"...การถักทอพลังบวกในสังคมไทยด้วยมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง จะไปคลายปมต่างๆที่ผูกกันไว้เป็นโครงสร้างหรือ “เข่ง” ที่กักขังคนไทยไว้ให้จิกตีกันและไปสู่ความเจริญที่แท้จริงไม่ได้ เมื่อเราหลุดออกจาก “เข่ง” การถักทอพลังบวกในสังคมไทยด้วยมัชฌิมาปฏิปทาจะเป็นผลดีส่งให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ยุคศรีอารยะ..."
มีผู้กล่าวว่า “คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง” จิกตีกันร่ำไป ทั้งๆ ที่จะถูกนำไปเชือดหมดทุกตัว แต่ถึงจะจิกตีกันจนเลือกตกยางออกหรือล้มตายก็ออกจากเข่งไม่ได้ เพราะ “เข่ง” คือโครงสร้างอันแน่นหนา
คนไทยติดอยู่ในโครงสร้างอะไรที่เปรียบประดุจ “เข่ง” ที่กักขังคนไทยไว้ให้จิกตีกัน ที่สังคมไทยขัดแย้งดิ้นรนต่อสู้กันมาเป็นเวลาเกือบ 1 ศตวรรษ คืออาการของการพยายามหาทางให้ “บ้านเมืองลงตัว” ซึ่งถ้าลงตัวก็สงบ สันติ และพัฒนาไปสู่ความเจริญได้อย่างแท้จริง แต่ก็ยังไม่พบวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองลงตัว จึงขัดแย้งกันเรื่อยมาโดยปะทุเป็นความรุนแรงหลายครั้งหลายครา
ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันหาให้พบว่าจุดที่จะทำให้บ้านเมืองลงตัวที่เห็นร่วมกันคืออะไร ถ้าหาจุดนี้ได้ ทุกฝ่ายก็จะมีเป้าหมายร่วมและร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ความลงตัวของบ้านเมือง
จุดนี้บัดนี้ไม่ยากแล้ว
เพราะเป็นเหมือนกันทั่วโลก ปัญหาใหญ่และยากที่สุดของในโลกขณะนี้คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มากอย่างสุดๆ อะไรที่เหลื่อมล้ำมากก็จะเสียสมดุล เมื่อเสียสมดุลก็ปั่นป่วนวุ่นวายรุนแรง ทำนองเดียวกันกับการเกิดฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อันเกิดจากการเสียสมดุลของพลัง ความเหลื่อมล้ำเกิดจากปัญหาโครงสร้างหลายอย่างที่ถักทอกันอย่างแน่หนา ที่แม้แต่ประเทศที่เป็นต้นแบบของเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ยังเอาไม่อยู่ เพราะทั้งสองประเทศก็เกิดความเหลื่อมล้ำสุดๆ และมีปัญหาต่างๆตามมารวมทั้งปัญหาทางการเมือง อย่างยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เพราะเคยเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีเป็นคำตอบสุดท้าย
จนมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเชื่อว่ามันเป็น The End of History แล้ว แต่มันก็ไม่จริง มันมีอะไรที่ซับซ้อนและลึกกว่านั้น
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่พัฒนาไปพัฒนามา บัดนี้ สังคมไทยได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นที่ 1 หรือที่ 3 ในโลก ความเหลื่อมล้ำกับการขาดความเป็นธรรมอยู่ในกันและกัน
ความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ถ้าขาดความเป็นธรรมผู้คนจะไม่รักกัน และไม่รักส่วนรวม
โครงสร้างที่ขาดความเป็นธรรมคือ “เข่ง” ที่กักขังคนไทยไว้ให้จิกตีกัน
โครงสร้างที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำสุดๆ ในสังคมไทยมีหลายมิติที่ถักทอกันอย่างแน่นหนาสานเป็น “เข่ง” แห่งความเป็นธรรมที่แข็งแกร่ง ประดุจขุนเขา ที่ใช้แรงกระแทกเท่าใดๆ ก็แหวกออกไปไม่ได้ มีแค่ต้องใช้ปัญญาทำความเข้าใจว่าโครงสร้างอันนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมคืออะไรบ้าง และจะคลายออกได้อย่างไร
การสร้างความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์แห่งมหาชนสยาม เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชาติ ดังพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชย์ที่ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
แผ่นดินต้องมีธรรมคลอง หรือมีความเป็นธรรม ประโยชน์สุขของชาวสยามหรือคนไทยทั้งมวลจึงบังเกิด
การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำจึงควรเป็นระเบียบแห่งชาติ
ในกรณีทีมหมูป่า 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวงที่จังหวัดเชียงรายอันโด่งดังไปทั่วโลก คนไทยทั้งหมดรวมใจก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภท มุ่งมั่น ร่วมกันให้เพื่อนร่วมชาติรอดชีวิต ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นอะไร แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในใจ ซึ่งอาจเรียกว่า “หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” ที่เห็นใจ (Empathy) ในความทุกข์ยากของผู้อื่น และต้องการช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ (Altruism) เมล็ดพันธุ์แห่งความดีนี้อาจถูกกลบฝังลึกอยู่ในหัวใจ ด้วยความคิด ความเชื่อ หรือให้คุณค่าแก่สิ่งอื่นๆ เหนือกว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ลัทธิ อุดมการณ์ หรืออะไรอื่น แต่มาบัดนี้เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ความซับซ้อน และในความซับซ้อนนี้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง การคิดแบบเป็นข้างเป็นขั้ว หรือลัทธิอุดมการณ์ใดๆ ไม่มีพลังที่จะฝ่าความยากของความซับซ้อนออกมาได้ แต่กลับทำให้ขัดแย้งและรุนแรงมากขึ้น
ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องทำความเข้าใจว่าการจะออกจากโครงสร้างอันซับซ้อนและยากต้องใช้ใจนำ นั่นคือหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนมีซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจดังกล่าวข้างต้น
ลัทธิอุดมการณ์การแบ่งเป็นข้างเป็นขั้ว ทำให้ถูกขั้วตรงข้ามจึงไม่มีพลังที่ทะลุความยากไปได้ แต่หัวใจของความเป็นมนุษย์ก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภททำให้รวมใจกันได้ และจะนำไปสู่การรวมปัญหา เป็นปัญญาร่วมกัน (Collective wisdom) จึงจะฝ่าความยากไปได้ ปัญญาของใครคนใดคนหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะฝ่าความยากของสถานการณ์จริงที่ซับซ้อน
ในสถานการณ์ความเป็นจริงใหม่ที่ซับซ้อนและยาก เครื่องมือเก่าๆที่เคยใช้ได้ผลในสถานการณ์เก่า เช่น อำนาจ เงิน วาทกรรม บริภาษกรรม หรือการใช้ความรู้สำเร็จรูป ใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว เครื่องมือใหม่คือ สังคมา-ปัญญานุภาพ หรืออนุภาพแห่งสังคมและปัญญา สังคมา-ปัญญานุภาพเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกิดพลังทางสังคมและพลังปัญญาอย่างมหาศาลที่ทำให้ฝ่าความยากไปได้ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัตินี้พอทำไปๆ ยิ่งรักกันมากขึ้น ยิ่งเชื่อถือ ไว้วางใจกันมากขึ้น ยิ่งฉลาดมากขึ้นและฉลาดร่วมกัน หรือถึงกับเกิดอัจฉริยะภาพกลุ่ม (Group genius) พลังทางใจทางสังคม และทางปัญญาอันมหาศาลที่เกิดขึ้น ทำให้ฝ่าความยากของโครงสร้างที่ถักทอกันอย่างซับซ้อนไปสู่ความสำเร็จได้ และเกิดความสุขร่วมกันประดุจบรรลุนิพพาน
โปรดอ่านข้อความในย่อหน้าข้างต้นช้าๆ ลึกๆ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ที่เกิดไม่ได้จากการต่อสู้ขัดแย้งถึงขั้นมองฝั่งตรงข้ามเป็นศัตรู จะมาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการสร้างความเป็นธรรมลดความเลื่อมล้ำได้อย่างไร ดังที่ความพยายามเรื่องความปรองดองและสมานฉันท์ ล้มเหลว มาตลอด
เรื่องนี้เมื่อมาถึงบัดนี้ไม่ยากแล้ว!
ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1. วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองมาถึงทางตันแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเป็นปฏิปักษ์ และกล่าวหากันได้เพิ่มความรุนแรงขึ้น จนไม่มีทางไปต่อ เพราะไม่ว่าใครชนะหรือไม่มีมีใครชนะ ก็แก้ปัญหาของบ้านเมืองไม่ได้ ขืนไปต่อแบบนี้ก็จะเท่ากับใส่การนองเลือด มิคสัญญีกลียุค ซึ่งไม่มีใครอยากเห็น แต่อยากพลิกสถานการณ์มากกว่า ประเทศไทยเคยพลิกสถานการณ์อย่างทันทีทันใดมาแล้ว ด้วยการยุติการสู้รบกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จับอาวุธต่อสู้อำนาจรัฐ โดยใช้คำสั่ง 66/2523 วิกฤตเมื่อมาถึงจุดพลิกผัน เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะพลิกสถานการณ์ไปร่วมกันทำสิ่งที่ยาก คือ สร้างความเป็นธรรมลดความเลื่อมล้ำ
2. คนไทยได้สร้างทุนทางสังคมขนาดใหญ่รอไว้ล่วงหน้าเพื่อแก้วิกฤตครั้งนี้ เป็นเวลา กว่า 30 ปี ที่คนไทยจำนวนหนึ่งตระหนักว่า สังคมไทยกำลังเดินเข้าไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และเผชิญปัญหายากๆ ที่ยากต่อการเข้าใจและการแก้ไข จะวิกฤตและขัดแย้งกันมากขึ้นเป็นวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยากกว่ากว่าวิกฤตเคลื่อนลูกที่ 1-3 การต่อสู้เชิงปฏิปักษ์แบ่งข้างแบ่งขั้วจะไม่สามารถออกจากโครงสร้างที่ซับซ้อนได้ แต่จะนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด
คนไทยจำนวนไม่น้อย ต่างกรรมต่างวาระได้พยายามสร้างทุนทางสังคมรอไว้ใช้ยามประเทศไทยเคลื่อนไปถึงจุดวิกฤตแห่งความแตกแยก ทุนทางสังคมที่ว่านั้นประกอบไปด้วย
1. การวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าไปสู่ความเป็นข้างเป็นขั้ว หรือเกลียดชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะได้มีบทบาทช่วยสมานได้ ฝ่ายที่เป็นข้างเป็นขั้วไม่ชอบฝ่ายที่เป็นกลาง เพราะอยากให้เข้าข้างต้น หรือกล่าวหาว่าเป็นพวกฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่เป็นกลางต้องใช้ความอดทน และการให้อภัย วิถีแห่งมัชฌิมาปฏิปทา นี้เติบโตขึ้นมากในสังคมไทยมาก
2. พลังแห่งสันติวิถี ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 คนไทยจำนวนหนึ่งตระหนักว่า ศตวรรษหน้าจะเป็นศตวรรษแห่งความขัดแย้งรุนแรง ได้เคลื่อนไหวส่งเสริมให้สร้างความเชี่ยวชาญ แก้ไขความขัดแย้งสันติวิธี ในช่วงต้นรัฐบาลทักษิณ ได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี มีนายพิชัย รัตนพล เป็นประธาน กรรมการ รวมถึง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาร์ค ตามไท จิราพร บุญนาค พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหิดล ได้ตั้งสถาบันสันติวิธีโดยเชิญ โคทม อารียา มาเป็นผู้อำนวยการ นายแพทย์วินิชัย วัฒนศัพท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นขณะนั้นได้ทุ่มตัวมาทำงานเรื่องสันติวิธี จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ แปลและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ถึง 33 เล่ม ขณะนี้ลูกศิษย์ลูกหามากมาย สถาบันพระปกเกล้า มีพลเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการ สำนึกสันติวิธี และธรรมภิบาลได้ทำหลักสูตร 4 ส (เสริมสร้างสังคมสันติสุข) และหลักสูตรสันติวิธี ซึ่งสร้างนักสันติวิธีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเกิดสถาบันสันติวิธีขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ ดร. มหา หรรษา ดำเนินการอยู่ เหล่านี้เป็นทุนทางสันติวิธี ที่เกิดในสังคมไทย ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักสถานการณ์วิกฤต นอกจากนั้นสถาบันพระปกเกล้ายังสร้างทุนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคุณภาพไว้มาก และปีนี้ก็ขับเคลื่อนเรื่องการก้าวข้ามความเลื่อมล้ำเพื่อประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ
3. การสร้างฐานของประเทศให้แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกัน ชุมชน ท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง ถึงระดับชาติจะวิกฤตอย่างไรๆ ถ้าฐานประเทศบูรณาการกันแข็งแรง ก็ยังจะไม่เป็นไร หรือฟื้นตัวขึ้นมาจากข้างล่างได้ตามแนวคิด “พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน” มีผู้คนและองค์กรต่างๆช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จนขณะนี้มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เก่งๆและดังๆหลายแสนคนแล้ว และมีนวัตกรรมดังๆ ทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งนี้ด้วยวิธีคิดแบบประสานไม่ใช่แบ่งแยกและตัดรอน เราจึงเห็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง พอช. สสส. ธกส. และอื่นๆ เป็นการถักทอพลังบวกในสังคมไทย ขนาดใหญ่ที่สุด พลังบวกที่เกิดจากการถักทอของคนไทยจะเข้ามาพลิกสถานการณ์วิกฤต
4. ประชาคมจังหวัด ในทุกจังหวัด มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นประชาคมจังหวัดในประเด็นต่างๆ รวมทั้งประชาคมสมัชชาสุขภาพ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในข้อ 5
5. พลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Participatory Public Policy Process = P4) นโยบายสาธารณะมีผลกระทบทุกอณูของสังคม นโยบายสาธารณะที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาวะของคนทั้งมวล แต่ก็เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะอวิชชาและระบบผลประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับการจัดตั้งตามกฎหมาย เพื่อมาทำพันธกิจที่ยากนี้ คือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สช.ได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาเป็นเวลา 10 ปี โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งจากพื้นที่หลายร้อยองค์กรเข้าร่วม เพื่อฝึกคนไทยทุกฝ่ายให้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเป็น สช.จึงเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องนี้
การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่สุด และ สช. ก็อยู่ในฐานะที่จะเป็นแกนนำในการชวนทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน
ทุนทางสังคมทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกันดำเนินไป บนเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา ที่จะดึงคนไทยเข้ามาถักทอพลังบวกในสังคมไทยขนาดใหญ่ ด้วยความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ
เริ่มต้น สช. สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันสันติวิธีต่างๆ รวมทั้งองค์กรอื่นๆที่ทำงานทางมัชฌิมาปฏิปทาพัฒนาประเทศไทยรวมกันเป็นเครือข่ายคนไทยถักทอพลังบวก ขับเคลื่อนการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากวัตถุประสงค์มีคุณค่าสูงส่ง ใช้หัวใจคือการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ (Heat) ใช้ความรู้และปัญญา (Head) เครือข่ายถักทอพลังบวกในสังคมไทย จะได้รับความศรัทธาและมีคนเข้าร่วมมากขึ้นๆ แม้เริ่มต้น ฝ่ายที่ขัดแย้งกันจะยังไม่ถนัดที่จะเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร แต่พลังบวกที่เติบใหญ่ในสังคมไทยจะไปลดพลังลบหรือลดความเสียหายจากพลังลบ และสามารถเปลี่ยนลบเป็นบวกได้ในที่สุด
การถักทอพลังบวกในสังคมไทยด้วยมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง จะไปคลายปมต่างๆที่ผูกกันไว้เป็นโครงสร้างหรือ “เข่ง” ที่กักขังคนไทยไว้ให้จิกตีกันและไปสู่ความเจริญที่แท้จริงไม่ได้ เมื่อเราหลุดออกจาก “เข่ง” การถักทอพลังบวกในสังคมไทยด้วยมัชฌิมาปฏิปทาจะเป็นผลดีส่งให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ยุคศรีอารยะ