"...เรื่องไวรัส SARS CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นี้ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเราควรติดตาม เพราะความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนั้นเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และจะช่วยให้เราสามารถคิดค้นวิธีในการควบคุมป้องกันการระบาด รวมถึงพัฒนายาและวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ได้..."
มีอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งชวนให้เล่าเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่า 2019 จริงๆ แล้วในวารสารทางการแพทย์มีหลายต่อหลายฉบับทำการเสนองานวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีชื่อว่า SARS CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19
ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่วิเคราะห์ถึงสายพันธุ์ของไวรัสนี้ที่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายละเอียดที่มีนั้นค่อนข้างลึกและอาจยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปที่มิได้อยู่ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพผมจึงลองสรุปมาเล่าให้ฟังแบบย่อๆ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากในช่วงไม่กี่วันก่อน
1. ไวรัสนี้มาจากไหน?
ล่าสุดมีงานวิจัยที่เป็นที่โจษจันเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัสนี้ ทำโดยทีมนักวิจัยชาวจีน ซึ่งวิเคราะห์สายพันธุกรรมของไวรัสจำนวน 103 ตัวอย่าง พบว่า เดิมที่เคยคิดว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้น่าจะเกิดการผสมข้ามสายพันธุ๋กับไวรัสอื่นที่อยู่ในสัตว์ประเภทตัวลิ่น (Pangolin) นั้น อาจไม่ใช่อย่างที่เคยมีการตั้งสมมติฐานไว้
เนื่องจากลักษณะของสายพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงนั้น หากมีการผสมข้ามสายพันธุ์จากไวรัสจากตัวลิ่มจริงโดยวิเคราะห์ต่อยอดจากสายพันธุกรรมของไวรัส SARS CoV แล้ว เจ้าไวรัส SARS CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นี้น่าจะเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 19.8-55.4 ปีก่อน
แล้วตกลงไวรัสนี้น่าจะเกิดมาจากไหน? เค้าคิดว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดจากการกลายพันธุ์ (mutation) ของตัวไวรัส SARS CoV ที่เกิดบ่อยและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนหนามของไวรัส (spike) ควบคู่ไปกับกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ จนทำให้มีความคล้ายกับไวรัสในตัวลิ่น
2. ไวรัส SARS CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นี้ ระบาดทั่วโลกแล้วมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน?
งานวิจัยเดิมของทีมงานจากจีนนี้ ทำการศึกษาแล้วพบว่า แม้ไวรัสนี้จะมีการแบ่งตัวแล้วกลายพันธุ์ไปบ้าง แต่เกิดไม่บ่อยนัก และยังไม่พบการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ของ SARS CoV-2อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ เค้าสามารถแยกได้ว่า ไวรัสนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไวรัสประเภท L และไวรัสประเภท S
ถามว่าทำไมแบ่งเช่นนี้?
เค้าแบ่งเช่นนี้เพราะทำการวิเคราะห์ไวรัสนี้แล้วพบว่า ในสายพันธุกรรมที่ตำแหน่ง 28,144 นั้น จะมีไวรัสส่วนใหญ่ราว 70% ที่มีกรดอมิโนชนิด Leucine ที่ตำแหน่งนี้ ในขณะที่ไวรัสอีก 30% จะมีกรดอมิโนชนิด Serine
ทั้งนี้พอไปสืบค้น เปรียบเทียบกับไวรัสในตระกูลเดียวกัน พบว่า ไวรัสในอดีตมีลักษณะสายพันธุกรรมที่มี Serine ในตำแหน่งดังกล่าว จึงทำให้คณะวิจัยเชื่อว่า ไวรัส SARS CoV-2 ประเภท S นี้น่าจะเป็นประเภทดั้งเดิมหรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นบรรพบุรุษ ก่อนที่จะมีการกลายพันธู์ไปเป็นประเภท L ในระยะเวลาต่อมา ในพื้นที่เมือง Wuhan ประเทศจีน พบว่าไวรัสประเภท L มีการแพร่ระบาดมากกว่าประเภท S อย่างมาก
ส่วนพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือไปจากเมือง Wuhan แม้จะยังมีการระบาดของประเภท L มากกว่าประเภท S แต่หากคิดเป็นสัดส่วนแล้วดูจะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าที่เห็นในเมือง Wuhan ดังนั้นคณะวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่า ดีไม่ดี ไวรัสประเภท L ที่ระบาดในสัดส่วนที่มากในเมือง Wuhan อาจมีความรุนแรงกว่าประเภท S
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าประเภทใดจะรุนแรงกว่ากัน
เรื่องไวรัส SARS CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นี้ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเราควรติดตาม เพราะความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนั้นเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และจะช่วยให้เราสามารถคิดค้นวิธีในการควบคุมป้องกันการระบาด รวมถึงพัฒนายาและวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ได้
อย่าลืมนะครับ คาถาที่เราควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในช่วงนี้
...กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ คอยหลีกเลี่ยงที่แออัด...
...หน้ากากนั้น คนที่ควรใช้คือ คนที่ไม่สบาย หรือต้องดูแลผู้ป่วย อันหมายรวมถึงญาติผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์...
...คนทั่วไป หากจะใช้หน้ากาก ควรดูหน้ากากที่มีคุณภาพ อย่าจับหน้ากากด้านนอกและแตะใบหน้า...
...ตอนนี้หากท่านพอจะมีทรัพยากร ผมอยากขอให้ช่วยกันจัดหาหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ และช่วยนำไปบริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้ตัวของท่านด้วยนะครับ หน้างานจริงเค้าขาดแคลนกันอย่างมากครับ...
ขอบคุณมากๆ ครับทุกคน
Be well...Be safe...
อ้างอิง
Tang X et al. On the origin and continuing evolution of SARS-CoV-2. National Science Review. 3 March 2020.
https://www.facebook.com/1607465964/posts/10219087331526667/?d=n