“ต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งมี 2 ฝ่าย มีฝ่ายได้ ฝ่ายเสีย ไม่ว่าจะชี้ไปทางไหน ต้องมีการไม่พอใจ เราตระหนักดี เพราะฉะนั้นการเดินตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสำคัญที่สุด ต้องเชื่อมั่นในระบบกฎหมาย เชื่อมั่นว่าเราทำตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเราเดินตามกฎหมายทุกอย่าง น่าจะเป็นความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง ยกเว้นไปสร้างภาพให้มันผิดเพี้ยนไป ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ความเชื่อมั่นตรงนี้เราต้องรีบชี้แจงต่อสังคม ต่อโลกโซเชียลมีเดียให้มากที่สุด”
ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาทมากที่สุดหนีไม่พ้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งการเลือก ส.ว. ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 และการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงเดือน ส.ค. 2554 (ไม่นับการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นโมฆะ)
ทว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเคลือบแคลงสงสัยในการจัดการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. เนื่องจากพบประเด็นปัญหาและอุปสรรคจำนวนมาก จนถึงขนาดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เผ็ดร้อนจนติดเทรนด์โลกออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว ?
นอกเหนือจากบทบาทในการจัดการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่อีกส่วนของสำนักงาน กกต. คือการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดฐานทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงกรณีคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ต่าง ๆ โดยในปี 2562 มีการส่งเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งให้เพิกถอนสิทธิผู้สมัคร ส.ส. เป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ หรือกรณีทุจริตการเลือกตั้ง
ประเด็นการสืบสวนตรวจสอบคุณสมบัตินี่เองทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูก กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้นเพราะขณะนี้สำนักงาน กกต. กำลังไต่สวนกรณีนายธนาธร รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังสมัครับเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2561 มาตรา 151 หรือไม่อีกหนึ่งกระทง ถ้าผิดจริงมีโทษสูงสุดจำคุกถึง 10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยาวถึง 20 ปี
เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กกต. กันไปแล้ว เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงกระจ่างชัดทั้งการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงการดำเนินคดีต่าง ๆ และเป้าหมายการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2563 องค์กรอิสระแห่งนี้จะทำหน้าที่อย่างไรต่อไป ท่ามกลางกระแสความไม่เชื่อมั่นจากประชาชน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสนั่งสนทนากับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ที่ห้องทำงานบนชั้น 8 อาคารสำนักงาน กกต. โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ มาในชุดสูทสีดำ พร้อมชี้แจงทุกข้อครหาเกี่ยวกับสำนักงาน กกต.
“เรายอมน้อมรับข้อบกพร่องทุกอย่าง”
คือคำยืนยันของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เมื่อถูกพูดถึงปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือก ส.ว. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนถึงการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และข้อกฎหมายใหม่ทั้งหมด มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเยอะมาก แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะมีลักษณะคล้ายของเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของบัตรเลือกตั้ง และการคำนวณคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายปี เป็นการเปลี่ยนผ่านจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาสู่การมีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ครบวาระของรัฐบาลหรือเลือกตั้งใหม่เพราะยุบสภา ดังนั้นประชาชนไม่ได้เลือกตั้งมานาน และคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งใหม่พอสมควร ทำให้ต้องมีข้อบกพร่องบ้าง ไม่ราบเรียบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
เลขาธิการ กกต. ระบุว่า จากการตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดกว่า 92,300 หน่วย 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ พบว่า มีประเด็นปัญหาร้องเรียนประมาณ 40-50 เรื่อง คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ดีบางเรื่องจุดเล็ก ๆ พอถูกนำไปขยายในโซเชียลมีเดีย ทำให้กลายเป็นข้อบกพร่องใหญ่โต
“เรายอมรับข้อบกพร่องครับ ดูเหมือนเยอะ ความจริงแล้วปริมาณน้อย แต่กลับมีการแพร่กระจายกันอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนดู โอ้โห ภาพรวมดูไม่ดีเลย ทางสำนักงาน กกต. ขอน้อมรับฟังทุกอย่าง”
@จ้าง ม.ธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ถอดบทเรียนเลือกตั้งปี 62
เขายกตัวอย่างว่า กรณีมีภาพเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียว่า มีการตั้งหีบบัตรใต้ต้นไม้ตอนกลางคืนวันเลือกตั้ง ส.ส. ถูกแพร่ข้อความว่า มีการเปิดหีบเปลี่ยนบัตร ทั้งที่ความจริงคือการต่อคิวรอนำบัตรเข้าไปเก็บในคูหาส่วนกลาง กว่าจะชี้แจงได้ว่าความจริงเป็นแบบนี้ โซเชียมีเดียก็แพร่กระจายไปไกลแล้ว ดังนั้นกว่าจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ว่าความถูกต้องคืออะไรจึงหนักพอสมควร ภาพของสำนักงาน กกต. เลยดูไม่กระเตื้องเท่าไหร่ในสังคม
อย่างไรก็ดี เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาค่อนข้างพอใจพอสมควร เพราะสามารถทำให้ประเทศมีสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ได้ (หัวเราะ) ขณะเดียวกันสำนักงาน กกต. ได้ว่าจ้างให้ ม.ธรรมศาสตร์ เข้าไปทำวิจัยลงสำรวจพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนหลังการเลือกตั้งว่าเกิดปัญหา และอุปสรรคตรงไหนบ้าง หลังจากนั้นจะได้นำมาถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขต่อไป
“ปัญหาการแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย จากประสบการณ์ที่ผมเคยไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่าไม่ใช่มีแค่ประเทศเราประเทศแรกที่เจอ ยกตัวอย่างมีบางประเทศเกิดกรณีปัญหาคล้าย ๆ เราเลย ดังนั้นวิธีการแก้ไขคือต้องชี้แจงต่อสังคมให้ไวที่สุด ต้องอาศัยความไว ส่วนสังคมจะรับรู้หรือเชื่อหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่การชี้แจงด้วยเอกสาร ดีกว่าการให้สัมภาษณ์ เพราะถือว่า เอกสารออกไปค่อนข้างตรงประเด็น และมั่นคงกว่า”
@ลั่นทำคดีตามข้อเท็จจริง-กฎหมาย ขอสังคมเชื่อมั่น
ส่วนจะทำอย่างไรให้สังคมกลับมาเชื่อมั่นองค์กรอิสระที่ชื่อ กกต. อีกครั้งนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนตอบว่า อย่างที่บอกแต่ต้นว่าเราเดินตามกฎหมาย เราคงไม่ทำผิดเพี้ยนข้อกฎหมาย ทุกอย่างเดินภายใต้กระบวนการทางกฎหมายเป๊ะ ๆ หากทำผิด หรือมีข้อคลางแคลงใจเกิดขึ้น เขา (หมายถึง ส.ส. หรือประชาชน) ก็ฟ้องเราได้เหมือนกัน
“ต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งมี 2 ฝ่าย มีฝ่ายได้ ฝ่ายเสีย ไม่ว่าจะชี้ไปทางไหน ต้องมีการไม่พอใจ เราตระหนักดี เพราะฉะนั้นการเดินตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสำคัญที่สุด ต้องเชื่อมั่นในระบบกฎหมาย เชื่อมั่นว่าเราทำตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเราเดินตามกฎหมายทุกอย่าง น่าจะเป็นความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง ยกเว้นไปสร้างภาพให้มันผิดเพี้ยนไป ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ความเชื่อมั่นตรงนี้เราต้องรีบชี้แจงต่อสังคม ต่อโลกโซเชียลมีเดียให้มากที่สุด”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีหลายเรื่องเหมือนกันที่สำนักงาน กกต. รวมถึงตัวเองถูกฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และปัจจุบัน ป.ป.ช. กำลังไต่สวนกรณีพวกนี้อยู่ด้วย ดังนั้นเห็นได้ว่าถ้าเราทำอะไรที่อาจทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย เราถูกฟ้องได้ มีองค์กรที่ตรวจสอบเราอีกทอดหนึ่งอยู่
“กว่าเราจะวิเคราะห์ หรือชี้ข้อกฎหมายบางอย่าง คือเราดูแล้วดูอีก ดูข้อกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรต่าง ๆ ทั้งสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรืออื่น ๆ เราคิดแล้วคิดอีก ทำแล้วทำอีก นั่นจึงอาจทำให้เกิดความไม่พึงพอใจกับกลุ่มผู้เสียประโยชน์”
@กระบวนการไต่สวนคดีโต๊ะจีน พปชร.-หุ้นสื่อแตกต่างกัน
ประเด็นสำคัญถัดมาคือ สำนักงาน กกต. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหานักการเมืองหลายคดี เช่น คดีโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือคดี่เกี่ยวข้องกับ ส.ส. ซีกรัฐบาล เมื่อเทียบกับคดีหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่แล้ว มีการเร่งรัดดำเนินการไม่เหมือนกัน ทำให้ถูกสังคมครหาว่า สำนักงาน กกต. กลายเป็น ‘องค์กรไม่อิสระ’ เสียแล้ว ?
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ดันตัวจากพนักโซฟาขึ้นมานั่งหลังตรงตอบด้วยสีหน้าจริงจังว่า เรื่องคดีความต่าง ๆ เหล่านี้ต้องแยกข้อเท็จจริงออกจากกันก่อน เช่น เรื่องการจัดโต๊ะจีน มิใช่แค่พรรค พปชร. พรรคเดียวที่จัด แต่พรรคอื่นก็จัด เพราะการจัดโต๊ะจีนเป็นหนึ่งในวิธีการระดมทุนหาเงินเข้าพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ขณะที่เรื่องหุ้นสื่อของนายธนาธรนั้น เป็นเรื่องคุณสมบัติ เป็นคนละส่วนกัน กระบวนการสืบสวนต่างกัน
เลขาธิการ กกต. อธิบายถึงกรณีการจัดโต๊ะจีนระดมทุนของพรรค พปชร. ว่า เรื่องวิธีการระดมทุนพรรคการเมือง ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ กระบวนการตรวจสอบของสำนักงาน กกต. คือให้นายทะเบียนพรรค (ตัวเขาเอง) ดูว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่จ่ายเงินระดมทุนนั้น เป็นบริษัทต่างชาติหรือไม่ ถ้ามีก็ยุบพรรคแน่นอน หรือเงินต่าง ๆ ที่ได้มานั้นได้มาโดยชอบหรือไม่ ซึ่งได้มาโดยชอบในที่นี้หมายถึง ไม่ใช่เงินที่ได้มาจากยาเสพติด หรือเงินสกปรกต่าง ๆ ตามกฎหมาย
“กรณีโต๊ะจีนอาจ โอ้โห ดูใหญ่โต แต่ความจริงแล้วเงินระดมทุนที่เข้ามาไม่ถึงกับที่ พปชร. เคยพูดไว้ ส่วนประเด็นบริษัทบางแห่งขาดทุนทำให้จ่ายเงินระดมทุนได้ เราตรวจสอบแค่ว่าเงินที่ได้มาโดยชอบหรือไม่ แต่ให้ไปตรวจสอบเส้นทางการเงินคงไม่ถึง อำนาจหน้าที่เรามีจำกัดในแง่กฎหมาย เช่นเดียวกับการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่ห้ามเกิน 10 ล้านบาทต่อปี เราก็ตรวจสอบตามที่เขารายงานมา เพราะเจตนาของกฎหมายคือไม่ให้มีนายทุนมาครอบงำพรรคการเมือง ขอบเขตอยู่ตรงนั้น”
(หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : แกนนำ พปชร. เคยบอกว่าจะระดมทุนให้ได้ 600 ล้านบาท แต่ตามเอกสารที่แจ้ง กกต. ระบุว่าได้มาเพียง 352 ล้านบาทเศษ สำนักข่าวอิศราเคยสอบถาม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐถึงประเด็นนี้ นายณัฏฐพล ระบุว่า เป็นเพราะกังวลว่าสำนักข่าวอิศราจะเข้าไปตรวจสอบบริษัทเอกชนที่เหลือ จึงคงยอดระดมทุนแค่นี้ - อ่านประกอบ :‘อิศรา’ถาม‘ณัฏฐพล’ตอบ! หลังฉากงานโต๊ะจีน ปิดยอด 352 ล.-ชื่อ‘คลัง-ททท-กทม’มาจากไหน?)
@ยันชัดปมโต๊ะจีน พปชร.ไม่มี จนท.รัฐเอี่ยว
สำหรับประเด็นปัญหาที่ค้างคาใจสาธารณชนมานานว่า ตกลงงานระดมทุนโต๊ะจีน พปชร. มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมหรือไม่นั้น เขายืนยันเสียงหนักแน่นว่า ไม่มี เราไปตรวจสอบมาแล้ว ที่มีการกล่าวอ้างกันนั้น เราขอความร่วมมือจากพรรค พปชร. เอง หรือหน่วยงานรัฐเอง เขาก็ตอบมาว่าไม่เกี่ยว ไม่ได้ไปบริจาคเงิน ส่วนเงินในงานเราก็ตรวจสอบตามบัญชีที่พรรค พปชร. ให้มาตามเอกสาร อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเรามีเท่านี้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ อธิบายอีกว่า ส่วนกรณีการถือหุ้นสื่อนั้น เป็นเรื่องคุณสมบัติ เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง กระบวนการสืบสวนเป็นอีกแบบหนึ่ง เป้าหมายของการสืบสวนสอบสวนคือการรวบรวมข้อเท็จจริง บางคดีรวบรวมง่าย บางคดียาก แต่กรณีนี้สำนักข่าว (อิศรา) ขุดข้อเท็จจริงมา พอเราไปตรวจสอบดูพบข้อเท็จจริงเร็ว ทำให้ระยะเวลาสั้น ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงยุติหมดแล้ว เมื่อไปตรวจสอบกับทางสื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้สื่อมาชี้นำ แต่หมายถึงเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมเป็นที่ยุติแล้ว ตามกระบวนการเลยไม่ต้องใช้เวลาเยอะ ก็ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายเท่านั้นเอง
“แต่สังคมกลับเอา 2 คดีนี้ไปเปรียบเทียบกัน เป็นการเปรียบเทียบคนละอย่าง อันนี้ (โต๊ะจีน พปชร.) ตรวจสอบช่องทางหนึ่ง อีกอัน (หุ้นสื่อ) เป็นการสืบสวนอีกช่องทางหนึ่ง ต้องดูและต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็โดนฟ้องร้องได้ แต่พอมีการเปรียบเทียบแบบนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย เราก็โดนโจมตีเยอะ ทั้งที่เราทำเท่ากันทั้งหมด เราดูข้อเท็จจริง ดูกฎหมาย และดูอำนาจหน้าที่เป็นหลัก”
@เหลือคดีทุจริตเลือกตั้งอีก 30-40 คดี เร่งทำให้เสร็จก่อนครบ 1 ปี
ส่วนคดีสำคัญที่ยังค้างคาอยู่ในมือสำนักงาน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า คดีร้องเรียนกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง ปัจจุบันคณะกรรมการ กกต. กำลังเร่งรัดอยู่ จากเดิมมีเกือบ 400 คดี ปัจจุบันเหลือประมาณ 30-40 คดี เพราะกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงอย่างที่บอกว่า หากข้อเท็จจริงยุติให้ไปดูข้อกฎหมาย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ยุติให้ดำเนินการไต่สวนต่อ ดังนั้นคาดว่าในช่วงต้นปีหน้า ไม่เกินเดือน มี.ค. 2563 น่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด เพราะต้องทำให้เสร็จก่อนครบ 1 ปีเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นจะลำบากในการคำนวณคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ส่วนเรื่องคุณสมบัติ ส.ส. บางเรื่องทางสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเอง เช่น กรณีถือหุ้นสื่อของ ส.ส. อีก 64 รายเป็นต้น แต่บางเรื่องเราก็กำลังสืบสวนอยู่เช่นกัน
(หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 94 วรรคสอง ระบุว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลาหนึ่งปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมี)
@เป้าหมายปี 63 จัดเลือกตั้งท้องถิ่น-เสริมจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุถึงเป้าหมายการทำงานของสำนักงาน กกต. ในปี 2563 แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ
หนึ่ง การเสริมสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยแก่พลเมือง
เขาอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ของสำนักงาน กกต. โดยเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการปฏิรูปการเมือง ดูแล้วอาจเป็นนามธรรม แต่เราต้องการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางประชาธิปไตย รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมด้วยจิตสำนึกที่ดี และมีระเบียบวินัย
“จุดเริ่มต้นเรื่องนี้มาจากการซื้อเสียงที่ผ่านมา เราก็คิดว่าตอนนี้บุคลากรของสำนักงาน กกต. มีราว 2,000 คนเศษ แต่ประเทศไทยมีคนมากถึง 60 กว่าล้านคน เราจะทำอย่างไร จะไปไล่บี้ตรวจสอบให้หมดก็ทำไม่ทัน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึก สร้างกำแพงในจิตใจว่า ต้องไม่ทำแบบนั้น ต้องให้เขารู้ว่าถ้ามีการแจกเงิน ต่อไปคนพวกนี้แหละจะเข้าไปทุจริต เราพยายามกระตุ้นจิตสำนึกแบบนี้แก่พลเมือง”
สอง การเลือกตั้งท้องถิ่น
ตอนนี้ฝ่ายเรา (สำนักงาน กกต.) เตรียมพร้อมเสร็จหมดแล้ว เราเตรียมการเรื่องนี้มาก่อนหน้าหลายเดือน ผมเป็นประธานในที่ประชุมคณะเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นตลอด ตั้งแต่ก่อน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จะออกเสียอีก เรามีการเตรียมงบประมาณ เตรียมระบบ มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเตรียมช้งาน รวมถึงระเบียบสำนักงาน กกต.ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเช่นกัน ตอนนี้เหลือแค่กระบวนการทางกฎหมาย และรัฐบาล เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น
รูปแบบการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน เดิมสำนักงาน กกต. จะลงไปจัดเอง แต่ตอนนี้หน่วยงานเจ้าภาพในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงาน กกต. แค่ส่งคนไปช่วยกำกับดูแล เบื้องต้นขณะนี้ต้องรองบประมาณเพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการคำนวณประชากรไทยในปี 2562 เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่น คาดว่ากระทรวงมหาดไทยจะเผยแพร่ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 จึงดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้
“ในปี 2563 น่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นค่อนข้างแน่นอน ส่วนจะเลือกท้องถิ่นรูปแบบใดก่อน เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล อันนี้ต้องรอรัฐบาลกำหนด แต่เราพร้อมควบคุมและแจ้งให้ท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งได้ ที่สำคัญเราจะถอดบทเรียนจากการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 มาปรับใช้ด้วย”
@ย้ำอีกครั้ง! ขอให้เชื่อมั่น-ทุกพรรคเท่าเทียมกันหมด
โดยสรุปภารกิจสำนักงาน กกต. ในปี 2562 สู่ปี 2563 เน้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นหลัก จะทำยังไงให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรอิสระอย่าง กกต. อีกครั้ง ?
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยืนยันว่า ขอให้เชื่อมั่นว่าเราทำตามกฎหมายจริง ๆ ถ้าไม่ทำตามกฎหมาย ก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถถูกฟ้องได้ เราถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบทุกเรื่อง ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่าเราทำตามกฎหมายจริง ๆ กระบวนการต่าง ๆ เปิดเผยหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลมาขอคำปรึกษาเรื่องกฎหมาย เราให้บริการเท่าเทียมกันหมด เราพยายามทำให้เท่าเทียมกันทุกอย่าง ทุกพรรคต้องเท่าเทียมกัน เราเดินตามกฎหมายจริง ๆ ขอให้มั่นใจตรงนี้ก็พอแล้ว
ทั้งหมดคือความในใจจาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ในฐานะ ‘นายท้ายเรือ’ ผู้ขับเคลื่อนให้สำนักงาน กกต. เดินไปตามทิศทางที่เชื่อว่าถูกต้อง ท่ามกลางพายุทางการเมืองที่กำลังโหมกระหน่ำใส่อย่างรุนแรง
ท้ายที่สุดเขาจะพาเรือลำนี้ฟื้น ‘วิกฤติศรัทธา’ จากประชาชนได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปในปี 2563
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/