"....มีหลายการศึกษา ที่ทำการคาดประมาณจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสนี้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า คนติดเชื้อคนนึงจะสามารถแพร่ไปให้คนอื่นได้ราว 2-6 คน ตามทฤษฎีแล้ว ถ้า R0 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 มักจะไม่กังวลว่าจะเกิดการระบาดของโรค ดังนั้นไวรัสนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดการระบาดขยายตัวไปเรื่อยๆ หากไม่มีการควบคุมป้องกันการแพร่อย่างทันท่วงที และจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงเห็นสถิติคนติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนคนติดเชื้อโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าทุกสัปดาห์..."
ผ่านมาเกือบสามเดือนกับการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่สร้างความกังวลใจให้กับคนทั้งโลก
การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้จะไม่ใช่โรคสุดท้ายและครั้งสุดท้าย ที่สังคมไทยและสังคมโลกจะต้องเผชิญ
แต่ความรู้ และทักษะในการประพฤติปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อโรคนี้นั้น จะสามารถใช้สำหรับโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ ที่เราจะต้องเผชิญหน้าในอนาคตได้
เอาล่ะ...ลองมาดูกันว่า สามเดือนที่ผ่านมานี้ เรารู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้างเกี่ยวกับโรคใหม่นี้? บอกเลยว่าความรู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากทีเดียว
Q1: การระบาดของโรคนี้เริ่มมาจากไหน?
A1: แม้จะมีรายงานผู้ป่วยรายแรกตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2019 แต่ก็ยังไม่มีความกังวลนัก จนกระทั่งเริ่มมีการรายงานจากหน่วยงานสาธารณสุขของเมือง Wuhan ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2019 ว่ามีผู้ป่วยที่เป็นปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัส ถึง 27 ราย โดยมีคนอาการหนักถึง 7 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติไปสัมผัสกับสัตว์ป่าต่างๆ ในตลาดขายส่งอาหารทะเลในเมือง Wuhan ซึ่งมีการขายสัตว์นานาชนิด รวมทั้งสัตว์ปีก งู ค้างคาว
จากการศึกษาต่อมา พบว่า ไวรัสที่ก่อเหตุคือ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และตั้งชื่อโดยองค์การอนามัยโลกว่า 2019-nCoV หรือ 2019 novel Coronavirus และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "COVID-19" จนถึงปัจจุบัน
Q2: ไวรัส COVID-19 นี้มีลักษณะอย่างไรบ้าง?
A2: COVID-19 นี้จัดเป็นไวรัสตัวที่ 7 ของตระกูลโคโรน่าไวรัส และสามารถติดเชื้อสู่คนได้เฉกเช่นเดียวกับไวรัสพี่ๆ ของตระกูลนี้ เช่น เมอร์ส (MERS) และซาร์ส (SARS) ที่เคยระบาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
จากการศึกษาสายพันธุกรรมของไวรัสนี้ พบว่าคล้ายคลึงกับไวรัสซาร์สถึง 70%
ข้อมูลที่มีอยู่บ่งชี้ว่า ไวรัสตัวนี้น่าจะมาจากค้างคาว เนื่องจากมีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับโคโรน่าไวรัสในค้างคาวถึง 96% อย่างไรก็ตามคาดว่าไวรัสนี้น่าจะมีการผสมกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่น โดยมีแหล่งรังโรคที่น่าสงสัยคือ งู ทั้งนี้ในการศึกษาต่อมา พบว่า สิ่งมีชีวิตที่ไวรัสนี้น่าจะไปอาศัยอยู่ได้อีก คือ ค้างคาว และตัวมิ้งค์ โดยรูปแบบการติดเชื้อของไวรัสนี้ในค้างคาวและตัวมิ้งค์นั้นคล้ายคลึงกับการติดเชื้อในคน
Q3: ไวรัสนี้ติดกันง่ายไหม?
A3: การจะตอบว่าติดง่ายหรือไม่นั้น มักจะวัดกันด้วยจำนวนคนโดยเฉลี่ยที่ติดเชื้อจากการได้รับเชื้อจากคนที่ติดเชื้อเดิมในช่วงเวลาที่เค้าสามารถแพร่ได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reproduction number (R0)
มีหลายการศึกษา ที่ทำการคาดประมาณจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสนี้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า คนติดเชื้อคนนึงจะสามารถแพร่ไปให้คนอื่นได้ราว 2-6 คน
ตามทฤษฎีแล้ว ถ้า R0 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 มักจะไม่กังวลว่าจะเกิดการระบาดของโรค ดังนั้นไวรัสนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดการระบาดขยายตัวไปเรื่อยๆ หากไม่มีการควบคุมป้องกันการแพร่อย่างทันท่วงที และจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงเห็นสถิติคนติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนคนติดเชื้อโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าทุกสัปดาห์
Q4: ติดเชื้อ COVID-19 นี้ได้อย่างไร?
A4: ลักษณะการแพร่เชื้อไวรัสนี้ เหมือนกับไวรัสอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ นั่นคือ ผ่านการไอ จาม มีฝอยละอองของน้ำมูกหรือเสมหะที่มีไวรัสอยู่ รวมถึงการที่ไวรัสปนเปื้อนกับมือและสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พอคนอื่นมาสัมผัสก็มีโอกาสที่ไวรัสติดไปได้ แม้จะมีรายงานว่าพบไวรัสในอุจจาระ แต่การติดเชื้อก็จะมีโอกาสน้อยกว่า เพราะต้องเป็นสถานการณ์ที่มีการกระเด็นของน้ำอุจจาระและมีการสูดดมเข้าสู่ทางเดินหายใจ
Q5: ไวรัสนี้ติดเชื้อเข้าสู่ปอดได้อย่างไร?
A5: จากการศึกษาพบว่า ไวรัสนี้น่าจะเข้าสู่เซลล์ปอดผ่านทางตัวรับที่เรียกว่า Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) receptor
ที่น่าสนใจคือ เซลล์ปอดของคนเอเชียมีจำนวนตัวรับนี้มากกว่าคนตะวันตกผิวขาว และคนแอฟริกัน-อเมริกัน ถึง 5 เท่า นั่นอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ของคนเอเชียที่มากกว่าคนตะวันตก
Qุ6: โรคนี้รุนแรงไหม?
A6: จากข้อมูลที่มีอยู่นั้น พบว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียงประมาณ 15% ที่มีอาการรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 2%
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวนั้นยังไม่นิ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตอนนี้จึงรู้เพียงว่า ติดค่อนข้างง่าย แม้อัตราเสียชีวิตไม่มาก แต่ต้องป้องกันอย่างจริงจัง
Q7: ทุกคนควรป้องกันอย่างไรดี?
A7: กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ยังคงเป็นคาถาป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
หน้ากากอนามัยต้องใส่หรือไม่? งานวิจัยมากมายพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจควรใช้ เพราะจะป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ราว 80%
ส่วนคนปกติจะต้องใส่ไหม? มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะป้องกันไวรัสที่มีขนาดเล็กมากๆ ต้องใช้หน้ากากประเภท N95 แต่ใส่แล้วจะอึดอัด หายใจลำบาก และมีราคาแพง นอกจากนี้ยังมีปริมาณไม่มาก จึงควรเก็บไว้ใช้สำหรับสถานพยาบาลหรือสถานการณ์จำเป็น
ส่วนการใช้หน้ากากอนามัยสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วยนั้น มีงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัสเช่นกัน พบว่าไม่ได้ช่วยให้ลดอัตราการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ได้แนะนำให้ใช้กันในชีวิตประจำวันเพื่อหวังผลในการป้องกันไวรัส
วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ยังไม่มี และต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกนานพอสมควร ดังนั้นจึงเน้นเรื่องการปฏิบัติตนเป็นหลัก
Q8: มีวิธีมาตรฐานในการรักษาหรือยัง?
A8: จนถึงตอนนี้ กลางเดือนกุมภาพันธ์ มีโครงการที่พยายามศึกษาวิธีรักษาโรคนี้ในประเทศจีนกว่า 80 โครงการ ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก รวมถึงในประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้ ก็กำลังศึกษากันอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่มีการรักษาใดที่จะใช้เป็นมาตรฐานได้
Q9: ท้ายสุด อยากจะสื่ออะไรไว้กับทุกคน?
A9: "...กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ...และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม"
...หากไม่สบาย ควรพักอยู่กับบ้าน ไม่ตะลอนข้างนอกหากไม่จำเป็น...
...หากจะไอ จะจาม ควรใช้ต้นแขนป้องปากและจมูก และใส่หน้ากากอนามัย ไม่ใช่ทำแบบที่เห็นในข่าวว่า ถอดหน้ากากออกมาเพื่อไอและจามเพราะกลัวหน้ากากเปรอะ...
ในยุควิกฤติเช่นนี้ ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมนั้นสำคัญมากครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
1. Cheng ZJ et al. 2019 Novel Coronavirus: where we are and what we know. Infection. 2020 Feb 18. doi: 10.1007/s15010-020-01401-y. [Epub ahead of print] Review.
2. Maxman A. More than 80 clinical trials launch to test coronavirus treatments. Nature. 2020 Feb;578(7795):347-348. doi: 10.1038/d41586-020-00444-3.
3. Watts CH et al. Coronavirus: global solutions to prevent a pandemic. Nature. 2020 Feb;578(7795):363. doi: 10.1038/d41586-020-00457-y.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Techhaus Thailand
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/