ผลของไฟป่าออสเตรเลียในเวลาแค่ 3 เดือน ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 350 ล้านตัน ในหนึ่งปี ออสเตรเลียปล่อยคาร์บอน 532 ล้านตัน เพราะฉะนั้น ไฟป่าหนนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วเท่ากับ 2 ใน 3 ของประเทศ/ปี และไฟยังไม่ดับ...
ออสเตรเลียกำลังเจอไฟป่าแสนสาหัส พื้นที่โดนไฟมากกว่า 50,000 ตร.กม. หรือใหญ่กว่าภาคตะวันออกรวมกทม.และปริมณฑล เมื่อคืนวันเสาร์มีการประกาศพื้นที่ฉุกเฉินกว่า 12 แห่ง ลมกรรโชกแรงบางจุดวัดได้เกิน 110 กม/ชม แรงลมยังพาคลื่นความร้อนเข้าชุมชน บางแห่งอุณหภูมิสูงเกิน 60 องศา รัฐที่หนักหนาสาหัสสุดคือ NSW
ผมไม่อยากลงภาพน่าเศร้าที่เพื่อนธรณ์คงเห็นกันบ้างแล้ว แต่นำภาพดาวเทียมที่วิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีมาให้ดู เป็นไฟป่าที่ blue mountain เขตมรดกโลกของออสเตรเลีย สมัยเรียนผมไปเที่ยวที่นี่หลายครั้ง เคยนอนค้างในเมือง katoomba ไปเดินเทรคกิ้งตามป่า ขึ้นเคเบิ้ลคาร์สายสั้นๆ เพื่อดู three sisters
ในภาพดาวเทียมล่าสุดในวันนี้ เห็นพื้นที่โดนไฟป่าเผาเป็นสีส้มขนาดใหญ่ ไม่ไกลจาก katoomba และเป็น 1 ในกว่า 60 จุดของไฟป่าใน NSW ที่ยังคุมไม่ได้ (เฉพาะ NSW นะครับ) ปรกติออสเตรเลียเกิดไฟป่าเป็นประจำ ผมก็เคยขับรถเฉียดไฟป่าแบบเบาะๆ เห็นต้นไม้ลุกไหม้ริมทาง แต่ประจำในที่นี้คือปีละ 2-3 พันตร.กม. ไม่ใช่กว่า 5 หมื่น
แล้วเมื่อไหร่จะดับได้ ? คำตอบคือไม่ทราบ เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่ตอนนี้คือพยายามป้องกันชุมชนบ้านเรือน ไม่ใช่เข้าไปดับไฟ เนื่องจากทราบดีว่าคงเหลือกำลัง แม้จะมีเจ้าหน้าที่กว่า 3,300 คน อาสาสมัครอีกหลายพัน หรือส่งกำลังทหารเข้าช่วย แต่ไฟป่ากระจายไปทั่วและคงต้องรอให้ธรรมชาติช่วย
นั่นคือรอฝน/ความชื้น มาลดความแห้งของแผ่นดิน
แล้วเมื่อไหร่ฝนจะมา ? นั่นก็ยากตอบ เพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ IOD แปรปรวน (indian ocean dipole - เล่าไปแล้ว ลองอ่านย้อนหลังนะครับ)
นี่คือสิ่งหนึ่งที่อยากบอก เพราะบางครั้งผู้บริหารระดับสูงไม่ว่าประเทศใด มักมาจากภาคมนุษย์สั่งมนุษย์ จึงเข้าใจว่าเราสั่งธรรมชาติได้
เมื่อดับไม่ได้ ก็ใส่คนใส่อุปกรณ์ใส่เงินเพิ่มเข้าไป มันก็ต้องทำได้ แต่ธรรมชาติใหญ่กว่าเราเกินไป นี่ไม่ใช่เป็นแนวคิด นี่คือความจริง
ความจริงว่าเราจะใส่คน ใส่เงิน ใส่เทคโนโลยี หรือใส่อะไรไปก็ตามที มันก็แค่หยดน้ำในทะเลทราย เราถูกปลูกฝังว่า ไม่มีอะไรเกินความสามารถมนุษย์ ซึ่งมันไม่ใช่ มีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าเรามากๆ แต่เราไม่พยายามจะรับรู้และอ่อนน้อม เราไปจุดในสิ่งที่เราไม่ควรจะไปจุด และเมื่อมันลามแล้ว มันกระทบไปทั่ว เกิดเป็นตัวเร่งปฏิกริยา
ผลของไฟป่าออสเตรเลียในเวลาแค่ 3 เดือน ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 350 ล้านตัน ในหนึ่งปี ออสเตรเลียปล่อยคาร์บอน 532 ล้านตัน เพราะฉะนั้น ไฟป่าหนนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วเท่ากับ 2 ใน 3 ของประเทศ/ปี และไฟยังไม่ดับ...
นอกจากนี้ ผืนป่าถูกทำลายไปมาก เท่ากับออสเตรเลียสูญเสียป่าที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนในระยะยาว และสภาพที่ไฟเผาทำให้แผ่นดินแห้งแล้งขึ้น ทุกอย่างผิดไปจากเดิม ป่าจึงฟื้นยาก
นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าอาจจะใช้เวลานับร้อยปีกว่าป่าจะสมบูรณ์กลับมาดูดซับคาร์บอนได้เท่าเดิม ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศในระยะยาว เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีข้อตกลงว่าจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกเยอะหน่อย เมื่อป่าหายไปมาก ตัวช่วยก็หายไป กลับมากดดันภาคอุตสาหกรรมให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกหนักขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกลับไปที่การลงทุน/เศรษฐกิจ
เขียนมาทั้งหมด เพื่อให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพว่า โลกร้อน/แปรปรวน ไม่ได้แค่ทำให้สัตว์ตาย บ้านไหม้ อากาศไม่ดี นักท่องเที่ยวไม่มา ฯลฯ ที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า
แต่เมื่อโลกโกรธแล้ว ปัญหามันจะฝังลึก กระทบชิ่งไปมา ต่อเนื่องยาวนาน ในฐานะคนที่เรียกออสเตรเลียว่าบ้านหลังที่สอง ผมเป็นห่วงเพื่อนๆ และอยากให้ภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านไปโดยเร็ว แต่อีกอย่างที่ติดตามด้วยความหวาดหวั่น คือสิ่งที่เกิดกับออสเตรเลีย สามารถเกิดขึ้นกับเมืองไทยได้แสนง่าย
ไฟ ภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ ที่สามารถทำให้สภาพของประเทศเราเปลี่ยนไปในพริบตา
เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยเขียนหนังสือเรื่องโลกร้อนขาย 3-4 เล่ม ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก กะว่าคงเกิดในยุคลูก เป็นห่วง กลัวลูกลำบาก ฯลฯ แต่นั่นก็เมื่อเราจากไปแล้ว แต่ตอนนี้ ให้ผมเขียนใหม่ คงไม่ใช่เช่นเดิม มหันตภัยไม่ใช่ย่างกรายเข้ามา ไม่ใช่กำลังเคาะประตู แต่ประตูพังแล้ว มันเข้ามาแล้ว
มันกำลังเกิดในยุคเรานี่แหละ...
ที่มา:https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/