"...ด้วยเหตุที่เคยเป็น สสร. และ คตส.มาก่อน จึงมีผู้ถามผมมามาก ว่า คุณอนุทิน รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เหตุใดจึงยังถือหุ้นบริษัทซีโนไทยอยู่อีก 4.6% ทั้งๆที่ซีโนไทยนี้เป็นยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทยที่กำลังรอเสียบสัญญาคมนาคมหลายสัญญา ทั้งสัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงและสนามบินใน อีอีซี รวมถึงสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เหลือในกรุงเทพ สัญญามูลค่ารวมกว่าสี่แสนล้านบาทเหล่านี้ ถ้าซีโนไทยได้ไปเมื่อใด คุณอนุทินฯไม่ต้องคดีถือประโยชน์ทับซ้อน เหมือนคดีซื้อขายที่ดินรัชฎาของอดีตนายกฯทักษิณ หรือ?..."
หมายเหตุ-แก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)เขียนบทความเรื่อง’ปัญหาการถือประโยชน์ทับซ้อนของรองนายกฯอนุทินฯในสัญญาคมนาคม’
ด้วยเหตุที่เคยเป็น สสร. และ คตส.มาก่อน จึงมีผู้ถามผมมามาก ว่า คุณอนุทิน รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เหตุใดจึงยังถือหุ้นบริษัทซีโนไทยอยู่อีก 4.6% ทั้งๆที่ซีโนไทยนี้เป็นยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทยที่กำลังรอเสียบสัญญาคมนาคมหลายสัญญา ทั้งสัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงและสนามบินใน อีอีซี รวมถึงสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เหลือในกรุงเทพ สัญญามูลค่ารวมกว่าสี่แสนล้านบาทเหล่านี้ ถ้าซีโนไทยได้ไปเมื่อใด คุณอนุทินฯไม่ต้องคดีถือประโยชน์ทับซ้อน เหมือนคดีซื้อขายที่ดินรัชฎาของอดีตนายกฯทักษิณ หรือ?
ผมเองก็ติดตามมาตลอด จึงขอวิเคราะห์ คำตอบในกฎหมายมาเสนอดังนี้
ถาม เรื่องถือประโยชน์ทับซ้อนนี้ จะหลุดจากรัฐมนตรี หรือติดคุกกันแน่ครับ
ตอบ ต้องเข้าใจก่อนครับว่า เมื่อนักธุรกิจเจ้าของกิจการใหญ่โตมาเล่นการเมืองนี้ หุ้นของเขาจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่ 4 เรื่อง คือ
ถาม ดู ช่องสอง ข้างต้นแล้ว เรื่องถือหุ้นซีโนไทย 4.6 % ของคุณอนุทิน ถ้าซีโนไทยได้สัญญาอะไรจากคมนาคม คุณอนุทินก็ไม่มีทางผิดอาญาตามกฎหมาย ป.ป.ช. ได้
ตอบ กฎหมาย ป.ป.ช.เดิม ไม่มีเกณฑ์ 5 % แต่พอออกกฎหมายใหม่ยุค คสช.สภาเรือแป๊ะก็ผ่อนคลาย โดยตั้งเกณฑ์ เกิน 5% นี้ขึ้นมา ใครถือไม่ถึง 5% ก็เล่นการเมืองได้ ไม่ต้องกลัวกฎหมาย ป.ป.ช.
ถาม แล้วไม่กลัวกฎหมายอาญา ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือครับ กฎหมายอาญาไม่มีกรอบถือหุ้น 5% นะครับ
ตอบ ความผิดตามกฎหมายอาญา ถ้ารัฐมนตรีดิ้นรนสั่งการโดยมิชอบและโดยทุจริตจนได้สัญญา อย่างนี้ ก็ผิด 157 อยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาการถือประโยชน์ทับซ้อน ที่ประมวลกฎหมายอาญาเอาผิดตรงการถือประโยชน์จริงๆนั้น ก็มีมาตรา152 ในช่องสาม ที่ใช้กับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงในการนั้นเช่นการรถไฟ ระดับกำกับดูแลเช่นรัฐมนตรีและรองนายกฯนั้น มาตรา 152 นี้ไปไม่ถึง ต้องไปใช้กฎหมาย ปปช.ในช่องสอง
ถาม ถ้าคุณอนุทินในปัญหาการถือหุ้นซีโนไทยไม่มีทางผิดอาญาฐานถือประโยชน์ทับซ้อน ได้ แล้วเรื่องขาดคุณสมบัติใน ช่องหนึ่ง ล่ะครับ
ตอบ ช่องนี้มุ่งที่คุณสมบัติต้องห้ามจริงๆ ถ้าซีโนไทยได้แค่สัญญารับเหมาก่อสร้างธรรมดาในกิจการคมนาคม เช่นก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดังนี้คุณอนุทินก็ไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะในช่องหนึ่ง นั้นรัฐธรรมนูญมุ่งควบคุมเฉพาะสัมปทานหรือผูกขาดเท่านั้น
ดังนั้นถ้ารถไฟฟ้าสีส้มดำเนินการโดยให้เอกชนทำทั้งหมดทั้งลงทุนและบริหาร อย่างนี้ก็เป็นสัญญาสัมปทาน ซีโนไทยได้สัญญานี้เมื่อใดรัฐมนตรีอนุทินจะกลายมาเป็นผู้ดูแลบริษัทตนเองว่าทำหน้าที่สาธารณะในสัมปทานดีหรือไม่ คุณสมบัติแบบนี้ ตรงนี้รัฐธรรมนูญรับไม่ได้ต้องถือว่าขาดคุณสมบัติ จะถือหุ้นกี่ % ก็ขาดคุณสมบัติอยู่ดี
สรุปแล้วหุ้นซีโนไทยนี้มีปัญหากับคุณอนุทินแน่นอน ในกรณีสัญญาสัมปทานหรือผูกขาด
ถาม นี่กระมังครับ คือเหตุผลที่รัฐมนตรีคมนาคม คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ เขาพยายามยกเลิกโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าสีส้ม คือเปลี่ยนชนิดสัญญามาให้เป็นสัญญาจ้างเอกชนรับเหมาก่อสร้างและขายระบบให้ รฟม.เท่านั้น
ตอบ ถ้าทำได้ก็หนีปัญหาจากช่องหนึ่งไปอยู่สบายในช่องสองได้ คือกลับไปเหมือนแบบที่ซีโนไทยเคยรับเหมาทำแอร์พอร์ตลิงค์ ให้การรถไฟเดินรถเอง ถ้ารัฐมนตรีศักดิ์สยามรื้อให้มาเป็นงานรับเหมาได้สำเร็จ ซีโนไทยก็เข้าประมูลได้ แต่ถ้าเป็น PPP คือเหมาให้สัมปทานไปเลยเหมือนอย่างที่ดำริกันไว้ในรัฐบาลก่อน อย่างนี้ถ้าซีโนไทยได้สัญญาเมื่อใด รัฐมนตรีอนุทินมีปัญหาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแน่นอน
ถาม แล้วสัญญาร่วมลงทุน PPP ในโครงการอีอีซี ทั้งรถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภานั่นล่ะครับ ซีโนไทยยื่นข้อเสนอเข้าแข่งขันทั้งสองโครงการเลย
ตอบ แล้วเขาได้งานไหม?
ถาม ในสัญญารถไฟความเร็วสูงนั้น ราคาซีโนไทยเขาเป็นที่สองครับ ที่หนึ่งคือกลุ่มซีพีที่กำลังเจรจาสัญญากันอยู่ ถ้าซีพีไม่ผ่านการเจรจา งานก็จะมาตกที่ซีโนไทย
ตอบ ถ้ามาตกที่ซีโนไทยจริง เซ็นสัญญาให้ซีโนไทยเมื่อใดรัฐมนตรีอนุทินก็มีปัญหาคุณสมบัติแน่ แม้จะพยายามไม่ลงมายุ่งเลยก็ตามประโยชน์มันก็ทับกับตำแหน่งเขาอยู่ดี
ถาม แล้วสัญญาสนามบินอู่ตะเภาล่ะครับ ขณะนี้ซีพีแพ้ฟาวล์ไปแล้วเพราะส่งซองล่าช้าไป 9 นาที เหลือซีโนไทยกับรายอื่นอีก 1 ราย ซึ่งก็ผ่านคุณสมบัติกับเทคนิคไปแล้วทั้งคู่ รอเปิดซองราคาเท่านั้น ถ้าราคาซีโนไทยชนะ ก็จะได้สิทธิเจรจากับทางการไปในที่สุด แล้วอย่างนี้จะมีปัญหาไหมครับ
ตอบ ถ้าเดินหน้าเจรจากันจนลงตัวเป็นสัญญาได้เมื่อใดแล้ว คุณอนุทินก็มีปัญหาคุณสมบัติอีกแน่นอน เช่นกัน
ถาม ทำไมคุณอนุทินถึงไม่ขายหุ้นซีโนไทยทิ้ง ก่อนเล่นการเมืองครับ
ตอบ ผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมเขาถึงดูแต่กฎหมาย ปปช. จนเบาใจว่าตนไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากตนถือหุ้นซีโนไทยแค่ 4.6 % เท่านั้น แต่ถ้าดูรัฐธรรมนูญด้วย เขาก็จะเห็นปัญหาคุณสมบัติในทันที ว่าซีโนไทยยุ่งกับสัมปทาน หรือ PPP ของ อีอีซี ไม่ได้เลย
ถาม ซีโนไทย ยื่นข้อเสนอ PPP ของ อีอีซีไปแล้ว ถ้าทิ้งข้อเสนอก็ถูกปรับ ทางออกของคุณอนุทินอยู่ที่ตรงไหน
ตอบ มีทางเดียวครับ คือรีบขายหุ้นซีโนไทยทิ้งในตลาดชัดๆเลย แต่อย่าขายให้ลูกหรือน้องแบบคุณทักษิณก็แล้วกัน เดี๋ยวจะมีปัญหาซุกหุ้นอีก
ถาม เขาจะยอมหรือ
ตอบ ก็ประกาศชัดเจนเมื่อวานซืนแล้วว่า “ได้ทิ้งประโยชน์ส่วนตัว เพื่อเข้ามาทำประโยชน์ส่วนรวมทั้งชีวิตแล้ว” มิใช่หรือ
ถาม ถ้าจะทิ้งหุ้น..ก็คงต้องรอดูให้ชัดก่อนกระมังครับว่า ซิโนไทยกำลังจะได้สัญญา 3 แสนล้านบาท แล้วจริงๆ
ตอบ ก็เป็นไปได้...คอยถึงตอนนั้นค่อยขายหุ้นซีโนไทยทิ้งก่อนวันลงนาม 1 วันเลย ก็ยิ่งจะได้ทั้งราคาหุ้นและความเท่ห์
ถาม ทำไมการเมืองและการพัฒนาของเราถึงต้องมายุ่งกับเรื่องธุรกิจใหญ่เล่นการเมืองแบบนี้ครับ คราวคุณทักษิณ ก็ยุ่งกันเป็นสิบปีเลย
ตอบ จะหันไปเอาอย่างเมืองจีนก็ได้นะคุณ ระบบของเขาแยกวิถีชีวิตพ่อค้ากับเจ้าหน้าที่รัฐขาดกันออกไปเลย ใครจะมาทางราชการงานเมืองก็เติบโตไปทางหนึ่ง ใครจะทำธุรกิจการค้าก็ไปอีกทางหนึ่ง เขาห้ามพ่อค้าโดดมายุ่งกับการเมืองการปกครองเลย บ้านเราถ้าจะเอาอย่างเขาก็ต้องห้ามพนักงานของรัฐทุกตำแหน่งทุกระดับถือหุ้นทุกชนิดเลย เมื่อเราไม่ห้าม...ก็ต้องมีกฎหมายมาควบคุมการถือประโยชน์ทับซ้อนแบบนี้แหละครับ
ผมว่าผมพอดีกว่านะ ...ไม่พูดแล้ว...เจ็บลิ้นไก่
หมายเหตุ : ภาพประกอบอนุทินจากไทยโพสต์