“...ประเด็นสำคัญคือ ประเทศฟิลิปปินส์ เห็นว่า ‘คดีรามเกียรติ์’ และ ‘คดีขุนช้างชุนแผน’ เป็นเรื่องเดียวกัน จะตัดสินอย่างไรก็ช่าง นี่คือจุดยืนของเขา จนถึงนาทีนี้ก็ยังยึดจุดยืนอย่างนั้น และกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งรายงานให้ผมทราบเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 28 ก.พ. 2563 รัฐบาลฟิลิปปินส์ จะยื่นเรื่องต่อ WTO ใช้มาตรการตอบโต้การค้ากับไทยทันที ขอให้ WTO โปรดรับทราบ และเห็นชอบเรื่องนี้ด้วย แสดงว่าเขา (ฟิลิปปินส์) นั่งฟังการอภิปรายอยู่ จะว่าอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีคดีฟิลลิป มอร์ริส บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ สำแดงภาษีอันเป็นเท็จที่แพ้คดีในศาลไทย เสียค่าปรับ 1.2 พันล้านบาท ถูกนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ สมคบคิดกันเพื่อเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ดังนี้
----
นายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่า การอภิปรายของผู้อภิปราย (นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ) สยดสยอง สนุกสนาน ใช้เวลา 3 ชั่วโมงเศษ สนุกจริง ๆ ข้อมูลของท่านลุ่มลึกลงลึกมาก เสียดายอย่างเดียวว่า ข้อมูลบางส่วนไม่ถูกต้อง บางส่วนตัดตอนเอามาเพียงบางท่อน แต่ก็ลึกอยู่ดี ที่ลึกยิ่งกว่าข้อมูลคือ ถ้อยคำศัพท์แสงที่ท่านใช้ตลอดเวลา 3 ชั่วโมงเศษ และในส่วนที่เกี่ยวกับผมนั้นถือว่าลึกจริง ๆ แต่จะลึกขนาดไหนไม่รู้ ไม่รู้จะเอาอะไรไปวัด โบราณถึงบอกในโลกนิตว่า ต้องเอาก้านบัวไปวัด
ประเด็นเรื่องบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริส พูดมายาวนาน นานจริง ๆ สำนวนไทยอะไรที่ยาวนานซับซ้อน เรียกว่ายาวเหมือนรามเกียรติ์ เป็นมหากาพย์จริง ๆ แต่เสียดายที่ตลอดระยะเวลาที่ท่านให้ข้อมูลลุ่มลึกนั้น ท่านกล่าวถึงเรื่องของ WTO (องค์การการค้าโลก) น้อยมาก ทั้งที่เป็นตัวละครสำคัญอีกตัวในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่แทบไม่ได้กล่าวถึงเลยคือสินบนนำจำ ไม่แน่ใจว่าเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในเรื่องนี้ แต่อยากใช้คำพูดแบบท่านผู้อภิปรายว่า “พี่น้องเอ๊ย ฟังให้ดีเถอะ สงสารประเทศไทยจังเลย”
เรื่องฟิลลิป มอร์ริสฯ ความที่มันสลับซับซ้อนเห็นจะต้องฉายภาพ ประการแรกเรื่องนี้ มีการกล่าวหาว่ารัฐบาล โดยคนหลายคนสมคบคิดกันฉ้อฉลกลโกงเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจต่างชาติ โดยฝ่ายไทยมีการกล่าวหานายกรัฐมนตรี ผม และ รมว.ต่างประเทศ
บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ มีบริษัทลูกในไทยคือ บริษัท ฟิลิปมอร์ลิสไทยแลนด์ฯ (PMTL) นำเข้าบุหรี่มาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นำเข้าจากไหนสำคัญเหมือนกัน แต่เบื้องต้น PMTL นำเข้ามากันตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2550 ประมาณ 10 ปีเศษ
แรกเริ่มเดิมที PMTL นำเข้าบุหรี่จากมาเลเซีย ต่อมาอธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น เก่ง ชมเชย สืบทราบว่า เอ๊ะ บุหรี่ที่นำมามากจากมาเลเซีย แต่สำแดงราคาต้นทุนว่า ต้นทุนเท่านี้ แต่สำแดงภาษีต้นทุนต่ำนี่หว่า จึงตรวจค้นโกดัง และบริษัทดังกล่าว พบเอกสารใบขนต้นทุนมากมาย จับได้แล้วว่า จริง ๆ บุหรี่นั้นตอนมาจากมาเลเซียราคาหนึ่ง มาสำแดงราคาหนึ่ง เรียกว่าสำแดงเท็จภาษี กฎหมายเรียกว่า ฉ้อภาษี
พอกรมศุลกากรจับได้ PMTL สารภาพ หมายความว่ายอมความเปรียบเทียบปรับ คดีจบโดยไม่ต้องขึ้นศาล ตั้งแต่นั้นมา PMTL เข็ด ไม่กล้านำเข้าบุหรี่จากมาเลเซีย แต่เปลี่ยนเอาบุหรี่เข้าจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เข้ามา กรมศุลกากรจ้องตาเป็นมัน จัดผิดให้ได้ว่า ถ้าคราวมาเลเซียสำแดงเท็จ กรณีฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย น่าจะเท็จ และเป็นไปตามคาดว่า PMTL นำบุหรี่เข้าจาฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก ใช้เอกสารใบขนแต่ละคราวมากแตกต่างกันไป
เรื่องนี้ผ่านด่านศุลกากรด้วยเหตุผลใดก็ช่างเถอะ เพราะกรมศุลกากรอาจเชื่อคำอธิบายเขาก็ได้ ต้นทุนอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เหมือนถี่ลอดตาช้าง ถ่างลอดตาเล็น แต่มันหลุดออกมาข้างนอก
ต่อมามีคนแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องบอกว่าเป็นพลเมืองดี หลังจากนั้นดีเอสไอไปตรวจค้นไปจับ แล้วดำเนนคดีกับ PMTL ว่าสำแดงราคาเท็จ ผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 เรื่องกฎหมายมาตราใด พ.ศ.ใด ก็สำคัญ เมื่อจับได้แล้ว สอบค้นคว้ายาวาน สืบสวนกันนาน หลังจากนั้นจึงบังเกิดเป็นคดีขึ้น
คดีที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน
1.คดีที่เกิดขึ้นในไทย คือกรณี PMTL สำแดงราคาเท็จ เรียกว่า ‘คดีขุนช้างขุนแผน’ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ คดี PMTL สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์เป็นเท็จปี 2550 เรียกว่าภาค 1 ศาลตัดสินไปแล้ว คดี PMTL สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นเท็จ เรียกว่าภาค 2 เท่าที่ทราบเดือน มี.ค. 2563 ศาลจะมีคำพิพากษา ผลจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ และคดี PMTL สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์เป็นเท็จระหว่างปี 2551-2553 เรียกว่าภาค 3 ต้องฟ้องกันอีก
2.คดีที่เกิดขึ้นในกรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เรียกว่า ‘คดีรามเกียรติ์’ โดยหลังจากเกิด ‘คดีขุนช้างขุนแผน’ ในไทยแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ไปฟ้อง WTO
สำหรับ ‘คดีรามเกียรติ์’ เป็นคดีนอกประเทศ เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์เดือดร้อนเรื่องนี้ขึ้นมาว่า ไทยในฐานะสมาชิก WTO เหมือนกัน ทำไมต้องไปจับบริษัทบุหรี่เขาอย่างนั้นอย่างนี้ โดยคดีคาอยู่ที่ดีเอสไอ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเสียหาย จริงไม่จริงก็ช่าง แต่เขา (ฟิลิปปินส์) บอกว่าเสียหายแล้ว ฟิลิปปินส์จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยที่ WTO เมื่อปี 2551 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรี) รวม 14 ข้อหา อย่างไรก็ดีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ผู้แทนการค้าไทยสมัยนั้น (นายเกียรติ สิทธิอมร) ได้ดำเนินการเจรจา จนท้ายที่สุดมีการฟ้องกันไม่ถึง 10 ข้อหา
หลังจากนั้นประเทศไปสู้คดี โดยใช้ทนายจาก ACWL หรือทนายของ WTO เอง และจ้างกันมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากนั้นในปี 2553 ประเทศไทยแพ้คดี เป็นครั้งที่ 1 ตามหลักแล้วเมื่อไทยแพ้ ฟิลิปปินส์มีสิทธิเปิดสงครามการค้ากับไทยได้ทันที เหมือนกับสหรัฐฯที่ทำกับจีน แต่ความรุนแรงอาจต่างกัน เรื่องอะไรเราจะอยู่ให้ฟิลิปปินส์บังคับคดี ไทยเลยอุทธรณ์สู้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ระหว่างนั้น คดีคู่ขนานคือ ‘คดีขุนช้างขุนแผน’ ดีเอสไอที่สอบสวนเสร็จแล้วมีความเห็นควรส่งฟ้อง จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) และเรื่องก็คาอยู่ตรงนั้น ต่อมาในปี 2554 ยังไม่ทันที่ WTO ตัดสินอุทธรณ์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ชนะการลงมติ
“พรรคฝ่ายค้านเวลานั้น อภิปรายดุเด็ดเผ็ดมันเผ็ดร้อนมาก สำบัดสำนวนลีลาคล้าย ๆ กับวันนี้ แต่เก่งกว่าวันนี้เยอะ แน่นอนมือคนละชั้น ครูกับลูกศิษย์มันผิดกัน”
ถัดจากการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หลังจากนั้น WTO ตัดสินอุทธรณ์มาว่า ไทยแพ้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไทยบินไปแถลงต่อ WTO ว่าช้าก่อน อย่าเพิ่งทำอะไร WTO บอกว่างั้นก็รอ ฟิลิปปินส์รออยู่ 4 ปี ไม่เห็นไทยทำอะไรเลย ในปี 2558 ฟิลิปปินส์เปิดศึกรอบต่อไปด้วยการยื่นเรื่องหน่วยงานภายในของ WTO ที่ชื่อว่า DSB เป็นเหมือนคณะกรรมการไกล่เกลี่ยว่า แพ้ชนะกันแล้ว แล้วเมื่อไหร่จะจัดการ สุดท้าย DSB ตัดสินว่าไทยยังไม่ได้ทำอะไรตามที่ WTO ตัดสิน จึงให้เราแพ้อีก เป็นครั้งที่ 3
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลดีอกดีใจ หรือตื่นเต้นเสียใจ คดีในไทย เมื่อเล่าว่าคดี ‘ขุนช้างขุนแผน’ ถึงตอนที่ดีเอสไอมีความเห็นควรสั่งฟ้อง อย่างไรก็ดีเบื้องต้นฝ่ายอัยการไม่สั่งฟ้อง ต่อมาดีเอสไอจึงยันความเห็นกลับไปว่า เห็นควรสั่งฟ้อง อัยการสูงสุดในช่วงเวลานั้น (ปี 2556) จึงสั่งฟ้อง แต่พอสั่งแล้วยังไม่ได้ฟ้องทันที เพราะอายุความยังมี คดีไม่ได้ขาดอายุความอีกหลายปี หลังจากนั้นในปี 2556-2557 ไม่มีการฟ้อง คาดว่าคงเพราะรถติด มีม็อบเต็มถนน คงยุ่งยากลำบาก
ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. 2558 ประธานบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ ทำจดหมายถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คสช. ทุกคน แล้วทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ใจความตรงกันหมดคือ ประธานฟิลลิป มอร์ริสฯ ลงมือแสดงเอง ทำจดหมายมาร้องเรียนผู้นำประเทศไทย จะเป็น คสช. หรือนายกรัฐมนตรีก็ตามที แม้ว่าประเทศของคุณแพ้ ยังไม่ได้ดำเนินการ ทำหนังสือมายังไม่ได้ยื่นฟ้อง ขอให้รัฐบาลไทยช่วย คาดว่าอยากให้ใช้มาตรา 44 แต่ คสช. ไม่ได้ใช้ หรืออาจเป็นไปได้ว่าทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้บารมี หรืออิทธิพล ขอให้คดีนี้ปัดเป่าพ้นไปโดยไม่ต้องฟ้อง เป็นธรรมดา เมื่อเข้าตาจนต้องดิ้นรนอย่างนั้น
แต่จดหมายที่เขียนมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ อ่านแล้วงง เพราะไม่เคยรู้เรื่อง PMTL มาก่อน จึงแทงท้ายหนังสือของประธานบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯมาให้ผม และ รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ขณะนั้น) เพื่อให้ตรวจสอบว่าเรื่องอะไร ท่านนายกฯบอกว่า เคยได้ยินว่าเราจะฟ้องเขา ทำไมเขามาฟ้องเราได้ เมื่อผมได้รับคำสั่งอย่างนั้นยังไม่ได้ทำอะไร เพราะยังไม่รู้เรื่อง ท่านรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ ก็ยังไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่เข้าใจเรื่องเช่นกัน
อีก 2-3 เดือนถัดมา นายกรัฐมนตรีต้องไปประชุมราชการที่สหประชาชาติ (UN) ที่นิวยอร์ค พล.อ.ประยุทธ์ คาดการณ์ว่าอาจไปเจอ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เจอประธานบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ เจอ รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ โดยเวลานั้นยังไม่ได้มีการยื่นฟ้อง แม้อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องแล้วก็ตาม ดังนั้นนายกฯต้องการให้ผม และ รมว.ยุติธรรม ส่งข้อมูลมาให้ เผื่อตอบ
ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจึงจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง ในวันที่ 9 มิ.ย. 2558 โดยเชิญอธิบดีดีเอสไอที่ชื่อ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ (ปัจจุบันเป็นกรรมการ ป.ป.ช.) มาหารือ หลังจากนั้นจึงออกหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 28 คน จาก 8 หน่วยงาน มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล มีทั้ง รมว.ยุติธรรม รมว.พาณิชย์ รมว.คลัง อธิบดีดีเอสไอ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และมีการเชิญผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดมาด้วย สาเหตุที่เชิญฝ่ายอัยการมาด้วย เพราะฝ่ายอัยการอยู่ในคณะทำงานสู้คดีที่ WTO ทั้ง 3 ครั้ง
นั่นคือต้นตอแห่งสิ่งที่ท่านมองว่าเป็นปัญหา ปัญหาคือนายวิษณุ คือใคร ก้าวก่ายแทรกแซง โดยเฉพาะองค์กรในกระบวนการยุติธรรม บังอาจเชิญอัยการมา ประหนึ่งวิ่งเต้นล็อบบี้อะไรกันหรืออย่างไร การประชุมวันดังกล่าวมี 3 ประเด็น 1.เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร 2.กรณีนี้สมมติเราแพ้แต่ยังไม่ยอม ที่สุดของที่สุดเราต้องจ่ายอะไร และ 3.ถ้าเราไม่ฟ้องโดยถูกกฎหมายจะเป็นอย่างไร ถ้าฟ้องจะเป็นอย่างไร
สำหรับประเด็นถ้าเราแพ้แต่ไม่ยอมนั้น ผมได้ถาม รมว.พาณิชย์ ขณะนั้นว่า จะเกิดอะไรขึ้น รมว.พาณิชย์ ระบุว่าการตอบโต้ทางการค้าจะรุนแรงมากขึ้น ตัวเลขตอนแรกที่ผมเห็นผมยังไม่เชื่อ บอกให้ รมว.พาณิชย์ ทำหนังสือชี้แจงมาใหม่ พอเห็นตัวเลขแล้วเห็นว่าหลักหมื่นหลักแสนล้านบาท นี่คือปริมาณตัวเลขความเสียหาย
ดังนั้นประเด็นว่าถ้าเราไม่ฟ้องโดยถูกกฎหมาย จะเป็นอย่างไร ฝ่ายอัยการชี้แจงให้ฟังทั้งหมด โดยสุจริตตรงไปตรงมา หลังจากนั้นที่ประชุมจึงตัดสินใจฟ้อง และเมื่อประชุมวันดังกล่าวเสร็จสิ้น ไม่เคยมีการประชุมกันอีกเลย
เมื่อตัดสินใจฟ้องแล้ว จึงมีการพิจารณาว่าใบขนหลายใบ บางใบขาดอายุความก็ตัดไป บางใบถูกใช้ในการต่อสู้ที่ WTO แล้วไทยแพ้ ก็ตัดออกไปเพื่อเคารพ WTO ดังนั้นจึงเหลือใบขนอยู่ประมาณ 200 กว่าใบ ใช้เป็นหลักฐานฟ้อง
การกล่าวหาว่าผมไปเกลี่ยกล่อมให้ไม่ฟ้องนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะท้ายที่สุดเดือน ม.ค. 2559 มีการฟ้องเกิดขึ้น ถ้าแทรกแซงก็ไม่ได้ฟ้องหรอก
คดีนี้ก่อนถึงจุดที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนั้น ฝ่ายอัยการนำเรื่องนี้เรียนต่อที่ประชุม คสช. เพราะ คสช. อยากรู้เนื่องจากประธานบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯร้องเรียนมา ผมจึงรายงานว่าถ้าฟ้องแล้ว จะเสี่ยงอย่างนี้ ถ้าไม่ฟ้องจะเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คสช. ชั่งน้ำหนักแล้วบอกว่า เดินหน้าไปตามปกติ ย้ำว่า คสช. เดินหน้าไปตามปกติ
โดยสาเหตุที่ คสช. ให้เหตุผลที่ให้เดินหน้าตามปกติ เช่น
1.เรื่องนี้ปกป้องสุขภาพคนไทย บุหรี่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้สูบ คนข้างเคียง อย่าไปทำอะไรส่งเสริมเรื่องยาสูบ โดยเฉพาะยาสูบนอก
2.เราต้องการปกป้องธุรกิจยาสูบของไทย คือโรงงานยาสูบผลิตอยู่ ความจริงควรห้าม หรือเลิก เพราะอันตรายต่อสุขภาพ แต่เมื่อห้ามไม่ได้ เลิกไม่ได้ ก็คุมได้ อย่างน้อยให้ธุรกิจของไทยอยู่รอด
3.เพื่อปกป้องกฎหมายไทย เพราะคดีที่เราจะฟ้องศาลไทย เป็นคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ส่วนคดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องไทยที่ WTO ไม่ได้ฟ้องตาม พ.ร.บ.กรมศุลกากรฯ แต่ฟ้องตามพันธะระหว่างประเทศที่ไทยทำกับ WTO เป็นกฎหมายคนละฉบับ จำเลยคนละคน โจทก์คนละโจทก์ คดีคนละแบบไม่เกี่ยวกัน จึงต้องปกป้องกฎหมายไทย
อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญคือ ประเทศฟิลิปปินส์ เห็นว่า ‘คดีรามเกียรติ์’ และ ‘คดีขุนช้างชุนแผน’ เป็นเรื่องเดียวกัน จะตัดสินอย่างไรก็ช่าง นี่คือจุดยืนของเขา จนถึงนาทีนี้ก็ยังยึดจุดยืนอย่างนั้น
กระทรวงการต่างประเทศเพิ่งรายงานให้ผมทราบเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 28 ก.พ. 2563 รัฐบาลฟิลิปปินส์ จะยื่นเรื่องต่อ WTO ใช้มาตรการตอบโต้การค้ากับไทยทันที ขอให้ WTO โปรดรับทราบ และเห็นชอบเรื่องนี้ด้วย แสดงว่าเขา (ฟิลิปปินส์) นั่งฟังการอภิปรายอยู่ จะว่าอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในเมื่อจุดยืนไทยอย่างหนึ่ง ฟิลิปปินส์อย่างหนึ่ง และจุดยืนฟิลิปปินส์ WTO ดันเห็นด้วย แล้วอย่างนี้ผมจะไม่เรียกประชุม 8 หน่วยงานได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่ขนาดเกิดสงครามการค้าตอบโต้กัน แต่ยังไม่หายนะขนาดนั้น ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นต่อไป ไทยยังมีปัญญาจะสู้อีก เรื่องนี้ไม่ต้องอาศัยลอดช่องอะไรหรอก ยังมีช่องทางกับคณะกรรมการชุดหนึ่งใน WTO อีก โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นตุลาการ 3 คน คนหนึ่งจากประเทศจีน อีก 2 คนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดีอีก 2 คนนั้นเพิ่งหมดวาระไป และอยู่ระหว่างการคัดเลือก ขณะที่ตุลาการจากจีน ยังติดปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้เรื่องนี้ต้องชะลอออกไปก่อน
ทั้งนี้จากนี้สืบทราบข้อมูลมาว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์เตรียมดำเนินสงครามการค้ากับไทยวงเงินประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ซึ่งมีหลายอย่าง และวิธีการของเขาคือจะคิดอัตราเพดานภาษีให้สูงขึ้นจนกว่าจะชดใช้ค่าเสียหายของเขาได้ทั้งหมด
สำหรับสถานภาพของคดีนี้ทั้งในไทยและที่เจนีวา สรุปได้ 4 กรณี
1.ไทยแพ้มาแล้ว 4 คดีเหลือครั้งที่ 5 คือคณะกรรมการคณะหนึ่งที่มีตุลาการตัดสิน 3 คนของ WTO พระสยามเทวาธิราชช่วย หากแพ้แล้วก็คือจบ คาดว่าจะใช้เวลาเป็นปีอีกกว่าจะตัดสินและนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ฟิลิปปินส์ไม่รอแล้ว แต่ไม่รอก็อย่ารอ แต่ตามหลักต้องรอ
2.ฟิลิปปินส์ตอบทันทีว่า จะตอบโต้ไทยทันที ไม่รอผลอุทธรณ์ก็ช่างเขา ถ้าคิดว่าทำได้
3.ศาลไทยสั่งปรับฟิลิปปินส์ไปแล้ว 1.2 พันล้านบาท เรื่องกำลังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และกำลังมีภาค 2 และภาค 3
4.วงเงิน 1.2 พันล้านบาท คิดจาก พ.ร.บ.กรมศุลกากรฯ ที่แก้ไขใหม่ในปี 2560 หรือ 2 ปีกว่ามาแล้ว เพราะตามกฎหมายเดิม มาตรา 27 เดิม เขียนเรื่องหนีภาษี สำแดงเท็จ หรือขนของผิดกฎหมาย ควบรวมในมาตราเดียว และมีอัตราโทษเดียว กฎหมายฉบับใหม่จึงแก้เพื่อเขียนแยกว่า หนีภาษีโทษอีกแบบหนึ่ง สำแดงเท็จโทษอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/