“...ตอนนี้ประกาศข้อกำหนด คืออนุบัญญัตินั้นยังไม่ออก น่าจะออกประมาณต้นปี 2563 เพราะฉะนั้นการตัดแต้มยังไม่มีผลบังคับ ข้อหาของคุณทวีก็เลยยังตัดแต้มไม่ได้ สรุปก็คือข้อกำหนดนั้นยังไม่เสร็จเพราะต้องทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งตรงนี้ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นทำเสร็จแล้ว และได้ส่งไปให้กรมการขนส่งดูแล้ว...”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สืบเนื่องจากเกิดกรณีนายทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บิดาของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่ออุบัติเหตุขับรถชน 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันในวันที่ 21 ธ.ค. และวันที่ 27 ธ.ค.จนถึงให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายจราจรในประเทศไทย ทั้งเรื่องการตัดแต้มผู้ที่กระทำความผิดกฎจราจร และการพักใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา (รอง ผบช.ศ.) ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถึงการบังคับใช้กฎหมายจราจรในประเทศไทย ทั้งเรื่องการตัดแต้มผู้ที่กระทำความผิดกฎจราจร และการพักใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
โดย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ กล่าวถึงข้อมูลกฎหมายจราจร ว่า แม้ว่าจะมีการออก พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสาระคือการตัดแต้มผู้ที่กระทำความผิดกฎจราจร ซึ่งถ้าถูกตัดแต้มครบ 12 แต้ม จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน และจะได้แต้มกลับคืนมา 12 แต้ม ภายใต้เงื่อนไขต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้าอบรมใหม่ และต้องสอบให้ผ่าน จึงจะได้รับแต้มคืน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดเรื่องของการตัดแต้มเอาไว้ใน พ.ร.บ.ฯ แล้ว แต่ในเรื่องการตัดแต้มก็มีการกำหนดไว้อีกว่าต้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมการขนส่งทางบกต้องออกข้อกำหนดในเรื่องคะแนนความประพฤติมาก่อน ซึ่งตอนนี้ทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้วและส่งให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบและเห็นชอบก่อน
“ตอนนี้ประกาศข้อกำหนด คืออนุบัญญัตินั้นยังไม่ออก น่าจะออกประมาณต้นปี 2563 เพราะฉะนั้นการตัดแต้มยังไม่มีผลบังคับ ข้อหาของคุณทวีก็เลยยังตัดแต้มไม่ได้ สรุปก็คือข้อกำหนดนั้นยังไม่เสร็จเพราะต้องทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งตรงนี้ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นทำเสร็จแล้ว และได้ส่งไปให้กรมการขนส่งดูแล้ว” พล.ต.ต.เอกรักษ์ระบุ
@ นายทวี ไกรคุปต์ ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/n/123590
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของนายทวีมีอีกประเด็นที่จะต้องดู ก็คือเรื่องใบอนุญาตขับรถยนต์ ซึ่งควรจะเป็นความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบกที่จะต้องไปดู และน่าจะไปสอบถามกับกรมการขนส่งทางบกว่ามีความเห็นเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะกับในกรณีที่นายทวีได้เคยออกมาพูดว่ายังสามารถขับรถยนต์ไหวอยู่
“ระบบกฎหมายในต่างประเทศนั้น ทั้งการออกใบอนุญาตขับรถยนต์และการใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์นั้นอยู่ในหน่วยงานเดียวที่จะดูแล แต่ในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนก็คือการออกใบอนุญาตขับรถ การจดทะเบียนรถยนต์ ประเภทรถยนต์นั้นอยู่ภายใน พ.ร.บ.รถยนต์ซึ่งเป็นความรับผิดชอบกรมการขนส่งทางบก ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นจะดำเนินรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ก็คือจะรับผิดชอบในเรื่องการนำรถมาใช้ เพราะฉะนั้นเขานำรถมาใช้บนท้องถนนแล้วมีปัญหา ตรงนี้ตำรวจจะรับผิดชอบ ส่วนการเขาได้รับใบอนุญาตขับรถ รวมไปถึงการยกเลิกใบขับขี่ อันนี้เป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก” พล.ต.ต.เอกรักษ์ระบุ
เมื่อถามว่ากรณีที่มีการกระทำความผิดซ้ำสองในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าหากมีการนำสืบแล้วพบว่าทำผิดจริง จะต้องมีการพิจารณาโทษที่หนักขึ้นหรือไม่
พล.ต.ต.เอกรักษ์กล่าวว่า "ก็เป็นเหตุที่จะส่งให้กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ พักใช้ หรือลงโทษอย่างอื่นได้ แต่ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกยังไม่เคยดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งความผิดของคุณทวีแม้จะเป็นความผิดเล็กน้อยก็จริง แต่มีความต่อเนื่องหลายครั้ง
“ผมมองว่าในประเทศไทย การจงใจฝ่าฝืนกฎหมายและการกระทำความผิดบ่อยครั้งด้วยสาเหตุด้านสุขภาพและความพร้อมในการขับรถ จริงๆตรงนี้ควรจะมีการปรับกฎหมายเพิ่มเติม แต่ว่าเราไม่สามารถปรับกฎหมายด้วยตัวเอง ต้องให้เจ้าของกฎหมายเขาเป็นคนพิจารณาแล้วก็แก้ไขกฎหมายไปอีกทีหนึ่ง"
"ในปัจจุบันนั้นหลังจากการทำใบขับขี่แล้ว ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าของใบขับขี่จะมีสถานภาพและความพร้อมในการขับรถต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยนำเสนอว่าถ้าขับรถมา 20 ปี แล้วความพร้อมของเจ้าของใบขับขี่ลดลง อาจจะเป็นโรคประจำตัวหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันก็ส่งผลต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ประเด็นนี้ควรจะพิจารณาให้เขาได้รับอนุญาตขับรถยนต์ต่อไปหรือไม่ ตรงนี้ทางเราก็เคยส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูรายละเอียดแล้ว แต่เขาก็ยังคงพิจารณากันอยู่” พล.ต.ต.เอกรักษ์ระบุ
เมื่อถามถึงประเด็นที่ยังคงมีผู้ครอบครองใบขับขี่รถยนต์ตลอดชีพอยู่ ทั้งๆที่ปัจจุบันไม่สามารถทำใบขับขี่ที่ว่าได้แล้วนั้น พล.ต.ต.เอกรักษ์ชี้แจงว่า "หลักการแล้วเมื่ออายุมากขึ้นก็ควรจะทดสอบร่างกายว่ามีความพร้อมแค่ไหน ความพร้อมจิตใจ และการตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถที่ผ่านมาว่าเคารพกฎหมายแค่ไหน ประเด็นพวกนี้ควรจะมีการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม เพียงแต่ว่าวันนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งวันนี้ก็คงต้องอาศัยสื่อกับสังคมช่วยกดดัน เพราะว่าทางตำรวจก็คงจะไปบังคับผู้รับผิดชอบให้มีกฎหมายที่ว่านั้นไม่ได้"
“โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายมาจากผลกระทบที่มีต่อสาธารณะ ในหลายๆประเทศ อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นนั้นคดีที่เกิดร้ายแรง หรืออุบัติเหตุ เขาก็มีการเอาเหตุมาปรับปรุงกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยสาธารณะและลดอุบัติเหตุในท้องถนน แต่บ้านเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น”
" ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการศึกษาชัดเจนว่าผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีนั้นขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก สิ่งที่ตามมาก็คือว่าคนที่มีอายุมากแล้วในญี่ปุ่นคืนใบขับขี่ตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อสาธารณะได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนึกสาธารณะของประเทศเขาที่ค่อนข้างสูง แต่ว่าในประเทศเรายังไปไม่ถึง เพราะทุกคนที่มีใบขับขี่ก็บอกว่ายังไหว ยังไหวอยู่ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุตามมา"
“ตรงนี้ผมมองว่าผุ้ขับขี่ทุกคนต้องมองตัวเอง และมองความปลอดภัยส่วนรวมด้วย ในช่วงนี้ที่เป็นวันหยุดยาว และต้องเดินทางไกล แล้วถ้าหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ควรจะให้ผู้มีความพร้อมกว่าเป็นผู้ขับขี่ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางจริงๆ ก็ไม่ควรขับรถต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะที่มีอายุมากขึ้น และความแข็งแรงทางร่างกายลดลง การขับรถต่อเนื่องยาวนานก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยขึ้นมาได้” พล.ต.ต.เอกรักษ์กล่าวทิ้งท้าย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage