึงถูกลอกเลียนแบบและนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งสร้างรายได้แก่กลุ่มนักลอกข่าวปลอมเหล่านี้อย่างเป็นกอบเป็นกำโดยไม่ได้ให้เครดิตกับแหล่งข่าวเลย พฤติกรรมการลอกข่าวปลอมของเด็กเลี้ยงแกะต่างแดนเหล่านี้จึงสร้างความขุ่นเคืองใจแก่เขาอยู่ไม่น้อย สิ่งที่เขาพอจะทำได้คือการขอร้องไปยัง Facebook เพื่อให้ปิดเพจจำนวน 22 แห่งบน Facebook ที่ขโมยความคิดของเขาซึ่งบางเพจในจำนวนนั้นคือนักสร้างข่าวปลอมจากมาซิโดเนียนั่นเอง
แม้ว่าข่าวปลอมของเขาจะเน้นเรื่องอารมณ์ขันทางการเมือง แต่บางครั้งเขากลับใช้สถานการณ์ที่อ่อนไหวในการสร้างเรื่องเท็จจนทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นซึ่งไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆต่อข่าวปลอมที่เขาได้สร้างขึ้น เป็นต้นว่า เมื่อครั้งที่พายุเออริเคน ฮาร์วีย์ โหมกระหน่ำรัฐเท็กซัสและสร้างความเสียหายแก่เมืองฮิวสตันและพื้นที่รอบๆเมื่อเดือน สิงหาคม 2017 เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน เขาฉกฉวยโอกาสที่จะสร้างข่าวปลอมจากภัยพิบัติพายุเฮอริเคน ด้วยการสร้างเรื่องเท็จว่า “ อิหม่ามในมัสยิดของรัฐเท็กซัส ปฏิเสธที่จะให้ที่พักพิงแก่บุคคลที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในช่วงเกิดพายุ ” พร้อมโพสรูปอิหม่ามคนหนึ่งซึ่งทราบในภายหลังว่ามีตัวตนจริงและเป็นผู้นำของมัสยิดแห่งหนึ่งในแคนาดาประกอบในข่าวปลอมนั้นด้วย ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่อิหม่ามผู้ตกเป็นข่าวเพราะอิหม่ามผู้นั้นไม่เคยไปรัฐ เท็กซัส และเห็นว่าการกระทำของแบลร์คือการเหยียดผิวและดูถูกดูแคลนชาวต่างชาติ ทันทีที่แบลร์ทราบความจริงเขาได้ลบสิ่งที่โพสต์ ในทันทีและได้ขอโทษต่อการกระทำอันไม่สมควรของเขาไปยังอิหม่ามผู้นั้นหลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนของความผิดพลาดอย่างมหันต์จากความลำพองของตัวเองในฝีมือการเขียนข่าวปลอมโดยการก้าวล่วงไปถึงเรื่องศาสนาและเชื้อชาติซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คน นอกจากนี้บนเว็บไซต์บางแห่งของเขา เคยกุข่าวเรื่องชายหนีทหาร โดยใช้ชื่อและรูปของบุคคลที่มีตัวตนจริงซึ่งสร้างความเสียหายต่อบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับข่าวที่เขาสร้างขึ้นแม้แต่น้อย
ข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ จากฝีมือของ คริสโตเฟอร์ แบลร์ ที่สร้างขึ้นเพื่ออารมณ์ขันและการล้อเลียนทางการเมืองจนทำให้เขาเป็นที่รู้จักและมีผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาจำนวนมากนั้น ผู้อ่านส่วนหนึ่งทราบดีว่าเรื่องราวที่เขาเขียนขึ้นเป็นข่าวปลอม อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกนับล้านที่เชื่อว่าสิ่งที่เขานำเสนอคือความจริง และเผยแพร่ข่าวเหล่านี้ออกไปซึ่งอาจสร้างความบาดหมางจนนำไปสู่สถานการณ์ขัดแย้งระหว่าง บุคคล กลุ่มคนและเชื้อชาติได้เช่นกัน
ข่าวปลอมมิได้ส่งผลกระทบต่อต่อชื่อเสียงของผู้ที่ถูกนำมาเสียดสี ล้อเลียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมจากความเข้าใจผิดจนนำไปสู่โศกนาฏกรรม ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมาแล้ว ดังนั้นผู้บริโภคข่าวบนสื่อออนไลน์ทุกประเภทจึงต้องมีสติและแยกแยะความจริงออกจากความเท็จโดยไม่คล้อยตามกระแสจนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่มีอยู่ดาษดื่นบนสื่อออนไลน์
ในโลกนี้มีคนเขียนข่าวปลอมอยู่มากมาย แต่ผลงานการเขียนข่าวปลอมที่แนบเนียนและมีฝีมือชนิดหาตัวจับยากของ คริสโตเฟอร์ แบลร์ ทำให้งานและชื่อเสียงของเขามีความโดดเด่นกว่าใคร ถึงแม้เขาจะเป็นนักปั้นเรื่องโกหกตัวยงที่เขียนข่าวลวงโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน จนได้รับฉายาว่า “ เจ้าพ่อเฟคนิวส์” แต่เขายืนยันว่าสิ่งที่เขาเล่าให้แหล่งข่าวฟังเป็นเรื่องจริงและทุกวันนี้เขายังนอนหลับสบายดี
อ้างอิงจาก
1. https://www.bbc.co.uk/news/resources/idt-sh/the_godfather_of_fake_news
3. https://www.politifact.com/article/2017/may/31/If-youre-fooled-by-fake-news-this-man-probably-wro/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bbc.co.uk/news/resources/idt-sh/the_godfather_of_fake_news