งานสร้างสุขที่ปลายทางครั้งที่ 3 ชวนแพทย์ร่วมเล่าประสบการณ์ว่าครอบครัวควรทำอย่างไรเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรบอกความจริงหรือไม่ บอกข่าวร้ายอย่างไร ตัดสินใจแบบไหนดีในช่วงท้าย ร่างกายจะทรมานแค่ไหน ฯลฯ รวมถึงแนวทางในภาพใหญ่ที่ควรผลักดันระบบอาสาสมัครและให้ ‘ชุมชน’ มีส่วนร่วมในเรื่องนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพเเห่งชาติ (สช.) จัดงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ครั้งที่ 3 ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง บทบาทของครอบครัว ความหวังและทางเลือกของผู้ป่วยวาระสุดท้ายของชีวิต
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามของการรักษาที่ไม่มีประโยชน์ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากในคนไข้ระยะสุดท้าย เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะรักษาต่อหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการรักษาทางการแพทย์มีจุดประสงค์หลัก 3 ประเด็นคือ 1.ทำให้คนไข้หาย 2.ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ทุกข์ทรมาน 3.หากจะจากไปก็ให้อยู่ในภาวะที่สงบที่สุด เรียกง่ายๆ ว่า หายไว อยู่สบาย ตายดี การรักษาบางอย่างได้ผลดีช่วงหนึ่งของชีวิต แต่อาจไม่ดีในอีกช่วงหนึ่ง โดยสรุปการรักษาที่ได้ประโยชน์คือการรักษาที่ให้แล้วบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการรักษาตอนนั้น
“การรักษาโรคทุกระยะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าหวังอะไร แล้วดูว่าการรักษาที่ให้จะทำให้ถึงเป้านั้นไหม เช่น การให้อาหารในระยะสุดท้ายมีประโยชน์ไหม ในเมื่อร่างกายคนไข้ไม่รับอาหารแล้ว บางทีการไม่ให้อาหารจะทำให้เขาค่อยๆ ซึมลง ร่างกายจะปรับสภาพเองตามธรรมชาติและทำให้ไปได้สบายกว่า” รศ.ดร.ฉันชายกล่าว และเน้นย้ำว่าต้องมีการพูดคุยกันให้เข้าใจตรงกันกับญาติของผู้ป่วยด้วย
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า การเขียนสมุดเบาใจหรือพินัยกรรมเรื่องวาระสุดท้าย อย่าไปกังวลกับวิธีการมาก แต่เขียนเป็นเป้าประสงค์ว่า ถ้าวิธีการที่จะรักษาเป็นแค่ยื้อชีวิต อยู่แล้วไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ขอให้ไปตามธรรมชาติ หลายคนไปโฟกัสที่วิธีการ ไม่ใส่ท่อ ไม่เจาะคอ ไม่ปั๊มหัวใจ ถ้ามันทำแล้วดีขึ้นได้ก็ควรทำ หรือใส่แล้วมันไม่ดีขึ้นก็ให้สามารถเอาออกได้ หยุดการรักษาได้
ด้าน นาวาเอก นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี กล่าวถึงการบอกข่าวร้ายว่าเป็นศิลปะอย่างมาก ความมุ่งหวังของเราทุกคนคืออยากให้คนไข้ตายดี แต่การตายดีในมุมมองของเราอาจไม่เหมือนกับของคนไข้ เช่นเคยเจอคนไข้ที่ไม่ต้องการยาแก้ปวด เพราะต้องการมีสติระหว่างการตาย ดังนั้น อาศัยเพียงความหวังดีของเราไม่เพียงพอ ต้องเคารพสิทธิ เคารพการตัดสินใจของคนไข้ด้วย และการที่คนไข้จะตัดสินใจได้ ขั้นแรกจำเป็นที่จะต้องรู้ความจริง แต่ญาติมักมีไอเดียที่บล็อคไม่ให้ผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ดังนั้นการวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นตามความประสงค์ของเขาย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น
“เบื้องต้น เราต้องปรูฟให้ได้ว่า เขามีไอเดียเรื่องการตายอย่างไร เราจะเข้าถึงจุดหมายได้ง่ายขึ้น ถ้าเราสามารถสืบเสาะข้อเท็จจริงในแต่ละครอบครัวหรือคนไข้แต่ละคน การบอกข่าวร้ายอาจไม่ใช่การบอกข่าวร้ายแต่มันเป็นการบอกข่าวดี เขาจะได้เตรียมตัว จากประสบการณ์ของผม ถ้าเราผ่านด่านญาติไปแล้ว คนไข้น้อยรายมากที่จะรับไม่ได้ เขาจะโล่งอกแล้ววางแผนว่าจะไปยังไง ในคนไข้บางคนที่รับไม่ได้กับโรคที่เขาเป็น ผมจะมีคำถามหลายอย่างให้เห็นว่าการตายของเขาไม่ได้น่ากลัว ถ้ากลัวเหนื่อย กลัวปวด เรามีการบริหารจัดการเรื่องพวกนั้นได้” นพ.พรศักดิ์กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คลินิกกุมารชีวาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กที่เป็นมะเร็ง แม้ส่วนใหญ่จะรักษาให้หายได้ แต่มีจำนวนหนึ่งที่ต้องเสียชีวิต วิธีรักษาช่วงแรกเน้นการใช้ยาและให้การรักษาเต็มที่ แม้หมอจะรู้ดีว่าไม่สามารถหายได้และต้องเสียชีวิต กระทั่งความคิดของเขาเปลี่ยนไปและเริ่มให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมของครอบครัว การทำในสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งพบว่าคนไข้มีความสุข ครอบครัวมีความสุข และท้ายที่สุดสามารถยอมรับการตายได้มากกว่า
“ถ้ารักษาไม่ได้แล้ว ทางออกก็คือ ชวนเขาค้นหาว่าอะไรมีค่ากับชีวิต เขาจะได้เต็มที่กับชีวิต ให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ Palliative care is about living เราไม่ได้พูดอะไรเลยเกี่ยวกับความตาย เราไม่ต้องโน้มน้าวให้ยอมรับความตาย คนที่เขาใช้ชีวิตดีแล้ว เขาก็เข้าสู่โหมดตายดีได้ ยอมรับได้ง่าย”
นพ.อิศรางค์กล่าวต่อว่า แม้แนวคิดนี้จะได้ผลดีในเด็ก แต่ไมได้ผลในหมอที่รักษามะเร็งระยะสุดท้ายในผู้ใหญ่ เนื่องจากคนไข้มีจำนวนมากและหมอไม่สามารถใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจใช้วิธีให้คำปรึกษาที่บ้าน
“พบว่า 93% เลือกใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้ที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องยื้อชีวิตเขา ความทรมานทั้งหลายมันเกิดจากการรักษา ในรพ.หมอมีเวลาน้อย คนไข้เยอะมากและส่วนใหญ่ไม่ผ่านด่านญาติจึงมักรักษากันไปเรื่อยๆ แต่การจะคุยเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา ดีที่สุดคือที่บ้านเขา ผมยินดีไปคุยที่บ้าน แต่มีข้อแม้ว่าต้องเอาญาติมาให้ครบทุกคน แล้วผมจะคุยกับคนไข้ให้เขาบอกว่าชีวิตอยากได้ยังไง ที่สุดจะมาจบว่าตายไม่กลัว กลัวทรมาน แล้วเราจะได้ชวนลูกหลานที่มานั่งฟังอยู่ด้วยให้สนับสนุนและเติมเต็มสิ่งที่ผู้ป่วยบอกว่าคือคุณภาพชีวิตของเขา” นพ.อิศรางค์กล่าว
สุดท้าย ดร.นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า hospice หรือสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยจะมีแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ดูแลทั้งระบบ ขณะที่แนวคิด palliative care หรือการดูแลแบบประคับประคอง คำนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศส แล้วพัฒนาเรื่อยมา ในอเมริกาการดูแลแบบประคับประคองนั้น 85% เป็นระบบอาสาสมัครซึ่งมาจากคนสองกลุ่มใหญ่คือนักเรียนนักศึกษากับคนเกษียณแล้วแต่ยังอยากทำประโยชน์ ต้องผ่านการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 8สัปดาห์ สามารถไปดูแลที่บ้านของผู้ป่วยได้เลย สำหรับประเทศไทยก็มีระบบอาสาสมัครแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นกิจจะลักษณะ จึงควรเร่งพัฒนาให้เป็นระบบและได้มาตรฐาน
“ระบบที่เหมาะกับสังคมไทยคือ ชุมชนควรมีส่วนร่วมหลัก เพราะเป็นค่านิยมของวัฒนธรรมไทย ควรเอามาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาศักภาพในการดูแลผู้ป่วยและพัฒนาสุขภาพ แล้วค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณสุขจะลดลงมาก บทบาทของแพทย์แผนไทยก็เช่นกัน ยาไทยยังมีอีกเยอะที่พัฒนามาใช้ได้ เราจะลดค่าใช้จ่ายมโหฬาร ส่วนสุดท้ายคือ ศาสนา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับจิตใจ จิตวิญญาณอย่างมาก นักบวชจึงน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” ดร.มโนกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/