"...ถ้าการตกต่ำของการผลิตและภาคบริการยังยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้าจะมีการปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย และ/หรืออยู่ในสภาพที่ธุรกิจย่ำแย่มาก่อน ก็จะทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ ตัวเลขที่ปรากฏมาในอดีตคือ จำนวนแรงงานที่ลาออกเองและจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างจนถึงทุกวันนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มสูงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ..."
ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อ่านจะได้ยินหรือได้อ่านข่าวจากสื่อต่างๆ ว่าประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตไม่เป็นไปตามความคาดหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ
ในที่สุดก็สรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราขยายตัวของ GDP น่าจะไม่ถึงร้อยละ 3 เป็นผลจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้มีผลต่อการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ทำให้มีอัตราขยายตัวติดลบแถมยังถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้มูลค่าของการค้าถดถอยลงไปจนส่งผลกระทบกับประเทศคู่ค้ากับสองประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย อีกทั้งการขยายตัวของ GDP ของจีนลดลงค่อนข้างมาก และรัฐบาลกลางส่งสัญญานไม่สนับสนุนให้คนจีนไปต่างประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทยไม่เพิ่มตามที่คาดหวังไว้ในปี 2562
ปัญหาภายนอกหลายๆ อย่างเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้การเติบโตของ GDP ไม่เป็นไปในทิศทางที่มีการคาดหมายเอาไว้ในทางทฤษฎี เมื่ออุปสงค์สินค้าส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการของไทยซึ่งจ้างงานเป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเกิดปัญหาจากการท่องเที่ยวหดตัวจะกระทบตลาดแรงงานอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ผลการวิจัยของผู้เขียนได้ยืนยันว่าตลาดแรงงานจะค่อยๆ มีปัญหามากขึ้นๆ ถ้าผลกระทบจากภายนอกที่ไทยควบคุมไม่ได้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้าและต่อๆ ไป ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอรายละเอียดของผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจถดถอยที่มีผลต่อตลาดแรงงานต่อไป
ปกติแล้วถ้าจะหาวิธีการตอบสนองของตลาดแรงงานอันสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทางวิชาการ สามารถเลือกตัวแปรที่เกี่ยวข้องได้หลายตัวนอกเหนือจากการว่างงานโดยเปิดเผย (Open Unemployment) ที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกตัวแปรหนึ่งที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้เร็วกว่าคือ ผู้ที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ลาออกเอง ซึ่งผู้ประกันตนประเมินดูแล้วว่าสถานประกอบการที่ทำงานอยู่มีปัญหาอาจจะชิงลาออกก่อน ซึ่งแน่นอนจะได้รับสิทธิประโยชน์การลาออกจากงาน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยภายในเวลา 90 วัน ซึ่งผลการทำวิจัยพบว่า การลาออกเองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกปีและในอนาคตยังจะทรงตัวอยู่เช่นนั้นไปจนถึงปีหน้าถ้าเศรษฐกิจยังซบเซาอยู่เหมือนปี 2562 (ภาพที่1)
ที่มา: ผู้เขียนวิเคราะห์เพิ่มเติมจากข้อมูลกระทรวงแรงงาน
อีกสถานการณ์หนึ่งคือ ผู้ประกันตนออกจากงานเพราะถูกเลิกจ้าง (จะด้วยการออกเองหรือมีสถานการณ์บางอย่างที่ต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด) จะขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลาถึง 6 เดือน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะกลายเป็นความเสี่ยงว่างงานได้เมื่อได้รับสิทธิประโยชน์ครบแล้ว ถ้าพวกเขาไม่กลับเข้ามาตามกระบวนการฟื้นฟูการมีงานทำอีกครั้งของกระทรวงแรงงาน
ซึ่งกราฟภาพที่ 2 ได้แสดงอาการของผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ จากมกราคม 2561 จำนวนประมาณ 130,000 คน และเมื่อสิ้นปี 2561 เพิ่มเป็น 150,000 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% และเมื่อนับเฉพาะปี 2562 เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2562 เป็นเวลา 8 เดือน จำนวนผู้ประกันตนที่รับประโยชน์จากการว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละประมาณ 190,000 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 22 % แสดงถึงอาการของจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มต่อเนื่องในปี 2562 ถึงเดือนสิงหาคม 2562 น่าจะดำเนินการต่อไปจนถึงสิ้นปีและต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 หรืออาจจะยืดยาวไปกว่านั้นถ้าเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้น
ที่มา: ผู้เขียนวิเคราะห์เพิ่มเติมจากข้อมูลกระทรวงแรงงาน
จากที่ปรากฏในภาพข้างบน ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยในปี 2563 และปีต่อๆ ไปขึ้นกับมาตรการของรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านอุปสงค์ของแรงงานซึ่งสะท้อนมาจากฝีมือของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ กล่าวคือ จะใช้มาตรการทางการคลัง และ/หรือการเงินอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศคือ GDP ของประเทศกลับมาขยายตัวที่สูงเกินกว่า 3.5 ถึง 4.0% อีกครั้ง
ซึ่งต้องกลับไปดูว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาด้านการเงินของประเทศ ที่เงินบาทยังแข็ง ทรงตัวอยู่ในระดับสูงให้มีค่าอ่อนตัวลงกว่าประเทศคู่แข่งหลายๆ ประเทศ ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยยกระดับหรือรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อพยุงการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหรือรายได้หลักเข้าประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอยู่ได้ ขณะที่ผลผลิตจาก real sectors กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้
ปัญหาจากปัจจัยภายนอกและภายในที่เข้ามากระทบประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าอันเกิดจากสงครามการค้าของยักษ์ใหญ่ คือ จีนและสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ Brexit ของยุโรปและข้อร้องเรียนของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานที่ไทยยังทำได้ไม่ดีเกี่ยวกับเสรีภาพของแรงงาน
ซึ่งอาจจะตัด GSP สินค้านำเข้าจากไทยมากกว่า 570 รายการใน 6 เดือนข้างหน้าก็ตาม ล้วนแต่ทำให้ไทยวิตกกังวลว่าอาจจะมีผลทำให้โอกาสในการส่งออกสินค้าสำคัญๆ ของไทยต้องชะลอตัวลงไปอีก ตราบใดที่ตลาดหลักๆ ที่ไทยส่งออกมีการชะลอตัวในการนำเข้าสินค้า final products หรือ สินค้าชั้นกลาง หรือวัตถุดิบก็จะมีผลถึงบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs ของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ไทยส่งออกในลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
แน่นอนสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของการผลิต โลจิสติกส์ และโซ่อุปทานจะถูกกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แรงงานที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานดังกล่าว เมื่อผลผลิตลดลงต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเริ่มจากการลดกะ (OT) ในการทำงาน ลดคนงานจาก subcontractor ลดจำนวนชั่วโมงทำงาน เป็นต้น
ซึ่งถ้าการตกต่ำของการผลิตและภาคบริการยังยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้าจะมีการปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย และ/หรืออยู่ในสภาพที่ธุรกิจย่ำแย่มาก่อน ก็จะทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ ตัวเลขที่ปรากฏมาในอดีตคือ จำนวนแรงงานที่ลาออกเองและจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างจนถึงทุกวันนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มสูงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ดังภาพที่ 3 ปรากฏ ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขเยียวยาที่ทันท่วงทีจากทางรัฐบาล
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม
เพื่อบรรเทาหรือแก้ปัญหาการว่างงาน มาตรการที่รัฐสามารถช่วยได้ทันทีด้านอุปสงค์
คือ (1) เร่งรัดทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตโดยเร็ว เช่น การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งกว่าประเทศคู่แข่งจนเกินไป จะสามารถช่วยได้ทั้งการส่งออกและการกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
(2) มุ่งเป้าการเฝ้าระวังไปยัง SMEs หลายแสนรายให้สามารถระบุได้ว่าใครเสี่ยงมากน้อยเพียงใดที่จะปิดกิจการโดยอาศัยข้อมูลจากสถาบันการเงินโดยตั้งเป้าที่จะช่วยฟื้นฟูให้อยู่ได้ให้นานที่สุด สำหรับด้านอุปทาน
(3) ช่วยให้คนว่างงานที่อยู่กับประกันสังคมมาก่อน ไม่ว่าจะลาออกเองหรือออกจากงานเพราะถูกเลิกจ้าง มาตรา 33 ให้ได้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ จากความร่วมมือสามฝ่ายตามกฎหมายคือ ประกันสังคม กรมจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลสั่งการโดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(4) ใช้รูปแบบของรัฐบาลที่กำลังจะทำคือโครงการ “ผู้อาสาพัฒนาชาติ” รับสมัครผู้ว่างงานสายอาชีพและบัณฑิตที่ว่างงานอยู่แล้วมากกว่าแสนคน และผู้จบสายอาชีพและบัณฑิตที่น่าจะตกงานมากขึ้นในปีหน้าอีกจำนวนมาก ควรจ้างพวกเขามาช่วยพัฒนาชุมชนหรือโครงการด้านสุขอนามัยเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแทนที่จะปล่อยให้ความรู้พวกเขาหายไปตามกาลเวลาเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่หายากของชาติ
(5) ร่วมมือกับสถานประกอบการในกลุ่มเดียวกันหรือเครือเดียวกันในการรับและ/หรือแลกเปลี่ยนคนงานซึ่งกันและกันโดยไม่ปล่อยให้คนงานต้องออกจากงานโดยมีกรมการจัดหางานเป็นคนกลาง
สุดท้าย (6) ร่วมมือกับภาคเอกชนชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวหรืองดการต่อสัญญาแรงงานต่างด้าวทักษะปานกลางหันมาดูแลโควต้าจ้างคนไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับคนไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/