"...สำคัญที่สุดคือ การกล้าหาญที่จะแสดงความรับผิดชอบ หากไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแสดงออกของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เค้าจะไม่หวงตำแหน่งหวงอำนาจ แต่ยินดีที่จะสละให้ผู้อื่นที่เหมาะสม เพราะเค้าเห็นความสำคัญของชีวิตคนมากกว่าชื่อเสียงเงินทองยศถาบรรดาศักดิ์..."
ผ่านมาอีก 1 วัน มีงานวิจัยเรื่อง COVID-19 ตีพิมพ์ออกมาอีก 50 เรื่องในฐานข้อมูล PubMed มาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง?
1. อัตราการตายจากการเป็นโรค COVID-19 ในจีนเทียบกับที่อื่นๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงต้นเดือนมีนาคม 2020
คาดประมาณว่า อัตราตายโดยเฉลี่ยจากการเป็นโรคนี้จะอยู่ระหว่าง 0.25-3% ซึ่งด้วยอัตรานี้ก็ถือว่ารุนแรงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ระบาดกันตามฤดูกาลถึงอย่างน้อย 2 เท่า โดยปกติอัตราตายของโรคไข้หวัดใหญ่จะประมาณ 0.1%
ยิ่งหากระบบสาธารณสุขไม่พร้อม หรือมีการระบาดหนัก อัตราตายในพื้นที่นั้นๆ จะสูงกว่า 3% นั่นคือมากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 30 เท่า นี่จึงตอกย้ำว่า เราต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงศึกสงครามโรคระบาดครั้งนี้ และปฏิบัติตนให้เคร่งครัดในเรื่องการป้องกันตัวเองและครอบครัวให้ห่างจากโรค
2. แผนการจำกัดการระบาดของโรค COVID-19
แต่ละประเทศจำเป็นจะต้องแม่นในเรื่องข้อมูลวิชาการ เพื่อนำมาวางแผนจำกัดการระบาดของโรค ตอนนี้เท่าที่มีข้อมูลในมือ คาดว่า R0 ของโรคนี้น่าจะเฉลี่ยประมาณ 2.5 หรือแปลว่า คนติดเชื้อหนึ่งคนจะสามารถแพร่ไปสู่คนอื่นได้ประมาณ 3 คน
หากปล่อยให้เกิดการระบาดไปเรื่อยๆ จนอิ่มตัว จนคนติดเชื้อในสังคมไปถึง 60% ของประชากรทั้งหมด จึงอาจเกิดภูมิคุ้มกันในชุมชนที่เพียงพอที่จะกันไม่ให้เกิดการระบาดต่อไปได้อีก ภาษาวิชาการเราเรียกว่า Herd immunity
หลักการนี้ใช้ในการคาดประมาณจำนวนคนที่เราต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในกรณีที่โรคนั้นมีวัคซีนป้องกันแล้ว แต่น่าเสียดายที่โรค COVID-19 นี้เป็นโรคใหม่ที่เรายังไม่มีวัคซีนป้องกันได้
COVID-19 นี้มีลักษณะคล้ายโรค SARS ที่เคยระบาดมาหลายปีก่อน โดยคนที่ติดเชื้อนั้นมีช่วงเวลาเฉลี่ยก่อนที่ตนเองจะแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ประมาณ 4.4-7.5 วัน ซึ่งช่วงเวลานี้เราเรียกว่า Serial interval
Serial interval ยิ่งยาว ยิ่งทำให้คนทำงานด้านสาธารณสุขวางแผนป้องกันควบคุมโรคได้ลำบาก ทั้งนี้ COVID-19 นี้มีช่วงเวลานี้ยาวกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ยิ่งหากรวมระยะเวลาฟักตัวของโรค (incubation period) ที่คนติดเชื้อไวรัส COVID-19 รับเชื้อเข้าไปในร่างกาย กว่าจะมีอาการก็ใช้เวลาอีกราว 5-6 วัน รวมแล้วทั้งสิ้นเกือบ 2 อาทิตย์ จึงทำให้การป้องกันควบคุมโรคยากยิ่งขึ้น และเป็นที่มาของคำแนะนำให้กักตัว 14 วัน
ในขณะที่ระยะเวลาที่คนติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 จะสามารถแพร่เชื้อได้ (infectious period) นั้นยังไม่ชัดเจน โดยมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าน่าจะมากกว่า 10 วันขึ้นไป และมีงานวิจัยบางชิ้นที่เคยนำเสนอผลการศึกษาพบว่าสามารถตรวจพบเชื้อได้นานถึง 5 สัปดาห์ ซึ่งหากเป็นจริงก็ยิ่งทำให้ยากลำบากต่อการวางแผนจัดการป้องกันควบคุมโรค ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้ว และในประชาชนในสังคมที่ยังไม่ติดเชื้อ
จากการติดตามอัตราการติดเชื้อในจีน พบว่า จำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 4-5 วันในช่วงแรกของการระบาด ก่อนที่จะมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันควบคุมโรค ก็ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการ
ความหวังที่ฝากไว้กับสภาพอากาศฤดูร้อนที่จะช่วยฆ่าเชื้อ หรือชะลอการระบาดนั้น เราไม่มีข้อมูลวิชาการที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้ได้ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลนั้นมี R0 ประมาณ 1.1-1.5 แต่ COVID-19 นี้มีค่า R0 มากกว่าไข้หวัดใหญ่เกือบ 3 เท่า จึงยากที่ฝากความหวังไว้กับอุณหภูมิร้อนๆ ได้
มาตรการที่รัฐควรดำเนินการจึงต้องเน้นดังต่อไปนี้
1. มาตรการส่วนบุคคล: ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่ดี
...แยกกินแยกใช้ ไม่แชร์กัน หมั่นล้างมือบ่อยๆ คอยเลี่ยงที่แออัด...เหล่านี้จัดเป็นการป้องกันไม่ให้แต่ละคนติดเชื้อ (primary prevention)
...หากมีอาการที่น่าสงสัย ร่วมกับประวัติเสี่ยง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์...นี่จัดเป็นมาตรการที่มุ่งให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโดยเร็ว จะได้รีบรักษา ลดโอกาสเป็นรุนแรง ลดการเสียชีวิต และช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อไปผู้อื่น (secondary prevention)
2. มาตรการระดับสังคม:
...ปิดสถานที่เสี่ยง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว...
...รณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ชีวิตโดยอยู่ห่างๆ กัน (Social distancing)...
...ออกนโยบาย ปิดประเทศ หรือห้ามการเดินทางของคนต่างชาติเข้าสู่ประเทศ...เราเรียกว่ามาตรการแบบ Containment คือกันไม่ให้คนที่ติดเชื้อหรือคนที่มาจากแหล่งที่มีการติดเชื้อเข้ามาสู่ในประเทศ
...จัดระบบการกักกันผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ (quarantine) จนกว่าจะพ้นระยะเวลาฟักตัวของโรค...
...จัดระบบแยกผู้ที่ติดเชื้อให้ออกจากผู้อื่นในสังคม (isolation)...จะโดยรัฐจัดให้ หรือให้ประชาชนจัดการกันเองภายในครัวเรือน
แต่เหนืออื่นใด ไม่ว่าจะมีวิชาการที่ดีเพียงใด หรือจะมีมาตรการที่ครอบคลุมเพียงใด ก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคนในสังคม
แต่การจะทำให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนในสังคมได้นั้น ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ศรัทธา
ถามว่ารัฐจะทำอย่างไร ถึงจะเป็นแบบอย่าง ให้คนเชื่อใจและศรัทธาได้?
ตอบง่ายๆ คือ
1. ไม่ทำตัวแบบสองมาตรฐาน เช่น ระดับผู้นำไม่ต้องโดนกักตัวแม้จะมาจากพื้นที่เสี่ยง ได้รับอภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ขัดต่อหลักการ
2. ดำเนินการอย่างโปร่งใส เห็นขั้นตอนที่ชัดเจน ไม่น่ากังขา ไม่ปิดบังข้อมูล หรือนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนหรือไม่ทันต่อสถานการณ์
3. ทุกขั้นตอน ทุกหน่วยงาน ต้องสามารถตรวจสอบได้จากประชาชน ไม่ใช่พอถูกทักท้วงก็มาดุด่าว่ากล่าวหรือทำขึงขังผ่านสื่อ
4. ต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำตัวน่าสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จำเป็นต่อการจัดการโรคระบาด เช่น การผลิต การจำหน่าย การออกคำสั่งกักตุน การออกนโยบายนำเข้าส่งออก ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และอื่นๆ
5. จัดการดำเนินคดีต่อแหล่งหรือบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลลวงแก่สังคมอย่างเด็ดขาด ไม่ปล่อยให้เกิดการหลอกลวงค้าขายสินค้าบริการที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนจัดการบุคคลที่ปั่นข้อมูลให้เกิดความกลัวโรคระบาดในสังคม รวมถึงความเชื่องมงาย โดยปราศจากข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องและได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นมาตรฐานสากลแล้ว แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นวงในหรือวงนอกก็ตาม อาทิเช่น เรื่องกัญชายาเสพติด เป็นต้น
6. สำคัญที่สุดคือ การกล้าหาญที่จะแสดงความรับผิดชอบ หากไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระดับกอง ระดับกรม ระดับกระทรวง หรือระดับรัฐบาล ก็ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทำหงิมๆ หลบเลี่ยงกลบเกลื่อนไปตามเวลา การแสดงออกของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เค้าจะไม่หวงตำแหน่งหวงอำนาจ แต่ยินดีที่จะสละให้ผู้อื่นที่เหมาะสมมาเป็นคนนำทัพเพื่อจัดการปัญหาคุกคามแทนอย่างไม่ลังเล เพราะเค้าเห็นความสำคัญของชีวิตคนมากกว่าชื่อเสียงเงินทองยศถาบรรดาศักดิ์
หากรัฐทำได้ดัง 6 ข้อข้างบน ความเชื่อและความศรัทธาของประชาชนจะตามมาเองครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
1. Wilson N et al. Case-Fatality Risk Estimates for COVID-19 Calculated by Using a Lag Time for Fatality. Emerg Infect Dis. 2020 Mar 13;26(6). doi: 10.3201/eid2606.200320. [Epub ahead of print]
2. Anderson RM et al. How will country-based mitigation measures influence the course of the COVID-19 epidemic? The Lancet. March 2020.