"...ในเรื่องของการติดเชื้อไวรัสนี้ซ้ำนั้น ทางอิตาลียังไม่สามารถเน้นไปดูเรื่องนั้นได้ เพราะภาระดูแลคนที่ติดเชื้อนั้นมากมายนัก และเค้าพยายามอย่างมากที่จะรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้หายและกลับบ้านโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากตรวจว่าผลเป็นลบสองครั้งก็จะส่งกลับบ้าน..."
Dr.Howard Bauchner บรรณาธิการ JAMA เขาาสัมภาษณ์หมอที่อิตาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีและหน่วยบำบัดวิกฤติ Humanitas Research Hospital
ติดเชื้อไปแล้วในอิตาลีกว่า 13,882 คน ตายไป 803 คน
โดยบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปกว่า 1,116 คน
ในเขตลอมบาร์ดี้ มีโรงพยาบาลราว 55-60 แห่ง แต่มีเตียงสำหรับคนไข้วิกฤติรวมกันเพียง 720 เตียง ดูแล้วไม่น่าจะสามารถรองรับโรคระบาด COVID-19 ตอนนี้ได้เพียงพอ
ตอนนี้ปรับแผน และหาทางเสริมเตียง ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ได้ดูแลคนไข้วิกฤติไปแล้วมากกว่า 1,000 คน
โดยขณะนี้ดูแลคนไข้วิกฤติอยู่ราว 700-800 เตียง
จำนวนคนไข้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นี้มีจำนวนมาก หากไม่หนัก ก็จะไม่รับเข้ามาในโรงพยาบาล
ในเรื่องของอัตราการเสียชีวิตนั้น คนอายุน้อยๆ มักไม่ค่อยมีปัญหา เสียชีวิตราว 0.1% แต่คนอายุมากๆ เช่น อายุ 60-69 ปี 2.7%, 70-79 ปี 9.6% 80-89 ปี จะเสียชีวิต 16%, มากกว่า 90 ปี จะเสียชีวิต 19%
ปัญหาที่เขาเจอตอนนี้คือ คนไข้วิกฤติมีจำนวนมาก โดยมีทั้งที่ติดเชื้อ COVID-19 และคนไข้วิกฤติอื่นที่ไม่ได้ติดเชื้อ จึงท้าทายมากในการจัดการแยกให้ไม่ให้เกิดการติดเชื้อระหว่างกัน
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรนั้น เค้าเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจัดการเรื่องต่อไปนี้
หนึ่ง อุปกรณ์ป้องกันต้องพร้อม และได้มาตรฐาน
สอง การฝึกอบรมความรู้และทักษะให้แก่บุคลากร มีการทำ simulation ให้ฝึกก่อนจะทำงานจริง
สาม ห้ามทำงานเกิน 6 ชั่วโมง ระหว่างการทำงาน จะพยายามไม่กินอะไร ถ้าจะดื่มน้ำก็จิบๆ เอา ไม่มีการไปเข้าห้องน้ำ
เขาายอมรับว่ายากมากที่จะส่งบุคลากรกลับบ้าน เพราะภาระงานหนักมาก บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนล้วนทุ่มแรงกายแรงใจดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่
การตัดสินใจที่ลำบากมากอีกเรื่องคือ เตียงจำกัด อุปกรณ์การแพทย์จำกัด แต่จำนวนผู้ป่วยมาก หลายครั้งจึงต้องตัดสินใจว่าจะมอบเตียงให้แก่ผู้ป่วยคนใด จึงจะมีโอกาสรอดมากกว่ากัน
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ก็มีโอกาสที่จะมีอาการแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ทั้งในเรื่องความเป็นกรดด่างในเลือด ปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดน้อย ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดคั่งค้างมาก รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ มากกว่า
ในเรื่องของการติดเชื้อไวรัสนี้ซ้ำนั้น ทางอิตาลียังไม่สามารถเน้นไปดูเรื่องนั้นได้ เพราะภาระดูแลคนที่ติดเชื้อนั้นมากมายนัก และเขาพยายามอย่างมากที่จะรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้หายและกลับบ้านโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากตรวจว่าผลเป็นลบสองครั้งก็จะส่งกลับบ้าน
สิ่งที่เน้นย้ำ และอยากฝากบอกอเมริกา และคนอื่นๆ:
"...อย่าประมาท อย่าประเมินโรคนี้ต่ำเกินไป นี่ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ มันรุนแรงกว่าที่คุณคิดมาก อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จงเตรียมรับมือมันอย่างเต็มที่และจริงจัง ไม่งั้นไม่มีทางชนะได้..."
มาตรการการป้องกันการระบาดจำเป็นต้องรีบทำโดยไม่ลังเล
การปกป้องครอบครัวจากโรคระบาดนี้ทำอย่างไร?
หมอเขาเป็นคนในเขตพื้นที่ที่มีโรคระบาดรุนแรง พ่อแม่ของหมอเขาก็แก่แล้ว เขาก็มีครอบครัว มีลูก สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรค หากสงสัยก็จะต้องรีบไปตรวจ
ขอให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง อย่าไปมีพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ดำรงชีวิตอย่างมีสติ เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยเราก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนครับ
ขอพลังจงอยู่กับทุกคน และขอให้นักบริหาร นักการเมือง และข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ให้ถูกต้อง โปร่งใส ไม่ปิดบังครับ
เราต้องผ่านโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยดี
ด้วยรักต่อทุกคนครับ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : https://jamanetwork.com/journals/jama