สกพอ. คณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด รวมทั้งจังหวัดระยอง และภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ สร้างความมั่นใจให้มีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ ภาคอุตสาหกรรมไม่ขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในอีอีซี
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตอบคำถามเป็นลายลักษณ์อักษร ในประเด็นที่สำนักข่าวอิศรา สอบถามถึงการเตรียมความพร้อมการจัดหาแหล่งน้ำ การจัดสรรน้ำ มาตรการการผันน้ำ ในพื้นที่ EEC
สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี ในช่วงฤดูแล้ง ดร. คณิศ ระบุว่า จากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ได้เห็นชอบหลักการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนา เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีสาระสำคัญ
1.มาตรการระยะสั้น เพื่อเร่งจัดหาแหล่งน้ำบรรเทาภัยแล้ง
1.1 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำ ลดลงร้อยละ 10 ช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน 2563
1.2 วางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิถุนายน 2563 โดย สทนช. ได้วางโครงการเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้
- โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในพฤษภาคม 2563
- โครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต - บางพระ คาดว่า จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในมีนาคม 2563
- โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเจรจากับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อขอปันน้ำ ความคืบหน้าล่าสุด กรมชลประทานและกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ได้ลงนาม MOU การแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ให้แก่ อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะผันน้ำในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการเฉพาะกิจ เริ่มในเดือนมีนาคม 2563 นี้ โดยใช้ระบบสูบน้ำสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะช่วยนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49.62 ล้านลูกบาศก์เมตร มาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มเติม
ทั้งนี้ จะเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองวังโตนด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จากเดิม วันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นอีกวันละ 460,000 ลูกบาศก์เมตร รวมจะระบายน้ำมาเพิ่มให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้วันละ 648,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจะเป็นน้ำต้นทุน และช่วยเหลือไปยังพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้มีน้ำเพียงพอใช้
การผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นการหาแนวทางร่วมกันเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เพื่อป้องกันภัยแล้งในปี 2563 ระหว่าง สทนช. กรมชลประทาน
สกพอ. คณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด รวมทั้งจังหวัดระยอง และภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) โดยสร้างความมั่นใจให้มีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ ภาคอุตสาหกรรมไม่ขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในอีอีซี
เมื่อดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุด 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.การบริหารจัดการน้ำระยะยาว ให้ใช้เพียงพอเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580)
1.) การพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน วงเงิน 52,797 ล้านบาท
1.1 แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน - อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
1.2 แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ และปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น
1.3 มาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท
2.) การลงทุนผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) ในอนาคต
มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำระยะสั้น และระยะยาวดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต และการบริหาร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/