หมายเหตุ : วันที่ 27 ม.ค. 2563 นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงถึงสาเหตุไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมพวก รวม 4 คน ในคดีฆาตกรรมนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ณ สำนักงานอัยการสูงสุด
นายประยุทธ เปิดเผยว่า คดีนี้ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีอาญาให้สำนักงานอัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเป็นคดีระหว่าง น.ส.พิณนภา พฤกษพรรณ กับพวก รวม 2 คน เป็นผู้กล่าวหา ส่วนผู้ต้องหา มี 4 คน ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 นายบุญแทน บุษราคัม ผู้ต้องหาที่ 2 นายธนเสฎฐ์หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายกฤษณะพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 โดยมีการกล่าวหาผู้ต้องหาแต่ละคนในข้อหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
สำหรับผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า 1.ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
2.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกโดนหน่วงเหนี่ยวถึงแก่ความตาย
3.ร่วมกันมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยเห็นว่าจะทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง
4.ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อกระทำผิดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
5.ร่วมกันเพื่อทุจริต หรือเพื่ออำพรางคดีกระทำประการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น
6.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
7.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจผู้อื่นให้ หรือทำให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนและผู้อื่น
8.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติการโดยทุจริตและร่วมกันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ต้องหาที่ 4 ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันกับผู้ต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นกระทำความผิดโดยที่ได้ระบุไปแล้วตามข้อหาที่ 1 2 3 4 และ 5 และให้การสนับสนุนผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 2 และที่3 ในความผิดตามข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ที่แจ้งเป็นผู้สนับสนุนในส่วนหลังเพราะว่าผู้ต้องหาที่ 4 เป็นลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน
ทั้งหมดนี้คือข้อกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาผู้ต้องหาที่ 1 2 3 และ 4 โดยเมื่อได้รับสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนให้ทราบว่า
1.เมื่อสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนดังกล่าวแล้ว นายฐาปนา ใจกลม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้จ่ายสำนวนคดีนี้ให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โดยมีนายชวรัตน์ วงศ์ธนะบูรณ์ เป็นหัวหน้าพนักงานอัยการในสำนักงานดังกล่าว และต่อมานายชวรัตน์ วงศ์ธนะบูรณ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามคดีมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีคำสั่งที่ 26/2562 ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาสำนวนคดีนี้ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 53 ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วย นายประกาศิต เหลืองทอง อัยการผู้เชี่ยวชาญเป็นหัวหน้าคณะทำงาน มี พ.ต.ท.เดชาชัย ณ ลำปาง อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด นายวรพงษ์ ทองแก้ว อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด และนายเชาวพันธ์ ช่วยชู อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน
2.คณะทำงานร่วมกันตรวจพิจารณาสำนวนโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า 1. สำหรับข้อหาที่ 8 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 จึงมีความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 นายบุญแทน บุษราคัม ผู้ต้องหาที่ 2 นายธนเสฎฐ์หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและร่วมกันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหน้าที่โดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 153 และมาตรา 157 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 มาตรา 123/2 และมาตรา 172 โดยเห็นฟ้องนายกฤษณะพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวของผู้ต้องหาที่ 1 2 และ 3
“ข้อหานี้ พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง เสนอไปยังอัยการพิเศษฝ่าย และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เห็นพ้องต้องกันสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหานี้ โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี”
สำหรับข้อหาลำดับที่ 2 3 4 5 6 และ 7 นายประยุทธ ระบุคณะทำงานเห็นว่า ทางคดีไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อมใด ๆ เพียงพอจะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาทั้งหมดดังกล่าว จึงเห็นว่าคดีนี้พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ในข้อหาที่ ที่ 2 3 4 5 6 และ 7 ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เห็นพ้องด้วยในความเห็นและคำสั่งดังกล่าว
สำหรับข้อหาร่วมกันฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในข้อหาที่ 1 คณะทำงานตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า ในชั้นนี้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 โดยมีเหตุผลของคณะทำงานประกอบการใช้ดุลยพินิจความเห็นและคำสั่งดังนี้
“เราไม่ได้วินิจฉัยว่า นายชัยวัฒน์ ไม่ได้กระทำความผิดในข้อหานี้ แต่พยานหลักฐานในชั้นนี้ยังไม่พอ”
ทั้งนี้ เหตุผลประกอบเท่าที่จะเปิดเผยได้ เนื่องจากกระบวนการสำนวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีการเสนอขั้นตอนตามลำดับขั้นตอนกฎหมาย
1.นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในชั้นแรกถูกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 ควบคุมตัวไปพร้อมน้ำผึ้งและรถจักรยานยนต์ หลังจากนั้นมีพยานบุคคลยืนยันว่า เห็นผู้ต้องหาทั้ง 4 ปล่อยตัวนายบิลลี่ออกมา ซึ่งภรรยาของนายบิลลี่พร้อมมารดายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีขอให้นายชัยวัฒน์กับพวกปล่อยตัวนายบิลลี่
ในการสืบพยานในชั้นการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี เมื่อให้ภรรยาของนายบิลลี่และฝ่ายผู้ถูกร้องให้ปล่อยตัว นำสืบพยานหลักฐานแล้ว พยานหลักฐานที่ปรากฎในการพิจารณาหลักฐานของศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้ความว่า หลังจากนายชัยวัฒน์กับพวก ควบคุมตัวนายบิลลี่ไปแล้ว ได้มีการปล่อยตัว ศาลจึงยกคำร้องภรรยานายบิลลี่ เนื่องจากข้อเท็จจริงทางคดีได้ความว่า นายชัยวัฒน์กับพวกปล่อยตัวออกมาแล้ว
ต่อมาภรรยาของนายบิลลี่ ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรียกคำร้อง ต่อมาภรรยาของนายบิลลี่ ยื่นฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง โดยให้ความว่านายชัยวัฒน์ได้ปล่อยตัวนายบิลลี่แล้ว พยานที่ไปเบิกความยืนยันว่าเห็นดังกล่าว
ต่อมาได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอภายหลัง จากห้าปาก มีสอง ปาก กลับคำให้การในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ บอกว่าไม่เห็นการปล่อยตัว แต่พนักงานอัยการ คณะทำงานเห็นว่า พยานสองปากดังกล่าวเคยเบิกความต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี จนกระทั่งศาลฎีกายืนยันชี้ชัดปล่อยตัวแล้ว แต่กลับมาให้การใหม่กับดีเอสไอว่าไม่เห็นตามที่เคยเบิกความ
“การชั่งน้ำหนักในชั้นแรก อัยการยังเชื่อว่าคำเบิกความต่อศาลชั้นต้นที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีจนกระทั่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจริงมีน้ำหนักมากกว่า จึงยังมองว่า นายชัยวัฒน์กับพวกปล่อยตัวไปแล้วในเบื้องต้น”
ส่วนการตรวจพิสูจน์กระดูกที่เป็นวัตถุพยานของกลางในคดี โดยวิธีไมโครควอเทรียม ซึ่งการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ดีเอสไอได้ส่งให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจด้วยวิธีตามนิติวิทยาศาสตร์ ผลการตรวจเห็นความเชื่อมโยงของกระดูกดังกล่าวไล่สายกับสายมารดาของนายพอละจี และยายของนายพอละจี
ในประเด็นนี้คณะทำงานเห็นว่า การตรวจโดยวิธีไมโครควอเทรียมเป็นวิธีการตรวจเพื่อไล่เลียงเครือญาติสายมารดาเท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจชี้ชัดเอกลักษณ์บุคคลได้เท่ากับการตรวจนิวเคลียร์ ดีเอ็นเอ หรือเซ็กโคโมโซม ซึ่งจะชี้ชัดบุคคลได้ชัดเจนกว่า
“จากการวินิจฉัยประเด็นตรงนี้เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงทางคดีไม่มีพยานแวดล้อมใด ๆ เพียงพอที่จะยืนยันว่าผู้ต้องทั้งสี่ได้ฆ่านายบิลลี่เมื่อไหร่ โดยวิธีไหน และที่ใด เมื่อข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน ซึ่งประเด็นทั้งหมดที่ไล่เลียงที่สำนักคดีพิเศษแจ้งให้ทราบเป็นประเด็นสำคัญที่อัยการต้องบรรยายในคำฟ้อง ว่าหากจะฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกว่าฆ่านายบิลลี่ต้องได้ความว่าฆ่าเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร และต้องมีการตรวจที่ชัดเจนว่าเป็นของนายบิลลี่อย่างแน่นอน”
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า คณะทำงานจึงเห็นในชั้นนี้ยังไม่เพียงพอที่จะฟ้อง ทั้งนี้ คดีอาญาเรื่องหนึ่งสามารถฟ้องได้เพียงชั้นเดียวในเรื่องนั้น ถ้าอัยการฟ้องไป หลักกฎหมายของประเทศไทยในศาลยุติธรรม ใช้ระบบกล่าวหา อัยการต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "สิ่งที่เราฟ้องไป เราสามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ชัดแจ้งว่า นายชัยวัฒน์กับพวกเป็นคนฆ่า ถ้าเรานำสืบไม่ได้ เพียงแต่สงสัยนิดเดียว ประโยชน์แห่งความสงสัย ศาลจะยกให้แก่นายชัยวัฒน์กับพวก นั่นคือ โอกาสศาลจะยกฟ้องมีสูง ดังนั้นหากเราสั่งไม่ฟ้อง กระบวนการของศาลยังไม่เริ่มต้น ภายในอายุความ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 หากมีพยานหลักฐานใหม่ อัยการสามารถหยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อสั่งใหม่ได้ แต่ถ้าฟ้องไปโดยพยานหลักฐานยังไม่พร้อม จึงย้ำว่า ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่พอ ฟ้องได้ แต่ถ้าฟ้องแล้ว บรรยายไม่ได้ หรือโอกาสนำสืบไม่ได้ แล้วศาลยก จะทำให้เกิดความเสียหายต่องานยุติธรรมของอัยการมากกว่า นี่คือมุมมองของอัยการคณะทำงาน"
สรุป คือ การสั่งของพนักงานอัยการโดยยึดโยงพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก พยานหลักฐานชิ้นไหนชัดเจนว่าพอฟ้องเช่น นายชัยวัฒน์จับตัวนายบิลลี่ พร้อมของกลาง ต้องส่งดำเนินคดี ไม่ใช่ปล่อยตัวไป หรือไม่มีกระบวนการดำเนินคดีใด ๆ อันนี้เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะถือว่าควบคุมในฐานะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เมื่อเก็บหาของป่าผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการ เมื่อปล่อยต้องเจอข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อัยการสั่งฟ้อง ทุกขั้นตอนฟ้องหมด แต่ข้อหาอื่น ๆ เป็นพยานหลักฐานที่อัยการเห็นว่า ยังไม่เพียงพอที่จะฟ้อง ถ้าฟ้องไป โอกาสพิสูจน์ไม่ได้ จะเสียหายมากกว่า .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพีบีเอส