"...Health literacy ที่เรากำลังพูดถึงนี้ หมายถึงสมรรถนะหรือความสามารถของคน ที่เวลาเจอปัญหา หรือตกอยู่ในสถานการณ์ใดๆ แล้ว สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถค้นหาข้อมูลที่ตรงกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่ตัวเองเผชิญ พอได้ข้อมูลมาแล้วก็สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องและกระจ่าง ไม่เข้าใจผิด ไม่คิดเองเออเอง ไม่ถูกหลอกด้วยถ้อยคำที่ล่อลวง..."
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และสุ่มเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด หากไม่เปิดใจรับความจริง และคิดไตร่ตรองให้ดี
แต่สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นทำให้ต้องตัดสินใจเอื้อนเอ่ยออกมา หวังจะกระตุกขาให้ฝ่ายนโยบาย ได้แก่ รัฐบาล และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้หันมาทบทวนนโยบายต่างๆ ทั้งที่เข็นออกมาแล้วและกำลังจะเข็นออกมา ก่อนจะเกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์มากกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
การเตรียมความพร้อมให้คนในสังคมก่อนประกาศนโยบายใดๆ นั้นทำได้หลายแบบ
ที่จะกล่าวถึงนี้คือ การเตรียมความพร้อมด้านสมรรถนะของคน กลุ่มคน รวมถึงประชาชนในสังคม ที่จะค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม อ่านคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ก่อนจะเชื่อหรือนำมาตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมในเรื่องสุขภาพ
คำหรูๆ ที่เค้าใช้กันทางวิชาการคือ "Health literacy" ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเลือกที่จะแปลว่า "ความรอบรู้ด้านสุขภาพ"
ในอดีต เคยมีคนแปลเป็นภาษาไทยไว้หลายต่อหลายแบบ เช่น ความแตกฉานด้านสุขภาพ ความฉลาดทางสุขภาพ ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ เป็นต้น
ไม่ว่าจะแปลแบบใด ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่ามันคือเรื่องความรู้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่
Health literacy ที่เรากำลังพูดถึงนี้ หมายถึงสมรรถนะหรือความสามารถของคน ที่เวลาเจอปัญหา หรือตกอยู่ในสถานการณ์ใดๆ แล้ว สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถค้นหาข้อมูลที่ตรงกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่ตัวเองเผชิญ พอได้ข้อมูลมาแล้วก็สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องและกระจ่าง ไม่เข้าใจผิด ไม่คิดเองเออเอง ไม่ถูกหลอกด้วยถ้อยคำที่ล่อลวง จะด้วยการกระตุ้นกิเลสตัณหา ความโกรธ ความกลัว ความโลภ ฯลฯ สามารถที่จะมีต่อม"เอ๊ะ" สงสัย และพยายามตรวจสอบจนแน่ใจได้ว่ามันถูกต้องและน่าเชื่อถือจริงๆ และสามารถนำสิ่งที่รู้นั้นมาใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แก้ไขปัญหานั้นได้ ดูแลตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยจากสถานการณ์นั้นๆ ได้ และจะดียิ่งกว่านั้นคือสามารถถ่ายทอด บอกเล่าเก้าสิบ สอนไปยังลูกหลาน พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย และคนอื่นๆ ในสังคมได้ เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง มีความสามารถที่จะปกป้องตนเองในสถานการณ์คุกคามต่อสุขภาพได้ในอนาคต
ที่กล่าวมานั้นคือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพที่จัดเป็นสมรรถนะที่พึงปรารถนา จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่อง"ความรู้" แต่ขยายจากความรู้ไปสู่ความสามารถในด้านการเข้าถึง ค้นหา คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ และเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่นด้วย
อดีตถึงปัจจุบัน มาตรการจากหน่วยงานต่างๆ มักเน้นไปยังการเผยแพร่ความรู้เรื่องต่างๆ ไปสู่คนในสังคม ซึ่งสัจธรรมที่เราพบคือ ความรู้ที่เผยแพร่นั้นมักไม่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
กล่าวคือ หน่วยงานส่งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ก็มักจะมาในรูปแบบเดิมๆ รูปแบบเดียวหรือไม่กี่รูปแบบไม่กี่ช่องทาง โดยมิได้พิจารณาดูเลยว่า กลุ่มเป้าหมายในสังคมซึ่งมีทั้งเพศหญิงเพศชาย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยดึกนั้น เข้าถึงข้อมูลนั้นไหม ทำความเข้าใจได้หรือเปล่า และสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้จริงหรือไม่ตามจริตของแต่ละกลุ่ม ถ่ายทอดส่งต่อบ้างหรือไม่ แม้จะอ้างว่างบประชาสัมพันธ์ของรัฐนั้นมีจำกัด แต่ภายใต้ความจำกัดนั้น หากทำการออกแบบ และวางแผนให้ดี น่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ยิ่งไปกว่านั้น การประชาสัมพันธ์แบบรัฐๆ นั้น มักเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าจัดแบบเป็นครั้งคราว เป็นช่วงๆ หรือเรียกว่าแบบ"จัดอีเวนท์" สนองความต้องการของเจ้านาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามักเห็นจัดแบบเอาใจนาย ให้นายได้ KPI ได้ลงสื่อบ่อยๆ เตรียมใส่ portfolio เพื่อไปแข่งเลื่อนตำแหน่งตอนช่วงใกล้เดือนกันยายน หรือแม้แต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ในขณะเดียวกัน มิได้มีการเน้นเรื่องการจัดทำจัดหาแหล่งข้อมูล พัฒนาความสามารถของคนในสังคมในการค้นหา กลั่นกรอง ตลอดจนการปรับสภาพแวดล้อมในสังคมให้มีทางเลือกทางปฏิบัติที่ทำได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ราคาเอื้อมถึง ฯลฯ
หากอ่านแล้วคิดตาม เราคงถึงบางอ้อกันแล้วว่า เหตุใดการแก้ไขปัญหาสุขภาพในสังคมเราจึงไม่ค่อยกระเตื้องมากนัก แถมดูไปดูมาเหมือนจะย่ำแย่ลงด้วยซ้ำ เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารท่วมเมือง ประชาชนทุกคนมีมือถือ เปิดขึ้นมาก็มีป๊อปอัพมากมาย ส่งผ่านมาทางไลน์ ทางเฟซ ทางทวิต วันนึงมีหลายร้อยข้อความโดยไม่ได้ร้องขอ
เคยมีคนทำการสำรวจไว้หลายปีก่อนพบว่า ข้อมูลด้านสุขภาพที่เผยแพร่มาทางเครือข่ายสังคมเหล่านั้น กว่าร้อยละ 80 เป็นข่าวลวง หรือถูกบิดเบือนไม่มากก็น้อย
หากคนในสังคมไม่มี Health literacy ที่ดีพอ ก็จะหลงเชื่องมงายกับข่าวลวง ข่าวล่อด้วยกิเลส อยากสวยอยากหล่อ อยากรวย อยากไม่แก่ไม่พิการ ไม่อยากสมองเสื่อมอวัยวะเสื่อม หรือโดยการหลอกให้กลัวตาย กลัวโรคมะเร็ง กลัวโรคเรื้อรัง กลัวผลข้างเคียงของยาแผนปัจจุบัน แล้วก็ไปตกหลุมพรางกลุ่มคนไม่ดี ที่หวังจะขายสินค้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออื่นๆ เพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าของตนเองหรือครอบครัว ยิ่งหากตีตราล่อหลอกด้วยการชูตำแหน่งหน้าที่การงาน ตำแหน่งวิชาการ ระดับการศึกษา รางวัล หรือแม้แต่ขุดเทือกเถาเหล่ากอบรรพบุรุษมาการันตีความดีงามน่าเชื่อถือ คนจำนวนมากก็จะเออออห่อหมกหลงเชื่อกันหัวปักหัวปำ โดยลืมนึกไปว่าเหล่านั้นไม่สามารถการันตีความดีที่แท้จริงของคนเราได้เลย
นอกจากนี้ ปัญหายังสาหัสมากขึ้นกว่านั้น เพราะนโยบายภาครัฐหลายต่อหลายนโยบายที่เข็นออกมาแล้ว รวมถึงกำลังจะเข็นออกมานั้น ก็มีความสุ่มเสี่ยงทำให้คนในสังคมเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือลามไปเป็นความเชื่องมงาย จะโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้เข็นนโยบายออกมาก็ตามแต่
ถามว่ามีอะไรบ้าง ลองยกตัวอย่างมาซิ?
เอาแค่เรื่องแรกเราก็คงร้องอ๋อกัน เรื่องการเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์ ก็เป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าเกิดผลกระทบจากความเชื่องมงาย เสพข่าวสารมากมายหลายทาง กลั่นกรองไม่ได้ว่าจะเชื่อใครดี มาตรฐานการแพทย์เอาแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์สากล มาตรฐานแต่ละอย่างต่างกันแค่ไหน เอามาผสมปนเปกันมั่วซั่ว
เราจึงเห็นข่าวคนไข้จำนวนมากที่ต้องหามส่งโรงพยาบาลเพราะซื้อหามาใช้กันแบบผิดๆ และมีการแพร่ระบาดของการใช้กันอย่างยากที่จะควบคุม
นโยบายอื่นๆ ที่ดูแล้วน่าเป็นห่วง เช่น การประชาสัมพันธ์หวังจะลดการตีตราของผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยใช้แคมเปญ U=U หรือ Undetectable = Untransmittable ซึ่งแปลว่า คนไข้ที่กินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจนตรวจหาไวรัสไม่พบในเลือดนั้นจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนอื่นได้นั้น หากทำแคมเปญนโยบายนี้ไป ต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องความเข้าใจผิด จนอาจทำให้คนละเลย เพิกเฉยที่จะระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ไปปะฉะดะหลายคู่นอน หรือไม่ใช้วิธีป้องกันอื่นๆ เช่น ถุงยางอนามัย เป็นต้น
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนไข้หลายคนของหมอก็มาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนฝูงของเค้ามาคุยให้เค้าฟังว่าได้ยินแคมเปญ U=U และแคมเปญกินยาต้านไวรัสก่อนมีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อนเค้าคุยอย่างสนุกสนานว่า สบายแล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องกลัว ลุยได้สบาย ไม่ต้องใช้ถุงยาง คนไข้ของหมอจะได้รับการสอนเสมอว่าไม่ว่าจะติดแล้วหรือไม่ติด ก็ต้องป้องกันตัวเราเสมอ แม้ติดแล้วถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงก็ต้องป้องกัน เพราะแม้จะไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก็ยังมีโอกาสติดซิฟิลิส หนองใน ตับอักเสบ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย
ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการกระตุ้นเตือนให้ฉุกคิดให้รอบคอบ ก่อนประกาศนโยบายสาธารณะใดๆ ออกมา
รัฐและหน่วยงานต่างๆ ควรประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า
การโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบฉาบฉวยควรได้รับการทบทวน และนำกลับไปออกแบบการสื่อสารให้รอบคอบ ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
ควรเน้นมาตรการที่นอกเหนือไปจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ความรู้ โดยมุ่งไปถึงการจัดหาแหล่งข้อมูลที่ยั่งยืน มีศักยภาพที่จะอัพเดตตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในสังคม ฝึกทักษะคนในสังคมให้ช่างคิดช่างสงสัยและมีทักษะในการค้นหา กลั่นกรอง มีภูมิคุ้มกันต่อกิเลส ความกลัว ความโกรธ ที่มักเป็นจุดอ่อนที่ถูกใช้หากินโดยกลุ่มคนไม่ดี
ช่วยกันสอนลูกหลานให้รู้เท่าทันกลเม็ดร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำในสังคม ที่ล่อหลอกให้เราติดกับ ไม่ได้แค่เสียเงิน แต่เสียสุขภาพ และอาจเสียชีวิตได้
ด้วยรักต่อทุกคน