"...ณัชชาระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล เพราะการเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ..."
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ‘prasong_lert’ เกี่ยวกับการตายบนท้องถนนในประเทศไทยว่า เป็นอันตรายร้ายแรงกว่าโรคใดๆ ทั้งสิ้น
ข้อความแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 “คนไทยตายวันละ 50-60 คน ปีละ 2 หมื่นจากอุบัติเหตุบนถนน ไม่เห็นมีใครกลัว?”
ปฎิกิริยาที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก บางคนไม่ทราบว่า สังคมไทยสูญเสียมากมายขนาดนี้เพราะภาพจำคือมีการรณรงค์การลดอุบัติเหตุเฉพาะในช่วง 7 วันอันตราย ปีใหม่และสงกรานต์เท่านั้น
มีเพียงคนเดียวแสดงความเห็นว่า “ไม่รู้จักกาลเทศะ”อ้างว่า เรื่องไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องใหม่ สังคมไทยต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักและป้องกันตนเอง
ผมชี้แจงว่า ไม่ได้ห้ามมิให้ใครศึกษาเรียนรู้เรื่องการแพร่ระบาด การติดต่อและการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส แต่ที่โพสต์เรื่องการตายบนท้องถนนในช่วงเวลานี้เพื่อให้สังคมไทยและผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายตระหนักในเรื่องการตายบนท้องถนนที่เป็นปัญหาใหญ่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สังคม-เศรษฐกิจไทยต่อเนื่องมานานนับสิบๆปีในลักษณะเดียวกับการตื่นตัวเรื่องไวรัสโคโรนา
วันต่อๆมา ผมนำสถิติเรื่องการตาย-บาดเจ็บบนท้องถนนที่มีการแจ้งผ่าน ‘ศูนย์รับแจ้งเหตุ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด( www.thairsc.com )มานำเสนออย่างต่อเนื่องพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-3 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ตายรวมกันถึง 1,589 ศพ หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 47 ศพ(บางวันสูงถึง 77 ศพ) ในจำนวนนี้เกิดจากมอเตอร์ไซค์ประมาณ 70-80%
ในจำนวนผู้ตายเกือบ 1,600 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน วัยรุ่น และมีเด็ก(อายุต่ำกว่า 15 ปี)รวมอยู่ด้วย 45 ศพ และชาวต่างชาติ 51 ศพ
ถ้าเรายังไม่ทำอะไร ปล่อยให้อัตราการตายอยู่วันละประมาณ 50 ศพ ทั้งปีคงมีคนเป็น ‘โรคตายคาถนน’ประมาณ 20,000 ศพ เท่ากับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วง 10 ปี สังคมไทย เป็น ‘โรคตายคาถนน’มากกว่า 200,000 คน
ร้ายแรงกว่าอุบัติภัยใดๆในประเทศไทยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่สังคมไทยยังอยู่กับมันเป็นปกติสุข?
ตัวเลขการตายข้างต้น ยังไม่รวมตัวเลขผู้บาดเจ็บที่เฉลี่ยวันละกว่า 2,000-3,000 คน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้บาดเจ็บสะสม 104,207 คน ในจำนวนนี้ไม่มีรายงานว่า บาดเจ็บสาหัสจำนวนเท่าไหร่
แต่ถ้าอัตราการบาดเจ็บเฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 คนเช่นนี้ ทั้งปีจะมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านคน
ถ้าเสียชีวิต อาจจะมีครอบครัวที่กำพร้าพ่อแม่ สูญเสียลูกๆ คนอันเป็นที่รัก แต่ถ้าบาดเจ็บพิการ นอกจากต้องเจ็บปวดทรมานแล้ว ต้องกลายเป็นภาระของสังคมในการดูแลรักษา
ความสูญเสียเหล่านี้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ในแต่ละปี จากการศึกษาของณัชชา โอเจริญ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ระบุว่าไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี
ณัชชาระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล เพราะการเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ อุบัติเหตุยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น
ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตที่บูรณาการจากข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แสดงให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 22,281 คนต่อปี ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งอ้างอิงจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนเฉลี่ย 107,542 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด
ทีดีอาร์ไอ ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจรจากพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ด้วยวิธีการประเมินความเต็มใจที่จะจ่ายในการลดอุบัติเหตุทางถนนของคนในพื้นที่ พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย ในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย
ผู้วิจัยได้อ้างอิงมูลค่าดังกล่าวในการประเมินความสูญเสียของทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่ที่ทำการสำรวจเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงสามารถเป็นพื้นที่ตัวแทนของทั้งประเทศได้ จากข้อมูลดังกล่าว คณะผู้วิจัยพบว่า ในช่วงปี 2554-2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ดูตารางประกอบ)
(อ่านรายละเอียด https://tdri.or.th/2017/08/econ_traffic_accidents/)
เมื่อ ‘โรคตายคาถนน’ เป็นอุบัติภัยร้ายแรง เป็นหายนะภัยเช่นนี้ สังคมไทยยังจะทบอยู่กับมันอย่าง ‘ชาชิน’เช่นนี้ต่อไปอีกหรือ