"...ผมสรุปว่า ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงการรบ หรือสงคราม ระหว่างจีนกับสหรัฐ ให้ได้ หลีกเลี่ยงการที่จะถูกใครดึง ถูกใครผลักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนหน้าของสงครามใหญ่ ให้ได้ เรายังต้องการกระบวนทัศน์ ทฤษฎี และสำนักคิดใหม่ๆ ด้วย ที่หลุดออกจากกรอบเดิมพอควร และต้องการอย่างเร่งด่วน ถ้ายังไม่มีต้องเร่งสร้าง ช่วยกันสร้าง ผมฝากนายกราชบัณฑิตยสภาไปด้วยครับ ก่อนลาจากกันในวันนั้น..."
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ที่ผ่านมานี้ ผมไปนำการเสวนา วิทยากรคือ ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี และ ดร.สารสิน วีระผลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สหรัฐที่มีต่อจีน ได้อะไรน่าสนใจมาเล่าสู่และสรุปดังนี้ครับ
ขณะนี้ คนไทยต้องทราบกัน ว่าความขัดแย้งจีน-สหรัฐ นั้น เข้มข้นขึ้นมาก จนอาจจะกลายเป็น “สงครามเย็น” รอบใหม่ และจะกระทบไทยอย่างแน่นอน ดร วิวัฒน์ มุ่งการดี ท่านชี้ว่าในสหรัฐมีการพูดกันว่านี่อาจจะเป็นเป็นธรรมชาติของระบอบโลกที่ในที่สุดมหาอำนาจเก่านั้น ย่อมจะต้องขัดแย้งถึงขั้นรบกับมหาอำนาจใหม่ที่ท้าทาย
ก็จีนในเวลานี้แข็งแกร่งขึ้นมากทั้งทางทหาร และร่ำรวยเติบใหญ่ขึ้นมามากในทางเศรษฐกิจ มีกระแสข่าวว่าสหรัฐพยายามที่จะใช้อาเซียนรวมทั้งไทยเป็นศูนย์กลางในการกดดัน ป้องปราม และปิดล้อมจีน ในด้านความมั่นคงและการทหาร สหรัฐดูจะพยายามบีบให้เราเข้าร่วม
นักยุทธศาสตร์ไทยหลายท่านเตือนว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ไทยดูจะเอนไปทางจีน ต้องปรับระยะ หันไปหาสหรัฐมากขึ้น เกรงว่าถ้าเราทิ้งสหรัฐไปอยู่กับจีนที่กำลังมาแรงมาเร็ว จะคล้ายกับที่เข้าข้างญี่ปุ่น มหาอำนาจใหม่ในตอนเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นนั้นทำท่าจะชนะในตอนแรก แต่ที่สุดก็กลับแพ้ต่อสหรัฐและอังกฤษ มหาอำนาจเก่า
คิดตามนักยุทธศาสตร์เหล่านั้น เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าเห็นแต่ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับจีน เห็นแต่ความเข้มแข็งเติบใหญ่ของจีน ณ ปัจจุบัน แล้วด่วนทิ้งสหรัฐ ไปอยู่กับจีน ในที่สุดเราก็จะแพ้ตามจีน เพราะสหรัฐนั้น ถึงจะอ่อนลงบ้าง ก็ยังเป็นอันดับหนึ่งทั้งในทางการทหาร เทคโนโลยี และทางเศรษฐกิจการเงิน นี่ก็เป็นข้อเตือนใจที่น่ารับฟัง
ผู้เข้าเสวนา โดยเฉพาะท่านอนันต์ อนันตกูล และ นพ.สุรพล อิศรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา ชวนให้เราเบาใจว่า ไทยคงคบหาและใกล้ชิดกับมหาอำนาจทั้งเก่าทั้งใหม่ต่อไป คงไม่เลือกอยู่กับใคร เลือกทิ้งใครไป เรามีสัญชาตญาณและประสบการณ์สูงในการรักชอบทุกฝ่าย แต่ก็พร้อมจะพลิกพลิ้วได้ เพื่อความอยู่รอดของชาติ
ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี เสริมว่าในสมัย ร.5 ฝรั่งเศสและอังกฤษเชือดเฉือนเอาดินแดนสยามไปมากมาย แต่ไม่กี่สิบปีต่อมา ร.6 กลับเข้ากับฝรั่งเศสและอังกฤษ รบกับเยอรมัน ซึ่งคนไทยทั่วไปนิยมมากกว่าด้วยเหตุที่ไม่เคยมาคุกคามเรา และ อีกตัวอย่างหนึ่ง ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเราแพ้พร้อมกับญี่ปุ่น เราก็พลิกตัวฉับพลัน เร่งคืนดินแดนที่ได้มาจากสงคราม คืนให้กับอังกฤษฝรั่งเศส รวมทั้งคืนดินแดนที่ได้มาจากสงครามอินโดจีน ที่ไม่เกี่ยวกับสงครามโลก ก็คืนเขาไปด้วย คืนมากกว่าที่ควรจะคืน และในเวลาอันรวดเร็วราวกระพริบตา เราก็โผผินเข้าอยู่กับฝ่ายสหรัฐ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกันในสงครามโลกครั้งที่สอง ไปเผชิญหน้ากับฝ่ายโซเวียต-จีน ที่สุดท่านยังชี้ว่าไทยซึ่งแพ้ในสงครามโลกนั้น ช่างพลิกตัวเร็วเหลือเกิน กระโจนเข้าร่วมสหประชาชาติอันเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยศัตรูเก่าที่เราร่วมกับญี่ปุ่นรบมาหยกๆ คือ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสดูเถอะ! ญี่ปุ่น และ เยอรมัน มิตรของเรา ในสงครามโลกนั้น เข้าสหประชาชาติหลังเราเป็นสิบปี เทียว
ท่านอนันต์ อนันตกูล ผู้อาวุโส มากด้วยประสบการณ์ สมองเฉียบแหลมยิ่ง และ นพ สุรพล นายกราชบัณฑิตยสภา ยังเสนออย่างคมคายถึงขั้นว่า “ตอนนี้” ทิ้งจีนไม่ได้แน่ เพราะจีนนั้นใกล้ชิด ดีกับเรา และให้มีประโยชน์กับเรามาก ย้ำว่า ถ้าพูดกันถึงเรื่อง “ประโยชน์“ แล้ว เราต้องเอาจีน แต่ “ตอนหน้า” หรือต่อไปถ้าจีนจะรบกับสหรัฐ เราต้องไม่ร่วมรบด้วย พูดถึง “ความน่ากลัว” แล้ว สหรัฐนั้นน่ากลัวกว่า แน่นอน เราต้อง “รู้จักกลัว“ จะไปรบคนละฝ่ายกับสหรัฐย่อมไม่ได้
คำถามต่อมาคือ แล้วสหรัฐกับจีนจะต้องรบกันจริงหรือเปล่า? เราต้องไม่ตกอยู่ในกรอบคิดที่ว่าเขาจะต้องรบกันแน่ เพราะยุคนี้มีนิวเคลียร์ รบกันเต็มรูปแบบ ก็นำไปสู่โลกาวินาศได้จริงๆ แพ้ทั้งคู่ ย่อยยับทั้งโลก แต่รบจำกัด รบแบบกลายพันธ์ ใช้ตัวแทนรบ อาจมีได้ ต้องพยายามไม่เข้าไปเป็นฝ่ายไหนนั่นแหละ แต่ว่าเราเป็นประเทศไม่ใหญ่โต ต้องอาศัย “อาเซียน” หรืออาจเอาอาเซียน ไปร่วมกับ “ อียู “ หรือ มหาอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐ-จีน ในการหย่อนคลายความตึงเครียด ทำให้มหาอำนาจอันดับหนึ่งและสองปรับตัวเข้าหากัน แทนที่จะไปเลือกรบกับใคร เลือกอยู่กับใครฝ่ายเดียว หนุนให้เขาเผชิญหน้า ปะทะ และรบ กัน
ดังนั้น ในความเห็นของผม ข้อเสนอล่าสุดของหลายฝ่ายในสหรัฐที่จะให้ไทยมีบทบาทสูงในด้านความมั่นคงที่กระทำต่อจีนนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบระมัดระวัง แต่การให้ความร่วมมือกับสหรัฐในด้านความมั่นคง ที่ไม่เจาะจงว่าเป็นปฏิปักษ์กับใคร โดยเฉพาะไม่เป็นปฏิปักษ์กับจีนนั้น ก็ทำได้อยู่แล้ว และควรทำให้มากขึ้น เพื่อให้สหรัฐมั่นใจว่าเราไม่ได้ทิ้งเขาไปอยู่กับจีนอย่างแน่นอน
อันที่จริง จีนในทุกวันนี้ แม้ดูจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมาก แต่เราก็ยังต้องการการลงทุนที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีสูงจากจีนอีกมาก และสหรัฐเอง ก็สามารถเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ ที่คนไทยก็ต้อนรับอีกมากโดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซี เราควรใช้การประชันขันแข่งระหว่างจีน-สหรัฐ มาเป็นประโยชน์กับเราเอง ใช้แรงกดดันของสหรัฐมาเป็นเหตุผลักดันให้จีนนำการลงทุนการค้าที่ดีมีคุณภาพไม่เป็นแบบชั่วคราวเฉพาะหน้าคุณภาพตลาดๆ ไปหมด และใช้แรงกดดันจากจีน มาเป็นเหตุผลักดันให้สหรัฐลงทุนที่ก้าวหน้าทันยุคและเป็นประโยชน์ในระยะยาวในไทย
ดร.สารสิน วีระผล วิทยากรหลักอีกท่านหนึ่ง เสนอว่าจีนนั้นความจริงยังไม่คิดว่าจะเป็นคู่แข่ง จะสู้กับสหรัฐเพื่อแย่งอันดับหนึ่ง อย่างที่สหรัฐมีจินตนาการอยู่ จีนนั้นไม่ต้องการสงครามอย่างแน่นอน สันติภาพต่างหากที่เขาต้องการ แผนการของจีนนั้นคือ เป็นมหาอำนาจระดับโลกจริงๆ ในทุกด้าน ก็ในปี 2592 โน่นเชียว ผมเชื่อว่ายุทธศาสตร์ของจีนนั้น สูงสุดคือ ชนะ สหรัฐด้วยการไม่รบ นั่นคือสุดยอด แต่ถ้าสหรัฐจะรบ ก็ไม่กลัว เวลานี้ก็มีอะไรพอที่สหรัฐจะหักหาญทางการรบไม่ได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน
ท่านสารสินเสนออย่างแยบยลว่า เราต้องไม่ติด “กับดักความคิด” อย่างเพลิดเพลิน ประเภท “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้“ หรือ “มหาอำนาจเก่ากับใหม่ต้องรบกันแน่” หรือ “ระบบโลกหรือโลกาภิวัตน์นั้น มีได้ระบบเดียว” ท่านชี้ว่าอาจเป็นไปได้ที่เราจะมี “หนึ่งโลกาภิวัตน์สองระบบ“ คือระบบสหรัฐกับระบบจีน
ท่านวิวัฒน์ ดูจะสนับสนุนเรื่องนี้ ท่านชี้อีกว่าในประวัติศาสตร์ความคิดของจีนนั้นมีถึงสามสำนัก คือขงจื่อ เต๋า และพุทธ และทั้งสามสำนักนี้ไม่มีสำนักไหนใหญ่กว่าใคร อยู่ร่วมกันอย่างสันติ หยิบเอาของดีเรื่องดีจากสำนักอื่นมาใช้ มาตีความใหม่ได้ ไม่ปะทะ ไม่ขัดแย้งกัน ผมอยากจะเรียกว่า “หนึ่งจักรวาล สามระบบความคิด”
ผมสรุปว่า ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงการรบ หรือสงคราม ระหว่างจีนกับสหรัฐ ให้ได้ หลีกเลี่ยงการที่จะถูกใครดึง ถูกใครผลักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนหน้าของสงครามใหญ่ ให้ได้ เรายังต้องการกระบวนทัศน์ ทฤษฎี และสำนักคิดใหม่ๆ ด้วย ที่หลุดออกจากกรอบเดิมพอควร และต้องการอย่างเร่งด่วน ถ้ายังไม่มีต้องเร่งสร้าง ช่วยกันสร้าง ผมฝากนายกราชบัณฑิตยสภาไปด้วยครับ ก่อนลาจากกันในวันนั้น
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.mmthailand.com