"...การเย้ยหยันด้วยถ้อยคำดังกล่าวนอกจากจะดูถูกดูแคลนผู้ที่อาวุโสกว่าแล้วยังเป็นการด่าตัวเองล่วงหน้าอีกด้วยเพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ก็จะก้าวเข้าสู่วัยป้าและวัยลุงโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆและเมื่อถึงวันนั้นพฤติกรรมที่ตัวเองจะแสดงออกอาจไม่ต่างจากบุคคลที่ตัวเองเคยเรียกว่ามนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุงในวันนี้ก็เป็นได้..."
คนไทยเรานั้นมีคุณลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการนับถือผู้อาวุโสซึ่งแสดงถึงความเป็นไทยอยู่ในตัวและควรเป็นความภาคภูมิใจที่เรายึดถือกันตลอดมาว่าการเคารพนับถือ พ่อ แม่และญาติผู้ใหญ่ เช่น ลุง ป้า น้า อา เป็นคุณสมบัติของคนดีและเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้ผู้อื่นเอ็นดูเมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องของเรา จนทำให้เราสามารถเรียก คนที่ไม่ใช่ คนในครอบครัวเดียวกันหรือญาติใกล้ชิดว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ได้อย่างสนิทปาก โดยที่ผู้ที่ถูกเรียกก็มักไม่ได้แสดงอาการรังเกียจแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่าผู้สูงอายุบางคนอาจขุ่นเคืองใจอยู่บ้างเพราะยังไม่อยากเป็นคนแก่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักมีการสร้างคำพูดแปลกๆเพื่อเรียกผู้สูงอายุที่มีความเชื่องช้าเมื่อมีการทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนต่างวัยหรือใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ถูก หรือมีกิริยาอาการแปลกๆ เป็นที่ขัดอกขัดใจหรือ ขวางหูขวางตาคนวัยหนุ่มสาว สตรีสูงอายุที่มีลักษณะดังกล่าวมักถูกค่อนขอดหรือดูแคลนโดยถูกตั้งฉายาว่า มนุษย์ป้า หรือถ้าเป็นผู้ชายก็มักถูกเรียกว่ามนุษย์ลุง หากลองสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตด้วยเครื่องมือสืบค้นจะพบข่าวเกี่ยวกับมนุษย์ป้าและมนุษย์ลุงอยู่มากมาย สำนักข่าวทั้งใหญ่และเล็ก รวมทั้งกระดานสนทนาออนไลน์ต่างๆ ล้วนใช้คำเรียกมนุษย์ป้า มนุษย์ลุงและบรรยายเหตุการณ์ที่ไปพบเจอพฤติกรรมของผู้สูงอายุเหล่านั้นอย่างสนุกปาก ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเรียกผู้สูงอายุคนหนึ่งว่า มนุษย์ป้าและมนุษย์ลุงเป็นการนำสรรพนามที่ใช้เรียกผู้ใหญ่มาใช้ในเชิงเย้ยหยัน ในความด้อยความสามารถ ดูถูกดูแคลนผู้สูงอายุ ทั้งๆที่พฤติกรรมต่างๆที่ผู้สูงอายุเหล่านั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัวที่ไม่ควรเหมารวมเรียกในเชิงเหยียดหยามต่อผู้สูงอายุโดยทั่วไปหรือแม้แต่ผู้สูงอายุคนนั้นก็ตาม
การเย้ยหยันด้วยถ้อยคำดังกล่าวนอกจากจะดูถูกดูแคลนผู้ที่อาวุโสกว่าแล้วยังเป็นการด่าตัวเองล่วงหน้าอีกด้วยเพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ก็จะก้าวเข้าสู่วัยป้าและวัยลุงโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆและเมื่อถึงวันนั้นพฤติกรรมที่ตัวเองจะแสดงออกอาจไม่ต่างจากบุคคลที่ตัวเองเคยเรียกว่ามนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุงในวันนี้ก็เป็นได้
ข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เห็นกล่าวถึงอยู่มากตามสื่อต่างๆในระยะนี้คงไม่พ้นกิจกรรมทางการเมืองที่ตั้งชื่อแบบเอาใจคนคอเดียวกันว่า วิ่งไล่ลุง ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้สูงวัยอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยที่สุดลุงหรือป้าก็เป็นญาติสนิทบุพการีของตัวเองที่ควรได้รับการเคารพนับถือดังเช่น พ่อ หรือแม่ สรรพนาม ลุง จึงไม่ควรถูกนำมากเรียกขานกันในเชิงดูหมิ่นดูแคลนและถูกนำไปใช้เป็นสื่อในทางลบเพื่อกิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ที่น่าแปลกใจคือมีคนเห็นดีเห็นงามกับการตั้งชื่อกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอยู่จำนวนหนึ่งแถมยังมีการส่งจดหมายลูกโซ่เชิญคนไปร่วมไล่ลุงผ่านสื่อโซเชียลอย่างภาคภูมิใจ ทั้งๆที่ผู้สูงอายุซึ่งมีวัยพอที่จะเป็นลุงได้เกือบทั้งประเทศไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยเลย หากลุงในที่นี้ผู้จัดกิจกรรม หมายถึง นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี หรือใครก็ตาม โดยตรรกะแล้วไม่ควรใช้คำกำกวม แต่ต้องระบุให้ชัดไปเลยว่าจะวิ่งไล่ลุงคนไหน เช่น วิ่งไล่ลุงตู่ หรือ วิ่งไล่ลุงป้อม ไม่ควรใช้ประโยค วิ่งไล่ลุง จนดูเหมือนว่าผู้ที่มีวัยคราว พ่อ คราวแม่ หรือลุงที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไปกระทำผิดคิดร้ายจนต้องทำให้เด็กต้องมาวิ่งเพื่อขับไล่กัน แม้ว่าจะรู้กันเป็นนัยในหมู่คนทั่วไปว่ากำลังทำกิจกรรมวิ่งไล่ใครอยู่ก็ตาม
หากเราเข้าใจวัฏจักรของมนุษย์ซึ่งนอกจากสังขารอันประกอบด้วยการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมทั้งความเชื่องช้าและไม่ค่อยมีเหตุผลแล้ว มนุษย์ยังมีจุดอ่อนต่างๆมากมาย ถึงแม้ว่าเราจะอนุมานว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับสัตว์ประเภทอื่น แต่มนุษย์ก็มีจุดอ่อนของตัวเองที่ทำให้มนุษย์มีความผิดพลาดได้ตลอดเวลา เป็นต้นว่า
- มนุษย์ทุกคนสามารถทำผิดได้เพราะเราคือมนุษย์ เราไม่ใช่เครื่องจักร วิวัฒนาการของมนุษย์ที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ได้ทำให้เรามีความเป็นเลิศทางความคิดเสมอไป เรามักตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆด้วยความรวดเร็วโดยปราศจากความยั้งคิด เรามักขาดวิสัยทัศน์ และแม้แต่การตอบสนองทางอารมณ์ของตัวเองมนุษย์ก็ยังไม่เข้าใจ
- มนุษย์อาจทำผิดได้เพราะประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนแตกต่างกัน ความฝังใจในบางเรื่องของมนุษย์อาจนำไปสู่ความเชื่อที่ผิดและอาจนำไปสู่หายนะได้ถ้าความเชื่อที่ผิดๆนั้นขัดแย้งกับกับเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญๆ
- มนุษย์อาจทำผิดได้เพราะภาษาที่เราใช้สื่อสารไม่สอดคล้องกันกับความหมายที่ต้องการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ เพราะความคิดของมนุษย์ไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาได้ทั้งหมด มนุษย์มักสำคัญผิดว่า ความรู้ชัดแจ้ง(Explicit knowledge) เป็นการแสดงออกถึงความฉลาด มากกว่า ความรู้ที่อยู่ในตัวตน(Tacit knowledge) ของบุคคลหรือกลุ่มคน
- มนุษย์มีความผิดพลาดได้เพราะทฤษฎีหรือความเชื่อที่ตัวเองหรือกลุ่มของตัวเองยึดถือ เป็นทฤษฎีที่ล้าสมัยไปแล้วหรือเป็นความเชื่อที่มีอคติเป็นต้น
พฤติกรรมต่างๆของผู้สูงวัยที่ถูกเย้ยหยันว่าเป็น มนุษย์ป้า หรือ มนุษย์ลุง ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นผู้สูงอายุที่อาจมีความผิดพลาดได้ตลอดเวลาตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงควรได้รับความเมตตา เห็นใจ เข้าใจและ แสวงหาความจริงต่อการกระทำที่เชื่องช้าหรือมีพฤติกรรมที่แปลกกว่าคนทั่วไป จากคนวัยลูกหลานและควรได้รับการอภัยหากทำสิ่งผิดพลาดโดยขาดเจตนาหรือความไม่รู้ มากกว่าการประณามหรือด้อยคุณค่าความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโสกว่าโดยการใช้คำพูดเพื่อดูถูกเหยียดหยามตีตรามนุษย์ด้วยกันซึ่งผู้เจริญแล้วไม่พึงกระทำ
อ้างอิง
-An Extraterrestrial observation on Human Hubris โดย Ernst Poppel
ภาพประกอบ https://www.freepik.com/premium-vector/cute-elderly-senior-age-couple-icon_4270186.htm