"...ผลการหารือวันนี้เราได้รับรู้ถึงความคืบหน้าการผลักดันระบบ 5G ของประเทศสวีเดนแล้ว ต้องขอเรียนว่าทางประเทศสวีเดนเขาก็มองว่าเราสามารถเดินหน้าผลักดันในเรื่องของ 5G ได้เร็วมาก จากที่ 5-6 เดือนก่อนนั้นดูช้าอยู่ เรากำหนดแล้วกระทั่งวันที่ 16 ก.พ. 2563 จะเป็นวันประมูล 5G ซึ่งในส่วนของสวีเดนในวันนี้ ของเขาอาจจะทำระบบ 5G ได้ไล่ๆกับเรา หรืออาจจะช้ากว่าเรานิดหน่อยด้วยซ้ำ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้นำคณะทำงานร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานและการเตรียมจัดประมูลคลื่นเพื่อเปิดให้บริการ 5G กับคณะทำงานของ The Swedish Post and Telecom Authority (PTS) ที่ประเทศสวีเดน
ทั้งนี้ ภายหลังจากการเข้าหารือ นายฐากร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยที่ติดตามไปทำข่าว ถึงประเด็นการเปิดประมูลคลื่นเพื่อเปิดให้บริการ 5G โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ระบุว่า "ผลการหารือวันนี้เราได้รับรู้ถึงความคืบหน้าการผลักดันระบบ 5G ของประเทศสวีเดนแล้ว ต้องขอเรียนว่าทางประเทศสวีเดนเขาก็มองว่าเราสามารถเดินหน้าผลักดันในเรื่องของ 5G ได้เร็วมาก จากที่ 5-6 เดือนก่อนนั้นดูช้าอยู่ เรากำหนดแล้วกระทั่งวันที่ 16 ก.พ. 2563 จะเป็นวันประมูล 5G ซึ่งในส่วนของสวีเดนในวันนี้ ของเขาอาจจะทำระบบ 5 G ได้ไล่ๆกับเรา หรืออาจจะช้ากว่าเรานิดหน่อยด้วยซ้ำ"
นายฐากร กล่าวต่อว่า เนื่องจากทั้งประเด็นเรื่องผู้ประกอบการ ประเด็นเรื่องต้นทุนการลงทุนต่างๆ ที่จะต้องตามมา เนื่องจากพอจะเปิดให้บริการเป็นเจ้าแรกๆ ผลที่ตามมาก็คือต้นทุนที่สูงในโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้อธิบายให้ทาง PTS ทราบไปแล้วว่าเราคงจะรอเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากในขณะนี้ในกลุ่มของประเทศอาเซียนกำลังจะมีการเปิดให้บริการในเรื่องของ 5G ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งหากไทยเปิดให้บริการล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และจะให้เกิดผลการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอาเซียน ที่อาจจะย้านฐานการผลิตโครงสร้างด้านคมนาคมไปยังประเทศที่ดีกว่าไทย
@ ประเด็นเรื่องการยุติการให้บริการ 2G
"วันนี้มาดูทางด้านประเทศสวีเดน เราก็เห็นชัดเจนโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการยุติการให้บริการ 2G ซึ่งทางประเทศสวีเดนเขาให้เหตุผลชัดเจนว่าการยุติการให้บริการระบบ 2 G นั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการมากกว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเนื่องจากถ้าต้นทุนเขาสูง เขาก็ต้องขอยุติการให้บริการเอง ซึ่งในขณะนี้การให้บริการ 2G ทุกคนไม่ได้ใช้เกี่ยวกับเรื่องการโทรด้วยเสียงปกติแล้ว ทุกคนไปใช้บริการโทรคุยกันด้วยเสียงในระบบของทั้ง 3 G และ 4 G หมด คือเป็นในระบบของไลน์ เฟสไทม์ต่างๆมากยิ่งขึ้น แต่ว่าระบบ 2G นั้นเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นเขาถึงมองว่าต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ให้บริการในส่วนนี้"
@ ย้ำประมูลคลื่นย่าน 2,600 เมกกะเฮิร์ต ต้องเกิดขึ้นเพื่อเอาไปทำ 5G
นายฐากร กล่าวย้ำว่า "ส่วนประเด็นเรื่อง 5G ที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้น ต้องเรียนว่าวันนี้สิ่งที่สำคัญคือคลื่นในย่าน 2,600 เมกกะเฮิร์ต ก็สามารถนำมาทำระบบ 5 G อยู่แล้ว แต่คลื่นที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ก็คือคลื่นในย่าน 26 และย่าน 28 กิ๊กกะเฮิร์ต ซึ่งทางสวีเดนก็บอกว่าการใช้งานและการทดสอบบริการ (Use case) ต่างๆยังไม่มีความชัดเจนมาก ซึ่งตรงนี้ก็ตรงกับกรณีที่เหล่าผู้ให้บริการต่างๆได้มาพูดคุยกับ กสทช.แล้วว่า แม้ว่าราคามันจะถูก แต่ถ้าประมูลไปแล้ว Use case ต่างๆที่มันใช้นั้นยังใช้งานไม่ได้ก็จะมีปัญหาเหมือนเดิม เขาก็ยังไม่อยากเข้าประมูล เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. ถึงวันที่ 12 ธ.ค. 2562 จะมีการรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อรับฟังว่าทางผู้ประกอบการนั้นยังจะมีความต้องการที่จะประมูลคลื่อนความถี่ในย่าน 26 กิ๊กกะเฮิร์ตต่อไปอยู่หรือไม่ ต้องฟังเหตุผลเขาก่อน แต่อย่างไรก็ตามการประมูลคลื่นย่าน 2,600 เมกกะเฮิร์ตจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพื่อจะเอาไปทำ 5 G"
เมื่อสื่อมวลชนถามว่า มีคลื่นอื่นๆอีกหรือไม่ที่จะต้องนำมาใช้ในการทำ 5 G?
นายฐากร ตอบว่า คลื่นที่แน่นอนก็คือ 2,600 เมกกะเฮิร์ต ที่จะต้องเอามาทำ 5 G ส่วนคลื่อนที่อยู่ในย่าน 700 และ 1,800 เมกกะเฮิร์ต จะต้องดูผลการรับฟังความเห็นสาธารณะที่ว่าก่อน ว่าตัวผู้ให้บริการนั้นยังต้องการจะใช้งานอยู่หรือไม่ แต่ขณะนี้สร้างความมั่นใจได้เลยว่าคลื่น 1,800 กับ 700 เมกกะเฮิร์ต ก็ยังสามารถใช้ในระบบ 4G ได้อยู่
"สรุปก็คือคลื่นในย่าน 26 และ 28 กิ๊กกะเฮิร์ตนั้นยังต้องรอความคิดเห็นจากสาธารณะก่อน แต่ถ้ายังไม่เคลียร์อาจจะขอยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน"
"เพราะในมุมมองของผู้ให้บริการนั้นมองว่าเมื่อมีการลงทุนนั้นมันจะต้องดูในประเด็นว่าอุปกรณ์รองรับใช้ได้หรือยัง ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศนั้นยังไม่มีความชัดเจน อย่างในประเทศเกาหลีใต้ เขาก็จัดสรรตรงนี้ให้แค่ 5 ปี เพราะเขารู้ว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน หรืออย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาเขาก็จัดสรรให้แค่ 10 ปี แต่ของประเทศไทย เรามั่นใจ เราจัดไปให้ 15 ปี ซึ่งตรงนี้ทางผู้ให้บริการเองเขาก็บอกมาว่าอย่าเพิ่งมั่นใจ เพราะผู้ประกอบการก็ต้องไปเรียนรู้จากประเทศอื่นเช่นกัน"
เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่า จะมีคลื่นมาทดแทนย่าน 26, 28 กิ๊กกะเฮิร์ตหรือไม่?
นายฐากร ตอบว่า "คือตอนนี้คลื่นที่เราจะใช้ทำระบบ 5G ได้เลยนั้นมีคลื่นทั้งย่าน 2,600 เมกกะเฮิร์ต คลื่นในย่าน 3,400-3,700 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งคลื่นในย่าน 3,400-3,700 นั้น กำลังอยู่ในระหว่างการเรียกคืนจากบริษัทไทยคมหรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคลื่น 2 ย่านที่ว่านั้นก็สามารถทำระบบ 5G ได้ทันที เพราะมีการใช้งาน การทดสอบบริการ (Use case) ต่างๆเกิดขึ้นหมดแล้ว ประเทศที่ใช้คลื่น 3,400 ก็อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ส่วน 2,600 ก็อย่างเช่นประเทศจีนหรือว่าสหรัฐอเมริกาก็ใช้งานอยู่ สรุปก็คือเปิดปุ๊บใช้งานได้ทันที"
เมื่อสื่อมวลชนถามต่อว่า แล้วพื้นที่ จะเปิดพื้นที่ไหนบ้าง?
นายฐากร ตอบว่า "เราจะเปิดแบบทั่วประเทศ แต่เราก็มีความกังวลว่าเมื่อเปิดไปแล้วเรากลัวว่าตัวผู้ให้บริการจะเปิดให้บริการช้า เราก็เลยเขียน่าจะต้องเปิดให้ดำเนินการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกก่อน ก็คือว่าไม่เกิน 1 ปี 50 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นจะต้องเปิดให้บริการทันที ถึงจะได้รับการยกเว้นว่าจะไม่ต้องชำระค่าประมูลในปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 ต่อไป"
สื่อมวลชนถามอีกว่า ถ้ารับฟังความเห็นกันแล้วต้องยกเลิกการประมูลคลื่น 26 กิ๊กกะเฮิร์ตไป คลื่นอื่นก็ยังเหมือนเดิมหรือไม่?
นายฐากร ตอบว่า "ก็เหมือนเดิม ตามช่วงเวลา แต่ก็ต้องดูความเห็นจากทางผู้ประกอบการด้วย อย่างบริษัททรูเขาก็คงต้องพูดเรื่องนี้เหมือนกัน"
"เท่าที่ผมฟังดูแล้วนอกจากทรูแล้วก็ยังมีทางบริษัทเอไอเอสที่บอกออกมาค้านอยู่เพราะเขายังต้องใช้คลื่น 26 กิ๊กกะเฮิร์ตนี้ แต่ทางเอไอเอสก็บอกมานะว่าถ้าหากประมูลแล้วยังไม่คิดเงิน เขายังไม่จ่ายเงิน ให้เขาไปลงทุนใช้ก่อน 3 ปี ด้วยคลื่น 26 กิ๊กกะเฮิร์ต แบบนี้ทางเอไอเอส เขาโอเค สรุปก็คือต้องรับฟังความเห็นก่อนแล้วค่อยประเมิน"
สื่อมวลชนถามย้ำว่า แล้วคลื่นที่ทำ 5 G คลื่นไหนดีที่สุด?
นายฐากร ตอบว่า "คลื่นที่ใช้ทำ 5 G ดีที่สุดก็คือคลื่น 3,400 ถึง 3,700 เมกกะเฮิร์ต รองลงมาจากก็คือคลื่น 2,600 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาเรียกคืนคลื่น 3,400-3,700 เมกกะเฮิร์ตที่ช้ในดาวเทียมจากทางไทยคมอยู่ ซึ่งการเจรจานั้นจะใช้เวลา 9 เดือน ก็คาดว่าในเดือน ก.ย. 2563 น่าจะมีการประมูลคลื่น 3,400-3,700 เมกกะเฮิร์ตตามมา ซึ่งทางนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้มาตกลงกับทาง กสทช.แล้ว บอกให้คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก และจะนำส่งคลื่นดังกล่าวมาให้กับ กสทช.เพื่อใช้ทำ 5 G"
เมื่อสื่อมวลชนถามย้ำว่า แล้วทางไทยคมเขาส่งคืนคลื่นมา ทาง กสทช.ก็จะชดเชยอะไรให้เขาไหม?
นายฐากร ยืนยันว่า "ก็ต้องชดเชย ก็ต้องหาคลื่นอื่นให้เขาไปใช้ จานดำ จานต่างๆก็ต้องไปเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับประชาชนที่ใช้งานด้วย"
"ขณะนี้ทราบข้อมูลมาว่ามีประชาชนที่ใช้งานจานดาวเทียมที่ใช้คลื่นที่ว่ามานั้นประมาณ 10 ล้านจาน ส่วนงบประมาณนั้นตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะต้องเสียให้กับการชดเชยเป็นจำนวนเท่าไร แต่ก็คาดว่าจะประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะปี 2563 ไปประมูลคลื่นมาก็จริง แต่ปี 2564-2565 ถึงจะนำเอาคลื่น 3,400-3,700 เมกกะเฮิร์ตไปใช้งานได้จริง เพราะพอเราเปิดประมูลตอนปี 2563 เราจะรู้วงเงินว่าเราได้เงินมาเท่าไร เอาไปให้กับประชาชนที่จะมีการย้ายจานด้าวเทียมเท่าไร ซึ่งในระหว่างนั้นเราก็จะมีการให้ประชาชนหันดาวเทียมไปที่อื่นและให้ทางไทยคมไปใช้คลื่นในย่าน 4,200 เมกกะเฮิร์ต ขึ้นไป"
"ส่วนวิธีการชดเชยนั้นเราก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันก็คือในการเปลี่ยนคลื่นของทางไทยคมนั้น ทาง กสทช.ก็จะให้เงินชดเชยที่ได้จากการประมูลคลื่น 5 G ในปี 2563 ไปให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการเปลี่ยนจานเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับประชาชนนั้น กสทช.ก็จะต้องมีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมอาชีวศึกษา ต่อไป"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/