"...เมื่อมองคอร์รัปชันกับประสิทธิภาพของรัฐไม่ควรมองแยกขาดจากกัน แท้จริงแล้วทั้งสองเรื่องเป็นภาพสะท้อนของกันและกันเหมือน ตัว และ เงา หากป้องกันและลดคอรัปชันได้ ประสิทธิภาพของรัฐก็จะเพิ่มขึ้นตาม ถ้าปรับปรุงการทำงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการแข่งขัน เปิดเผยข้อมูลการทำงานด้านต่างๆของรัฐให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ง่าย คอร์รัปชันก็จะลดลงตาม..."
สอง-สามปีที่ผ่านมา เรามักจะพบเห็นการนำเสนอประเด็นการพัฒนาประเทศต้อง “ยกระดับการแข่งขัน” ให้สูงขึ้นเป็นหัวข้อที่ทุกคนต่างให้ความสนใจกล่าวถึง ด้วยกังวลใจต่อการพัฒนาและการยกระดับการแข่งขันของประเทศยังไปไม่ถึงไหนและทุกฝ่ายแสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุและอุปสรรคส่วนใหญ่ที่ทำให้การพัฒนายกระดับขีดความสามารถไปไม่ถึงไหน เป็นเพราะคอร์รัปชันเข้าไปทำลายกลไกตลาดและการแข่งขันเป็นธรรม สร้างกลุ่มทุนผูกขาดด้วยอำนาจรัฐและกีดกันการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งหมดนี้คือรากเหง้าของปัญหาการพัฒนาประเทศ
เมื่อมองคอร์รัปชันกับประสิทธิภาพของรัฐไม่ควรมองแยกขาดจากกัน แท้จริงแล้วทั้งสองเรื่องเป็นภาพสะท้อนของกันและกันเหมือน ตัว และ เงา หากป้องกันและลดคอรัปชันได้ ประสิทธิภาพของรัฐก็จะเพิ่มขึ้นตาม ถ้าปรับปรุงการทำงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการแข่งขัน เปิดเผยข้อมูลการทำงานด้านต่างๆของรัฐให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ง่าย คอร์รัปชันก็จะลดลงตาม
ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index) ที่ World Economic Forum ประกาศออกมาล่าสุดเป็นกระจกที่สะท้อนจุดอ่อนที่เกิดจากคอร์รัปชันภายในสังคมประเทศไทยได้ชัดเจน
ผลการประเมินอันดับความสามารถการแข่งขันของไทย เกิดขึ้นจากเปรียบเทียบผลคะแนนตัวชี้วัด 114 ตัวใน 12 ด้าน เปรียบเทียบกับ 141 ประเทศทั่วโลก ไทยได้อันดับที่ 40 คะแนนเฉลี่ยทุกด้านได้ 68.1 ดีกว่าเดิมเล็กน้อยแต่อันดับหล่นลง 2 ตำแหน่ง
ข้อมูลนี้กำลังบอกอะไรแก่เราบ้าง ?
สถานการณ์ของประเทศไทยจากกระจกสะท้อนที่ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ กำลังชี้ให้คนไทยเห็นตำแหน่งแห่งที่ของสังคมไทยในบริบทโลก กำลังอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าผลประเมินแต่ละด้านเปรียบเป็นเสาบ้านก็ต้องเรียกว่ากำลังโดนปลวก (คอร์รัปชัน) กินจนเสาผุเจียนหักโค่นอยู่ 4 เสา (จากทั้งหมด 12 เสา)
เสาแรก
1. สถาบันทางสังคม และ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นการประเมินเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ เจาะลึกลงไปดูการเปิดเผยงบประมาณรัฐ, เสรีภาพของสื่อมวลชนโดนคุกคามหรือไม่, ความโปร่งใส ซึ่งจะดูการเกิดเหตุคอร์รัปชัน เป็นหลัก, เรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐ ดูว่าประชาชนต้องรับภาระที่เกิดจากการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ มากเกินไปหรือไม่และผลักภาระให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน, E-Participation รวมความครอบคลุมตั้งแต่ การเปิดเผยข้อมูลรัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าน สะดวก ผ่านระบบออนไลน์ ประชาชนได้รับบริการหรือติดต่อหน่วยงานรัฐช่องทางออนไลน์ได้, เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมาตรฐานบัญชีและการตรวจสอบเข้มแข็งตรงไปตรงมาหรือไม่, ด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคและการขนส่งทุกรูปแบบมีการเชื่อมต่อระหว่าง ถนน เรือ อากาศ ราง, คุณภาพของงานก่อสร้าง ประสิทธิภาพการให้บริการของระบบขนส่ง
2. การแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาคอร์รัปชันในด้านนี้ได้แก่ การเปิดตลาดให้ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเข้ามาแข่งขันด้วยกลไกตลาดมากน้อยแค่ไหน มีอุปสรรคการเข้าทำธุรกิจในตลาดของประเทศหรือไม่
3. ทักษะแรงงาน (Skills) เน้นประเมินคุณภาพและปริมาณระบบการศึกษาทั้งประเทศ
4. ความสามารถผลิตนวัตกรรม (Innovation Capability) ประเมินสภาพแวดล้อมการให้บริการที่เอื้อต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทำได้ง่ายหรือไม่ ใช้เวลาขออนุญาตและเอกสารนานหรือไม่ เงื่อนไขการผลิตงานวิจัย ฯ เพื่อเอื้อให้ธุรกิจ Start up เกิดขึ้นได้ง่าย รวดเร็ว และต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมได้มากขึ้น
ตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน สะท้อนจุดอ่อนการแข่งขันไทยอยู่ที่ภาครัฐ ข้อเสนอแนะก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น ปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลรัฐควรเป็นค่าตั้งต้นการทำงานของทุกหน่วยงานและเปิดในรูปแบบตามมาตรฐานสากล (Open Government) ส่วนกฎหมายมีมากเกินจำเป็นและให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินจำต่อประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ได้ร่วมริเริ่มผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและสร้างอุปสรรคแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ (Regulatory Guillotine) และได้เริ่มทำจนได้ข้อเสนอแนะให้ยกเลิกกฎหมายผลักภาระได้จำนวนหนึ่ง แต่พอถึงขั้นจะต้องยกเลิกกฎหมายตามข้อเสนอจากการประเมินผล รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการ สะท้อนให้เห็นว่าเรายังทำไม่จริงจังมากพอและยังประนีประนอมให้ค่อยๆปรับค่อยๆไปแบบไทย
ส่วนด้านการแข่งขันตลาดในประเทศ จะเห็นการกระจุกตัวของกลุ่มทุนใหญ่เข้าถึงทรัพยากรเกินครึ่งในหลายภาคธุรกิจ การประมูลงานของรัฐโครงการใหญ่ยังแบ่งจำนวนสัญญาพอดีตามจำนวนผู้ที่คาดว่าจะเข้าประมูลได้ ส่วนงานก่อสร้างของประเทศ นั้นมีปัญหาทั้งในเชิงคุณภาพและราคาตั้งแต่ท้องถิ่นจนระดับประเทศ
ส่วนด้านทักษะแรงงานและความสามารถผลิตนวัตกรรมก็ต้องโยงกลับมาที่การศึกษาทั้งระบบของประเทศ เรามักพบว่าการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษานั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องและสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาทักษะแรงงาน ผลผลิตที่ออกมาจึงไม่ต้องสนองตลาดแรงงานไปพัฒนาประเทศ
ผลกระทบจากปัญหาคอร์รัปชันในการลดทอนความสามารถแข่งขันไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกนำมาสะท้อนกลับมาที่คะแนน Corruption Perception Index (CPI) ด้วย
ถึงตรงนี้ พอจะเริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมทั้งดัชนี CPI ของไทยถึงยังโงหัวไม่ขึ้นสักที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิ่งหรือกระโดด เจาะลึกดูละเอียด อับดับความสามารถไทยหล่น ด้วยสาเหตุใด
กิตติเดช ฉันทังกูล
ผู้อำนวยการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)